อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ปั้น อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก “ม้าหางชี้” จะขี้ใช่ไหม!?

อนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ออกแบบ โดย ศิลป์ พีระศรี
ซ้าย-แบบ “พระบรมรูปทรงม้า” ซึ่งได้รับคะแนนนำขาดลอย (ภาพจากหนังสือ ประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี สำนักพิมพ์สารคดี) กลาง-อาจารย์ศิลป์ พีระศรีกำลังขยายแบบปั้นอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน (ภาพจากหนังสือ ๑๐๐ ปี ศิลป์ พีระศรี นิทรรศการเชิดชูเกียรติฯ, มหาวิทยาลัยศิลปากร) ขวา-พระบรมราชานุสาวรีย์ปัจจุบัน

อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก โดดเด่นและสง่างามยิ่ง ทว่าไม่มีใครในโลกจะล่วงรู้ว่ารูปร่างหน้าตาท่าทางของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นอย่างไร เพราะไม่มีใครเคยเห็น และไม่มีบันทึกถึงเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือรูปวาด ท่านศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ผู้ได้รับมอบหมายให้ปั้นอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ไม่รู้

เมื่อไม่รู้และไม่มีหลักฐานที่จะสืบนำเอาความรู้ได้ ก็จำเป็นจะต้องใช้จินตนาการที่สร้างขึ้นมาจากการอ่านการศึกษาพระราชประวัติเท่าที่จะพึงหาได้ในขณะนั้น

ในที่สุดท่านศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ก็ได้ความบันดาลใจและตัดสินใจแน่วแน่

ทวี นันทขว้าง – ศิลปินเอก ท่านเป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนเพาะช่าง, คณะจิตรกรรมฯ  มหาวิทยาลัยศิลปากร เขียนเล่าถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า

ตอนนั้นผมสอนอยู่เพาะช่าง มีคนมาบอกผมว่าอาจารย์ศิลป์อยากให้ไปเป็นแบบปั้น พอไปหาท่านก็พูดว่า

ฉันจะปั้นพระเจ้าตากสินคือที่ประชุมกรรมการเขาถกเถียงกัน พยายามค้นคว้าหาหน้าตาพระเจ้าตากสินมาให้อาจารย์ปั้น แต่ก็หาไม่ได้มีแต่รูปสเก็ตช์ ๆ บอกว่ามีลักษณะเป็นจีน ๆ เท่านั้น ตกลงก็เอาแน่ไม่ได้ว่าหน้าตาท่านเป็นอย่างไร ก็ให้อาจารย์ศิลป์อิมเมยีนเอง อาจารย์ศิลป์ก็อิมเมยีนว่า พระเจ้าตากสินหน้าตาควรจะมีลักษณะคนไทยผสมคนจีน

ฉันนึกดูแล้วว่าหน้าตาพระเจ้าตากสินจะต้องเหมือนนายกับนายจำรัสบวกกัน ฉันว่าอย่างนั้น นายต้องมาเป็นแบบให้ฉัน

ผมก็เลยต้องไปเป็นแบบให้อาจารย์ท่าน ไปยืนทำท่าเบ่งยืดอกเป็นพระเจ้าตากสินอยู่ 3-4 วัน ให้อาจารย์ท่านปั้น พร้อม ๆ กับอาจารย์จำรัส เกียรติก้อง

ก็เป็นอันได้รู้ตามคำบอกเล่าของอาจารย์ทวีเองว่ารูปพระพักตร์ของ อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก นั้นมาจากหน้าของอาจารย์ทวี นันทขว้าง ซึ่งมีเชื้อสายไทยลื้ออยู่จังหวัดลำพูน บวกกับใบหน้าของอาจารย์จำรัส เกียรติก้อง ผู้เป็นเอกศิลปินด้านเขียนรูปเหมือน ซึ่งมีเชื้อสายชาวยุโรป

