ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “จันทน์เทศ” เครื่องเทศอันล้ำค่าและโด่งดังในอดีต

จันทน์เทศ ต้นจันทน์เทศ

จันทน์เทศ (Nutmeg, Myristica fragrans) เดิมเป็นพืชพื้นเมืองของหมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย พื้นที่ซึ่งเคยถูกขนานนามว่า “หมู่เกาะเครื่องเทศ” คริสต์ศตวรรษที่ 16 บันดา” หมู่เกาะขนาดเล็กในกลุ่มหมู่เกาะโมลุกกะคือแหล่งผลิตเดียวที่ปลูกจันทน์เทศเพื่อการค้า มีพ่อค้าจากทั้งชาติเอเชียและชาวตะวันตกมารับซื้อไปทำกำไร กระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลายพื้นที่จึงเริ่มปลูกจันทน์เทศเอง เช่น ปีนัง แคริบเบียน และอินเดีย

การใช้ประโยชน์จากจันทน์เทศได้จากส่วนที่เป็น เมล็ด และดอก ซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของผลจันทน์เทศ ชาวบันดาพึ่งพาจันทน์เทศในการเลี้ยงชีพโดยขายมันเป็นเครื่องเทศแล้วนำรายได้ไปซื้อข้าวและสาคู (ไส้ของต้นสาคูคืออาหารหลักของคนท้องถิ่น) บางครั้งพวกเขาจะแล่นเรือที่บรรทุกผลจันทน์เทศไปยังเกาะชวา ขายเครื่องเทศกลิ่นหอมนี้ให้พ่อค้าท้องถิ่นและชาวต่างชาติที่มารอรับซื้อ ก่อนจะกว้านซื้อสินค้าจากเมืองท่าระหว่างทางกลับมายังบ้านเกิด

ในยุคที่ชาวยุโรปแล่นเรือหลายพันไมล์มาถึงหมู่เกาะโมลุกกะเพื่อซื้อจันทน์เทศ เครื่องเทศจากผลจันทน์เทศถูกนำไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบสำหรับปรุงแต่งอาหาร หลัก ๆ คือเพื่อดับกลิ่นและความคาวในเนื้อสัตว์

ผลจันทน์เทศมีลักษณะคล้ายมะนาวหรือลูกพลัม ต้นเต็มไปด้วยพุ่มใบแผ่เป็นทรงกรวยเขียวขจีดกหนา ผลสุกที่มีขนาดพอ ๆ กับลูกละมุดจะเปลี่ยนเป็นสีเนื้อจาง ๆ แล้วปริออก ก่อนจะร่วงหล่นลงพื้น เนื้อสีน้ำตาลอ่อนของผลจันทน์เทศก็สามารถบริโภคได้เช่นกัน ถัดจากเนื้อจันทน์เทศที่ปริเป็นร่องลึก เผยให้เห็นใยหุ้มสีแดงเข้มสดใสซึ่งเรียกว่า ดอกจันทน์เทศ (Mace) ดอกจันทน์เทศ จึงไม่ใช่ดอกไม้ แต่เป็นเยื่อหุ้มเปลือกเมล็ด หรือรก ภายในเยื่อหุ้มนี้จะมีเมล็ดจันทน์เทศที่มีเปลือกสีดำเงาวับ เปลือกนี้แข็งแต่เปราะ ภายในเป็นเนื้อเมล็ดจันทน์เทศสีน้ำตาลอ่อนเรียกว่า ลูกจันทน์เทศ (Nutmeg)

ใบ ดอก และผลจันทน์เทศ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

อย่างไรก็ตาม ชื่อเรียกดอกจันทน์เทศในภาษายุโรปหลาย ๆ ภาษา เช่น Fleur de muscade ในภาษาฝรั่งเศส หรือ Muskatblute ในภาษาเยอรมัน ล้วนบ่งชี้ว่าชาวยุโรปในอดีตเข้าใจผิดคิดว่า ดอกจันทน์เทศ คือ “ดอก” ของต้นจันทน์เทศจริง ๆ

มาร์โค โปโล นักเดินทางชาวเวนิสผู้เคยได้สำรวจดินแดนหมู่เกาะในทะเลจีนใต้และได้พบดอกจันทน์เทศก็เข้าใจว่าสิ่งนี้คือดอกไม้จริง ๆ เพราะมันเหมือนดอกไม้อื่น ๆ มาก คือเมื่อเริ่มแห้งเยื่อหุ้มเปลือกเมล็ดของผลจันทน์เทศจะให้กลิ่นหอมกว่าผลของมันเองเสียอีก ทั้งเปลี่ยนเป็นสีชมพูแกมส้มงดงาม

