การฟื้นฟู “เส้นทางสายไหม” อดีตสื่อกลางเชื่อมต่อมหาอาณาจักรจีน-โรมัน

ภาพวาดกองคาราวานของมาร์โค โปโล นักเดินทางชาวเวนิสชื่อดังที่เดินทางไปยังจีนในจักรพรรดิกุบไลข่าน โดย Abraham Cresques, Atlas catalan

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2013 สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้ให้ปาฐกถา ณ มหาวิทยาลัยนาซาร์บาเยฟ ประเทศคาซัคสถาน กล่าวชื่นชมดินแดนคาซัคสถานว่าเคยสร้างคุณุปการสำคัญในการเชื่อมต่ออารยธรรมตะวันออกและตะวันตก ด้วยเป็นทางผ่านของ “เส้นทางสายไหมโบราณ” ผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือของคนต่างชาติต่างวัฒนธรรม

ในการกล่าวครั้งนั้น สี สื่อถึงเจตนารมณ์ที่จะฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของเส้นทางสายไหมโบราณที่พาดผ่านเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง ไปถึงตะวันตก กลับคืนมาอีกครั้งในชื่อโครงการ “เข็มขัดเศรษฐกิจบนเส้นทางสายไหม และเส้นทางสายไหมทะเลในยุคศตวรรษที่ 21” (The Silk Road Economic Belt and the 21st-century Maritime Silk Road)

ก่อนหน้านั้นสองปี ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็เคยประกาศแผนฟื้นฟูเส้นทางสายไหมเช่นกัน ด้วยหวังว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่เอเชียกลางจะช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงจากการก่อการร้ายได้ (โดยเฉพาะในอัฟกานิสถาน) แต่ดูเหมือนแผนของสหรัฐฯ จะแท้งไปแล้ว ขณะที่จีนเร่งมุ่งหน้าผลักดันแผนนี้อย่างจริงจัง

รายงานของนิวยอร์กไทม์อ้างว่า กำลังผลิตน้ำมันของคาซัคสถานกว่า 22 เปอร์เซนต์มาจากบริษัทร่วมทุนจีน-คาซัค และในปี 2009 จีนเคยกอบกู้วิกฤตทางการเงินของคาซัคสถานโดยมอบเงินกู้จำนวน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งคาซัคสถาน และอีก 5 พันล้านดอลลาร์ให้กับ KazMunaiGaz รัฐวิสาหกิจปิโตรเลียมของคาซัคสถานด้วย[1]

ทั้งนี้ เส้นทางสายไหมเป็นเส้นทางอายุนับพันปีที่เชื่อมต่ออารยธรรมตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน แต่มหาอาณาจักรของทั้งสองฝั่งต่างก็มีความรับรู้ข้อมูลของแต่ละฝ่ายอย่างจำกัด ชาวโรมันโบราณส่วนใหญ่รับรู้เรื่องราวของจีนผ่านคำรำ่ลือของกองคาราวานการค้า

ชาวโรมันเคยอ้างถึงชาวตะวันออกไกลที่เกี่ยวข้องกับผ้าไหมว่า “Seres” หรือ “ชาวไหม” โดยชาวโรมันโบราณเข้าใจว่า คนกลุ่มนี้เก็บเกี่ยวไหมมาจากในป่าห่างไกลสุดขอบของเอเชีย และนักวิชาการจำนวนหนึ่งก็เชื่อว่า “ชาวไหม” ที่ชาวโรมันกล่าวถึงน่าจะเป็นชาวจีนฮั่นนั่นเอง[2]

และหากชาวไหมหมายถึงชาวจีนฮั่นจริง ทูตของจีนก็อาจเดินทางไปถึงกรุงโรมตั้งแต่สมัยจักรพรรดิออกุสตุส (63 ปีก่อนคริสต์กาล – ค.ศ. 14) ดังที่ฟลอรุส (Florus นักประวัติศาสตร์โรมันในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 2) เคยกล่าวว่า

“…ทุกชาติในทิศตะวันตกและทิศใต้ต่างถูกกำราบ และพื้นที่ระหว่างแม่น้ำไรน์และดานูบทางตอนเหนือ รวมทั้งพื้นที่ระหว่างดินแดนของไซรัสและยูเฟรตีส ในตะวันออกและชาติอื่นๆ ซึ่งมิได้ตกอยู่ใต้อำนาจของโรมต่างก็รู้สึกยำเกรงในความยิ่งใหญ่ของโรม และให้ความเคารพต่อองค์จักรพรรดิผู้พิชิตดินแดนต่างๆ มากมาย ชาวซิเธียน (Scythian) ชาวซาร์มาเทียน (Sarmatian) ต่างส่งทูตมาหาเราเพื่อสานสัมพันธไมตรี รวมถึง ชาวไหม (Seres) และชาวอินเดียซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งดวงอาทิตย์ ก็เดินทางมาพร้อมกับอัญมณี ไข่มุก รวมทั้งช้างที่ถูกนำมาเป็นเครื่องกำนัล…”


อ้างอิง:

1. “China Looks West as It Bolsters Regional Ties”. The New York Times. <http://www.nytimes.com/2013/09/08/world/asia/china-looks-west-as-it-strengthens-regional-ties.html>

2.“Silk Ties: The Links Between Ancient Rome & China”. History Today. <http://www.historytoday.com/raoul-mclaughlin/silk-ties-links-between-ancient-rome-china>

3. “Epitome of Roman History”. Florus. Waxkeep Publishing