อาจารย์ทวีนั้นมีวงหน้าไปทางจีนปนไทย

ปัญหามีอยู่ว่า ทำไมเอาวงหน้าอย่างยุโรปของอาจารย์จำรัสมาเป็นแบบ

ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าบันทึกเอาไว้ว่า เพราะวงหน้าอาจารย์จำรัสเป็นลักษณะของนักรบที่บึกบึนเข้มแข็งเฉียบขาดยิ่งนัก

อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก และ จำรัส เกียรติก้อง กับ ทวี นันทขว้าง
พระพักตร์ “อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก” ที่วงเวียนใหญ่ ซึ่งอาจารย์ใช้ จำรัส เกียรติก้อง (ซ้ายล่าง) กับ ทวี นันทขว้าง (ขวาล่าง) เป็นแบบ

อุดร ฐาปโนสถ ลูกศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เขียนเล่าเรื่องการทำงานปั้นอนุสาวรีย์นี้เอาไว้ตอนหนึ่งว่า

ในช่วงระยะเวลาที่เราเรียนอยู่นั้น เป็นช่วงที่ท่านกำลังปั้นรูป อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก พอดี ท่านได้สั่งให้เอาม้าไทยมาตัวหนึ่งรูปร่างงดงามมายืนเล็มหญ้าตรงแถวๆ หน้าห้องท่าน จึงเป็นโอกาสอันงามที่ให้เราได้ สเก็ตช์ภาพม้ากันอย่างเต็มเหนี่ยว โดยไม่ต้องไปถึงคอกม้า และเป็นโอกาสอันงามที่เราได้เห็นการสร้างอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่เช่นนั้นในทางปฏิบัติ ท่านอาจารย์จะอยู่ในสภาพขะมุกขะมอมอยู่เสมอ แต่เป็นการขะมุกขะมอมอย่างสะอาด ท่านเป็นคนสะอาดอยู่ตลอดเวลา

ในการเลือกแบบม้าทรงของพระเจ้าตากสิน ท่านเลือกม้าไทยแทนที่จะเลือกม้าฝรั่งในแบบของอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ที่พระบรมรูปทรงม้า ด้วยเหตุผลธรรมดาว่า พระเจ้าตากสินย่อมจะต้องทรงม้าไทย

และม้าตอนที่กำลังคึกคะนอง พร้อมที่จะโผนำหน้าออกศึกด้วยบัญชาของจอมทัพที่กำลังชูดาบเป็นสัญญาณให้เคลื่อนทัพ ย่อมจะต้องอยู่ในอาการเกร็ง ในช่วงวินาทีที่จะโผนเผ่น หางจะชี้พร้อมทั้งเอนตัวไปข้างหน้าพร้อมที่จะวิ่ง ซึ่งทำให้คนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ทั้งหลาย พากันลงความเห็นชุ่ย ๆ ว่า ม้ากำลังขี้

มาถึงบัดนี้เราก็ได้เห็นและรู้สึกกันแล้วว่า จังหวัดธนบุรีอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้น หัวใจของมันอยู่ที่อนุสาวรีย์พระเจ้าตากฯ

ทหารเสือพระเจ้าตาก เกือบถือดาบมือซ้าย   

ชั้นปรมาจารย์ก็อาจเผลอได้เหมือนกัน ดังคำพังเพยที่ว่าสี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง

ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ เอกศิลปินผู้ใกล้ชิดท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เล่าถึงเรื่องดังกล่าวเอาไว้ดังต่อไปนี้

วันหนึ่งผมก็เข้าไปเห็นท่านกำลังร่างสเก็ตช์คอมโพสิชั่นอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน สำหรับกษัตริย์เขาเรียกราชานุสาวรีย์ ท่านก็เขียนเป็นภาพสำหรับปั้นบาสเรลีฟติดที่แท่นฐาน เป็นรูปทหารไทยกับทหารพม่ารบกัน แต่ทุกตัวในภาพนั้นถือดาบมือซ้ายทั้งหมด

