“จางเชียน” จากนักการทูตที่หายสาบสูญ สู่ผู้บุกเบิกเส้นทางสายไหม

จางเชียน จีน เส้นทางสายไหม
จางเชียนกลับแผ่นดินจีน, ผลงานของ HongNian Zhang (ภาพจาก Youlin Magazine)

“เส้นทางสายไหม” เส้นทางการค้าทางบกอันโด่งดังในอดีตที่เชื่อมจีนกับโลกตะวันตก ถือกำเนิดในสมัยราชวงศ์ฮั่น ราวศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล เดิมทีการสำรวจและบุกเบิกเส้นทางนี้ไม่ใช่เจตนาเพื่อเปิดเส้นทางการค้า แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวร่วมทำสงคราม โดยมีบุคคลสำคัญคือ “จางเชียน” (Zhang Qian) ขุนนางราชวงศ์ฮั่นในแผ่นดิน จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ การเดินทางของเขาคือการผจญภัยที่เปลี่ยนโลกตะวันตกกับตะวันออกไปตลอดกาล

จางเชียนพบเจออะไรในการผจญภัยครั้งนี้ การเดินทางนี้พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์อย่างไร?

138 ปีก่อนคริสตกาล จากพระบัญชาขององค์จักรพรรดิ จางเชียนและคณะมีหน้าที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับรัฐต้าเยว่ซื่อ อาณาจักรทางตะวันตกของจีน เพื่อให้ร่วมเป็นพันธมิตรในสงครามปราบปรามเหล่าอนารยชน คือพวกซงหนู (Xiongnu) ชนเผ่าที่คุกคามชายแดนราชวงศ์ฮั่น และเป็นไม้เบื่อไม้เมาของชาวจีนมาช้านาน ภารกิจของคณะทูตคือการโน้มน้าวผู้นำชาวเยว่ซื่อ (Yuezhi) ซึ่งมีความแค้นกับพวกซงหนูเช่นกัน เพราะมีข่าวมาถึงจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ว่า ในสงครามระหว่างเยว่ซื่อกับซงหนู ผู้นำพวกซงหนูได้สังหารและตัดศีรษะประมุขแห่งต้าเยว่ซื่อมาทำภาชนะใส่เหล้า

การรุกรานตามชายแดนจีนโดยพวกซงหนู สร้างความเสียหายแก่ราชวงศ์ฮั่นมาช้านาน การปราบปรามอนารยชนเหล่านี้ทั้งยืดเยื้อและสิ้นเปลืองทรัพยากร จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ทราบดีว่าการติดต่อกับต้าเยว่ซื่อต้องใช้นักการทูตผู้มีความสามารถสูง เพราะเส้นทางของคณะทูตต้องผ่านเขตอิทธิพลของพวกซงหนู จักรพรรดิจึงเลือก “จางเชียน” ราชองครักษ์ของพระองค์เป็นผู้นำคณะทูต ซึ่งนับว่าเหมาะสม เพราะจางเชียนเป็นคนใจกล้าที่มีสติปัญญา ถือว่าได้ทั้งบู๊และบุ๋น

จากข้อมูลอันน้อยนิดเกี่ยวกับชาวเยว่ซื่อ ชาวจีนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารัฐต้าเยว่ซื่อตั้งอยู่ตรงไหน ทราบเพียงอยู่ไกลออกไปทางตะวันตก จางเชียนพร้อมคณะร้อยกว่าชีวิต มีชาวซงหนูนาม “ถังอี้ฟู่” เป็นผู้นำทาง พวกเขาออกจากเมืองหลงซีมุ่งหน้าออกตามหารัฐต้าเยว่ซื่อ ถือเป็นคณะทูตกลุ่มแรก ๆ จากแผ่นดินจีน ที่เดินทางไปติดต่อกับดินแดนในเอเชียกลางหรือโลกตะวันตก (สำหรับชาวจีน)

