อัฟกานิสถาน แหล่งผลิต “พระพุทธรูป” องค์แรกในโลก

พระพุทธรูป ศิลปะคันธาระ อัฟกานิสถาน
ภาพสลักศิลา พระพุทธรูปประทับนั่ง ศิลปะคันธาระ ที่ได้รับอิทธิพลทาง วัฒนธรรมจากกรีกและโรมัน จึงมีพระพักตร์คล้ายเทพอพอลโลของกรีก มีพระเกศาหยิกสลวย และทําจีวรเป็นริ้วผ้าธรรมชาติ ตามแบบประติมากรรมโรมันในสมัยของจักรพรรดิออกุสตุส (ภาพจากหนังสือ "อัฟกานิสถาน แหล่งผลิตพระพุทธองค์แรกของโลก" สนพ.มติชน)

อัฟกานิสถาน ตั้งอยู่ระหว่างประเทศอินเดีย อิหร่าน และเอเชียกลาง มีสภาพภูมิประเทศอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน พื้นที่ทางตอนใต้ คือบริเวณหุบเขาและลุ่มแม่น้ำคาบูล (Kabul Valley) นั้น เป็นพื้นที่ผืนเดียวกันกับอินเดียภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือ คือตั้งแต่ภูเขาฮินดูกูษ (Hindu Kush) ขึ้นไปถึงแม่น้ำอ๊อกซุส (Oxus) หรือบริเวณแคว้นแบคเตรีย (Bactria) นั้นเป็นพื้นที่ผืนเดียวกันกับเอเชียกลาง

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อนักภูมิศาสตร์ชาวยุโรปเข้าไปสำรวจสภาพภูมิประเทศในอัฟกานิสถาน และมีการค้นพบโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางโบราณคดีจํานวนมากบริเวณหุบเขา และลุ่มแม่น้ำคาบูล (Kabul Valley) โดยได้พบเหรียญแบบกรีกและประติมากรรมเนื่องในพุทธศาสนา อันเป็นผลงานของสกุลคันธาระ (ค.ศ. 100-700) ซึ่งเป็นสกุลแรกที่สร้างพระพุทธรูปภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์ราชวงศ์กุษาณะของประเทศอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้นยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เกี่ยวกับการเปิดเผยเรื่องราวในอดีตอันรุ่งเรืองของอัฟกานิสถาน เนื่องจากชาวอัฟกานิสถานเองไม่ชอบเสวนากับชาวต่างชาติมากนัก มีนโยบายปิดประเทศไม่ยอมรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสผู้มีความสามารถคือ นายอัลเฟรด ฟูเช (Alfred Foucher) และคณะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอัฟกานิสถานให้ทำการขุดค้นทางโบราณคดีได้ในปี ค.ศ. 1922 จึงทำให้ชาวโลกได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับอารยธรรมโบราณในอัฟกานิสถาน

จากตำแหน่งที่ตั้งของอัฟกานิสถานคือ ด้านตะวันออกอยู่ติดชายแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ส่วนด้านตะวันตกอยู่ติดประเทศอิหร่านและเอเชียกลาง ทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นปากประตูของอารยธรรมตะวันออกที่เปิดสู่โลกตะวันตก เป็นอู่อารยธรรมที่หล่อหลอมอารยธรรมอิหร่าน (เปอร์เซีย) และอารยธรรมอินเดียเข้าด้วยกัน และยังได้รับอารยธรรมกรีก-โรมัน มาผสมผสานอีกด้วย

ที่สำคัญคือ อัฟกานิสถานเคยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่ส่งอิทธิพลไปยังเอเชียกลาง จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตผลงานทางพุทธศิลป์ของสกุลคันธาระ (ค.ศ. 100-700) ซึ่งเป็นสกุลแรกที่เริ่มสร้างพระพุทธรูป

ในราว 516 ปีก่อน ค.ศ. อัฟกานิสถานและพื้นที่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียคือบริเวณแคว้นคันธาระ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน) ได้ถูกผนวกเข้าไปอยู่ในอาณาจักรเปอร์เซีย (อิหร่าน) ภายใต้การปกครองของพระเจ้าดาริอุสที่ 1 (Darius I) แห่งราชวงค์อาคีเมนิด (Achaemenid)

