บันทึก ทูตไทยประจำอัฟกานิสถาน เยือนกรุงคาบูล-เยี่ยมชมพุทธรูปบามิยัน เมื่อ พ.ศ. 2519

ดร. สุชาติ จุฑาสมิต อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2519-2523 ซึ่งในช่วงเวลานั้น สถานทูตไทยประจำอินเดีย มีหน้าที่รับผิดชอบครอบคลุมถึงเนปาล ศรีลังกา และอัฟกานิสถาน

โดยท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐอัฟกานิสถาน เมื่อ พ.ศ. 2519 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2519

ดร. สุชาติ จุฑาสมิต ได้เขียนบทความ “ทูตไทยคนสุดท้ายประจําประเทศอัฟกานิสถาน” (ความสัมพันธ์ไทย-ยุโรป จากอดีตสู่ปัจจุบัน เยอรมนี โปรตุเกส รัสเซีย, 2546) เนื้อหาเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ฯลฯ เนื้อหาบางส่วนดังนี้

แผนที่ประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อ ค.ศ. 1983

“บทความเรื่องนี้เขียนขึ้นเพื่อคุยถึงเหตุการณ์ทางการทูตที่ผมได้ประสบเมื่อนานกว่าหนึ่งเสี้ยวศตวรรษแล้ว เหตุการณ์ได้ลืมเลือนไปจากความทรงจำมาก หลักฐานที่อ้างถึงก็สูญหายหาไม่เจอบ้าง จึงขอถือว่า เป็นการคุยสู่กันฟัง ไม่ใช่เรื่องวิชาการแท้ ๆ

ผมจะขอเริ่มเรื่องว่า ในสมัยที่ผมเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศอินเดียระหว่าง ค.ศ. 1976-1980 ผมมีเขตอาณาครอบคลุมถึงประเทศเนปาลและประเทศศรีลังกาด้วย ในสองประเทศนี้มีสถานเอกอัครราชทูตไทยตั้งอยู่ ผมจึงเพียงไปเยี่ยมเยือนรักษาความสัมพันธ์ตามความสมควรแห่งโอกาส และความจำเป็นเท่านั้น

ภารกิจประการแรกที่สำคัญของเอกอัครราชทูตไทยคือ การนำพระราชสาสน์ตราตั้งไปยื่นต่อประมุขของประเทศที่ตนไปประจำ มีเรื่องทางเทคนิคการทูตเล็กน้อย ที่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับอัฟกานิสถานก่อนสมัยผมเป็นระดับสถานอัครราชทูต (Legation) และได้รับการปรับยกฐานะขึ้นเป็นระดับสถานเอกอัครราชทูต (Embassy) ก่อนผมเข้ารับหน้าที่ ดังนั้น ในทางเทคนิคจึงนับได้ว่า ผมเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มคนแรกของไทยประจำอัฟกานิสถาน นับเป็นเกียรติที่ควรสังเกตอีกโสดหนึ่งด้วย

ดังที่ท่านทั้งหลายทราบดีแล้วว่า อัฟกานิสถานเป็นประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเล คือเป็น land-locked country ถูกล้อมรอบด้วยประเทศต่าง ๆ ดังนั้น การจะไปอัฟกานิสถานสำหรับผมขณะนั้นก็ทำได้เพียง 2 วิธีคือ การบินจากกรุงเดลีไปยังกรุงคาบูล หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือการเดินทางโดยรถยนต์ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 3 วัน ระยะทางประมาณ 1,300 กิโลเมตร แล่นผ่านประเทศปากีสถานซึ่งความสัมพันธ์กับประเทศอินเดียไม่ราบรื่นนัก

ชาวอัฟกานิสถานและโรงสี ภาพถ่ายราว ค.ศ. 1878-1880

ตอนนั้นผมยังเป็นหนุ่ม ชอบหาความรู้จากการเดินทาง จึงเลือกการเดินทางโดยรถยนต์ การเดินทางโดยรถยนต์ออกจากประเทศอินเดีย โดยจะกลับมาเข้าประเทศอินเดียอีกต้องได้รับอนุญาตจากทางการอินเดีย เพื่อนผมที่กระทรวงการต่างประเทศอินเดียก็ช่วยเป็นธุระจัดการให้ ส่วนการเดินทางผ่านปากีสถานก่อนถึงพรมแดนอัฟกานิสถานนั้น บังเอิญผมมีเพื่อนนักเรียนชั้นเดียวกันจากบัณฑิตวิทยาลัยการทูต Fletcher มาเป็นที่ปรึกษาสถานทูตปากีสถานในประเทศอินเดียอยู่ เขาจึงช่วยให้การเดินทางผ่านด่านระหว่างอินเดียกับปากีสถานเป็นไปได้ไม่ลำบากเลย

