“หมู่เกาะเครื่องเทศ” อยู่ที่ไหนกันแน่ และเครื่องเทศจากหมู่เกาะนี้คืออะไร?

ลูกจันทน์เทศ (ซ้าย) และ กานพลู (ขวา) เครื่องเทศจากหมู่เกาะเครื่องเทศ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ชื่อของ “หมู่เกาะเครื่องเทศ” ปรากฏอยู่ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ระดับมัธยม ในฐานะดินแดนโพ้นทะเลที่กองเรือชาวตะวันตกออกค้นหาและซื้อเครื่องเทศจากที่นี้ไปขายทำกำไรในทวีปยุโรป ก่อนนำไปสู่การยึดครองและจัดตั้งอาณานิคมเพื่อผูกขาดการค้าเครื่องเทศ เปิดฉากยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคมในคริสต์ศตวรรษที่ 16

เพื่อเข้าใจบทบาทและความสำคัญของหมู่เกาะแห่งนี้ยิ่งขึ้น จึงขอพาไปรู้จักที่ตั้งและสินค้าส่งออกของหมู่เกาะแห่งนี้เพื่อเข้าใจตัวตนของดินแดนที่เป็นดั่งขุมทองกลางทะเลในยุคที่การค้าโลกเฟื่องฟูด้วยเรือเดินสมุทรของชาวตะวันตก

หมู่เกาะเครื่องเทศ (Spice Islands) คือหมู่เกาะโมลุกกะหรือมาเลกู (Maluku Islands) เป็นหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน อยู่ระหว่างเกาะเซเลบีสหรือสุลาเวสี ทางตะวันตก กับเกาะนิวกินีทางตะวันออก และเกาะติมอร์ทางใต้

แผนที่ หมู่เกาะเครื่องเทศ หมู่เกาะ โมลุกกะ
หมู่เกาะเครื่องเทศหรือหมู่เกาะโมลุกกะ (สีเหลือง) (ภาพจาก Wikimedia Commons – Public Domain)

อย่างที่ทราบกัน ที่มาของชื่อหมู่เกาะเครื่องเทศ มาจากดินแดนแห่งนี้เป็นแหล่งปลูกและค้าเครื่องเทศที่พบได้เฉพาะถิ่นและราคาสูงอย่างมากในอดีต นั่นคือ จันทน์เทศ (Nutmeg) และกานพลู (Clove) เป็นสินค้าสำคัญที่จุดประกายความปรารถนาจัดตั้งอาณานิคมในพื้นที่แถบนี้ของชาวดัตช์หรือฮอลแลนด์ (ฮอลันดาหรือเนเธอแลนด์) ในคริสต์ศตวรรษที่ 16

พื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่เกาะเครื่องเทศเป็นภูเขา บางเกาะมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ ท่ามกลางภูมิอากาศแบบหมู่เกาะเขตร้อนชื้นอันอุดมสมบูรณ์ ชาวเมลานีเซียเป็นชนพื้นเมืองในหมู่เกาะนี้ ก่อนการเข้ามาของชาวมลายูในช่วงที่เป็นอาณานิคมของฮอลแลนด์ ความโดดเด่นของหมู่เกาะเครื่องเทศคือการเป็นแหล่งผลิตลูก-ดอกจันทน์เทศ และกานพลูแห่งเดียวของโลกตั้งแต่ชาวดัตช์แล่นเรือออกค้นหา และเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดคริสต์ศตวรรษ 16-18

หากดูจากแผนที่สมัยใหม่ หมู่เกาะโมลุกกะจะถูกแบ่งออกเป็น 2 เขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ นั่นคือโมลุกกะและโมลุกกะเหนือ พื้นที่เล็ก ๆ นี่เหมือนถูกซุกซ่อนอยู่ท่ามกลางเกาะต่าง ๆ อีกจำนวนนับไม่ถ้วนซึ่งประกอบกันเป็นประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน ที่กล่าวเช่นนี้เพราะเกาะเหล่านี้ไม่เพียงอยู่ห่างไกลจากฮอลแลนด์เพียงประเทศเดียว แต่ยังห่างจากศูนย์กลางและเมืองท่าต่าง ๆ ในอดีตด้วย โดยไกลจากมะนิลาทางเหนือหลายพันไมล์ ออสเตรเลียทางใต้ร่วมพันไมล์ และห่างจากจาการ์ตา (ปัตตาเวีย) เมืองหลวงของอินโดนีเซียที่อยู่ทางตะวันออกอีกกว่า 1,500 ไมล์

เกาะเตอร์นาตี แหล่งปลูกกานพลูมีภูเขาไฟหลายลูกที่คุกรุ่นอยู่ เชิงเขาขรุขระปกคลุมด้วยผืนป่าที่เป็นต้นปาล์มสูงลิ่ว เกาะบันดา แหล่งเก็บเกี่ยวลูกจันทน์เทศก็ปกคลุมด้วยป่ารกทึบที่มีต้นจันทน์เทศสูงเด่น ล้อมรอบด้วยชายหาดและแนวปะการังอันอุดมสมบูรณ์ทอดตัวสู่ทะเลสีคราม ไม่แปลกที่ชาวยุโรปจะเคยเชื่ออย่างจริงจังว่าเครื่องเทศจากหมู่เกาะนี้เป็นผลผลิตจากสรวงสวรรค์ ซึ่งดูจะไม่ผิดไปจากความจริงนักเมื่อได้เห็นธรรมชาติอันตระการตาที่โอบล้อมดินแดนนี้อยู่

