เซอร์จอร์น แมนเดอวิล กับการค้นพบ “สวนอีเดน” สรวงสวรรค์แห่งตะวันออก

สวนอีเดน อดัม อีฟ
สวนแห่งอีเดน, ผลงานของ Peter Paul Rubens และ Jan Brueghel the Elder (ภาพจาก Mauritshuis)

เซอร์จอห์น แมนเดอวิล (Sir John Mandeville) อัศวินชาวอังกฤษ ในศตวรรษที่ 14 นักเดินทาง ผู้แสวงบุญ และนักเขียนหนังสือชื่อ “The Voiage and Travayle of Syr John Maundeville Knight” บันทึกการเดินทางไปแสวงบุญในโลกตะวันออก ที่เล่าถึงโลกอันห่างไกลการรับรู้ของชาวยุโรปในยุคกลาง เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าเหลือเชื่อมากมาย หลายอย่างเป็นเรื่องจริง แต่หลายอย่างถูกแต่งเติมเสริมจินตนาการ บันทึกนี้โด่งดังเป็นพลุแตกทันทีเมื่อเทียบกับหนังสือเล่มอื่น ๆ ร่วมสมัยเดียวกัน

บันทึกเรื่องราวการเดินทางของเซอร์จอห์น เป็นหนังสือขายดีในหลายประเทศในยุโรป มันถูกคัดลอกเป็นภาษาต่าง ๆ และโด่งดังกว่าบันทึกของนักเดินทางชาวเวนิชอย่าง มาร์โค โปโล (Marco Polo) เสียอีก อย่างไรก็ตาม เราทราบกันในภายหลังว่า แม้จะมีการบรรยายถึงโลกตะวันออกแบบเหนือจินตนาการของคนสมัยนั้นเช่นเดียวกัน แต่งานเขียนของ มาร์โค โปโล มีข้อเท็จจริงในสัดส่วนที่มากกว่างานเขียนของเซอร์จอห์นอย่างเห็นได้ชัด

Advertisement

ทั้งนี้ เรื่องราวในบันทึกการเดินทางของเซอร์จอห์น เป็นผลจากการเดินทางแสวงบุญของชาวคริสเตียน เช่นเดียวกับหนังสือท่องโลกเล่มอื่น ๆ ของชาวยุโรปในยุคเดียวกัน

เซอร์จอห์น แมนเดอวิล
เซอร์จอห์น แมนเดอวิล (ภาพจาก New York Public Library)

หนังสือเล่าถึงการเดินทางจากอังกฤษ ในยุคการปกครองโดยชาวนอร์มัน (Norman ลูกผสมระหว่างชาวแฟรงก์กับชาวนอร์ส ชนกลุ่มนี้ตั้งรกรากอยู่บริเวณนอร์มังดีและยึดครองอังกฤษได้ในศตวรรษที่ 11) ออกเดินทางจากโบสถ์เซนต์อัลบันส์ในที่ 29 กันยายน ปี 1322 วันฉลองนักบุญไมเคิล เดินทางข้ามดินแดนตะวันตก โลกที่ชาวยุโรปรู้จัก ไปยังแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ทางตะวันออก สถานที่ซึ่งมากมายด้วยผู้คนและโบราณสถานตระการตา เซอร์จอห์นเล่าด้วยว่า เขาได้ไปถึง “แดนสวรรค์” ณ ประตูสู่สวนแห่งอีเดน ยิ่งหนังสือพาผู้อ่านถลำลึกเข้าไปในแดนตะวันออกมากเท่าใด เรื่องราวของเซอร์จอห์นยิ่งน่าเหลือเชื่อมากขึ้นเรื่อย ๆ

จากอังกฤษ สู่เวนิช คอนสแตนติโนเปิล ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (อิสราเอล) เซอร์จอห์นเดินเท้าผ่านผืนดินที่ครั้งหนึ่งพระเยซูเจ้าเคยเหยียบย่าง มีโอกาสได้เข้าเฝ้าสุลต่านแห่งอียิปต์ ได้ชื่นชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่งในภูมิภาคเลอวองท์ (Levant) ทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มุ่งสู่ตะวันออกลึกเข้าไปเรื่อย ๆ เพื่อตามหาดินแดนในตำนานของชาวคริสต์ นั่นคือ อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของ เพรสเตอร์ จอห์น (Prester John) บุคคลในตำนานที่ชาวยุโรปช่วงศตวรรษที่ 12-17 เล่าขานว่า เป็นผู้ปกครองอาณาจักรคริสเตียนท่ามกลางพวกมุสลิมและคนนอกรีตทางตะวันออก เป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่งและจิตใจงาม

