พระนามทางการของ “พระเจ้าตากสินมหาราช” ที่เลือนหายจากความทรงจำคนไทย

พระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ฉากหลัง เป็น ป้อม กรุงธนบุรี

คนไทยส่วนใหญ่มักเรียก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน” ซึ่งเป็นพระนามที่ปรากฏบนจารึกหน้าฐานพระบรมราชานุเสาวรีย์ของพระองค์ที่วงเวียนใหญ่ ส่วนที่มาของพระนามดังกล่าว คนเฒ่าคนแก่ หรือครูบาอาจารย์ชอบบอกว่า เพราะพระองค์เป็นเจ้าเมืองตากมาก่อน เมื่อพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงธนบุรี คนก็ยังติดกับพระนามเดิม จึงมักเรียกพระองค์ว่า “พระเจ้าตากสินมหาราช”

อย่างไรก็ดี สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ บอกว่า การเรียกพระนามของพระองค์ว่า พระเจ้าตากสินมหาราช เท่ากับเป็นการลดทอนพระเกียรติยศ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เพราะนั่นมิใช่พระนามอย่างเป็นทางการของพระองค์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน และภายหลังมีความพยายามลดทอนพระบารมีของพระองค์ ไม่ยอมรับพระองค์ในฐานะ “พระเจ้าแผ่นดิน” ด้วยข้ออ้างว่า เมื่อสมัยที่พระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก บ้านเมืองยังเป็นจลาจล หาพราหมณ์ทำพิธีไม่ได้ การประกอบพระราชพิธีในครั้งนั้นจึงบกพร่องไม่เป็นไปตามโบราณราชประเพณี

แต่สุทธิศักดิ์ยืนยันว่า พระองค์ทรงมีสถานะเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยสมบูรณ์มาแต่ต้นรัชกาล เห็นได้จากหลักฐานการตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรี พ.ศ. 2319 ที่ระบุว่า พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” และรับ “พระราชโองการ” ตามอย่างพระเจ้าแผ่นดินพระมหานครศรีอยุทธยาทุกประการ

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ จ.จันทบุรี

อย่างไรก็ดี เมื่อล่วงเข้าสู่ราชวงศ์ใหม่ พระองค์ถูกลดทอนพระบารมีลง ด้วยการไปเรียกขานพระองค์ด้วยชื่อตำแหน่งเมื่อครั้งที่พระองค์ยังคงมีสถานะเป็นเพียงขุนนาง

เช่น ในหมายรับสั่งเรื่องแห่พระทราย เมื่อ พ.ศ. 2325 ที่เรียกพระองค์ว่า “พระยาตากสิน” และเรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัท) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ. 2327 ก็เรียกพระองค์ว่า “พญาตากสิน”

สุทธิศักดิ์ จึงกล่าวว่า ในทัศนะของราชวงศ์ใหม่ พระเจ้ากรุงธนบุรีมีสถานะเป็นเพียง “หัวหน้าชุมชน” เท่านั้น ไม่ใช่ “พระเจ้าแผ่นดิน”

เอกสารในยุคหลัง จึงยึดเอาธรรมเนียมการเรียขานพระนามของพระองค์ ด้วยสถานะเทียบเท่าหัวหน้าชุมนุมเรื่อยมา หรือเลี่ยงที่จะเอ่ยพระนามของพระองค์ไปเสีย จนกระทั่งเข้าถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานะความเป็น “พระเจ้าแผ่นดิน” ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้รับการฟื้นฟูขึ้น เพื่อแสดงความสืบเนื่องของแผ่นดินตั้งแต่สมัยอยุธยา มาจนถึงสมัยของพระองค์ (รัชกาลที่ 4)

หลักฐานปรากฏอยู่ในเอกสาร “ประกาศพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2408 ที่ตรัสเรียกว่า “กรุงธนบุรี” แปลว่าพระเจ้าแผ่นดินธนบุรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงกล่าวใน “พระราชกรัณยานุสร” ว่า พระนามเดิมของพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ยกย่องขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินคงมีอยู่แน่ แต่ไม่ปรากฏ (หลักฐาน) ดังที่ได้ตรัสว่า พระนามเดิมคงมีอยู่ แต่จะใช้พระนามไร ก็ไม่รู้ที่จะสันนิษฐานต้องยกไว้

ต่อมา เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ตรวจชำระแก้ไขพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เมื่อ พ.ศ. 2457 พระองค์ได้ขนานพระนามสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียใหม่ ตามพระวินิจฉัยส่วนพระองค์ว่า “สมเด็จพระบรมราชา องค์ที่ 4” ซึ่งนักพงศาวดารไทยก็ได้ยึดถือตามกันมา และถือเป็นพระนามทางการของพระองค์ไป

อย่างไรก็ดี ภายหลังสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงวินิจฉัยตามหลักฐานที่ปรากฏในภายหลัง ระบุว่า พระนามที่แท้จริงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีควรจะเป็น “สมเด็จพระเอกาทศรถ” อันเป็นพระนามที่กษัตริย์ตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรมทรงใช้สืบต่อกันมา รวมถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย ดังที่ปรากฏพระราชโองการตั้งเจ้านครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ สุทธิศักดิ์ ยังพบว่า ข้อสันนิษฐานภายหลังของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีหลักฐานอื่นรองรับอีกหลายชิ้น เช่นพระราชสาส์นล้านช้าง ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพระราชทานไปถึงพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อ พ.ศ. 2314 ที่จดพระนามร่วมสมัยของพระองค์ว่า “สมเด็จพระมหาเอกาทุศรุทอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” ตามด้วยพระราชสาส์นล้านช้าง พ.ศ. 2317 ที่ออกพระนามว่า “สมเด็จพระมหาเอก (า) ทศรธอิศวรบรมนารถบรมบพิตรฯ”

เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระแก้ไขพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พระองค์ได้แก้ไขพระวินิจฉัยเดิม และแก้พระนามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีใหม่เป็น “พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว” ซึ่ง สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า พระนามดังกล่าวถอดความได้ว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่ผู้ครอบครองราชรถทั้งสิบเอ็ดรถ

อย่างไรก็ดี สุทธิศักดิ์ มองว่าพระนามดังกล่าวมิได้เป็นพระเกียรติยศสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน จึงเห็นควรปริวรรตพระนามตามอักขรวิธีในปัจจุบันเป็น ‘พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศวร’ แปลว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้แบ่งภาคมาจากเทพยดาผู้เป็นใหญ่ทั้ง ๑๑ พระองค์ คือ พระพรหม พระพิษณุ พระอิศวร พระพาย พระพิรุณ พระเพลิง พระยม พระไพศรพณ์ พระอินทร์ พระจันทร์ และพระอาทิตย์ ตามคติความเชื่อใน ‘ลัทธิเทวราช’ ของศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจรรโลงสิทธิธรรมในการขึ้นครองราชสมบัติของพระเจ้าแผ่นดินในอดีต

ด้วยเหตุนี้ สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ สรุปว่า “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงควรมีพระนามทางการตามจารึกในพระสุพรรบัฏว่า ‘สมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศวร’ นับเป็นพระองค์ที่ 6 ถัดจากพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวรที่ 5 (สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ)”  ไม่ใช่สมเด็จพระบรมราชา พระองค์ที่ 4 อย่างที่ยึดถือกันมาแต่เดิม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์. “พระนามทางการที่ปลาสนาการของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2553.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2561