ผมเองก็ไม่ใช่ว่าแหม… เป็นคนจะอวดไปติไปติงอาจารย์ ตอนนี้เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เป็นเพราะว่าอาจารย์ทำงานอย่างชนิดฉุกละหุก ถูกเร่งเวลา มีกำหนดเวลาให้ก็ต้องรับทำโน่นทำนี่ ไอ้การถูกเร่งเวลาอะไรนี่มันทำให้หลง ๆ ลืมได้ คอมโพสิชั่นถูกต้องหมดทุกอย่าง แต่ว่าถือดาบเท่านั้นแหละที่มันผิดไป ถือมือซ้ายกันหมด

ศิลป์ พีระศรี กำลังปั้นแบบ อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก
อาจารย์ศิลป์ พีระศรี

ผมก็บอก เอ๊ะ! อาจารย์ครับ ทหารที่รบกันนี่ทำไมถือดาบมือซ้ายทุกคนล่ะครับคือ มือซ้ายถือดาบมือขวาถือโล่ อะไรทำนองนี้แหละ ท่านบอกว่าเออ จริง นายจริงนายไม่เป็นไรไม่เป็นไรประเดี้ยว…” ไอ้ผมก็งงว่าไม่เป็นไรประเดี๋ยวอะไร แหมท่านเขียนตั้งแผ่นเบ้อเร่อเชียว แล้วก็ถือดาบมือซ้ายหมด เป็นเราน่ะแก้แย่ไปเลย แต่ท่านบอกไม่เป็นไร

ท่านก็แกะเอากระดาษนั้นออก แล้วพลิกกลับไปติดใหม่ ไอ้กระดาษนั้นเป็นกระดาษบาง ๆ ก็พอมองเห็นที่เขียนไว้อีกด้านหนึ่งได้ อ้าวกลายเป็นทหารถือดาบมือขวาทั้งหมดไปแล้ว แล้วก็สวยในคอมโพสิชั่นอันเดียวกัน นี่แสดงว่าไหวพริบของท่านดี เรายืนดูเราก็ได้ความรู้อีก แทนที่เราไปสอนท่านให้ได้ความรู้ ไม่ใช่ความรู้ นั่นเป็นความเผอเรอ เพราะว่าเร่งรีบเลยทำผิด ไม่ใช่ว่าท่านไม่มีความฉลาดพอที่จะทำงานให้ถูกต้องหรอก

ม้าพระเจ้าตาก ในอนุสาวรีย์พระเจ้าตาก มาจากไหน?

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเป็นนักรบบนหลังม้า เพราะตามประวัตินั้นทรงม้านำทหารในการพระราชสงครามเกือบทุกครั้ง

ดังนั้น อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก จึงต้องทรงม้าเป็นข้อสำคัญ

สนั่น ศิลากรณ์เอกศิลปินร่วมสมัยอีกท่านหนึ่ง ซึ่งมีความใกล้ชิดกับท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เล่าถึงเรื่องม้าเอาไว้ดังนี้

ผมจำได้ว่าในงานรัฐธรรมนูญสมัยนั้น มีการออกแบบรูปอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่ และจะนำแบบออกแสดงที่ร้านของกรมศิลปากรในงานนี้ด้วย เพื่อเรี่ยไรเงินสมทบก่อสร้าง อาจารย์ออกแบบตัวรูปปั้นและแท่นฐานไว้ไม่น้อยกว่า 5 แบบ ในลักษณะต่าง ๆ กัน เพื่อให้ประชาชนเลือกโดยบริจาคเป็นเงินที่หน้าแผ่นในรูปนั้น ๆ ในตู้บริจาคเป็นการให้คะแนนไปในตัว รูปเหล่านี้ลงสีสวยงาม มีขนาดประมาณ 75 X 50 ..

อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่วงเวียนใหญ่ที่เห็นกันอยู่ขณะนี้ เป็นแบบหนึ่งในจำนวนเหล่านั้น ขั้นตอนการทำงานของท่านก็คือสเก็ตช์รูปปั้นพระเจ้าตากทรงม้า ด้วยขนาด 3 ใน 4 ของคนจริงและม้าจริงก่อน ปั้นให้มีทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ท่าทาง, เครื่องทรง, อารมณ์ และความหมายของเรื่อง งานช่วงนี้ท่านต้องคิดค้นตามประวัติศาสตร์ เป็นงานหนักทางสมองมาก เช่น ม้าทรงเป็นม้าพันธุ์ไทย ท่านต้องให้กรมศิลปากรทำหนังสือถึงกรมสัตวแพทย์ทหารบก (ถ้าผมจำชื่อไม่ผิด) ตั้งอยู่ที่ข้าง ๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผมจำสถานที่ได้ เพราะท่านเอาผมไปด้วยเพื่อแปลไทยเป็นไทยเวลาพูดกัน

ม้าที่ไปดูนั้นเป็นม้าพันธุ์อาหรับอย่างดีที่ทางการสั่งเข้ามาเพื่อเป็นพ่อพันธุ์ เจ้าหน้าที่จูงออกมาที่ประตูคอกอย่างทะนุถนอม โผล่ให้เห็นแค่ช่วงคอเท่านั้น บอกว่าเพิ่งเข้ามาใหม่ ๆ ยังตื่นที่อยู่ ราคาตัวนี้ 1 แสนบาท (ในเวลานั้น) ตอนขากลับท่านกระซิบกับผมว่าราคาสูงสำหรับพันธุ์ สำหรับเราไม่มีราคาเลย เพราะเราต้องการม้าพันธุ์ไทยเป็นแบบ

ในที่สุดขอดูม้าเป็นแบบปั้นได้ที่กรมทหารม้ารักษาพระองค์บางซื่อ มีม้าไทยหลายตัวที่อาจารย์พอใจ ทางกรมทหารม้านี้ให้ยืมม้า พร้อมทั้งพลประจำมาอยู่ที่โรงหล่อของกรมหลายวัน เพื่อให้ท่านสเก็ตช์ส่วนสัด และส่วนละเอียดของกระดูกกล้ามเนื้อ เสร็จแล้วจึงส่งคืน

อนุสาวรีย์​พระเจ้า​ตาก ที่​ วงเวียนใหญ่ อนุสาวรีย์ ของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
อนุสาวรีย์​พระเจ้า​ตาก ที่​วงเวียนใหญ่ กรุงเทพมหานคร

ม้าพระเจ้าตากหางชี้ จะขี้ไช่ไหม?

เกร็ดเกี่ยวกับม้ายังไม่หมด เพราะม้าทรงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเกิดมีหางชี้เด่มากเกินไป

ม้าพระเจ้าตากหางชี้ จะขี้ใช่หรือไม่ กลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสมัยนั้น

สวัสดิ์ ตันติสุขเอกศิลปินผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป์ กรมศิลปากร เขียนเล่าเรื่องเอาไว้ดังนี้

เรื่องนี้มาจากหางม้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราชที่วงเวียนใหญ่ ผมได้เห็นอาจารย์ศิลป์และศิษย์ที่เป็นประติมากรซึ่งก็เป็นครูของผมด้วย ช่วยงานปั้นหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งแต่เริ่มที่อาจารย์สเก็ตช์แบบเสนอคณะกรรมการหลายแบบ

เมื่อได้รับเลือกแล้ว จึงมาขยายปั้นปูน เฉพาะหางม้านั้นถ้าผมจำไม่ผิด อาจารย์สิทธิเดช แสงหิรัญ เป็นผู้ปั้น และก็หล่อมาติดภายหลังเมื่อขยายเท่าจริงตามขนาด อนุสาวรีย์ไม่ใช่เล็ก ๆ เมื่อนำไปติดตั้งเสร็จที่วงเวียนใหญ่มีพระราชพิธีเปิดเป็นทางราชการก็เกิดอาถรรพ์ขึ้นจนได้ เมื่อพิธีเปิดเสร็จสิ้นแล้วมีข่าวลงในหน้าหนังสือพิมพ์ โดยผู้เชี่ยวชาญสัตว์ของทางราชการแห่งหนึ่งได้เขียนบทความเกี่ยวกับพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ แล้วได้กล่าวติเป็นทำนองว่าหางม้านั้นชี้มากเกินไป ลดความสง่างามส่วนอื่น ๆ จนหมดสิ้น เพราะเป็นอิริยาบถของม้ากำลังขี้ ถ้าจะลดลงมาบ้างก็คงจะทำให้อนุสาวรีย์แห่งนี้งามสมบูรณ์ขึ้น