ต่อมาราว 330 ปีก่อน ค.ศ. เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) กษัตริย์กรีก แห่งมาเซโดเนีย (Macedonia) ได้ยกกองทัพมายึดครองอาณาจักรเปอร์เซียในสมัยพระเจ้าดาริอุสที่ 3 และตั้งกองทัพกรีกไว้ที่แคว้นแบคเตรีย ริมฝั่งแม่น้ำอ๊อกซุส

ในปี 326 ปีก่อน ค.ศ. กองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์จากแบคเตรียได้ข้ามภูเขาฮินดูกูษมายึดครองพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำคาบูล แล้วข้ามแม่น้ำสินธุมายึดครองเมืองตักศิลา และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียถึงแคว้นปัญจาบ แต่กองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ไม่ยอมเดินทางต่อเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์จึงส่งกองทัพบางส่วนกลับโดยผ่านทางตอนใต้ของอัฟกานิสถาน บริเวณแคว้นอราโชเชีย (Arachosia) ซึ่งปัจจุบันนี้คือ เมืองกันดาฮาร์ (Kandahan) ส่วนกองทัพที่เหลือแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเดินทางกลับทางทะเลจากปากแม่น้ำสินธุ (Sindhu) ไปยังแม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates) อีกส่วนหนึ่งกลับทางบกโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงนำกลับด้วยพระองค์เอง

เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ในช่วง 323 ปีก่อน ค.ศ. ก็เป็นการสิ้นสุดอำนาจทางการเมืองของกรีกในอินเดียภาคเหนือ แต่ได้มีการก่อตั้งอาณานิคมของกรีกในแคว้นแบคเตรีย และบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย (บริเวณแคว้นคันธาระ) ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของแม่ทัพกรีกที่แบคเตรีย

อย่างไรก็ตาม ซิเลอซุส นิคาเตอร์(Seleucus Nicator) แม่ทัพชาวกรีกที่คอยควบคุมอาณานิคมของกรีก ในแบคเตรีย และในแคว้นคันธาระ สืบต่อจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ถูกกษัตริย์อินเดียคือพระเจ้าจันทรคุปต์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมริยะขับไล่ให้ถอยร่นไปอยู่บริเวณเทือกเขาฮินดูกูษ แต่การถอยร่นของกองทัพกรีกไม่ได้ทำให้อิทธิพลวัฒนธรรมกรีกในเมืองแบคเตรีย ซึ่งปัจจุบันคือเมืองบอลข์  (Balkh) ในอัฟกานิสถานนั้น ลดน้อยลงแต่อย่างใด แต่ได้ส่งอิทธิพลให้งานด้านพุทธศิลป์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองคันธาระอย่างเด่นชัด (จะกล่าวถึงในตอนต่อไป)

ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (274-232 ปีก่อน ค.ศ. หรือราว พ.ศ. 269-311) พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะที่ยิ่งใหญ่ ได้ส่งสมณทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนาทั่วประเทศอินเดียและอาณาจักรที่ใกล้เคียง รวมทั้งอัฟกานิสถานด้วย ดังได้พบชิ้นส่วนศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกที่เมืองกันดาฮาร์ (ปัจจุบันนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์กรุงคาบูล) ซึ่งเป็นจารึกที่เขียนเป็นภาษากรีก มีเนื้อความเช่นเดียวกับจารึกหลักอื่นๆ ของพระเจ้าอโศกที่ประสงค์จะเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนในพุทธศาสนา สรุปได้ว่า พุทธศาสนาได้แผ่ไปยังอาณานิคมของกรีกตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก

ราว 135 ปีก่อน ค.ศ. พวกซิเถียน (Scythian) กลุ่มหนึ่ง ซึ่งชาวอินเดียเรียกว่า พวกศกะ (Sakas) ได้ขับไล่พวกกรีกออกจากแคว้นแบคเตรีย และได้ผูกมิตรกับพวกปาเกียน (Pathian) ที่เข้ามายึดครองอาณาจักรเปอร์เซียอยู่ในขณะนั้น และตั้งราชวงศ์ศกะ-ปาเกียน (Saka-Pathain) แล้วเข้ายึดครองพื้นที่ที่เคยเป็นอาณานิคมของกรีกในลุ่มน้ำคาบูล และในบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย (แคว้นคันธาระ) ไว้ได้ทั้งหมด

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ (ราวพุทธศตวรรษที่ 6) พวกศกะในแบคเตรียก็ถูกชาวซิเถียนอีกกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากมณฑลกันสู (Kansu) ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน คือ พวกยูห์ชิห์ (Yueh chih) ได้มาขับไล่พวกศกะออกจากแบคเตรีย ยึดครองลุ่มน้ำคาบูล แคว้นคันธาระ และเมืองตักศิลา และยึดครองอินเดียภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งราชวงศ์กุษาณะใน ค.ศ. 64

กุจุลา กัดฟิส (Kujula Kadphises) ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์กุษาณะนั้น นอกจากจะยึดครองเมืองตักศิลา คันธาระ และแคว้นปัญจาบของอินเดียแล้วยังได้ติดต่อค้าขายและมีสัมพันธภาพกับอาณาจักรโรมัน ซึ่งตรงกับช่วงสมัยของพระจักรพรรดิออกุสตุส (Augustus) ราชวงศ์กุษาณะได้สร้างความเจริญทางวัฒนธรรมให้แก่อัฟกานิสถาน และอินเดียภาคเหนือเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสมัยของพระเจ้ากนิษกะ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 3 ในราชวงศ์กุษาณะ พระเจ้ากนิษกะได้ขยายอาณาเขตการปกครองของพระองค์ออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมบริเวณเอเชียกลาง อัฟกานิสถานและอินเดียภาคตะวันตกเฉียงเหนือและภาคเหนือทั้งหมดไปจนถึงแคว้นเบงกอล (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย)

พระเจ้ากนิษกะได้สร้างเมืองหลวงไว้ในอัฟกานิสถาน 1 แห่ง และในอินเดียอีก 1 แห่ง ในอัฟกานิสถานได้สร้างเมืองกปิศะ (Kapisa) ซึ่งปัจจุบันคือเมืองเบคราม (Begram) บนฝั่งแม่น้ำคอร์แบน (Ghorband River) เป็นเมืองหลวงทางตอนเหนือของอาณาจักร และได้สร้างเมืองมถุรา (Mathura) บนฝั่งแม่น้ำยมุนา (Yamuna River) ตอนกลางของประเทศอินเดียภาคเหนือ เพื่อให้เป็นเมืองหลวงทางตอนใต้ ของอาณาจักรของพระองค์

ในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ อัฟกานิสถานได้กลายเป็นศูนย์กลางและเป็นแหล่งรวมสินค้านานาชาติจากภูมิภาคต่างๆ ของโลกทีเดียว หลวงจีน ฮวนซัง (Hsuan Tsang) ซึ่งได้เข้าไปเยือนเมืองกปิศะ (เบคราม) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ได้บรรยายไว้ว่า ในบริเวณพระราชวังของพระเจ้ากนิษกะ ได้พบประติมากรรมโลหะขนาดเล็ก ในรูปแบบศิลปะแบบกรีก-โรมันเป็นจำนวนมาก เครื่องแก้วของซีเรีย รวมทั้งกล่องลงยาของจีนในสมัยราชวงศ์ฮัน

หลวงจีนฮวนซัง
หลวงจีน ฮวนซัง (ภาพจาก https://th.wikipedia.org)

นอกจากเมืองเบครามแล้ว ยังได้พบร่องรอยการผสมผสานทางอารยธรรมของชาวอินเดีย ชาวอิหร่าน และชาวยุโรป ในบริเวณเมืองอื่นๆ ในอัฟกานิสถาน เช่น เมือง แบคเตรีย (Bactria) เมืองฮัดดา (Hadda) เมืองเปษวาร์ (Peshwar) เป็นต้นว่า ได้พบเศียรรูปปั้นรูปเทวดา ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะแบบกรีกโรมันที่เมืองเปษวาร์ ได้พบแผ่นงาช้างสลักแบบอินเดียที่เมืองเบคราม พบเศียรปูนปั้นฤาษีชาวอินเดีย และประติมากรรมนูนสูงเป็นภาพเหมือนของพระเจ้าแอนติโนอุสที่เมืองฮัดดา เหรียญกษัตริย์กรีกและเหรียญพระเจ้ากนิษกะที่เมืองแบคเตรีย