นักอ่านในยุคกลางดูเหมือนจะไม่ใส่ใจความแตกต่าง (เล็กน้อย) ระหว่างเรื่องราวอันน่าทึ่ง กับเรื่องแต่งที่ไร้ความจริง หรือมีก็ปนอยู่เพียงน้อยนิด ชาวยุโรปมองเอเชียว่าเต็มไปด้วยสิ่งอัศจรรย์และน่าเหลือเชื่อ คนจำนวนมากเลือกที่จะเชื่อเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์ลึกลับแห่งตะวันออก กับคนแคระไร้ปากของเซอร์จอห์น แทนที่จะเชื่อบันทึกจากมาร์โค โปโล เกี่ยวกับกุบไลข่าน และราชวงศ์หยวนอันยิ่งใหญ่ของชาวมองโกล

แต่มิใช่เรื่องราวจากโลกตะวันออกของเซอร์จอห์นจะเป็นคำโป้ปดทั้งหมด เขาได้พบไร่พริกไทยในอินเดีย เดินทางต่อไปถึงหมู่เกาะเครื่องเทศในอินโดนีเซีย ที่นั่นเต็มไปด้วยเถาพริกไทยเลื้อยพัน พวกมันผลิดอกออกผลเป็นพวงเหมือนองุ่น รวมถึงบันทึกเกี่ยวกับ ขิง กานพลู อบเชยเทศ ลูกจันทน์เทศ ดอกจันทน์เทศ บนเกาะชวา และหมู่เกาะในทะเลตะวันออก สิ่งเหล่านี้คือเรื่องจริง แม้คำสาธยายถึงแม่น้ำที่เต็มไปด้วยเพชรพลอยและดินแดนของยักษ์ตาเดียวจะทำให้ความน่าเชื่อถือลดลงก็ตาม

หนังสือยังบอกอีกว่า ปลายสุดตะวันออกของเอเชีย คือที่ตั้งของสวนอีเดน ถิ่นพำนักเดิมของอาดัมกับอีฟ โอบล้อมด้วยนครแห่งความหฤหรรษ์และมั่งคั่ง มีต้นไม้เขียวขจีสะบัดใบล้อสายลมอ่อนโยน และทุ่งหญ้าเขียวชอุ่ม เพราะมีสายน้ำหล่อเลี้ยงจากน้ำพุแห่งความเยาว์วัย

ยากที่จะตัดสินว่าผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ในอดีตเชื่อถือเรื่องที่เซอร์จอห์นเล่าจริง ๆ หรืออ่านเพื่อความบันเทิง แต่ความจริงที่เกิดขึ้นคือ หนังสือเล่มนี้ขายดีอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 2 ศตวรรษ

นักวิชาการรุ่นหลังวิเคราะห์ว่า แท้จริงสวนอีเดนของเซอร์จอห์นไม่มีพิกัดและที่ตั้ง แต่สัมผัสได้ด้วยรสชาติและกลิ่น กลิ่นของสรวงสวรรค์คือกลิ่นของ “เครื่องเทศ” และสวนอีเดนคือสถานที่ซึ่งสิ่งล้ำค่าที่ชาวยุโรปปรารถนานี้เจริญงอกงาม สวนอีเดนคือแหล่งเพาะปลูก ตลอดจนผืนป่าที่ชนพื้นเมืองเก็บเกี่ยวเครื่องเทศนั่นเอง และมันกระจายอยู่ทั่วโลกตะวันออก ตั้งแต่อินเดีย หมู่เกาะในอินโดนีเซีย หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ฌอง เดอ จอยวิลล์ (Jean de Joinville) นักเขียนฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 13 เคยเล่าถึงชาวประมงแถบลุ่มแม่น้ำไนล์ลากอวนที่เต็มไปด้วยสินค้า ได้แก่ ขิง รูบาร์บ (ผักที่ใช้ทำแยมและพาย) ไม้กฤษณา และอบเชยเทศ สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากโลกอันห่างไกล จากสวรรค์บนดิน ไม่แปลกที่ชาวยุโรปในปลายยุคกลางต่อเนื่องยุคการสำรวจและค้นพบ จะทุ่มสุดตัวเพื่อเดินทางข้ามโลก ออกตามหาสิ่งปรุงแต่งรสอันล้ำค่าเหล่านี้ พวกเขาคงรู้สึกเหมือนกำลังออกค้นหาแดนสวรรค์ด้วยเช่นกัน