ทางราชการก็ตัดข่าวหนังสือพิมพ์นี้เสนอมาถึงท่านอาจารย์เพื่อให้ชี้แจงว่าจะกระทำได้เพียงใด ท่านปวดหัวอยู่หลายวันเพราะ อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก ก็ตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระราชพิธีก็เสร็จสิ้นแล้ว จะขึ้นไปตัดหางม้าออกแล้วอ๊อกใหม่ให้หางม้าลดลงบ้างได้อย่างไร เรื่องนี้ศิษย์ทุกคนรู้ต่างก็เป็นทุกข์ เพราะว่าเป็นบันทึกข้าราชการระดับสูงก็เห็นควรจะให้แก้ไข

ท่านอาจารย์ได้ทำบันทึกชี้แจง โดยนำเอาแบบอนุสาวรีย์ที่สำคัญที่มีในต่างประเทศหลายแห่ง มีหางม้าชี้สูงกว่าของพระเจ้าตากเสียอีก ก็ไม่เห็นมีใครว่า ได้จัดแบบอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 5 แห่ง ถ่ายจากหนังสือประกอบคำชี้แจงไปด้วย ให้ความเห็นในด้านศิลปะไปว่า ความงามของอนุสาวรีย์อยู่ในลักษณะเส้นสำคัญของตัวม้า พระเจ้าตาก รวมทั้งหางม้าด้วย ซึ่งเป็นส่วนประกอบให้ความรู้สึกที่จะพุ่งไปข้างหน้า ในฐานะผู้นำนักรบ

เมื่อเสนอไปแล้วเข้าใจว่าจะจบเกมส์เป็นที่ยอมรับกันได้ ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ท่านนั้นได้รับคำชี้แจงแล้วก็ยังเขียนไม่เห็นด้วยมาอีก ทางราชการก็ดูเหมือนจะเห็นควรให้แก้หางม้าให้ต่ำลง ท่านอาจารย์ไปคิดดูอีกหลายวัน ในที่สุดก็เรียกลูกศิษย์หลายคน มีผมเป็นคนหนึ่งด้วย ช่วยกันร่างคำตอบเสนอไปอีกครั้ง

สรุปว่า ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญสัตว์ที่แจ้งมานั้น ถูกต้อง เข้าใจอิริยาบถของสัตว์อย่างดีที่สุด ม้าจะขี้ต้องยกหางให้สูงขึ้นแน่นอนในยามปกติ แต่ม้าพระเจ้าตากที่ท่านปั้นขยายขึ้นนี้หาได้อยู่ในอิริยาบถตามปกติไม่ ทั้งองค์พระเจ้าตากและม้าอยู่ในสภาวะที่จะออกศึก ไม่เป็นไปตามธรรมชาติปกติ เพื่อให้เห็นความงามของพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้โดยสมบูรณ์ว่า ทรงเป็นนักรบที่กอบกู้อิสรภาพ และพร้อมแล้วที่จะเป็นผู้นำพระองค์แรกในการออกศึก ทั้งม้าของท่านก็พร้อมจะออกศึกด้วยอย่างเห็นได้ชัดจากอากัปกิริยา  หู หางม้า จึงจำเป็นต้องอยู่ในลักษณะนั้น

เมื่อได้เรียนชี้แจงในครั้งที่สองนี้ ทางราชการระดับสูงตลอดจนผู้เชี่ยวชาญสัตว์ก็ยอมรับหางม้าพระเจ้าตาก ก็ไม่ต้องเลื่อยมาอ๊อกใหม่ อยู่ในสภาพคงเดิมทุกประการ

