จี้กง หลวงจีนผู้สำเร็จเป็นอรหันต์ แต่ชาวบ้านทำไมเรียกท่าน “พระบ้า”

จี้กง
ภาพประกอบจาก “จี้กง คนบ้าหลวงจีนบ๊องส์ ภาค 1” YouTube พระนครฟิลม์

ภาพยนตร์, ละครทีวี, นิทานพื้นบ้าน ฯลฯ มักจะเล่าเรื่องของ “จี้กง” เป็นหลวงจีนเนื้อตัวมอมแมมสกปรก นุ่งห่มจีวรเก่าๆ ขาดๆ ที่ปะชุนด้วยเศษผ้าไปทั่ว ถือพัดใบลานผุๆ พังๆ สะพายน้ำเต้าบรรจุเหล้าไว้ที่ข้างกาย แถมยังชอบผิดศีลดื่มเหล้ากินเนื้อ (ปกติพระมหายานฉันมังสวิรัติ)

จี้กงมักปรากฏตัวในที่ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่เจ็บป่วยทุกข์ยาก หรือปราบปีศาจที่เข้ามาก่อกวนหมู่บ้าน ด้วยวิธีการแปลกประหลาด เช่น การเอาขี้ไคลมาปั่นเป็นยาลูกกลอน หรือการใช้อิทธิปาฏิหาริย์ช่วยเหลือชาวบ้าน

แต่ “จี้กง” เป็นตัวละครที่มีตัวตนจริงๆ

จี้กง (ค.ศ. 1130-1209) นามเดิมว่า หลี่ซิวหยวน เป็นบุคคลในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ครอบครัวของจี้กงชอบทำบุญและฝักใฝ่ในพุทธศาสนา จี้กงจึงผูกพันกับศาสนาและออกบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ได้รับฉายาว่า “เต้าจี้” จําพรรษาอยู่ที่วัดกั๋วชิงซื่อ ต่อมาย้ายไปอยู่ที่วัดหลิงอิ่นซื่อ เมืองหลินอาน (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของเมืองหังโจว)

แต่การปฏิบัติตัวแปลกแตกต่างไปจากหลวงจีนอื่นทั่วไป เช่น พูดจาไม่สำรวม, ไม่ชอบนั่งสมาธิ, ไม่ชอบสวดมนต์ แต่ชอบกินเนื้อดื่มเหล้า, ชอบหุ่งห่มจีวรเก่าซ่อมซ่อ, ชอบช่วยเหลืออผู้คนที่ถูกรังแกหรือประสบภัย กิริยาแปลกประหลาดเช่นนี้

แต่ผู้คนกลับเรียกท่านว่า หลวงจีนบ้า หลวงจีนสติเฟื่อง ฯลฯ และถูกขับออกจากวัด

ทว่า หลวงจีนฮุ่ยหย่วน-เจ้าอาวาสัดหลิงอิ่นซื่อกลับรับจี้กงเป็นศิษย์ ครั้งนั้นท่านได้กล่าวว่า “ประตูแห่งศาสนาพุทธกว้างใหญ่ เหตุใดจะยอมรับพระบ้าสักคนไม่ได้เล่า” นับจากนั้นก็ไม่มีพระรูปใดมาวุ่นวายกับหลวงจีนจี้กงอีก ภายหลังท่านเจ้าอาวาสฮุ่ยหย่วนมรณภาพแล้ว จี้กงจึงต้องย้ายไปอยู่ที่วัดจิ้งฉือซิ่อ เป็นเลขาเจ้าอาวาสเต๋อฮุ่ย

แม้ภาพภายนอกจากจี้กงจะดูแปลกประหลาด แต่แท้จริงท่านเป็นพระสมถะที่รอบรู้ กล่าวคือ เข้าใจเนื้อหาในพระไตรปิฎกอย่างถ่องแท้, มีความรู้เรื่องสมุนไพรสามารถรักษาอาการเจ็บป่วย, มีความสามารถในการแต่งโคลงกลอน นอกจากนี้ แม้จี้กงจะเป็นพระในศาสนาพุทธ แต่ท่านยังรับอิทธิพลจากศาสนาเต๋า และคำสอนความเชื่อของขงจื๊อ ชอบที่จะท่องเที่ยวไปตามชนบทและช่วยเหลือชาวบ้านทุกข์ยากที่พบเห็น จึงได้รับสมญาว่า “หัวโฝว-พระโพธิสัตว์ที่มีชีวิตช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก” ภายหลังจี้กงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ทั้งได้รับยกย่องเป็นเทพพื้นบ้านอีกด้วย

เรื่องราวของจี้กงเล่าต่อมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งใต้จนถึงปัจจุบัน และรู้จักกันทั่วไปแถบมณฑลเจ้อเจียง จนกลายเป็นนิทานปรัมปราว่าด้วยการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ รวมถึงการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ตามที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อปี 2006 รัฐบาลจีนคัดเลือกเรื่องของจี้กงเป็นมรดกชองชาติประเภทวรรณกรรรมพื้นบ้าน ลำดับที่ 11 ของเมืองเทียนไถ แห่งมณฑลเจ้อเจียง ส่วนสถานที่ที่จี้กงเคยไปก็จะกลายเป็นที่ท่องเที่ยว

ส่วนคำสอน หรือโอวาทของจี้กงก็ยังแพร่หลาย ในการปฏิบัติที่ไม่ยึดในทุกสิ่ง ตามวัตรปฏิบัติของของพระนิกายเซน ดังเช่นคำสอนตอนหนึ่งที่ว่า

ทุกวันชีวิตย่อมเป็นไปตามลิขิต   วอนขออะไร 

ผ้าขาดปะแล้วกันหนาวได้   อวดโก้ทำไม

อาหารผ่านลิ้นแล้วกลายเป็นอะไร   อร่อยไปไย

ที่ดินหรือสิ่งที่สืบทอดแก่คนรุ่นหลัง   โกงกันทำไม 

สิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เหนือศีรษะเพียง 3 ฟุต   ข่มเหงกันทำไม

ด้วยขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่กล่าวว่าท่านเป็นพระสติเฟื่องพระบ้า ท่านกลับเห็นว่าโลกมนุษย์ต่างหากที่มีแต่ความบ้าคลั่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

พรพรรณ จันทโรนานนท์. “พระจี้กง : พระอรหันต์หรือพระสติเฟื่อง” ในวารสารจีนศึกษา มหาวิทยาลัยยเกษตรศาสตร์  ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 เมษายน 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคม 2565