พระเณรวัดเส้าหลิน พระจีนที่ช่วยบ้านเมือง-ประชาชนยามเกิดจลาจล

วัดเส้าหลิน สำนักเส้าหลิน พระสงฆ์
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่ายพระสงฆ์ในประเทศจีน โดย John Thomson ราวศตวรรษที่ 19

วัดเส้าหลิน (บ้างเรียก วัดเสียวลิ้มยี่) หรือที่ในยุทธภพเรียกว่า สำนักเส้าหลิน มีส่วนร่วมกับสังคมเสมอๆ ในยามบ้านเมืองเกิดจลาจล หรือขับไล่ชนต่างเผ่าที่เข้ามาปกครองจีนไม่ว่าจะเป็นมองโกล, แมนจู

วัดเส้าหลินเป็นวัดในศาสนาพุทธ มีอยู่ 3 แห่งด้วยกัน คือ

1. ที่มณฑลเหอหนัน เป็นวัดต้นกำเนิดนิกายเซนแบบจีน และสำนักวิทยายุทธ์ที่โด่งดัง สร้างเมื่อ พ.ศ. 1038

2. ที่ภูเขาผานซาน ไม่ไกลจากกรุงปักกิ่ง สร้างในสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ. 1789-1911) ไม่มีชื่อเสียงเรื่องวิทยายุทธ์

3. ที่ภูเขาจิ่วเหลียนซาน มณฑลฮกเกี้ยน สร้างในสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911-2187) เรียกว่า “เส้าหลินใต้” วัดนี้ไม่มีชื่อเสียงทางศาสนา แต่โดดเด่นเรื่องวิทยายุทธ์ และการต่อต้านแมนจู สมัยราชวงศ์ชิงถูกเผาเสียหายถึง 2 ครั้งติดกัน ปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ที่เมืองฉวนโจว มณฑลฮกเกี้ยน

เบื้องต้นการฝึกวิทยายุทธ์ของพระ “วัดเส้าหลิน” เนื่องจากวัดตั้งอยู่ในป่ามีสัตว์ร้ายมาก ต่อมาการฝึกวิทยายุทธ์ สำนักเส้าหลิน ก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ พระเณรจากวัดเส้าหลินก็มีส่วนคลี่คลายสถานการณ์ของบ้านเมือง พอสรุปได้ดังนี้

ปลายราชวงศ์สุย (พ.ศ. 1124-1161) พระเณรของวัดฝึกฝนพัฒนาวิชาพลังลมปราณและวิทยายุทธ์จนกล้าแข็งมากขึ้น เมื่อเกิดจลาจลจึงสามารถจัดกองกำลังคุ้มกันที่ดินและทรัพย์สินมากมายได้เองโดยไม่ต้องพึ่งทางการ

สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 1161-1450) ราชสำนักสนับสนุนฝึกวิทยายุทธ์ของวัดเส้าหลิน ด้วยพระวัดเส้าหลิน 13 รูป นำโดย หลวงจีนกั๊กเอี๋ยง (เจี๋ยหยวน) เคยช่วยชีวิตจักรพรรดิถังไท่จง เมื่อครั้งยังเป็นจิ๋นอ๋อง จึงได้รับสิทธิพิเศษให้มี “กองทัพพระ” ยามเกิดศึกสงครามพระก็ลาสิกขาไปป้องกันประเทศ พอเสร็จศึกก็กลับมาบวชใหม่ มีกองทัพพระเณรกว่า 2,000 รูป เป็นยุคที่วัดรุ่งเรืองมาก

สมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1503-1822) เตี๋ยวคังเอี้ยน (เจ้าควงยิน) ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์เป็นจอมยุทธ์ผู้มีฝีมือคนหนึ่ง เขียนตํารามวยไท้โจ๊วมาไว้ที่วัดเส้าหลิน ซึ่งสืบทอดมาจนปัจจุบัน วีรบุรุษเช่น งักฮุย (เย่เฟย) ก็รับการถ่ายทอดวิชานี้ไปจากเส้าหลิน

สมัยต้นราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911-2187 ) หลวงจีนเซียวซัว (เสี่ยวซาน) จากเส้าหลิน เป็นแม่ทัพออกศึกชายแดนถึง 3 ครั้ง จึงได้รับพระราชทานแท่นปักธงและสิงโตหิน ซึ่งยังตั้งอยู่หน้าวัดจนทุกวันนี้ ในสมัยราชวงศ์หมิงนี้เองที่มีการก่อสร้าง “วัดเส้าหลินใต้” ที่มณฑลฮกเกี้ยน เมื่อเกิดเหตุโจรสลัดญี่ปุ่นปล้นชายฝั่งทะเล พระจากวัดเส้าหลินได้ช่วยชาวบ้านออกต่อสู้โจรสลัดจนถึงแก่มรณภาพหลายสิบรูปเป็นที่ประทับใจของประชาชน