คณะของจางเชียนเดินทางไปตามเส้นทางที่ค่อนข้างเปลี่ยวร้างห่างไกลผู้คน เพราะเป็นทางที่คนรุ่นก่อนไม่เคยใช้ ทั้งเป็นถิ่นที่พวกซงหนูยึดครองอยู่ แม้จะรุดหน้าไปอย่างระแวดระวัง แต่สุดท้ายพวกเขาก็ถูกทหารม้าซงหนูพบเข้าจนได้ หลังถูกจับเป็นเชลย พวกเขาถูกคุมตัวไปเบื้องหน้าประมุขแห่งซงหนู เป็นที่น่าแปลกใจไม่น้อยที่นอกจากคณะทูตจะไม่ถูกสังหาร หัวหน้าเผ่าซงหนูยังหาภรรยาให้จางเชียนและผู้ติดตาม เพื่อเป็นโซ่ทองคล้องใจไม่ให้เขาหนีไปจากเผ่าซงหนูด้วย ซึ่งต่อมาทั้งคู่ได้ให้กำเนิดบุตรชายด้วยกัน

กาลเวลาผันผ่านไป 11 ปีหลังการถูกจับกุมตัว ราชสำนักนักฮั่นไม่ได้รับข่าวคราวใด ๆ จากคณะทูต จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ปลงตกไปเรียบร้อยแล้วว่า คณะทูตของพระองค์คงถูกพวกซงหนูจัดการไปหมดแล้ว แต่จางเชียนไม่เคยละทิ้งเป้าหมายหรือภารกิจที่ได้รับบัญชามาเลย ยิ่งไปกว่านั้น เขามีโอกาสได้ศึกษาภูมิศาสตร์ ภาษา สังคม และวัฒนธรรมของชาวซงหนูอย่างลึกซึ้ง ขณะที่พวกซงหนูรู้สึกว่าจางเชียนและคณะล้วนผสมกลมกลืนจนแทบจะกลายเป็นชาวซงหนูไปแล้ว จึงผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมตัวพวกเขาลงไปมาก

ในคืนเดือนมืดคืนหนึ่ง จางเชียนฉวยโอกาสช่วงที่ทหารซงหนูเผลอ ชักชวนพวกพ้องของเขาหนีไปจากเผ่าซงหนูได้สำเร็จ ทั้งคณะเดินทางข้ามทะเลทรายโกบีอันกว้างใหญ่ไพศาล ผ่านที่ราบสูงปามีร์อันเหนาวเหน็บ ผ่านรัฐต้าหว่าน (เฟอร์กาน่า บริเวณอุซเบกิสถาน) รัฐคังจวี (ซอคเดียน่า บริเวณคาซัคสถาน) ในที่สุดก็ไปถึงรัฐต้าเยว่ซื่อ บริเวณทาจิกิสถานและอัฟกานิสถานในปัจจุบัน

ทว่าผู้ปกครองซึ่งเป็นภรรยาของประมุขคนก่อนที่ถูกพวกซงหนูสังหาร ไม่ประสงค์จะแก้แค้นให้สามีด้วยซ้ำ เพราะชาวเยว่ซื่อเพิ่งพิชิตอาณาจักรต้าเซี่ย (แบคเตรียของชาวกรีก) และสถาปนาอำนาจในถิ่นต้าเซี่ยได้อย่างมั่นคง จึงไม่มีความจำเป็นต้องจับมือกับราชวงศ์ฮั่นที่อยู่ห่างไกลแล้วชักศึกเข้าบ้านอีกหน

