ทำไมโปรตุเกสไม่รวมเป็นประเทศเดียวกับสเปน ?

ธงชาติโปรตุเกส (ซ้าย) และ สเปน (ขวา)

หากมองไปยังแผนที่บริเวณคาบสมุทรไอบีเรีย เราจะพบประเทศขนาดใหญ่ 2 ประเทศด้วยกัน คือ สเปน (Spain) และโปรตุเกส (Portugal) เมื่อพิจารณาเส้นแบ่งเขตแดนของสเปนและโปรตุเกส บางคนอาจเกิดคำถามว่า ทำไม 2 ประเทศนี้ไม่เป็นประเทศเดียวกัน? และเมื่อพิจารณาจากวัฒนธรรม ภาษา และวิถีชีวิตของทั้ง 2 ประเทศก็มีความใกล้เคียงกันประมาณหนึ่งทีเดียว

การจะตอบคำถามนี้ต้องอธิบายจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของดินแดนและผู้คนในคาบสมุทรไอบีเรีย ซึ่งเก่าแก่ก่อนยุคจักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) ชาวโรมันเรียกบริเวณนี้ว่า ฮิสปาเนีย (Hispanie) เป็นจังหวัดหนึ่งของจักรวรรดิโรมันกระทั่งปลายศตวรรษที่ 5 เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลาย ดินแดนฮิสปาเนียก็อยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มชนเผ่าเยอรมัน เผ่าวิซิกอธ (Visigoths) ที่สถาปนาอาณาจักรบริเวณคาบสมุทรไอบีเรียตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 5 ถึงต้นศตวรรษที่ 8

ช่วงต้นศตวรรษที่ 8 อาณาจักรของชาววิซิกอธเผชิญการรุกรานของกองทัพมุสลิมจากแอฟริกาเหนือ ชาวยุโรปเรียกกลุ่มชนเหล่านี้ว่า มัวร์ (Moors) หลังการรุกรานกว่า 40 ปี ชาวมุสลิมสามารถครอบครองพื้นที่เกือบทั้งหมดของคาบสมุทรไอบีเรียและสถาปนาอาณาจักรของผู้นับถือศาสนาอิสลามในดินแดนนี้ เรียกว่า อัล อันดาลูส (Al Andalus) ก่อนพัฒนาเป็น รัฐคอลีฟะฮ์แห่งคอร์โดบา (Caliphate of Coedoba) อาณาจักรมุสลิมอันยิ่งใหญ่แห่งคาบสมุทรไอบีเรีย

การครอบครองคาบสมุทรไอบีเรียของชาวมุสลิมไม่เป็นที่ยอมรับของชาวคริสต์ดั้งเดิมในพื้นที่ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเห็นการณ์ เรกองกิสตา (Reconquista) หรือการเรียกคืนคาบสมุทรไอบีเรียจากชาวมุสลิมโดยชาวคริสต์

Reconquista ดำเนินอยู่กว่า 700 ปี รัฐคริสเตียนในคาบสมุทรไอบีเรียโดยการสนับสนุนจากประชาชาติคอทอลิกในยุโรป รวมถึงฝ่ายคริสตจักรแห่งกรุงโรงของพระสันตะปาปา ทำสงครามกับรัฐอิสลามอย่างต่อเนื่อง กระทั่งประสบความสำเร็จช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 เมื่ออาณาจักรคาสตีลและอารากอนสามารถพิชิตอาณาจักรกรานาดา รัฐมุสลิมแห่งสุดท้ายบนคาบสมุทรไอบีเรียได้สำเร็จ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของทั้งสเปนและโปรตุเกสดำเนินไปพร้อม ๆ กับกระบวนการ Reconquista นี้