เมื่อชาวแมนจูยึดครองราชสำนัก สถาปนาราชวงศ์ชิง (พ.ศ. 2383-2454) วัดเส้าหลินใต้ก็มีส่วนสำคัญต่อต้านชาวแมนจู หลวงจีนตั๊กจง (ต๋าจง) ฝึกพระเณรเข้าร่วมสมาคมฟื้นฟูราชวงศ์หมิง การปราบวัดเส้าหลินจึงเป็นภารกิจสำคัญลำดับต้นๆ ของราชสำนักแมนจู เฉพาะอย่างยิ่งวัดสาขาอย่าง “เส้าหลินใต้” สมัยจักรพรรดิยงเจิ้งเคยส่งกองทัพมากวาดล้างและเผาวัดเส้าหลินใต้

ต่อมาจักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จมาดินแดนกังหนำ (พื้นที่บริเวณตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี) เพื่อปราบวัดเส้าหลินใต้เช่นกัน ทรงใช้กลยุทธ์ “จีนปราบจีน” โดยเชิญยอดฝีมือจากสำนักบู๊ตึงและง้อไบ๊ซึ่งมีเรื่องผิดใจกับเส้าหลินมาอยู่ มาประกบตัวฆ่ายอดฝีมือศิษย์เสียวลิ้มจนหมดสิ้น และเผาวัดเส้าหลินใต้เป็นครั้งที่ 2

พระ เณร ฆราวาส ศิษย์เส้าหลินที่มีชื่อเสียงที่ผ่านมามีมากมาย แต่ศิษย์เส้าหลินที่โด่งดังที่สุด คือ หลวงจีนกั๊กเอี๋ยง (เจี๋ยหยวน) ซึ่งมีอยู่ 2 รูป รูปแรกเป็นคนสมัยราชวงศ์ถังเป็นผู้นำพระอีก 12 องค์ไปช่วยชีวิตพระเจ้าถังไท่จง และช่วยปราบศัตรูกลุ่มนี้จนราบคาบ ประวัติศาสตร์ฉากนี้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์จีนเรื่อง “เสียวลิ้มยี่”

รูปที่สองเป็นคนสมัยปลายราชวงศ์ซ่งต้นราชวงศ์หยวน มีชื่อเสียงกว่าองค์แรก และเป็นผู้พัฒนาวิทยายุทธ์ของเส้าหลินให้ก้าวหน้าอย่างมาก หลวงจีนกั๊กเอี๋ยงองค์นี้กิมย้งกล่าวไว้ใน มังกรหยกภาค 2 และ 3 ว่าเป็นอาจารย์ของเตียซำฮง (จางซันเฟิง) แห่งสำนักบู๊ตึ้ง

ส่วนวัดเส้าหลินใต้ศิษย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังปรากฏในภาพยนตร์กำลังภายในมากที่สุด คือ ศิษย์ทั้ง 3 ของหลวงจีนจี๊เสียง (จื้อส้าน) ได้แก่ ปึงสี่เง็ก (ฟางสื้ออี้), อั้งฮีกัว (หงสี่กวน) และ โอ้วฮุยเคียง (หูฮุ่ยเฉียง)

ในนิยายกำลังภายในหนังสือเรื่อง “เฉียนหลงประพาสกังหนำ” กล่าวถึงการต่อสู้ของศิษย์เส้าหลินกับจอมยุทธ์จากบู๊ตึงและง้อไบ๊ว่า นักพรตคิ้วขาวจากง้อไบ๊สู้กับหลวงจีนจี๊เสียง, แม่ชีโหงวบ๊วย (อู่เหมย) จากง้อไบ๊กับปึงสี่เง็ก, ปั๊งเต้าเต็กแห่งบู๊ตึงประกบอั้งฮีกัว แม้แต่ละคู่มีฝีมือสูสีกันมาก หากในที่สุดฝ่ายเส้าหลินตายหมด สำนักถูกทำลาย

แม้พจนานุกรมวิทยายุทธ์จีนหลายเล่มไม่ปรากฏชื่อ อั้งฮีกัว, ปึงสี่เง็ก และยอดฝีมืออีกหลายคนว่าไม่มีตัวตนจริง แต่อั้งฮีกัวและปึงสี่เง็ก คงเป็นการสร้างขึ้นเป็นตัวแทนจอมยุทธ์ในอุดมคติ ที่มีปณิธานต่อประเทศชาติในการ “ล้มชิง กู้หมิง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ถาวร สิกขโกศล. สกัดจุดยุทธจักรมังกรหยก, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2543


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2563