จางเชียนพยายามโน้มน้าวประมุขแห่งต้าเยว่ซื่ออยู่นานแรมปีแต่ไม่เป็นผล เขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับ โดยพยายามเลี่ยงเส้นทางที่ต้องผ่านเขตแดนของพวกซงหนู ใช้เส้นทางทิศใต้ บริเวณตอนเหนือของภูเขาคุนหลุน ก่อนเข้าสู่เขตแดนของชนเผ่าเชียง แต่ก็ไม่วายถูกเผ่าซงหนูสกัดจับได้ (อีกแล้ว) และต้องทนลำบากอยู่กับซงหนูอีก 1 ปี กระทั่งเกิดเหตุจลาจลหลังการสิ้นพระชนม์ของประมุขเผ่าซงหนู จางเชียนอาศัยจังหวะดังกล่าวพาภรรยาชาวซงหนูของเขา หนีกลับไปยังราชสำนักฮั่นได้สำเร็จ

จางเชียนคว้าน้ำเหลวอย่างสิ้นเชิงในแง่การเจริญสัมพันธไมตรี และหาความร่วมมือทางการทหาร แต่เขาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยนิสัยชอบจดบันทึก เขาเก็บข้อมูลมากมายตลอดเส้นทาง รายละเอียดต่าง ๆ รายชื่ออาณาจักร ดินแดน ภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต ผู้คน การค้าขายในแถบนั้น ทำให้ชาวจีนรับรู้ถึงการมีอยู่ของอารยธรรมระดับสูงในลุ่มแม่น้ำสินธุ (อินเดีย) พาร์เธีย (จักรวรรดิเปอร์เซียเดิม) และรัฐกรีกเฮลเลนิสติกทั่วเอเชียตะวันตก

จางเชียนกลายเป็นนักเดินทางและนักผจญภัยที่เหยียบย่างดินแดนมากมาย ตั้งแต่ตอนใต้และตอนเหนือของเขาเทียนซาน เอเชียกลาง เอเชียตะวันตก เป็นคนแรกจากที่ราบภาคกลางของจีนที่สามารถเข้าไปถึงดินแดนอันห่างไกลทางตะวันตกได้ โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 13 ปี (แม้จะถูกรั้งไว้ที่เผ่าซงหนูร่วมสิบปี) 

อย่างไรก็ตาม คณะทูตของจางเชียนจากร้อยกว่าชีวิต สุดท้ายกลับเหลือเพียงเขาและถังอี้ฟู่ กับภรรยาชาวซงหนูที่ติดมาด้วย เมื่อจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้สดับฟังเรื่องราวทั้งหมดก็ซาบซึ้งพระทัยต่อความแน่วแน่ของเขาอย่างมาก แล้วแต่งตั้งให้เป็นขุนนางตำแหน่งไท่จง

หลังจากนั้น จางเชียนมีบทบาทในการติดตามกองทัพราชวงศ์ฮั่นไปทำศึกกับพวกซงหนู แต่ต้องอาญาศึกเหตุตัดสินใจผิดพลาดและเดินทัพล่าช้า จึงถูกริบตำแหน่งกลายเป็นสามัญชน กระทั่งปีที่ 119 ก่อนคริสตกาล พระเจ้าฮั่นอู่ตี้อยากขอแรงรัฐอูซุนทางตะวันตกมาร่วมตีขนาบพวกซงหนู จึงส่งจางเชียนเป็นทูตไปแดนตะวันตกอีกครั้ง แต่ล้มเหลวเช่นเคย ประมุขแห่งอูซุนนั้นยำเกรงซงหนูอย่างมาก แต่ยังดีที่คณะทูตเดินทางกลับจีนพร้อมม้าพันธุ์เหงื่อโลหิต ซึ่งเป็นยอดอาชาจำนวนกว่าสิบตัว ถูกนำกลับไปยังราชสำนักฮั่นเพื่อเป็นไมตรีต่อกันระหว่างสองดินแดน

เส้นทาง จางเซียน
เส้นทางของจางเชียน (ภาพโดย Jonathan Groß ใน Wikimedia Commons สิทธิกรใช้งาน CC BY-SA 3.0)

