เรื่องเล่า “พระเจ้าตาก” คิดประทุษร้ายรัชกาลที่ 1 ช่วงก่อนคลั่ง มาจากไหน?

พระเจ้าตากสิน พระเจ้าตาก รัชกาลที่ 1
(ซ้าย) พระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าตากสิน, (ขวา) พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 1

“เจ้าตากคิดจะฆ่าพระพุทธยอดฟ้ามาก่อน” เรื่องเล่านอกพงศาวดาร ประวัติศาสตร์เชิง “ซุบซิบ” ถึง พระเจ้าตากสิน ที่ไม่มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงให้พิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริง?!

ในหนังสือ “331 ปี สกุลอมาตย์ และ 73 ปี แห่งการพระราชทานนามสกุลอมาตยกุล” ตอนที่ 1 เรื่อง บันทึกความทรงจำของพระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ได้กล่าวถึงความบาดหมางระหว่างพระเจ้าตากสิน หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในครั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี

แต่ความบาดหมางนี้เป็นเรื่องนอกพงศาวดารที่เล่าต่อกันมา ขณะเดียวกันนั้นผู้เขียนอย่างพระยากสาปนกิจโกศลก็เกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 เวลาล่วงเลยจากสมัยธนบุรีไปนานเกือบ 50 ปี และยังเป็นขุนนางรับใช้ราชการจวบจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้นควรพึงระวังประวัติศาสตร์เชิง “ซุบซิบ” เรื่องนี้ และความน่าเชื่อถือของหลักฐานชิ้นนี้

ความจากหนังสือว่า “ในแผ่นดินเจ้าตากความนอกจากพงศาวดาร ได้ยินคุณอิ่มพี่พระยาเกษตรเป็นต้น ต่อมาคนอื่นเล่าให้ฟังกันหลายปาก ว่าเจ้าตากคิดจะฆ่าพระพุทธยอดฟ้ามาก่อนแต่ยังไม่คลั่ง คิดอุบายให้พระพุทธยอดฟ้าขึ้นไปขัดทัพที่เพ็ชรบูรณ์หน้าฝน เวลานั้นความไข้ชุมนัก การทัพนั้นไม่สำคัญ ท่านจึงรู้พระองค์ว่าจะแกล้งท่าน จะทำท่านอย่างไรไม่ได้ท่านไม่มีผิด จึงแกล้งจะให้ไปตายด้วยความไข้ ครั้นท่านขึ้นไปท่านก็ประกาศสั่งลูกทัพนายกอง ให้ปลูกทับกระท่อมพื้นสูงตั้งแต่สี่ศอกขึ้นไป ถ้าต่ำกว่า ๔ ศอก หรือนอนกับดินจะฆ่าเสีย ท่านรักษาลูกทัพนายกองและพระองค์ท่านดังนี้ก็ไม่มีผู้ใดเจ็บไข้เป็นอันตรายสิ่งใดจนกลับมา ปัญญาเกิดขึ้นดังนี้ก็ไม่รู้เคมมิสตรีอย่างไร ก็เพราะบุญของท่านจะเป็นเจ้าแผ่นดิน”

ในการศึกเมืองเพชรบูรณ์นี้ผู้บันทึกไม่ได้ให้รายละเอียดหรือระบุเหตุของสงคราม ระบุปี หรือให้รายละเอียดอื่นใด จึงยากที่จะสืบค้นเทียบกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นอื่น ๆ

เรื่องข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของการเทิดทูนรัชกาลที่ 1 ว่าทรงเป็นผู้ที่มีบุญบารมีจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ความต่อจากนั้นก็ได้ยกเหตุการณ์ในสงครามกับพม่า แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นสงครามคราใด โดยเล่าถึงพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ 1 ที่ทรงออกอุบายรับศึกพม่าอย่างแข็งขันจนได้รับชัยชนะ จนพระยากสาปนกิจโกศล อธิบายไว้ว่า “…คราวนั้นท่านก็มีพระปัญญาดังนี้ จึงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อมา”

และเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งถึงบุญบารมีของรัชกาลที่ 1 “กลับข้อหนึ่งเล่าว่า พระพุทธยอดฟ้าฯ ทำตราเงินเป็นบัวนั้น ท่านทรงเห็นว่านิมิตของท่านเป็นมงคล เมื่อจวนจะได้เป็นเจ้า ที่บ้านเก่าของท่านมีดอกบัวตูมผุดขึ้นกลางบ้านของท่าน ดอก ๑ จึงให้ทำตราบัวเป็นการเจริญ”

ดังนั้น หลักฐานที่เป็นประวัติศาสตร์เชิง “ซุบซิบ” เป็นเรื่องอ่านพอสนุก แต่ก็ควรพึงระวังความน่าเชื่อถือไว้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 สิงหาคม 2562