อาร์เจนซาโล นักประวัติศาสตร์สายอาณานิคมสเปน บรรยายเกี่ยวกับไม้ยืนต้นในตำนานชนิดนี้ในปี 1609 ทำให้เราเห็นมุมมองและภาพตราตรึงใจของชาวยุโรปต่อเครื่องเทศชนิดนี้ (เป็นฉบับแปลอังกฤษของปี 1708)

“มันเหมือนต้นแพร์ของชาวยุโรป ผลของมันคล้ายลูกแพร์ หรือออกจะกลมคล้ายกับเมโลโคโทน (ลูกพีช) เมื่อจันทน์เทศเริ่มสุก มันจะส่งกลิ่นหอมชื่นใจ ยิ่งสีเขียวดั้งเดิมตามแบบพืชผักจางหายไปมากเท่าใด ก็เริ่มสีฟ้าปะปนกับสีเทา สีแดงและสีทองจาง ๆ เหมือนสีของสายรุ้ง เพียงแต่ไม่ได้แยกสีเป็นแถบ ๆ ทว่ากระจายเป็นหย่อม ๆ เหมือนหินแจสปาร์ นกแก้วจำนวนนับไม่ถ้วน และนกชนิดต่าง ๆ มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่สวยงามน่าชม จะถูกกลิ่นหอมดึงดูดมาเกาะตามกิ่งก้านของต้นไม้ เมื่อผลจันทน์เทศเริ่มแห้ง มันจะผลัดเปลือกที่หุ้มอยู่ออก และภายในดอกจันทน์เทศจะมีลูกจันทน์เทศสีขาว ที่รสชาติไม่จัดจ้านเท่าเนื้อชั้นนอก

…ส่วนดอกจันทน์เทศซึ่งรสชาติร้อนแรงและแห้งอยู่เป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 ก็คือน้ำมันล้ำค่าที่ชาวบันดาทำขึ้นเพื่อใช้รักษาอาการต่าง ๆ เกี่ยวกับเส้นประสาทและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากอาการไข้…พวกเขาใช้ (จันทน์เทศ) เพื่อระงับกลิ่นปาก ทำให้สายตาแจ่มชัด ช่วยให้กระเพาะ ตับ และม้ามรู้สึกสบายขึ้น และช่วยย่อยเนื้อสัตว์ จันทน์เทศเป็นยารักษาอาการต่าง ๆ ได้มากมายและใช้เพื่อให้ใบหน้าดูเปล่งปลั่ง”

อันที่จริงผลจันทน์เทศมีผลด้านหลอนประสาทจากสารเคมีที่เรียกว่า ไมริสทิซิน (Myristicin) หากกินในปริมาณน้อยจะช่วยกล่อมประสาท ช่วยให้หลับง่าย ซึ่งผลกระทบต่อระบบประสาทของเครื่องเทศนี้เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่อดีตแล้ว

ในแซนซิบาร์ หญิงพื้นเมืองเคี้ยวลูกจันทน์เทศแทนการสูบกัญชา เฟรอี เซบาสเตียน มานริเก้ นักสอนศาสนาชาวสเปน บันทึกว่าที่เบงกอลในช่วงต้นทศวรรษ 1600 มีพวกขี้ยาจะใช้ลูก-ดอกจันทน์เทศ และเครื่องเทศอื่น ๆ ผสมกับฝิ่นเพื่อให้มีฤทธิ์รุนแรงยิ่งขึ้น ปฏิกิริยาตอบสนองต่อฤทธิ์ของจันทน์เทศแตกต่างกัน บางคนรู้สึกว่าหลงลืมเวลาและสถานที่ บางคนถึงขั้นเกิดภาพหลอน โดยมีบันทึกในปี 1576 โดยโลบีลิอัส แพทย์ชาวเฟลมมิช เล่าถึงหญิงตั้งครรภ์ชาวอังกฤษที่มึนเมาจนคลุ้มคลั่งหลังจากบริโภคจันทน์เทศไปราว 10-12 ลูก เพราะต้องการให้เกิดการแท้งบุตร

ลูกจันทน์เทศ (ภาพจาก Pixabay)

สำหรับตำรายาไทย ลูกจันทน์เทศมีสรรพคุณเกี่ยวกับการบำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ ขับลม แก้ท้องอืด ปวดท้อง ส่วนดอกจันทน์เทศมีสรรพคุณบำรุงโลหิตและบำรุงธาตุเช่นกัน น้ำมันระเหยจากดอกจันทน์เทศยังใช้ทาระงับปวดและช่วยขับประจำเดือนได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไมเคิล ครอนเดิล; สุนิสา กาญจนกุล แปล. (2553). เครื่องเทศ : ประวัติศาสตร์รสจัดจ้าน – The Tast of Congquest. กรุงเทพฯ : มติชน.

ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, thaicrudedrug.com (สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2566) : ลูกจันทน์ (ออนไลน์) และ ดอกจันทน์ (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2566