ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2544 |
---|---|
ผู้เขียน | วรณัย พงศาชลากร |
เผยแพร่ |
“อัฟกานิสถาน” บนเส้นทางสายไหม “แอ่งอารยธรรมดึกดำบรรพ์”
เป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วว่า อัฟกานิสถาน เป็นดินแดนที่มีอดีตรุ่งเรือง เป็นส่วนหนึ่งของ เส้นทางสายไหม (Silk Road) เส้นทางที่เชื่อมโลกยุคโบราณเข้าด้วยกันเป็นสายแรก มีผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ หลากหลายความเชื่อศาสนา เดินทางผ่านเข้ามาเพื่อทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน
เมื่อประมาณ 50,000 ปี – 20,000 ปีที่แล้ว ปรากกฏร่องรอยอารยธรรมของมนุษย์ขึ้นที่เชิงเขาฮินดูกูช (Hindu Kush) ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน ในช่วงเวลาต่อมาจึงเริ่มปรากฏร่องรอยของเมืองเริ่มแรกในบริเวณเมืองกันดาฮาร์ (Kandahar) รู้จักกันดีในนามของอารยธรรมหุบเขาสินธุ ที่กลายมาเป็นแหล่งผลิตลูกปัดให้กับโลกยุคโบราณในเวลาต่อมา
ช่วงเวลา 5,000-4,000 ปี มีการเคลื่อนย้ายของคนกลุ่มใหม่ลงมาจากทางตอนเหนือ ที่รู้จักกันในชื่อ อารยัน (Aryan) แต่คงไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มชาติพันธุ์เดียวที่มีความบริสุทธิ์ล้วนๆ หากแต่มีหลายต่อหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันเคลื่อนที่ลงมาปะทะกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำสินธุ กลุ่มชนอารยันได้เข้าสู่อินเดียทางช่องเขาไคเบอร์ (Khyber Pass) และขับดันกลุ่มชนดั้งเดิมที่เรียกว่า ดราวิเดียน (Dravidian) ในอินเดียให้ถอยร่นลงไป
ประมาณ 3,000-2,000 ปีที่แล้ว ขณะที่ชนเผ่าอารยัน เริ่มสร้างบ้านเมืองที่เมืองคาบูล (Kabul) เมืองเบคเตรีย (Balkh) แคว้นคันธาราฐ (Gandhara) ก็ต้องรับการมาเยือนของจักรวรรดิเปอร์เซียที่กำลังยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองที่สุดในเมโสโปเตเมีย ชนเผ่าเปอร์เซียโดยจักรพรรดิดาริอุส (Darius The Great) แห่งราชวงศ์อาคีเมนิค (Achaemenic) ยกกองทัพเข้าตีและทำลายแคว้นคันธาราฐของอารยัน เบิกทางผ่านช่องเขาไคเบอร์ (Khyber Pass) ลงไปยังบ้านเมืองในลุ่มน้ำสินธุ เปอร์เซียครอบครองอัฟกานิสถานยาวนานกว่า 200 ปี จึงผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมระหว่างชนเผ่าอารยันกับชาวเปอร์เซียน กลายมาเป็นชาวอัฟกันพื้นเมือง