เมื่อผมเดินทางผ่านปากีสถาน ผมได้ไปแวะเยี่ยมคำนับท่านทูตวิเชษฐ์ สุทธยาคม ที่กรุงอิสลามาบัด ยังได้คุยกันถึงเรื่องทำไมทางราชการจึงมอบหมายให้ทูตที่อินเดียมีเขตอาณาคลุมถึงอัฟกานิสถาน แทนที่จะมอบหมายให้ทูตไทยที่ปากีสถานซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับอัฟกานิสถานได้มีเขตอาณาคลุมอัฟกานิสถานด้วย เหตุผลคงเป็นเพราะว่า ในสมัยที่อัฟกานิสถานมีกษัตริย์ปกครอง ประเทศปากีสถานมีนายพลทหารปฏิวัติแย่งชิงอำนาจตั้งตนเป็นประธานาธิบดีอยู่บ่อยครั้ง อัฟกานิสถานจึงอาจหวาดระแวงความสัมพันธ์กับปากีสถาน

ทางราชการไทยจึงหาทางช่วยบรรเทาความกังวลของอัฟกานิสถาน โดยแต่งตั้งทูตไทยจากอินเดียให้มีเขตอาณาคลุมถึงอัฟกานิสถานด้วย (ผมขอใส่วงเล็บออกความเห็นส่วนตัวว่า ปัจจุบันนี้สถานการณ์ในอัฟกานิสถานเปลี่ยนไปมาก ปากีสถานและอัฟกานิสถานเป็นประเทศมุสลิมด้วยกัน ปากีสถานได้ช่วยเหลืออัฟกานิสถานมากในเรื่องผู้ลี้ภัย ประกอบกับสองประเทศมีพรมแดนติดต่อกัน แนวคิดของทางราชการไทยเกี่ยวกับการทูตไทยมีเขตอาณาคลุมอัฟกานิสถานอาจได้รับการทบทวนเป็นอย่างดี)

ภาพถ่ายไม่ระบุวันที่ ราว ค.ศ. 1980 ที่ถนน Jada-i-Maiwand ในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน (Photo by BTA / AFP)

ในการเดินทางผมพักค้างคืนที่ชายแดนอินเดียหนึ่งคืน คืนที่สองไปค้างที่ Peshawar เมืองชายแดนของปากีสถาน ตอนเช้าเข้าเขตพรมแดนอัฟกานิสถานที่เมือง Londikotal วิ่งไปสู่เมือง Jalalabad พอเข้าสู่เขตแดนอัฟกานิสถาน ก็รู้สึกได้เลยว่า ความเจริญน้อยกว่าปากีสถานอยู่มาก รถยนต์ต้องวิ่งผ่านช่อง Khyber Pass ซึ่งให้ความเข้าใจความประทับใจต่างจากที่ผมเคยเข้าใจว่า Khyber Pass เป็นช่องแคบไม่ยาวนักระหว่างภูเขา เป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการรบแบบจู่โจมอย่างเยี่ยม แต่เมื่อเห็นจริงด้วยตาแล้ว ช่องแคบ Khyber Pass เป็นช่องแคบระหว่างเทือกเขาเป็นระยะทางยาว คดเคี้ยวน่ากลัวอันตราย

พูดถึงการเดินทางผ่านขุนเขา ต้องชมว่า ภูมิประเทศขุนเขาของอัฟกานิสถานก็มีความสวยงามยากจะพรรณนา เป็นความงามอย่างแห้งแล้งอย่างที่เรียกว่า rugged beauty เวลาพระอาทิตย์ใกล้ตก สีแดงสาดไปทั่วตามภูเขาที่มีแต่หินและหลืบถ้ำ ไม่มีต้นไม้เลย เป็นธรรมชาติที่งามอย่างบึกบึน เป็นธรรมชาติที่ยากแก่มนุษย์จะเข้าคุมมีอำนาจเหนือได้ แต่กระนั้นก็ต้องชมว่า ทางรถยนต์ที่เลียบไปตามไหล่เขาอยู่ในเกณฑ์ใช้การได้ เพราะอังกฤษสร้างไว้สมัยเข้ายึดครองอัฟกานิสถานเมื่อราวต้นศตวรรษที่แล้ว…

