ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระหล่อด้วยโลหะ หน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ ใหญ่กว่าพระพุทธรูปหล่อองค์อื่นซึ่งปรากฏอยู่ในประเทศสยามนี้
เดิมที พระศรีศากยมุนี เป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย หล่อแต่ครั้งกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงครองกรุงสุโขทัย ครั้นจำเนียรกาลนานมา พระวิหารหลวงหักพัง พระพุทธปฏิมาต้องตากแดดกรำฝนจนชำรุดลง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จึงดำรัสสั่งให้เชิญย้ายลงมากรุงเทพฯ ทรงพระราชดำริจะสร้างพระอาราม มีพระวิหารใหญ่อย่างวิหารพระเจ้าพนัญเชิงที่พระนครศรีอยุธยา ประดิษฐานไว้กลางพระนคร
มีเรื่องที่เชิญ พระศรีศากยมุนี ลงมา ปรากฏอยู่ในหนังสือ ความทรงจําฯ ซึ่งทรงพระราชวิจารณ์ดังนี้
“พระโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนคร ให้สูงเท่าวัดพนัญเชิง ให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปรับพระใหญ่ ณ เมืองสุโขทัย ชะลอเลื่อนลงมากรุงฯ ประทับท่าสมโภช 7 วัน ณ วันเดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ ยกทรงเลื่อนชักตามทางสถลมารค
พระโองการตรัสให้แต่งเครื่องนมัสการพระทุกหน้าวัง หน้าบ้าน ร้านตลาด จนถึงที่ประชวรอยู่แล้ว แต่ทรงพระอุตสาหะเพิ่มพระบารมี หวังที่หน่วงโพธิญาณจะโปรดสัตว์ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เสด็จพระราชดำเนินตามขบวนแห่พระ หาทรงฉลองพระบาทไม่
จนถึงพลับพลาเสด็จขึ้นเซพลาด เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรารับพระองค์ไว้ ยกพระขึ้นที่แล้วเสด็จกลับ ออกพระโอษฐ์เป็นที่สุด เพียงได้ยกพระขึ้นถึงที่สิ้นธุระเท่านั้น”
ในรัชกาลที่ 1 เพียงได้เชิญพระขึ้นตั้งที่ไว้ ยังมิได้สร้างพระวิหาร มาลงมือสร้างก็นรัชกาลที่ 2 แต่จะสร้างได้เพียงใดหาปรากฏชัดไม่ ปรากฏแต่ว่าบานประตูพระวิหารซึ่งจําหลักลายอันวิจิตรนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดําริ และได้เริ่มจำหลักด้วยฝีพระหัตถ์ มีปรากฏชัดในหนังสือความทรงจำฯ ดังนี้
“แล้วทรงพระดำริ ให้ช่างเขียนเส้นลายบานประตูวัดพระใหญ่ยกเข้าไป ทรงพระราชศรัทธาลงลายพระหัตถ์สลักภาพกับกรมหมื่นวิจิตรภักดี”
วัดสุทัศนเทพวราราม มาสร้างสำเร็จแล้วบริบูรณ์ในรัชกาลที่ 3
อ่านเพิ่มเติม :
- พระพุทธโสธร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ลอยน้ำในตำนานแต่ครั้งรัชกาลที่ 5
- ตำนานสร้าง “พระศรีศาสดา” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง “พระพุทธรูปผู้พิทักษ์พระพุทธชินสีห์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจาก “ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ” พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2562