ทำไม รัชกาลที่ 1 ทรงศรัทธา “พระแก้วมรกต” ถึงขั้นโปรดอัญเชิญเป็น “ใจเมือง”

พระแก้วมรกต ที่ รัชกาลที่ 1 มี พระราชศรัทธา
รัชกาลที่ 1 มีพระราชศรัทธาในพุทธคุณพระแก้วมรกต

เมื่อสร้างกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1 มีพระราชปณิธานที่จะสร้างให้เป็นกรุงศรีอยุธยาแห่งใหม่ โดยจำลองแบบอย่างหลายอย่างมาไว้ที่กรุงเทพฯ ขาดเพียงพระพุทธรูปที่เปรียบเสมือน “ใจเมือง” แม้โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปลงมาไว้กรุงเทพฯ หลายองค์ แต่ก็ไม่มีองค์ใดเลย ที่จะมีพระราชศรัทธาในพุทธคุณเทียบเท่า “พระแก้วมรกต” 

“พระแก้วมรกต” จึงประดิษฐานเป็นประธานอยู่ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางราชอาณาจักรสยาม และศูนย์กลางแห่งพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ ศาสนา และราษฎร

Advertisement

เหตุใดจึงโปรดพุทธคุณในพระแก้วมรกตยิ่งกว่าพระพุทธรูปอื่นๆ 

ตำนานเกี่ยวกับพระแก้วมรกต ที่ว่าเป็นพระพุทธรูปที่เทวดาสร้าง มีการอัญเชิญไปยังดินแดนต่างๆ เช่น ประดิษฐานอยู่เมืองลำปางนาน 32 ปี (พ.ศ. 1979-2011), เชียงใหม่ 85 ปี (พ.ศ. 2011-2096), หลวงพระบาง ไม่ถึงปี (พ.ศ. 2096), เวียงจันทน์ 225 ปี (พ.ศ. 2096-2322) กรุงธนบุรี 5 ปี (พ.ศ. 2322-2327) และสุดท้ายประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งแต่ พ.ศ. 2327

เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์  มีการก่อสร้างพระอารามขึ้นในพระราชวังหลวงตามอย่างกรุงศรีอยุธยา แล้วเสร็จในปี 2326

ปีถัดมารัชกาลที่ 1 โปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกต “ข้ามฟาก” มาจากกรุงธนบุรี ลงเรือพระที่นั่งกิ่ง มีเรือแห่เป็นขบวน ไปยังพระอุโบสถแห่งใหม่ ส่วน “พระบาง” พระราชทานคืนแก่กรุงเวียงจันทน์ไป

“พระราชพิธีสิบสองเดือน” พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 ตอบคำถามเรื่อง รัชกาลที่ 1 ทรงเลื่อมใสในพุทธคุณของพระแก้วมรกต โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการปราบยุคเข็ญและการปราบดาภิเษกของพระองค์ ว่า

“ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้ เป็นสิริแก่พระองค์และพระนคร จึงได้ขนานนามกรุงใหม่ว่ากรุงรัตนโกสินทรมหินทราอยุธยา เพราะเป็นที่ประดิษฐานและเป็นที่เก็บพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ เพราะเหตุฉะนั้นการพระราชพิธีอันใดซึ่งเป็นการใหญ่ ก็ควรจะทำในสถานที่เฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากรนั้นประการหนึ่ง” 

หลังจากอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพียง 2 เดือน ได้เกิดธรรมเนียมใหม่ขึ้น คือ พ.ศ. 2328 รัชกาลที่ 1 โปรดให้ตั้งพระราชกำหนดใหม่ให้ข้าราชการทั้งปวงต้องเข้าไปกราบนมัสการพระแก้วมรกตก่อน แล้วจึงเข้ารับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัจจาภายหลัง ผิดกับพระราชกำหนดเก่าที่ถือธรรมเนียมเข้าไปไหว้รูปพระเทพบิดรก่อน แล้วจึงกราบนมัสการพระรัตนตรัยภายหลัง

