พระนาม ร.1 กับ ร.2 มาจากนาม “พระพุทธรูปฉลองพระองค์” ที่สร้างสมัย ร.3 ?

พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 กับ พระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 หรือ เทวดาวังล่าง เมื่อ ครั้ง ทรง เป็น กรมหลวงอิศรสุนทร ขุนนางวังหน้า
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 กับ (ขวา) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระพุทธรูปฉลองพระองค์ ใน รัชกาลที่ 1 และ รัชกาลที่ 2 สู่พระนามเรียกพระมหากษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ทั้ง 2 พระองค์

แต่เดิม “พระนาม” ของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็นรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 หรือ รัชกาลที่ 3 ล้วนแต่จารึกพระนามขึ้นต้นว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” และมีสร้อยพระนามเหมือนกันทั้ง 3 รัชกาล

การเรียกขาน “รัชสมัย” ของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ในอดีต โดยเฉพาะต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงค่อนข้างกำกวมและไม่ชัดเจนอย่างในปัจจุบัน เพราะเราสามารถระบุ “พระนาม” แล้วรู้ได้ทันทีว่าคือช่วงสมัยของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด

อนึ่ง แม้แต่คำว่า “รัชกาล” ก็เป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนหน้านั้นจะใช้คำว่า “แผ่นดิน” สมัยต้นกรุงฯ ไม่ปรากฏการใช้คำว่า “รัชกาล” มาระบุรัชสมัยของพระเจ้าแผ่นดินแต่ลงพระองค์แต่อย่างใด

กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้คนมักเรียกรัชกาลที่ 1 ว่า “แผ่นดินต้น” หรือต้นแผ่นดิน เรียกรัชกาลที่ 2 ว่า “แผ่นดินกลาง” หรือกลางแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงทราบดังนั้นจึงมีพระราชปรารภว่า เช่นนั้นแผ่นดินของพระองค์ก็จะกลายเป็น “แผ่นดินปลาย” หรือแผ่นดินสุดท้าย อันเป็นนามอัปมงคล

ประจวบกับเวลานั้นได้ทรงสร้างพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ เป็นพระทรงเครื่องขึ้นไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 2 องค์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทเวศร์วัชรินทร์ ทรงกำกับการสร้างเมื่อ พ.ศ. 2385-2386 และถวายพระนามว่า “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” คือองค์ที่ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช (รัชกาลที่ 1) ส่วนอีกองค์ถวายพระนามว่า “พระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ (รัชกาลที่ 2)

พระพุทธรูปฉลองพระองค์ทั้ง 2 เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างสมเด็จพระจักรพรรดิราช ปางห้ามสมุทร สูง 6 ศอก หล่อด้วยสัมฤทธิ์เป็นแกนภายในแล้วหุ้มด้วยทองคำหนัก 63 ชั่ง 14 ตำลึง ทรงเครื่องต้นประดับนพรัตน์

รัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้ประกาศสั่งให้เรียกนามอดีตรัชกาลตามนามพระพุทธรูปซึ่งทรงพระราชอุทิศนั้นเสีย ได้แก่ “แผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” และ “แผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย”

เป็นคำตอบว่า เหตุใดพระนามของรัชกาลที่ 1 กับรัชกาลที่ 2 จึงขึ้นต้นด้วย “พระพุทธ-” ก็เนื่องด้วยเป็นพระนามที่มาจาก “พระพุทธรูปฉลองพระองค์” นั่นเอง

ดังนั้น พระนามในรัชกาลที่ 1 พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับพระนามในรัชกาลที่ 2 พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ล้วนแต่เป็นพระนามหลังสิ้นรัชสมัยของทั้ง 2 พระองค์แล้วทั้งสิ้น

พระพุทธรูปฉลองพระองค์ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประดิษฐานอยู่เบื้องซ้าย พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง (ขอบคุณภาพจาก เพจ หอสมุดพิกุลศิลปาคาร)
พระพุทธรูปฉลองพระองค์ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประดิษฐานอยู่เบื้องขวา พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง (ขอบคุณภาพจาก เพจ หอสมุดพิกุลศิลปาคาร)

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ก็เกิดปัญหาตามมาว่าแล้วจะเรียกพระนามรัชกาลที่ 3 ว่าอย่างไร?

รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริว่า ควรจะมี “นามแผ่นดิน” ตั้งไว้สำหรับให้คนทั้งหลายเรียกกันเป็นสามัญทุกรัชกาล จึงทรงบัญญัติอนุโลมต่อพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ให้เรียกรัชกาลที่ 1 ว่า “แผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” เรียกรัชกาลที่ 2 ว่า “แผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ตามเดิม สำหรับรัชกาลที่ 3 เรียกว่า “แผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยคำว่า “นั่งเกล้าฯ” มาจากพระนามเดิมว่า “ทับ” ของรัชกาลที่ 3

ส่วนรัชกาลของพระองค์เอง ให้เรียกว่า “แผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดย “จอมเกล้าฯ” ก็มาจากพระนามเดิมของพระองค์เช่นกัน คือ “มงกุฎ”

จะเห็นว่า “นามแผ่นดิน” ที่ทรงบัญญัติขึ้นนั้น รัชกาลที่ 4 โปรดให้ใช้เรียกเป็น “พระนาม” ของพระเจ้าแผ่นดินในอดีตรวมถึงตัวพระองค์เองด้วย จึงเป็นแบบปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกรัชกาลตั้งแต่นั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2493). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5. ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. (ออนไลน์)

คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. พระพุทธรูปฉลองพระองค์. สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2567. จาก http://phralan.in.th/coronation/vocabdetail.php?id=620


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567