หลังจากการครอบครองของเปอร์เซีย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander The Great) ยกกองทัพกรีกเข้าทำลายจักรวรรดิเปอร์เซียของจักรพรรดิดาริอุส เมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช ตามด้วยการทำลายและสร้างเมืองใหม่จำนวนมากในเขตยึดครองของเปอร์เซีย กองทัพกรีกไล่ตีขึ้นมาทางตอนเหนือของอัฟกัน เข้าตีเมืองเบคเตรีย ตีแคว้นคันธาราฐและเมืองในลุ่มน้ำโอซุส ย้อนกลับลงตามแนวเขาฮินดูกูช ผ่านช่องเขาไคเบอร์เข้าโจมตีแคว้นปัญจาบ ข้ามแม่น้ำสินธุเข้าโจมตีบ้านเมืองในอินเดีย แล้วจึงย้อนกลับมาตีบ้านเมืองทางตอนใต้ ในสงครามครั้งนี้เกิดการผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
ความขัดแย้งครั้งใหม่เกิดขึ้นระหว่างชาวกรีกผสมที่สร้างจักรวรรดิเบคเตรียร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโอซุสทางตอนเหนือของอัฟกัน กับราชวงศ์โมริยะของชาวอารยันใหม่ในอินเดียต่างเข้าแย่งชิงแคว้นคันธาราฐ โดยเริ่มต้นที่การกลับเข้ายึดครองแคว้นคันธาราฐของราชวงศ์โมริยะ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 4 พระเจ้าอโศกมหาราช (Ahhoka The Great) นำพุทธศาสนาเข้าประดิษฐานในแคว้นคันธาราฐ (กรุงคาบูล เปษวาร์ จาลาลาบัด) เกิดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกที่ตักสิลา ริมแม่น้ำสินธุ มีการเผยแพร่พุทธศาสนาไปทั่วภูมิภาค ถือได้ว่า เป็นยุคทองยุคต้นของพุทธศาสนาในอัฟกานิสถานก็ว่าได้ ต่อมากษัตริย์เมนันเดอร์ (Menander) แห่งจักรวรรดิเบคเตรียกลับเข้ามายึดครองแคว้นคันธาราฐ และวัฒนธรรมทางพุทธศาสนากลับคืน
200 ปี ต่อมา ชาวกุษาณะ (Kushan) ชนกลุ่มใหม่ลงมาจากปลายแผ่นดินจีน เข้าครอบครองลุ่มน้ำสินธุจากผู้ครอบครองเดิม พระเจ้ากนิษกะ (Kanishka) เข้ายึดครองบ้านเมืองในลุ่มน้ำคาบูล แคว้นคันธาราฐ เบคเตรีย จักรวรรดิของชาวกรีกผสมเสื่อมอำนาจลง สูญเสียดินแดนในปกครองไปเกือบทั้งหมด พระเจ้ากนิษกะสร้างเมืองเบคราม (Begram) เปษวาร์ (Peshwar เมืองมถุรา (Mathura) ริมฝั่งแม่น้ำยมุนาเป็นศูนย์กลางอาณาจักร และด้วยความมั่นคงและมั่งคั่งของจักรวรรดิ เส้นทางไหม (Silk Road) ที่เชื่อมโยงระหว่างโลกโบราณ จึงเริ่มเปิดขึ้น
ชาวกุษาณะ ศกะ-ซินเถียน รับเอาวัฒนธรรมพุทธศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวัน มีการสร้างพระพุทธรูปยืนที่เมืองบามิยัน (Bamian) ตามเส้นทางสายไหม ถือได้ว่าในช่วงเวลานี้พระพุทธสาสนาเจริญรุ่งเรืองที่สุดในอัฟกานิสถานและกระจายไปสู่ดินแดนในประเทศจีนตามเส้นทางสายไหม แต่ก็อาจจะจัดได้ว่าเป็นยุคทองยุคสุดท้ายของพระพุทธศาสนาในอัฟกานิสถานเช่นเดียวกัน ในช่วง 1,800 ปี มีการผสมผสานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เกิดกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ขึ้นอย่างมากมาย