ประวัติศาสตร์ของโปรตุเริ่มต้นจากการสถาปนาอาณาจักรอัสตูเรียส (Kingdom of Asturias) รัฐคริสเตียนที่ยืนหยัดต่อต้านการครอบครองคาบสมุทรไอบีเรียของมุสลิมตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 อาณาจักรนี้อยู่ทางตอนเหนือของคาบสมุทร ในบรรดาแคว้นต่าง ๆ ของอัสตูเรียส มีแคว้นหนึ่งบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ถูกก่อตั้งขึ้นราวปี 868 ชื่อว่าแคว้นโปรตุเกส (County of Portugal)

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 อาณาจักรอัสตูเรียสพัฒนาเป็นอาณาจักรลีออน (Kingdom of Leon) และแคว้นโปรตุเกสได้แยกตัวออกมา ทำให้เกิดสงครามระหว่างพวกเขา โปรตุเกสได้รับชัยชนะพร้อมการรับรองอย่างเป็นทางการจากพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรมถึงสถานะของอาณาจักรโปรตุเกส (Kingdom of Portugal) ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาซาโมรา (Treaty of Zamora) ใน ค.ศ. 1143

อาณาจักรลีออนและดินแดนในคาบสมุทรไอบีเรีย ค.ศ. 910 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

คริสต์ศตวรรษที่ 15 บริเวณคาบสมุทรไอบีเรียประกอบด้วย 5 อาณาจักร มีอาณาจักรมุสลิมหนึ่งเดียวทางตอนใต้ คือ กรานาดา (Granada) และอีก 4 อาณาจักรของชาวคริสต์ ได้แก่ โปรตุเกส (Portugal), นาวาร์ (Navarre), อารากอน (Aragon) และคาสตีล (Castile) โดยอาณาจักรลีออนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคาสตีลไปแล้ว

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 นั้น อาณาจักรต่าง ๆ ทั้ง คาสตีล อารากอน นาวาร์ และกรานาดา ได้รวมตัวกันกลายเป็นอาณาจักรสเปน (Kingdom of Spain) โดยมีลำดับการณ์ดังนี้

– ค.ศ. 1469 เกิดพิธีสมรสระหว่างรัชทายาทราชบัลลังก์คาสตีล เจ้าหญิงอิซาเบลลา (Izabella) และรัชทายาทราชบัลลังก์อารากอน เจ้าชายเฟอร์ดินานด์ (Ferdinand) ทำให้อาณาจักรคาสตีลและอารากอนมีกษัตริย์และราชินีร่วมกันในเวลาต่อมา (สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 แห่งคาสตีล และพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 แห่งอารากอน)

– ค.ศ. 1492 อาณาจักรคาสตีลของสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 (โดยการสนับสนุนของอาณาจักรอารากอนของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2) ประสบความสำเร็จในการพิชิตอาณาจักรกรานาดาของพวกมัวร์ และผนวกเป็นส่วนหนึ่งของคาสตีล

– ค.ศ. 1512 อาณาจักรอารากอนโดยพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 ผนวกอาณาจักรนาวาร์ได้สำเร็จ

Ferdinand of Aragon, Isabella of Castile (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ทายาทของพระเจ้าเฟอร์นานด์ที่ 2 และสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 จึงเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์แห่งคาสตีล อารากอน กรานาดา และนาวาร์ นั่นคือ พระเจ้าชาร์ลที่ 1 (Charles I) แห่งอาณาจักรสเปน เมื่อพระเจ้าชาร์ลที่ 1 ครองสเปนใน ค.ศ. 1516 คาบสมุทรไอบีเรียจึงแบ่งด้วย 2 อาณาจักรสำคัญ คือ โปรตุเกสและสเปน