อันที่จริงตอนที่เรือดัตช์เริ่มออกเดินทางค้นหาเครื่องเทศนั้น ชนพื้นเมืองชาวเมลานีเซียบนหมู่เกาะค้าขายเครื่องเทศกันมานานแล้ว (ไม่น้อยกว่าพันปี) ในช่วงแรก การมาถึงของชาวโปรตุเกสซึ่งมีโอกาสติดต่อกับชนพื้นเมืองก่อนชาวดัตช์ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อดินแดนแถบนี้เท่าที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียตะวันตก เพราะเครื่องเทศถูกขายให้กับลูกค้ามือหนึ่งชาวเอเชียแทบทั้งหมด

ตลาดการค้าเครื่องเทศในเอเชียคึกคักมานานแล้ว พ่อค้าชาวชวาและกุจรัต (คุชราช-อินเดีย) จะขายพริกไทยให้กับชาวจีนและเปอร์เซีย อบเชยจากประเทศจีนและอบเชยเทศจากซีลอนถูกบรรทุกเต็มสำเภาและเรือใบเสาเดียวแบบอาหรับ ขณะที่กานพลู ลูกจันทน์เทศ จากโมลุกกะอันโดดเดี่ยวจะมีพ่อค้าชาวมุสลิมและชาวจีนมารับซื้อไปจำหน่ายตั้งแต่เกียวโตจนถึงไคโร ส่วนที่เหลืออยู่เล็กน้อยจะถูกส่งไปยังร้านขายยาในยุโรป นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ชาวตะวันตกต้องจ่ายแพงลิ่วเพื่อให้ได้เครื่องเทศเหล่านี้มา

ขณะที่พริกไทยมีการค้าขายกันอย่างกว้างขวางกว่าเครื่องเทศชนิดอื่น แต่ถ้าเทียบปริมาณกันแบบปอนด์ต่อปอนด์แล้ว เครื่องเทศจากหมู่เกาะโมลุกกะมีมูลค่าสูงกว่าแบบที่พริกไทยเทียบไม่ติด อาจจะแพงกว่าราว 3-6 เท่าเลยทีเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและสถานที่

ภาพเขียนเกาะบันดา, ปี 1810 (ภาพจาก Wikimedia Commons / National Maritime Museum)

หมู่เกาะโมลุกกะกลายเป็นพื้นที่สู้รบหลายครั้งนับตั้งแต่ชาวโปรตุเกสและชาวดัตช์เดินทางมาถึง เมื่อเป็นอาณานิคมของชาวตะวันตก เมล็ดพันธุ์ของความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาก็ก่อตัวขึ้นในหมู่เกาะสวรรค์แห่งนี้จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองบนเกาะเตอร์นาตี และเกาะอื่น ๆ ซึ่งยืดเยื้อจนถึงช่วงปี 1990 และ 2000 ส่งผลให้มีคนตายและมีผู้ลี้ภัยนับหมื่นคน ในปัจจุบันมีชาวต่างชาติน้อยมากที่ได้ไปเยือนเกาะบันดา โดยมาเพื่อดำน้ำชมปะการัง ส่วนเกาะเตอร์นาตีเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติของนักภูเขาไฟวิทยา จะเห็นว่าไม่มีเหตุผลเกี่ยวกับเครื่องเทศเลย

นอกจากนี้ แหล่งผลิตกานพลูยังย้ายไปอยู่บนเกาะต่าง ๆ บริเวณชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา เช่น มาดากัสการ์และแซนซิบาร์ ขณะที่บันดาผลิตลูกจันทน์เทศได้เพียง 1 ใน 10 ของที่เคยผลิตได้เมื่อ 100 ปีที่แล้ว เกาะในทะเลแคริเบียนของประเทศเกรนาดากลายเป็นมหาอำนาจลูกจันทน์เทศแทนที่พวกเขาไปเรียบร้อย มีเครื่องตอกย้ำความสำคัญของเครื่องเทศนี้ต่อเศรษฐกิจของเกรนาดาคือลูกจันทน์เทศที่ปรากฏอยู่บนธงชาติของของพวกเขา ขณะที่บทบาทของหมู่เกาะโมลุกกะค่อย ๆ เลือนหายไปจากกระแสประวัติศาสตร์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ไมเคิล ครอนเดิล; สุนิสา กาญจนกุล แปล. (2553). เครื่องเทศ : ประวัติศาสตร์รสจัดจ้าน – The Tast of Congquest. กรุงเทพฯ : มติชน.

Lonely Planet (Retrieved Jan 5, 2023) : Asia / Indonesia / Maluku. (Online)

New World Encyclopedia (Retrieved Jan 5, 2023) : Maluku Islands. (Online)

Richard Moersch M.D. (Nov 1, 2001) : Spices of Life, Death and History. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มกราคม 2566