แม้การออกเดินทางของเซอร์จอห์นมีลักษณะของการแสวงบุญ เดินทางด้วยจิตวิญญาณเพื่อตามหาแดนสวรรค์ แต่ความนิยมในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้มาจากเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณสถานน่าอัศจรรย์เท่านั้น มีนักเดินทางและนักทำแผนที่จำนวนหนึ่งเชื่อถือข้อมูลของเขาอย่างจริงจัง เช่น มาร์ติน เบเฮม (Martin Baham) นักวาดแผนที่ชาวเยอรมัน ใช้หนังสือของเซอร์จอห์นอ้างอิงการวาดแผนที่โลกเป็นครั้งแรก ในปี 1492 ยิ่งไปกว่านั้น แผนที่ฉบับนี้กับหนังสือของเซอร์จอห์น ติดตัว คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ไปทุกหนแห่ง ระหว่างการนำเสนอโปรเจกต์เพื่อหาผู้สนับสนุนในการล่องเรือไปตะวันตก ตามหาอินเดียและหมู่เกาะเครื่องเทศในตำนาน

ร้านค้า เครื่องเทศ
ร้านเครื่องเทศในอิตาลี, ศตวรรษที่ 15 (ภาพจาก NYPL Digital Gallery)

หลังจากหนังสือของเซอร์จอห์นแพร่หลายอยู่นานนับศตวรรษ กลิ่นหอมอันลึกลับของเครื่องเทศจากตะวันออกเริ่มหมดเสน่ห์ลง เมื่อคาบสมุทรอิตาลีเกิดการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ กระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกระจายไปทั่วยุโรป การเดินทางแสวงบุญเพื่อเสาะหาสรวงสวรรค์กลายเป็นการบุกเบิกเส้นทางเพื่อการขยายอำนาจของยุโรปไปทั่วโลกอย่างจริงจัง ตอนนั้นเองที่นักเดินเรือชาวยุโรปได้ค้นพบความจริงว่า หนังสือของเซอร์จอห์นถูกแต่งเติมจนเกินจริงมากมายเพียงใด พวกเขาคงประหลาดใจไม่น้อยที่เห็นพริกไทยเป็นเพียงวัชพืชที่เลื้อยไปทั่ว และไม่มีใครสนใจเก็บเกี่ยวด้วยซ้ำ

นักวิชาการบางคนตั้งคำถามถึงการมีตัวตนอยู่จริงของ เซอร์จอห์น แมนเดอวิล แต่ไม่ว่าเขาจะมีตัวตนหรือไม่ เขาทำให้ชาวยุโรปได้สัมผัสสรวงสวรรค์จากงานเขียนเล่มนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อ “สวนอีเดน” ถูกยึดครองและปล้นสะดมโดยนักล่าอาณานิคม กลิ่นของเครื่องเทศแห่งสรวงสวรรค์ก็สิ้นเสน่ห์ สิ้นมนตร์ขลัง ความโด่งดังของเซอร์จอนห์น ในฐานะ “ผู้ค้นพบสวนอีเดน” จึงเป็นทั้งความสำเร็จและหายนะด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ไมเคิล ครอนเติล; แปลโดย สุนิสา กาญจนกุล. (2553). เครื่องเทศ : ประวัติศาสตร์รสจัดจ้าน. กรุงเทพฯ : มติชน.

Encyclopedia Britannica. Sir John Mandeville. Retrieved July 26, 2023. From https://www.britannica.com/biography/John-Mandeville

British Library. The Travels of Sir John Mandeville. Retrieved July 26, 2023. From https://www.bl.uk/collection-items/manuscript-of-mandevilles-travels-showing-headless-men-1430


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กรกฎาคม 2566