ก่อนผมได้รับแต่งตั้งเป็นทูตไทยประจำอัฟกานิสถานไม่นาน พระเจ้า Mohammed Zahir Shar พระเจ้าแผ่นดินอัฟกานิสถานสืบเนื่องมาในราชวงศ์เป็นเวลาประมาณ 200 ปี ได้ถูกปลดลงจากราชบัลลังก์ขณะไปรักษาตาที่ประเทศอิตาลี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 ขณะนี้เราได้ยินพระนามของพระองค์เป็นข่าวอีก ในลักษณะที่ว่า พระองค์ท่านอาจเป็นผู้ที่ฝ่ายต่าง ๆ ยกย่องขอให้เป็นประมุขเมื่อฝ่ายฏอลิบาน [หมายถึง ตาลีบัน-กองบก.ออนไลน์] ถูกโค่นล้มลงเรียบร้อยแล้ว…

เมื่อตอนที่ผมไปยื่นพระราชสาสน์ที่กรุงคาบูล โรงแรมที่เอกอัครราชทูตจะพอพักอยู่ได้มีเพียง 2-3 แห่ง อาทิ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนลตัลซึ่งอยู่ค่อนข้างนอกเมือง และโรงแรมคาบูลซึ่งเก่าหน่อยแต่อยู่ในเมือง ผมเลือกพักที่โรงแรมคาบูล เพราะตั้งอยู่ไม่ไกลจากทำเนียบประธานาธิบดีนัก ท่านประธานาธิบดีอัฟกานิสถานขณะนั้นคือ พลโท Mohammed Daud ผู้ซึ่งปลดพระเจ้าแผ่นดินลงจากราชบัลลังก์ และสถาปนาตนเองเป็นประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี อันที่จริงประธานาธิบดี Daud ก็เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระเจ้า Mohammed Zahir Shar นั่นเอง

พิธียื่นพระราชสาสน์ตราตั้งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1976 เป็นแบบราบเรียบ เมื่อผมตรวจกองทหารเกียรติยศแล้ว ก็ได้เข้าพบท่านประธานาธิบดี ผมกล่าวสุนทรพจน์แสดงความยินดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผมเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำอัฟกานิสถาน ทั้งแสดงความยินดีที่มีการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองจากระดับ Legation ขึ้นเป็นระดับ Embassy ผมได้ปวารณาตนที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอัฟกานิสถานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แล้วผมก็ได้มอบพระราชสาสน์ตราตั้งให้แก่มือของท่านประธานาธิบดี

ผมได้ถือโอกาสที่พำนักอยู่ในกรุงคาบูลไปพบบุคคลสำคัญในวงราชการ และได้ไปเยือนสถานที่สำคัญ 2 แห่ง คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและพระพุทธรูปใหญ่ 2 องค์ที่เมือง Bamiyan ห่างจากกรุงคาบูลออกไปประมาณ 80 กิโลเมตร

ภาพถ่ายหนึ่งในสองพระพุทธรูปแห่งบามิยัน เมื่อปี 1981 (AFP PHOTO / UNESCO (HWC))

ผมต้องขอเล่าว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอัฟกานิสถานไม่ใหญ่โตสวยงามประการใดเลย แต่ที่ประทับใจคือมีรูปปั้นสลักหักพังที่นำมาเก็บรวมไว้ไม่น้อย เป็นพระเศียร พระกร พระพุทธรูปสมัยคันธาราษฎร์ คือพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชยกทัพเข้าตีอินเดีย ระหว่างพำนักอยู่ในอัฟกานิสถาน พระเจ้าอเล็กซานเดอร์จึงได้ให้ช่างปั้นพระพุทธรูปขึ้น เป็นแบบเทพเจ้ากรีก อ่อนช้อย งดงาม แฝงไว้ด้วยความปรารถนาความสุขแก่มนุษยชาติ