กลุ่มชนกลุ่มใหม่ที่หลากหลายปรากฏตัวขึ้นในช่วง 1,700-1,600 ปีที่แล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ใหม่นี้เคลื่อนตัวมาจากทุกๆ ด้านของดินแดนอัฟกันทางตอนเหนือ ชาวฮั่นขาวเข้าทำลายวัฒนธรรมพุทธศาสนาในบ้านเมืองลุ่มน้ำโอซุส แคว้นคันธาราฐ และข้ามช่องเขาไคเบอร์เข้าทำลายอินเดียเหนือของราชวงศ์คุปตะ ชาวเติร์ก ตาด (ตาตาร์) จากเอเชียกลางเข้ามาทางตะวันตกเฉียงเหนือและจักรวรรดิเปอร์เซียราชวงศ์ ซัสสาเนี่ยนเข้ามาทางตะวันตก บ้านเมืองในอัฟกานิสถานแตกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย ชาวเติร์กสร้างจักรวรรดิกลาสนี่ (Ghazni) ขึ้นทางตอนใต้ของกรุงคาบูล นำความเชื่อทางศาสนาอิสลามจากอาหรับเข้าสู่อัฟกานิสถาน รวมทั้งยกกองทัพเข้าทำลายแคว้นของชาวฮินดูและชาวพุทธในอินเดียเหนือ ศาสนาอิสลามจึงเริ่มแพร่กระจายเข้าสู่ลุ่มน้ำสินธุและลุ่มน้ำคงคา
ต่อมาจักรวรรดิดิกอรห์ได้โค่นล้มจักรวรรดิกลาสนี่ลง ขยายอาณาเขตต่อจากจักรวรรดิดิกลาสนี่ไปจนถึงอ่าวเบงกอล ศาสนาอิสลามได้กลายเป็นศาสนาหลักของบ้านเมืองในพื้นที่อินเดียเหนือแทบทั้งสิ้นในเวลาต่อมา
เมื่อ 800 ปีที่แล้ว เจงกีสข่านนำกองทัพชาวมองโกล เข้าทำลายจักรวรรดิอิสลามของชาวเติร์ก ลงมาจนถึงลุ่มน้ำสินธุ ชาวมองโกลบางส่วนรับเอาวัฒนธรรมอิสลามจากเจ้าของดินแดนเดิมมาใช้ปกครอง เกิดเป็นสุลต่านมองโกลชาวอิสลามมองโกลได้สร้างอาณาจักรขึ้นในเขตครอบครองอัฟกานิสถาน ขยายจักรวรรดิไปกว้างใหญ่ในสมัยของสุลต่านมองโกลตาเมอร์เลนส์ (Tamerlane) ศูนย์กลางของจักรวรรดิอยู่ที่นครซามาร์คานด์ (Samarkand) อุซเบกิสถานในปัจจุบัน ชาวอิสลาม มองโกลที่ยึดครองอินเดีย ก็ได้สร้างจักรวรรดิอิสลามโมกุลขึ้นปกครองอินเดียเหนือ
ด้วยความแตกต่างของผู้คนที่หลากหลายความเชื่อ เชื้อชาติและผู้ปกครอง จึงเกิดการต่อสู้กันเองในดินแดนอัฟกานิสถาน กอปรที่จักรวรรดิโมเลกุลเสื่อมอำนาจลง Ahmad Shah Abdali (Durrani) ผู้นำอัฟกันจึงได้สถาปนาจักรวรรดิอัฟกานิสถานขึ้นใหม่ ขยายอาณาเขตของจักรวรรดิออกไปอย่างกว้างขวาง ถึงทะเลอาหรับและครอบคลุมลุ่มน้ำสินธุของราชวงศ์โมกุล จนกลายเป็นอาณาจักรอิสลามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ในช่วงศตวรรษที่ 17
อ่านเพิ่มเติม :
- อัฟกานิสถาน แหล่งผลิต “พระพุทธรูป” องค์แรกในโลก
- พระพุทธรูปแห่ง “บามิยัน” สมัย “พระถังซำจั๋ง” เป็นพระพุทธรูปสีทอง ประดับด้วยอัญมณี?
- พระพุทธรูปโบราณ “ลี้ภัยสงคราม” ในอัฟกานิสถาน สู่พิพิธภัณฑ์กรุงคาบูล
- บันทึก ทูตไทยประจำอัฟกานิสถาน เยือนกรุงคาบูล-เยี่ยมชมพุทธรูปบามิยัน เมื่อ พ.ศ. 2519
- การฟื้นฟู “เส้นทางสายไหม” อดีตสื่อกลางเชื่อมต่อมหาอาณาจักรจีน-โรมัน
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “อัฟกานิสถาน”. โดย วรณัย พงศาชลากร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2544
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2561