ก่อนการเกิดอาณาจักรสเปน โปรตุเกสเคยเกือบรวมกับคาสตีลในหตุการณ์สงครามกลางเมืองผู้สืบราชบัลลังก์คาสตีล ระหว่างเจ้าหญิงฮวนนา (Joanna) และเจ้าหญิงอิซาเบลลา (สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1) ที่ชิงอำนาจกันหลังการสวรรคตของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 (Henry IV) แห่งอาณาจักรคาสตีล เจ้าหญิงฮวนนานั้นสมรสกับพระเจ้าอัลฟองโซที่ 5 (Afonso V) แห่งโปรตุเกสเพื่อขอแรงสนับสนุนในสงครามชิงราชบัลลังก์นี้ ส่วนเจ้าหญิงอิซาเบลลาได้แรงสนับสนุนจากเจ้าชายเฟอร์ดินานด์แห่งอารากอน สงครามกลางเมือยุติลงใน ค.ศ. 1479 ชัยชนะเป็นของเจ้าหญิงอิซาเบลลา อาณาจักรใหม่จึงเป็นการควบรวมของคาสตีลกับอารากอน

หากฝ่ายที่คว้าชัยชนะคือเจ้าหญิงฮวนนาและอาณาจักรโปรตุเกส เป็นที่น่าสนใจว่ามีโอกาสสูงที่คาสตีลจะรวมกับโปรตุเกส ซึ่งอาณาจักรสเปน ประวัติศาสตร์ยุโรป และประวัติศาตร์โลกจะเป็นไปในทิศทางใดหลังจากนั้น ซึ่งไม่มีใครทราบ

แผนที่คาบสมุทรไอบีเรีย แสดงประเทศโปรตุเกส (ซ้าย) และสเปน (ขวา) (ภาพจาก pixabay)

อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 อาณาจักรโปรตุเกสเกิดสงครามกลางเมืองและปัญหาผู้สืบราชบัลลังก์ อาณาจักรสเปนจึงได้โอกาสผนวกโปรตุเกสมาเป็นส่วนหนึ่ง พร้อมจัดตั้ง “สหภาพไอบีเรีย” (Iberian Union) โดยกษัตริย์สเปนดำรงพระอิสริยยศทั้งกษัตริย์แห่งสเปนและโปรตุเกสไปพร้อมกัน  สหภาพไอบีเรียดำรงอยู่ได้ประมาณ 60 ปี โปรตุเกสก็ขอแยกตัวออกจากสเปนใน ค.ศ. 1640 และไม่มีการรวมตัวของทั้ง 2 ประเทศอีกเลยนับจากนั้น

เมื่อพิจารณาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ข้างต้น เห็นว่าทั้ง 2 ประเทศมีประวัติศาสตร์ที่แยกออกจากกันค่อนข้างชัดเจน โปรตุเกสยังมีประวัติศาสตร์ชาติที่เก่าแก่กว่าสเปนร่วม 300 ปี จึงไม่แปลกที่ความเป็นเอกภาพภายในคาบสมุทรไอบีเรียไม่มากพอที่จะทำให้สเปนและโปรตุเกสรวมเป็นประเทศเดียวกันได้ ทั้งในปัจจุบันจะพบว่าสเปนก็มีปัญหาภายในเรื่องความแตกต่างทางชาติพันธ์ วัฒนธรรม และดินแดนอยู่ไม่น้อยจากกรณีของแคว้นบาสก์ (Basque) และคาตาโลเนีย (Catalunya) ที่ต่างมีประวัติศาสตร์ของตนก่อนการถือกำเนิดของอาณาจักรสเปนทั้งสิ้น เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนความไม่เป็นเอกภาพของดินแดนคาบสมุทรไอบีเรียได้อย่างชัดเจน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Histofun Deluxe, Blockdit : ทำไมโปรตุเกสกับสเปนไม่รวมเป็นประเทศเดียวกัน?

John S. Richardson, Britannica : History of Spain

นุชธิดา ราศีวิสุทธิ์. (2562). สเปน จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน (Spain: The Empire on Which the Sun Never Set). กรุงเทพฯ : ยิปซี

สัญชัย สุวังคบุตร; อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2562). ทรรปณะประวัติศาสตร์ยุโรป ในคริสต์ศตวรรษที่ 19. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : แสงดาว.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กันยายน 2565