พระเจ้ากนิษกะนอกจากจะสร้างความร่ำรวยให้ราชอาณาจักรของพระองค์ด้วยการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรต่างๆ ทั้งทางซีกโลกด้านตะวันตกและซีกโลกด้านตะวันออกแล้ว พระองค์ยังได้รับยกย่องให้มีสถานภาพเทียบเท่ากับพระเจ้าอโศกที่ 2 เนื่องจากพระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์พุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสูงสุด โปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 4 ที่แคว้นแคชมีร์ (พระเจ้าอโศกทรงโปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ที่เมืองปาฏลีบุตร) และส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายมหายานในเอเชียกลาง จีน เกาหลี และญี่ปุ่น

ส่วนพระองค์เองทรงศรัทธาในนิกายสรวาสติวาท (นิกายหินยานที่ใช้พระไตรปิฎกภาษาสันสกฤต) พร้อมทั้งได้อุปถัมภ์สกุลช่างทางพุทธศิลป์สำคัญ 2 สกุล คือ สกุลมถุรา (มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมถุรา) และสกุลคันธาระซึ่งเจริญรุ่งเรืองอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำคาบูลตอนใต้ (ปัจจุบันอยู่ในอัฟกานิสถาน) และตอนบนของลุ่มแม่น้ำสินธุ บริเวณเมืองเปษวาร์ (Peshwar) (ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1-7

ในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ สกุลคันธาระได้ผลิตผลงานด้านพุทธศิลป์ ซึ่งประกอบด้วยผลงานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม จัดว่าเป็นสกุลแรกที่เริ่มสร้างรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปมนุษย์ (ในสมัยพระเจ้าอโศกยังนิยมสร้างแต่รูปสัญลักษณ์เช่นรอยพระบาท)

เนื่องจากสกุลช่างนี้ตั้งอยู่ในแคว้นคันธาระ ซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากกรีกและโรมัน (ดังได้กล่าวมาแล้ว) ดังนั้นพระพุทธรูปสกุลช่างคันธาระจึงมีลักษณะเหมือนประติมากรรมแบบกรีก-โรมัน แต่คติการสร้างยังเป็นคติความเชื่อของชาวอินเดียที่สัมพันธ์กับลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการของพระพุทธเจ้า (ตามคติความเชื่อของนิกายมหายานที่ให้อิทธิพลต่อนิกายหินยานในยุคต่อมา) พระพุทธรูปคันธาระจึงมีพระพักตร์คล้ายเทพอพอลโลของกรีก มีพระเกศาหยิกสลวย (ยังไม่เป็นขมวดก้นหอย) และมีอิทธิพลโรมันในการทำริ้วจีวรเป็นริ้วผ้าธรรมชาติ ตามแบบประติมากรรมโรมันในสมัยของจักรพรรดิออกุสตุส

อย่างไรก็ตาม ยังมีลักษณะมหาบุรุษบางประการปรากฏอยู่ด้วย คือ มีอุณาโลม (ขนระหว่างคิ้ว) มีอุษณีษะศีรษะ (กะโหลกศีรษะโป่งตอนบน) และมีพระกรรณยาว (หูยาว)

นอกจากจะริเริ่มสร้างรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปมนุษย์แล้ว สกุลคันธาระยังริเริ่มสร้างรูปโพธิสัตว์อีกด้วย คือรูปเจ้าชายสิทธัตถะก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดยทำเป็นรูปเจ้าชายชาวอินเดียมีเครื่องประดับตกแต่งแบบชนชั้นสูงในสมัยนั้น ผลงานของสกุลคันธาระยังแสดงเห็นถึงอิทธิพลของศาสนานิกายหินยาน (นิกายสรวาสติวาทซึ่งพระเจ้ากนิษกะทรงเป็นองค์อุปถัมภ์) โดยนิยมสร้างเพียงพระพุทธรูปซึ่งเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของพระพุทธศาสนา และสร้างรูปพระอนาคตพุทธเจ้าคือ พระศรีอาริยเมไตรยะ