115 ปีก่อนคริสตกาล จางเชียนพร้อมคณะทูตราชวงศ์ฮั่นกับการเดินทางครั้งที่ 3 ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการติดต่อทางการทูต และการแลกเปลี่ยนสินค้ากับอาณาจักรต่าง ๆ ทางตะวันตกที่เขาเคยไปเยือน คุณูปการที่จางเชียนมีต่อแผ่นดินจีนทำให้เขาถูกมองว่าเป็นวีรบุรุษ บันทึกประวัติศาสตร์ของซือหม่าถัน (Sima Tan) เล่าว่า หลังกลับจากการเดินทางครั้งนั้น จางเชียนได้รับการยกย่องในฐานะ “นักส่งสารผู้ยิ่งใหญ่” ก่อนเขาเสียชีวิตในปีต่อมา

หลังจางเชียนเสียชีวิต การติดต่อระหว่างรัฐทางตะวันตกกับราชวงศ์ฮั่นยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เส้นทางที่จางเชียนบุกเบิกนับว่าเป็นการ “เปิดทางสู่แดนตะวันตก” เกิดเป็นเส้นทางการค้าที่มีการแลกเปลี่ยนทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจากอารยธรรมตะวันตกและตะวันออก มีกรุงฉางอานเป็นปากประตูของแผ่นดินจีน ก่อนลากยาวข้ามทวีปไปถึงภูมิภาคบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และจักรวรรดิโรมัน กินระยะทางถึง 6,500 กิโลเมตร

ราชวงศ์ฮั่นกระตือรือร้นยิ่งกว่าเดิมในการปราบปรามพวกซงหนู ทั้งนี้เพื่อขยายอิทธิพลเข้าไปในภูมิภาคเอเชียกลางมากยิ่งขึ้น และควบคุมเส้นทางการค้ากับดินแดนตะวันตกให้มีความปลอดภัยสำหรับกองคาราวานพ่อค้าทั้งหลาย มีการส่งสินค้าไปยังตะวันตกอย่างจริงจัง โดยสินค้าที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ ผ้าไหม (Silk) ซึ่งกลายเป็นที่นิยมของชาวเปอร์เซียและโรมัน ชนชาติที่ทรงอิทธิพลร่วมสมัยกับราชวงศ์ฮั่นของจีน เป็นที่มาของชื่อ “เส้นทางสายไหม” หรือ Silk Road

แต่ในระยะแรกการค้ากับตะวันตกไม่ทำกำไรให้ราชวงศ์ฮั่นมากมายนัก กระทั่งความนิยมผ้าไหมพุ่งสูงขึ้น ผ้าไหมกลายเป็นสินค้าชั้นสูง และชนชั้นสูงชาวโรมันมีความต้องการผ้าไหมปริมาณมาก ตลาดผ้าไหมจึงสร้างกำไรให้ทั้งชาวจีนและพ่อค้าคนกลางจากเอเชียกลางและเอเชียตะวันตกแบบเป็นกอบเป็นกำ วุฒิสภาโรมันถึงกับเคยพยายามสั่งห้ามการนำเข้าผ้าไหม เพราะทำให้เกิดความไม่สมดุลทางการค้า และมีคำกล่าวว่า “ชาวโรมันยินดีนำทองคำมาแลกผ้าไหม” ผ้าไหมจึงถูกลำเลียงบนเส้นทางการค้านี้คิดเป็น 30% ของสินค้าอื่น ๆ เลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

หลี่เฉวียน ; เขมณัฏฐ์  ทรัพย์เกษมชัย แปล. (2556). ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. กรุงเทพฯ : มติชน.

Chinaculture. Zhang Qian. Retrieved July 19, 2023. From http://en.chinaculture.org/library/2008-02/08/content_22624.htm

HistoryMaps. ADVENTURE OF ZHANG QIAN. Retrieved July 19, 2023. From https://history-maps.com/story/Adventure-of-Zhang-Qian

Encyclopedia Britannica. Zhang Qian, Chinese explorer. Retrieved July 19, 2023. From https://www.britannica.com/biography/Zhang-Qian


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566