ไม่เพียงแต่รัชกาลที่ 1 จะทรงศรัทธาและถือว่าพระแก้วมรกตนั้น “เป็นสิริแก่พระองค์” ยังเป็นไปได้ว่าทรงเชื่อพุทธคุณในทางใดทางหนึ่งขององค์พระแก้วมรกตเป็นพิเศษ

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งถึงความศรัทธาเลื่อมใสพระแก้วมรกตของรัชกาลที่ 1 ว่า

“ท่านเลื่อมใสในองค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้มาก จึงยกไว้เปนหลักพระนคร พระราชทานนามพระนคร ก็ให้ต้องกับพระนามพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ด้วย” 

พระแก้วมรกตยังมีความสำคัญถึงขนาดว่าเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวที่มี “ข้าพระ” ดังปรากฏในหมายรับสั่งและบัญชีโคมตรา ในพระราชพิธีวิสาขบูชา ในรัชกาลที่ 4 มีการกล่าวถึง “ข้าพระแก้วมรกต” ให้เบิกน้ำมันมะพร้าวต่อชาวพระคลังไปจุดโคมประทีปรอบระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการอัญเชิญ “พระแก้วมรกต” มาร่วมในพระราชพิธีสำคัญ ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งพิธีทางศาสนา พระราชพิธีเกี่ยวกับราชตระกูล และการปกครอง เช่น พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา กรณีที่พระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ยังต้องเข้าไปถือน้ำสาบานหน้าพระแก้วมรกตเป็นปฐมก่อน แล้วจึงมาดื่มน้ำต่อหน้าพระพักตร์ในท้องพระโรงอีกครั้งหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าสาระสำคัญของการถือน้ำคือการสาบานต่อหน้าพระ

สมัยรัชกาลที่ 1 นั้น “พุทธคุณ” สำคัญพระแก้วมรกต ไม่น่าจะเป็นเรื่องอื่น นอกเหนือจากเรื่องพระเจ้าตากและกรุงธนบุรี ทำให้การจลาจลในแผ่นดินเก่าสงบลง เพราะการบูชาสมโภชพระแก้วมรกต และการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามอย่างยิ่งใหญ่ ทรงกระทำพร้อมๆ กับการสร้างพระราชวัง อันเป็นช่วง 3 ปีแรกแห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 

ส่วนพุทธคุณทางด้านกำราบราชศัตรู “เมืองใดไป่ต้านทานทน พ่ายแพ้เดชผจญ ประณตน้อมวันทา” เวลานั้นสงครามใหญ่ก็ยังไม่เกิด ศึกพม่าครั้งแรกในแผ่นดินใหม่นี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากอัญเชิญพระแก้วมรกตมายังพระอุโบสถแล้วเกือบปี

พระแก้วมรกตอาจมีฐานะต่างไปจากพระพุทธรูปองค์อื่น ตรงที่ได้การเคารพนบไหว้เป็น “ใจเมือง” และยิ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระปฐมบรมกษัตริย์ให้ความเคารพศรัทธาเหนือสิ่งอื่นใด ภาระหน้าที่ของพระแก้วมรกตจึงมากมายเลยขอบเขตทางพระพุทธศาสนา ไปจนถึงการ “รักษา” เมืองด้วยในบางโอกาส

เช่น สมัยรัชกาลที่ 2 จึงมีการอัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากพระอุโบสถไป “รักษา” เมือง ในพระราชพิธีอาพาธพินาศ เพื่อแห่ประพรมน้ำทั้งทางบกทางน้ำ เพียงไม่กี่วัน “ความไข้ก็ระงับเสื่อมลงโดยเร็ว” แต่การอัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากพระอุโบสถ ยุติไปในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยเกรงว่าจะได้รับความเสียหาย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ปรามินทร์ เครือทอง. “พุทธคุณพระแก้วมรกต” ใน,  ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2551.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 เมษายน2564