“ช่องแคบมาเจลลัน” ทางเดินเรือสุดลับ เปิดทางสเปนบุกเบิกดินแดนเอเชีย

การค้นพบ ช่องแคบมาเจลลัน โดย เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน
การค้นพบช่องแคบมาเจลลัน, ภาพวาดในศตวรรษที่ 19 ผลงานของ Oswald Walters Brierly (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ช่องแคบมาเจลลัน (Strait of Magellan) คือช่องทางเดินเรือที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก ณ เกือบใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ ผู้ค้นพบคือ เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน (Ferdinand Magellan) นักสำรวจชาวโปรตุเกส ผู้เดินเรือภายใต้การสนับสนุนของกษัตริย์แห่งสเปน

แน่นอนว่าชื่อของ ช่องแคบมาเจลลัน ตั้งตามชื่อ เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาในฐานะผู้บัญชาการกองเรือบุกเบิกเส้นทางนี้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป้าหมายคือเพื่อหาเส้นทางเดินเรือเส้นทางใหม่ไปยังหมู่เกาะเครื่องเทศ หรือหมู่เกาะโมลุกกะ (Maluku Islands) ในเอเชีย (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย)

ก่อนมาเจลลันจะค้นพบช่องแคบนี้ นักเดินเรือชาวยุโรปไม่มีใครสนใจเส้นทางนี้มาก่อน พวกเขาใช้การแล่นเรือเลาะตามชายฝั่งทวีปแอฟริกา ผ่านแหลมกู๊ดโฮป ก่อนมุ่งตะวันออกสู่มหาสมุทรอินเดียเพื่อมายังหมู่เกาะเครื่องเทศ และทำกำไรมหาศาลจากการนำเครื่องเทศเหล่านั้นกลับไปขายในยุโรปด้วยเส้นทางเดิม

แม้ความเชื่อเรื่องโลกกลมจะแพร่หลายในสมัยนั้นอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยมีใครพิสูจน์ได้ว่า การมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตกก็สามารถไปถึงหมู่เกาะเครื่องเทศได้เช่นกัน นั่นเพราะมีทวีปอเมริกาขวางอยู่ และเป็นมาเจลลันกับลูกเรือของเขาที่พบช่องทางนี้ เป็นผลให้ตัวเขาเองถูกยกย่องว่าเป็นบุคคลแรกที่แล่นเรือข้ามหาสมุทรแปซิฟิกมายังจากชายฝั่งทวีปอเมริกามายังทวีปเอเชีย และได้รับเกียรติว่าเป็นคนแรกที่แล่นเรือรอบโลก

อ่านเพิ่มเติม : การเดินทางรอบโลกครั้งแรกของ “กองเรือมาเจลลัน” เคว้งกลางแปซิฟิก ผู้นำโดนชนพื้นเมืองฆ่า

ภาพดาวเทียม บริเวณ ช่องแคบมาเจลลัน
ภาพดาวเทียม บริเวณช่องแคบมาเจลลัน (ภาพโดย Jacques Descloitres, MODIS Rapid Response Team, NASA/GSFC ใน visibleearth.nasa.gov)

ช่องแคบมาเจลลัน มีความยาวประมาณ 570 กิโลเมตร จุดที่กว้างสุดของช่องแคบมีความกว้าง 35 กิโลเมตร ส่วนที่แคบที่สุดทางตะวันตกมีความกว้างเพียง 3 กิโลเมตร โดยสองฝั่งฟากของช่องแคบ ทิศเหนือคือผืนแผ่นดินใหญ่ทวีปอเมริกาใต้ ส่วนทิศใต้คือเกาะเกาะเตียร์ราเดลฟูเอโก

เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน และคณะพบช่องแคบแห่งนี้เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1520 และใช้เวลาสำรวจเส้นทางนี้อยู่กว่า 38 วัน จึงพ้นจากช่องแคบมาพบผืนทะเลกว้างใหญ่ที่สงบเงียบอย่างน่าประหลาดใจเมื่อเทียบกับมหาสมุทรแอตแลนติกที่พวกเขาฝ่ามา เป็นที่มาของชื่อ “มาเร ปาซิฟีโก” (Mare Pacifico) หรือ มหาสมุทรแปซิฟิก แปลว่า ทะเลสงบ นั่นเอง

จักรวรรดิสเปนจะพยายามปกปิดเส้นทางเดินเรือนี้เพื่อไม่ให้ชาติยุโรปชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะดัตช์และอังกฤษสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากเส้นทางนี้ได้

7 ปีหลังการค้นพบนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งชิลี (อาณานิคมสเปน) จึงประกาศให้ช่องแคบมาเจลลันเป็นเขตแดนทางใต้ของตน นับแต่นั้น ช่องแคบจึงกลายเป็นเส้นทางเดินเรือเส้นทางเดียวที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก ทำให้สเปนได้บุกเบิกดินแดนในเอเชีย โดยเฉพาะการครอบครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ ช่องแคบมาเจลลันถือเป็นทางเดินเรือที่โหดหินและท้าทายนักเดินเรือที่สุดเส้นทางหนึ่งของโลก เพราะมีความแคบ กระแสน้ำและลมที่คาดเดายาก ด้วยความที่อยู่ในโซนภูมิอากาศหนาวเย็น สองฝั่งของช่องแคบจึงเป็นโตรกธารน้ำแข็ง รวมถึงภูเขาน้ำแข็งที่คอยกีดขวางเรืออยู่บ่อย ๆ

แม้เส้นทางไม่ได้สะดวกสบายนัก แต่ถือว่าช่องแคบมาเจลลันช่วยร่นระยะทางและปลอดภัยกว่าช่องแคบเดรกที่อยู่ทางใต้ลงไป (ค้นพบภายหลัง) เพราะบริเวณนั้นเต็มไปด้วยหมอกหนา รวมถึงมีสภาพที่อากาศเลวร้ายและคาดการณ์ได้ยากยิ่งกว่าเสียอีก

อย่างไรก็ตาม ความพลุกพล่านของเรือที่สัญจรผ่านช่องแคบได้ลดน้อยลงอย่างมากหลังการเปิดใช้คลองปานามาในอเมริกากลางเมื่อปี 1914 ซึ่งทั้งประหยัดเวลาและปลอดภัยกว่า

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.silpa-mag.com/history/article_97859

https://www.history.com/news/magellan-expedition-facts-dangers

https://www.marineinsight.com/know-more/5-strait-of-magellan-facts-you-must-know/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2567