สุกิจ ลายเดชเอกศิลปินผู้เป็นศิษย์ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อีกท่านหนึ่ง มีบันทึกความทรงจำถึงเรื่องเหล่านี้เอาไว้อีกว่า

พวกเราประมาณสิบคนเห็นอาจารย์ครั้งแรกก็ตอนที่ท่านมากล่าวต้อนรับ เป็นฝรั่งรูปร่างสูงใหญ่อย่างฝรั่ง แต่เสียงไม่ยักห้าว ทุ้มเสียงท่านค่อนข้างเล็กถ้าจะเปรียบกับมาตรฐานฝรั่ง ที่แปลกตามสายตาของผมก็ตรงที่อาจารย์ศิลป์ท่านสวมแว่นตาหนามาก มากที่สุด ซึ่งผมไม่เคยเห็นมาก่อน และที่เห็นแปลกอีกอย่างหนึ่งคือท่านมีผ้าขาวมาทำเป็นเปลเล็ก ๆ ห้อยแขวนอยู่กับคอท่านมากล่าวอะไรพวกเราฟังไม่รู้เรื่อง รู้แต่ว่าท่านพูดเป็นภาษาไทยแน่

ต่อมาพวกเราก็ทราบว่าที่อาจารย์ฝรั่งทำเปลแขวนอยู่กับคอนั้น ท่านคล้องแขนที่หักเพราะตกม้าพระเจ้าตาก ม้าเจ้าตากที่หมายถึงรูปปั้นม้า อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก กำลังขยายเป็นปูนปลาสเตอร์เท่าครึ่งของจริงอยู่ในโรงสังกะสีใหญ่โต (โรงนี้คือส่วนที่อยู่ทางเหนือของตึกคณะมัณฑศิลป์ในปัจจุบัน) และรอบ ๆ ตัวม้านั้น มีนั่งร้านระเกะระกะ

ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นผู้อำนวยการ และมีลูกศิษย์ที่เป็นอาจารย์ของเราหลายคนช่วยกันทำ อาจารย์ฝรั่งก็อดไม่ได้ ต้องปีนขึ้นไปไสปูน ที่เราเห็นว่าม้านั้นก็สวยดีอยู่แล้ว มีชีวิตชีวาตื่นตา แต่ยังไม่ถูกใจอาจารย์อยู่ดี เลยเป็นเหตุให้อาจารย์ฝรั่งตกม้าเจ้าตาก ก็สูงร่วม ๆ สามเมตรนั่นแหละ นี่ก็เพราะแว่นตาหนาเตอะที่สายตาของท่านต้องมองลอดเป็นเหตุ

แว่นตาที่อาจารย์ฝรั่งสวมนั้น ทราบว่าเป็นแว่นตาเบอร์สูงที่สุดเท่าที่คนสายตาสั้นใช้ ขอบหนามาก แต่ตรงกลางบางมาก เวลาท่านตรวจงานของเราท่านมักจะก้มหน้าของท่านเรี่ย ๆ อยู่กับภาพงานของเรา อดเสียวไส้ไม่ได้ว่าสีถ่านบ้าง ชอล์คบ้าง ที่เราช่วยกันละเลงลงบนกระดาษนั้นจะเปรอะปลายจมูกโด่งของท่าน

เมื่อเราอยู่ปีที่ 2 แล้ว และเข้าใจภาษาของท่านได้พอสมควรทีเดียว ขณะนั้น อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก ได้หล่อเสร็จแล้ว ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ท่านถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องม้ายืนเฉย ๆ ทำไมหางถึงได้ชี้ ท่านกล่าวกับพวกเราว่า

พวกเขาไม่รู้จักปลากัดไม่รู้จักไก่ชนน่ะนาย…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “จดหมายเหตุอาจารย์ศิลป์ ปั้นอนุสาวรีย์พระเจ้าตาก: ม้าหางชี้จะขี้ใช่ไหม?” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2527


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2561