พระโพธิสัตว์ ศิลปะคันธาระ อัฟกานิสถาน
พระโพธิสัตว์ (เจ้าชายสิทธัตถะ) ศิลาสูง 109 ซ.ม. ศิลปะแบบคันธาระ (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ กรุงบอสตัน) (ภาพจากหนังสือ “อัฟกานิสถาน แหล่งผลิตพระพุทธองค์แรกของโลก” สนพ.มติชน)

แม้ว่าจะสร้างรูปพระโพธิสัตว์แต่ก็เป็นเพียงรูปเจ้าชายสิทธัตถะก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อย่างไรก็ตาม เมื่อนิกายมหายานเจริญรุ่งเรืองในอินเดียภาคเหนือ สกุลคันธาระยังได้เริ่มสร้างรูปพระโพธิสัตว์ตามคติมหายานอีกหลายองค์ เป็นต้นว่า รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นอกจากนี้สกุลคันธาระยังได้เริ่มสร้างภาพสลักเล่าเรื่องพุทธประวัติแบ่งเป็นตอนๆ (ตามแบบศิลปะโรมัน)

ผลงานด้านพุทธศิลป์ของสกุลคันธาระ นอกจากจะมีศูนย์กลางอยู่ในแคว้นคันธาระแล้ว ยังมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศอัฟกานิสถานอีกหลายแห่ง ที่สำคัญคือที่เมืองกปิศะ (Kapisa) ซึ่งเป็นเมืองหลวงทางภาค เหนือของพระเจ้ากนิษกะ และในปัจจุบันคือเมืองเบคราม (Begram) ที่เมืองฮัดดา (Iladda) ซึ่งอยู่ใกล้เมืองเชลาลาบัด (Jelalabad) ในปัจจุบัน และที่เมืองบามิยาน (Bamiyan) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เทือกเขาฮินดูกูษ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 แคว้นคันธาระถูกพวกฮั่น (Huns) โจมตีและยึดครอง อย่างไรก็ตาม ผลงานของสกุลนี้ยังปรากฏต่อมาในอัฟกานิสถาน และในแคว้นแคชมีร์จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7

ประติมากรรมของสกุลคันธาระจะมีทั้งประติมากรรมขนาดใหญ่ที่แกะสลักจากหิน (blue schist and green phyllite) และขนาดเล็กที่ทำด้วยปูนปั้น ประติมากรรมสลักหินรูปพระพุทธรูปที่งดงามที่เหลือให้เห็นในปัจจุบันคือ ประติมากรรมแสดงภาพมหาปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าที่เมืองเบคราม (Begram) และประติมากรรมรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งที่เมืองตักห์ติบาไฮ (Takht-i-Bahi) และเมื่อพุทธศาสนา นิกายมหายานจากอัฟกานิสถานแพร่ไปยังจีนและญี่ปุ่น อิทธิพลการทำริ้วผ้าแบบโรมันก็ได้ไปปรากฏที่จีนและญี่ปุ่นด้วย

พุทธศาสนานิกายมหายานเจริญรุ่งเรืองมากในอัฟกานิสถาน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกปิศะ หลวงจีนฮวนซัง (Hsuan-tsang) ซึ่งเดินทางเข้าไปในอัฟกานิสถานในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ได้บรรยายไว้ว่า เมืองกปิศะเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนานิกายมหายาน มีสถูปขนาดใหญ่ และสังฆารามจำนวนมาก นอกจากเมืองกปิศะก็มีผลงานด้านพุทธศิลป์จำนวนมากที่เมืองฮัดดาและเมืองบามิยาน ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง คริสต์ศตวรรษที่ 3-5

งานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาที่โดดเด่นที่แสดงถึงความผสมผสานระหว่างศิลปะอินเดีย อิหร่าน และเอเชียกลาง ปรากฏเด่นชัดที่เมืองบามิยาน หลวงจีนฮวนซังได้บรรยายไว้ว่า เป็นเมืองสำคัญทางพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่มีความงดงามโรแมนติกมาก วัดวาอารามที่เมืองบามิยานทุกวัดจะสร้างโดยการเจาะเข้าไปในหน้าผาหินทราย ที่มีความยาวเป็นไมล์โดยทำเป็นคูหาเรียงรายกันเป็นแถวดูเหมือนรังผึ้ง ภายในคูหานอกจากภาพสลักรูปพระพุทธเจ้าแล้ว ที่ผนังคูหาเหล่านี้ยังมีภาพจิตรกรรมแบบเดียวกับจิตรกรรมในถ้ำอชันตา (ภาคตะวันตกของประเทศอินเดีย) โดยแสดงเป็นภาพพระโพธิสัตว์ในคติมหายาน ภาพเทวดาและนางฟ้า ในบรรดาคูหาที่เป็นโบสถ์วิหารและกุฏิเหล่านี้มีอยู่ 2 คูหาที่มีขนาดใหญ่มาก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินสลักขนาดสูง 120 ฟุต และ 175 ฟุต ตามลำดับ พระพุทธรูปหินสลัก 2 องค์นี้ มีอายุอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 (พุทธศตวรรษที่ 8-9)

พระพุทธรูป บามิยาน อัฟกานิสถาน
พระพุทธรูปในคูหาที่เมืองบามิยาน (ภาพจากหนังสือ “อัฟกานิสถาน แหล่งผลิตพระพุทธองค์แรกของโลก” สนพ.มติชน)

อย่างไรก็ตาม ประติมากรรมหินสลักขนาดใหญ่ที่เมืองบามิยาน ไม่ได้สลักเป็นองค์พระพุทธรูปที่สมบูรณ์ทั้งหมด เพียงแต่สลักส่วนลำตัวและส่วนพระพักตร์ให้เป็นรูปทรงคร่าวๆ เท่านั้น ส่วนรายละเอียดต่างๆ ตลอดจนการทำจีวรเป็นริ้วนั้นทำโดยการใช้ดินผสมฟางพอกให้ได้รูปทรง ปิดทับด้วยปูนแล้วจึงทาสี และปิดทองคำเปลวประทับลงไป

นับว่าการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 2 องค์ ที่เมืองบามิยาน เป็นการริเริ่มที่จะแสดงภาพพระพุทธเจ้าให้มีขนาดใหญ่เหนือมนุษย์ธรรมดา ซึ่งเป็นการแสดงถึงสถานภาพของพระองค์ว่าอยู่เหนือมนุษย์ทั่วไป ทรงเป็นมหาบุรุษและอยู่เหนือโลก (โลกุตตร) ซึ่งเป็นคติความเชื่อในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน

จากเมืองบามิยาน แนวคิดในการสร้างพระพุทธรูปให้มีขนาดใหญ่กว่ามนุษย์ธรรมดาก็ได้แพร่ไปยังประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้นับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน และได้สร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่แบบเมืองบามิยาน ในประเทศจีนจะพบภาพสลักพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ถ้ำย่งกัง และถ้ำหลงเหมิน ส่วนในประเทศญี่ปุ่นนั้นเราก็ได้เห็นประติมากรรมสำริดรูปพระธยานิพุทธไวโรจนะขนาดใหญ่ที่เมืองนารา ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8

สรุปได้ว่า อัฟกานิสถาน ไม่เพียงแต่จะเป็นอู่อารยธรรมที่หล่อหลอมอารยธรรมตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน หากแต่ยังเป็นแหล่งผลิตผลงานด้านพุทธศิลป์ของสกุลคันธาระซึ่งเป็นสกุลแรกที่เริ่มสร้างรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปมนุษย์ นอกจากนี้อัฟกานิสถานยังเคยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนานิกายมหายานที่ส่งอิทธิพลไปยังเอเชียกลาง จีน เกาหลี และญี่ปุ่น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2562