เปิดเกณฑ์ นโยบาย “แจกเงิน” ถ้วนหน้า สมัยรัชกาลที่ 4 ที่นักโทษก็ได้รับ?!

รัชกาลที่ 4 เงิน เหรียญไทย ใน บทความ แจกเงิน ร.4

นโยบาย “แจกเงิน” เป็นหนึ่งในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยให้ประชาชนมีกินมีใช้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งหลาย ๆ รัฐบาลมักหยิบยกมาเสนอต่อประชาชนภายใต้ชื่อโครงการที่แตกต่างกันไป ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เคยมีการแจกเงินเช่นกัน ครั้งนั้น รัชกาลที่ 4 ทรงประกาศแจกเงินให้ปวงประชาทั่วฟ้าแดนสยามคนละ 1 บาท ซึ่งหากเทียบกับปัจจุบันคงมีมูลค่ามหาศาล ไม่แน่อาจเทียบเท่าหรือเกิน 10,000 บาทในปัจจุบัน? ทว่ามีเงื่อนไขว่าพระองค์ต้องทรงรู้จักบุคคลนั้น 

การ “แจกเงิน” ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2403 ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเพราะเหตุใดพระองค์จึงทรงประกาศเรื่องนี้ออกมา แต่คาดว่าเกิดจากความเมตตาและธารน้ำใจของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งอยากให้ไพร่ฟ้าใต้ปกครองกินดีอยู่ดี 

เงื่อนไขในการรับเงิน 1 บาท หากใครได้ฟังคงตกใจไม่น้อย เพราะพระองค์ทรงมีเกณฑ์ว่า ผู้ที่จะได้รับต้องเป็นคนที่พระองค์ทรงรู้จัก ทั้งไม่ได้ติดต่อกันแล้วหรือเป็นคนที่ทุกวันนี้ยังคุ้นเคย บุคคลที่ว่า ไม่จำเป็นต้องมาจากชนชั้นสูง สามัญชนทั่วไปก็สามารถเข้ายืนยันตนเพื่อรับเงิน 1 บาทนี้ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ไพร่หลวง พระสงฆ์สามเณร คนต่างชาติ อย่างจีน แขก ฝรั่ง และอื่น ๆ รวมไปถึงนักโทษในคุกตาราง ขอแค่เพียงรู้จักพระองค์และพระองค์ทรงคุ้นหน้าค่าตาเท่านั้น ตามที่ระบุว่า 

“ด้วยพระยาวรพงศ์พิพัทธ์ เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ดำรัสว่า เมื่อปีมะแมเอกศก ได้ทรงอนุเคราะห์แก่อาณาประชาราษฎรชายหญิงในกรุงเทพ ฯ แลหัวเมือง คนที่สูงอายุตั้งแต่อายุ ๖๐ ปีขึ้นไปนั้น พระราชทานเงินคนละบาททั่วทุกคนแล้ว

บัดนี้มีพระราชประสงค์จะใคร่ทรงอนุเคราะห์แต่คนที่ได้ทรงรู้จักมาแต่ก่อนก็ดี ที่ทรงรู้จักในทุกวันนี้ก็ดี จะพระราชทานเงินคนละบาท ไม่เลือกว่าผู้ดีว่าไพร์ให้ทั่วกัน เพราะฉะนั้น จึงให้ประกาศในพระราชวงศานุวงศ์ ฝ่ายหน้าฝ่ายใน แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย แลไพร่หลวงข้าเจ้าบ่าวข้าราชการชายหญิงทั้งในพระบรมมหาราชวัง แลพระบวรราชวัง แล​พระสงฆ์สามเณรที่มีฐานันดร แลอนุจร ทุกอาราม แลคนต่างประเทศ คือจีน แขก ฝรั่ง แลอื่น ๆ ทั้งปวง ว่าผู้ใดที่ได้ทรงรู้จักหน้ารู้จักชื่อที่เป็นพระราชวงศานุวงศ์แลข้าราชการนั้น ให้มาบอกต่อเจ้าพนักงาน ให้จดหมายขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย 

ที่เป็นไพร่หลวง ให้เจ้าหมู่มูลนายนำตัวมายื่นบาญชีต่อเจ้าพนักงาน 

ที่เป็นข้าเจ้าบ่าวข้าราชการ อยู่แขวงใด อำเภอใด ให้นายอำเภอนั้น แขวงนั้น นำตัวผู้นั้น หรือนำชื่อผู้นั้น มายื่นบาญชีต่อเจ้าพนักงาน

ถ้าเป็นนักโทษอยู่ในคุกตะรางทิมแห่งใด ๆ ก็ให้เจ้าของคุกตะรางทิมนั้น ๆ นำชื่อนักโทษนั้น ๆ ที่ทรงรู้จักมายื่นต่อเจ้าพนักงาน 

ถ้าพระสงฆ์ สามเณร ก็ให้มาบอกต่อกรมสังฆการี ให้สังฆการีนำเอาชื่อพระสงฆ์สามเณรรูปนั้น มายื่นต่อเจ้าพนักงาน 

ถ้าเป็นคนต่างประเทศขึ้นอยู่ในกรมใด ก็ให้มาบอกต่อเจ้าพนักงานในกรมนั้น…”

วิธีในการยืนยันตน เพียงยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ เช่น หากเป็นไพร่หลวงก็ให้เจ้ามูลนายนำข้อมูลมายื่นบัญชีต่อเจ้าพนักงาน ใครที่เป็นข้าราชการ ถ้าอยู่ในพื้นที่ใด ก็ให้นายอำเภอยื่นเรื่องมายังผู้รับผิดชอบ รวมไปถึงนักโทษก็ใช้แบบวิธีเดียวกัน 

เมื่อยื่นเรื่องเข้ามาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าพนักงานที่ได้รับรายชื่อทั้งหมดจะรวบรวมชื่อราษฎรหญิงชายขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และกำหนดวันให้มารับพระราชทานเงิน โดยวันที่เข้ามารับเงิน บุคคลที่ยื่นชื่อเข้ามาจะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้พระองค์ทอดพระเนตร หากพระองค์รู้จักก็จะได้รับสตางค์ในวันนั้นทันที แต่ถ้าทรงไม่รู้จักก็เพียงแค่กลับบ้านไปและไม่เอาโทษประการใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://vajirayana.org/ศาลไทยในอดีต/แจกเงิน, จาก <https://vajirayana.org/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%95/%E0%B9%81%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 สิงหาคม 2566