พระพุทธรูปชุดแรกในโลก ศิลปะคันธาระ ทำไมหน้าตาเป็น “ฝรั่ง”

ภาพสลักศิลา พระพุทธรูป ศิลปะคันธาระ
ภาพสลักศิลา พระพุทธรูป ประทับนั่ง ศิลปะคันธาระ ที่ได้รับอิทธิพลทาง วัฒนธรรมจากกรีกและโรมัน จึงมีพระพักตร์คล้ายเทพอพอลโลของกรีก มีพระเกศาหยิกสลวย และทําจีวรเป็นริ้วผ้าธรรมชาติ ตามแบบประติมากรรมโรมันในสมัยของจักรพรรดิออกุสตุส (ภาพจากหนังสือ "อัฟกานิสถาน แหล่งผลิตพระพุทธองค์แรกของโลก" สนพ. มติชน)

ศิลปะคันธาระ ปรากฏขึ้นเมื่อชนชาติตีเถียนอพยพจากภาคกลางของทวีปเอเชียเข้าครอบครองดินแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย หรือประเทศปากีสถานในปัจจุบัน และสถาปนาราชวงศ์กุษาณะมีพระเจ้ากนิษกะ (ราวพ.ศ. 663-705) เป็นประมุขและทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกเช่นเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราช ต่างกันเพียงพุทธศาสนาที่พระเจ้ากนิษกะทรงเลื่อมใสเป็นลัทธิมหายาน ซึ่งเชื่อกันว่า พระพุทธรูป ได้อุบัติขึ้นในรัชกาลของพระองค์เป็นครั้งแรกด้วย

พื้นที่ที่เป็นอาณาจักรของพระเจ้ากนิษกะเคยเป็นบริเวณที่ชนชาติกรีกเข้ามาครอบครองตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชยกทัพเข้าไปรุกรานดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำสินธุ (ประมาณ พ.ศ. 217-218) ต่อมาชาวโรมันก็ได้ตามเข้ามาค้าขาย เมื่อมีการสร้างพระพุทธรูปตามแบบ “ศิลปะคันธาระ” ขึ้น จึงเป็นไปได้ว่าชาวซิเถียนอาจใช้ช่างกรีกโรมันเลยก็เป็นได้

ด้วยเหตุนี่ พระพุทธรูป ศิลปะคันธาระ จึงมีหน้าตาเป็นฝรั่ง

ช่างกรีก ช่างโรมันสร้างพระพุทธรูปเป็นรูปมนุษย์ขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพนานไปประมาณ 600 ปี แต่ความสามารถของช่างทำให้คนทั่วไปยอมรับได้ว่าประติมากรรมที่สร้างขึ้นเป็นพระพุทธรูป เป็นรูปลักษณ์ของพระพุทธองค์ได้ โดยใช้คุณลักษณะ 3 ประการในการสร้างงาน คือ

1. ใช้ความสุนทรียภาพตามแบบฝรั่ง กล่าวคือ พระนาสิกโด่ง, พระโอษฐ์เล็ก, พระขนงวาดเป็นวงโค้งบรรจบกันเหนือดั้งพระนาสิก, ส่วนใหญ่ครองจีวรโดยห่มคลุมบ้าทั้งสองข้าง จีวรเป็นผ้าหนา เป็นริ้วขนาดใหญ๋ตามธรรมชาติคล้ายการห่มผ้าจองพวกโรมัน

2. การกระทำตามคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ เช่น มีใบหูยาน, มีอุณาโลม (กลุ่มขนคิ้วอยู่ระหว่างคิ้วกลางหน้าผาก) และลายธรรมจักรบนฝ่ามือ ฯลฯ

3. ความฉลาดของช่าง เนื่องจากการสร้างพระพุทธรูปเกิดขึ้นหลังการปรินิพพานไปประมาณ 600 ปี ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่า พระพุทธเจ้ามีรูปพรรณอย่างไร แต่ความฉลาดของช่างทำให้คนทั่วไปรู้ได้ทันที และยอมรับได้ว่าประติมากรรมที่สร้างขึ้นเป็นพระพุทธรูป เป็นรูปลักษณ์ของพระพุทธองค์ได้ เช่น การใช้ประภามณฑล (รัศมีที่พวยพุ่งขึ้นจากพระเศียรของพระพุทธรูป)เป็นรูปวงกลมอยู่งเบื้องหลังพระเศียร ดังเช่นเทวรูปอพอลโลของกรีก

พระพุทธรูปแบบคันธาระแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แบบประทับนั่ง และประทับยืน หากเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง จะเป็นการประทับนั่งขัดสมาธิเพชรเท่านั้น โดยการแสดงพระชงฆ์ไขว้กันเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง

จากการที่พระพุทธรูปแบบคันธาระเจริญขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียในสมัยแรกๆ ของการติดต่อระหว่าดินแดนแถบนั้นกับดินแดนสุวรรณภูมิ หรือเอเชียอาคเนย์  ประกอบกับระยะทางที่ห่างไกลระหว่างดินแดนทั้งสองค่อนข้างมาก

ศิลปะแบบคันธาระในเอเชียอาคเนย์จึงมีอิทธิพลอยู่น้อยมาก และเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น ส่วนใหญ่นิยมพระพุทธตามศิลปะแบบอมราวดี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียมากกว่า ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจแก่พระพุทธรูปรุ่นแรกที่สร้างขึ้นแทนที่ศิลปะแบบคันธาระ ซึ่งไม่เป็นที่นิยมของช่างพื้นเมืองในแถบนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ดร. ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. “พระพุทธรูปชุดแรกในโลกศิลปะคันธาระ เหมือน ‘กรีก-โรมัน’ ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2532


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ธันวาคม 2563