ในเอเชียในอินเดียสมัย พระพุทธเจ้ายังไม่นิยมปั้นรูปบุคคลเป็นที่ระลึก พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สร้างรูปบาตรคว่ำเป็นเจดีย์อนุสรณ์ระลึกถึงพระองค์ แต่ไม่มีรูปพระองค์หรือรูปปั้น จนกระทั่ง พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้น พระพุทธรูปสมัยคันธาราษฎร์นี้ คนไทยถือว่างามมาก

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าเล่าเป็นความรู้สู่กันฟังคือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชต้องเสด็จกลับก่อนที่จะยกทัพเข้าตีอินเดีย ได้ทรงทิ้งทหารกรีกไว้ประมาณ 3,000 คน ปัจจุบันยังพอมองเห็นชาวอัฟกานิสถานรูปร่างสง่างาม นัยน์ตาสีฟ้า ผมค่อนข้างเป็นสีทอง ปะปนอยู่บ้าง เป็นเชื้อสายทหารพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชตกค้างอยู่

พระพุทธรูปที่บามิยัน (Bamiyan) ภาพถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1970 (Photo by – / UNESCO / AFP)

พระพุทธรูปใหญ่ 2 องค์ที่เมือง Bamiyan เป็นพระพุทธรูปแกะสลักจากภูเขา สูงมาก ราว 53 เมตร และ 35 เมตร ด้านหลังมีขั้นบันไดให้ขึ้นไปจนสูง สมัยโบราณเส้นทางสายไหม (Silk road) จากเมืองจีนผ่านมาทางเมือง Bamiyan มีกองคาราวานสินค้าผ่านไปมา และหยุดพัก พระพุทธรูปทั้งสององค์จึงเป็น landmark ที่หมายสำคัญ ทั้งยังแสดงว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธศาสนาได้เจริญงอกงาม เป็นที่เคารพของปวงชนพ่อค้าวาณิชเป็นอันมาก…

ผมได้มีโอกาสกลับไปเยือนอัฟกานิสถานอีกครั้งหนึ่ง…ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 7 เดือนหลังจากที่นาย Nur Mohammed Taraki ซึ่งมีนโยบายฝ่ายซ้ายยึดอำนาจสำเร็จ นาย Taraki ซึ่งนิยมรัสเซียมาก ได้ลงนามความตกลงกับโซเวียตหลายฉบับ ทั้งรับผู้เชี่ยวชาญมาจากโซเวียตมากมายหลายร้อยคน ระดับความสัมพันธ์กับโซเวียตเพิ่มจากระดับ friendship เป็นเพื่อนกันเป็นระดับ fraternity เป็นพี่เป็นน้องกัน กองทหารรัสเซียเข้ามามากมาย รวมทั้งที่สนามบินชานกรุงคาบูล สถานที่ทำงานราชการต่าง ๆ มีธงแดงปักไปทั่ว กระนั้น สถานะของนาย Nur Mohammed Taraki ก็ไม่ค่อยมั่นคงนัก เพราะมีชาวอัฟกานิสถานบางเผ่าบางพวกรักอิสระ ไม่ชอบอิทธิพลรัสเซีย…”

ทั้งนี้ บทความ “ทูตไทยคนสุดท้ายประจําประเทศอัฟกานิสถาน” นี้ เผยแพร่ผ่านวารสารสราญรมย์ เมื่อ พ.ศ. 2545 ดังนั้น ดร. สุชาติ จุฑาสมิต จึงนับได้ว่าเป็นทูตไทยคนสุดท้ายประจําประเทศอัฟกานิสถาน (จนถึง พ.ศ. 2545) ตามชื่อบทความ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำอินเดียของ ดร. สุชาติ จุฑาสมิต ไปจนถึงช่วงหลังจากที่ท่านปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้นและพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวไปแล้วนั้น การเมืองของอัฟกานิสถานเต็มไปด้วยความปั่นป่วน และสหภาพโซเวียตบุกใน พ.ศ. 2522 จึงไม่มีการแต่งตั้งทูตไทยดำรงตำแหน่งอีก กระทั่ง พ.ศ. 2548 หลังจากสหรัฐอเมริกาบุกอัฟกานิสถาน ไทยจึงสถาปนาความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถานอีกครั้ง โดยได้แต่งตั้งให้เอกอัครราชทูตไทยประจำปากีสถานดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถานอีกตำแหน่งหนึ่ง

ทหารโซเวียตในอัฟกานิสถาน ราว ค.ศ. 1986

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 สิงหาคม 2564