ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน” ณ วงเวียนใหญ่ กรุงเทพมหานคร มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2497 ซึ่งผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันจนสำเร็จลุล่วงก็คือ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ส.ส. จังหวัดธนบุรีคนแรก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ระหว่างดำเนินการสร้าง มีเรื่องที่อาจอธิบายไม่ได้อยู่หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ เมื่อต้องหา “มงคลฤกษ์” สำหรับพิธีวางศิลาฤกษ์และพิธีเททองหล่อพระเศียร ก็มีเหตุอัศจรรย์ คือ “พระเจ้าตาก” หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมาเข้าฝันนายทองอยู่!
เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร?
นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ยุค 2475 เล่าเรื่อง “มูเตลู” ที่เกี่ยวข้องกับ พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ไว้อย่างน่าสนใจผ่านบทความ “๗๐ ปี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ (พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๕๖๗) ไสยศาสตร์ในอนุสาวรีย์” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2567 ไว้ตอนหนึ่งว่า
เมื่อครั้งกรมศิลปากรปั้นพระเศียรพระเจ้าตากเรียบร้อยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2494 นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ได้รับมอบหมายให้กำหนดวันพิธีวางศิลาฤกษ์และเททองหล่อพระเศียร นายทองอยู่จึงไปปรึกษา ร.อ.ท. สงัด จูฑะศร โหราจารย์ชั้นเซียน ที่เจ้าใหญ่นายโตจำนวนมากยกย่องนับถือ
ทั้งคู่ได้ตกลงร่วมกันกำหนดวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เป็นฤกษ์งามยามดีในการวางศิลาฤกษ์และเททองหล่อพระเศียร
เหตุที่ “ต้อง” เป็นวันเดือนปีดังกล่าว ร.อ.ท. สงัด ย้อนเรื่องราวขณะคำนวณว่า
“ถ้าตอนใดเกิดความยุ่งยากไขว้เขวขึ้นในสมอง ก็บังเกิดการเคลิบเคลิ้มคล้ายกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชผู้เสด็จสวรรคตไปเมื่อ 170 ปีแล้วนั้น ได้มาประทับเป็นประธานช่วยในการค้นคว้าดวงพระชาตะของพระองค์เองด้วย นายทองอยู่ได้กำหนดวันที่จะคำนวณฤกษ์ให้ 2 วัน คือวันที่ 29 และวันที่ 30 พฤศจิกายน”
นริศบอกในบทความว่า ด้านนายทองอยู่ ก็เล่าประสบการณ์เชิงจิตวิญญาณไว้คล้ายโหรสงัดว่า
“คืนวันหนึ่งในตอนดึกก่อนจะเข้านอน เมื่อได้จุดธูปเทียนกระทำสักการะแด่สมเด็จพระมหาราชเจ้าอันเป็นกิจประจำวันของข้าพเจ้าพร้อมกับอธิษฐานจิตแล้ว ก็เข้านอน ขณะที่เคลิ้มๆ จะหลับมิหลับแหล่นั้น ก็ได้ยินเสียงหนึ่งแว่วขึ้นที่หน้าต่างทางหัวนอนว่า ฝังศิลาฤกษ์และเททองให้เอาวันต้นๆ เดือนอ้าย แล้วเสียงนั้นก็เงียบหายไป
“ข้าพเจ้าตกใจตื่น พอลุกขึ้นก็ได้กลิ่นสุราฟุ้งเต็มห้องไปหมด ข้าพเจ้าคาดว่าพระองค์ท่านคงเสด็จมาจึงได้กระทำการสักการะอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็รีบจดวันที่ได้ทรงกำหนดให้นั้นไว้เพราะเกรงจะลืมไปเสียถ้าหากเข้านอนต่อไปอีก ซึ่งในขณะนั้นขนลุกเกรียวไปหมดทั่วทั้งตัว
“และในขณะนั้นข้าพเจ้าก็ได้ไปพลิกดูปฏิทินพกประจำปีว่าในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นี้จะมีวันไหนที่เป็นวันต้นๆ เดือนอ้ายบ้าง ในที่สุดก็พบว่าวันที่ 29 พฤศจิกายนตรงกับวันพฤหัสบดีเดือนอ้ายขึ้น 1 ค่ำ และวันที่ 30 พฤศจิกายน ตรงกับวันศุกร์เดือนอ้ายขึ้น 2 ค่ำ ซึ่งทั้งสองวันนี้เผอิญอยู่ในเดือนพฤศจิกายน 2494 ถูกต้องตามมติของคณะกรรมการพอดี
“ด้วยเหตุดังที่กล่าวมานี้ ข้าพเจ้าจึงได้กำหนดให้โหรสงัดเลือกเอาวันหนึ่งวันใดในสองวันนี้”
นี่เป็นเพียงประสบการณ์ส่วนหนึ่งของนายทองอยู่ และ ร.อ.ท. สงัด อันเกิดจากควาามเคารพศรัทธา เมื่อครั้งดำเนินการสร้าง “พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน” เท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มาของอนุสาวรีย์พระเจ้าตากฯ วงเวียนใหญ่ กับศรัทธาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ปั้น อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก “ม้าหางชี้” จะขี้ใช่ไหม!?
- อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก ดอกผลศิลปะอิตาลีในสยาม กับปมคับข้องใจของ ศิลป์ พีระศรี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นริศ จรัสจรรยาวงศ์. “๗๐ ปี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ (พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๕๖๗) ไสยศาสตร์ในอนุสาวรีย์. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เมษายน 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2567