เผยแพร่ |
---|
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่งที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกหลักฐานไว้เป็นจำนวนมาก และมีหลายหลายแง่มุมให้ศึกษา โดยเฉพาะเรื่องพระอารมณ์และพระสติที่หลักฐานส่วนใหญ่มักระบุว่าพระองค์ “บ้า”
เรื่องความบ้าจึงนำไปสู่ความเชื่อ ทฤษฎีหรือแนวความคิดต่าง ๆ ออกมาให้ข้อมูลอีกแง่มุมหนึ่งว่าพระเจ้าตากสินไม่ได้บ้า เพียงแต่หนีไปบวชที่นครศรีธรรมราชก็มี หนีไปเมืองจีนก็มี จนดูเหมือนว่าเรื่องของพระเจ้าตากสินจะดูเป็นเรื่องที่ไม่มีวันถกเถียงกันจบสิ้น
ดังนั้น ในบทความนี้จึงขอยกหลักฐานที่ว่าด้วยความบ้าของพระเจ้าตากสินมาให้พิจารณาว่าเป็นอย่างไร รวมถึงข้อคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์หลายพระองค์และหลายคนที่ต่างก็มีการวิเคราะห์ในประเด็นนี้แตกต่างกันออกไป
พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนี้เดิมเป็นสมุดไทยมีหลายเล่ม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า เป็นหนังสือที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีรับสั่งให้กรมหลวงวงศาธิราชราชสนิทชำระขึ้นใหม่จากของเก่าหลายแห่งให้สมบูรณ์ขึ้น เมื่อทูลเกล้าฯ ถวายแล้วรัชกาลที่ 4 ทรงตรวจและแก้ไขด้วยพระองค์เอง และเมื่อมีการตีพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2457 กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงตรวจสอบแก้ไขตำนานในพระราชพงศาวดารให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขาได้อธิบายว่าพระเจ้าตากสินได้ทรงเจริญพระกรรมฐานบ่อยครั้งในช่วงหลายปีก่อนสิ้นรัชกาล ครั้งหนึ่งที่ทรงเจริญพระกรรมฐานตามความว่า “…สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเข้าทรงนั่งสมาธิให้โต๊ะแขกดู ประมาณห้าบาทออกจากที่ทรงนั่งแล้ว ตรัสถามโต๊ะแขกว่าเห็นเป็นประการใดบ้าง โต๊ะแขกกราบทูลว่าซึ่งทรงนั่งสมาธิอย่างนี้ อาจารย์ซึ่งได้เล่าเรียนมาแต่ก่อนจะได้พบเห็นเสมอพระองค์ดังนี้หามิได้…”
ดูเหมือนเรื่องพระกรรมฐานนี้จะเป็นประเด็นใหญ่ที่สำคัญอันสะท้อนให้เห็นถึงการเสียพระสติ และยังมีประเด็นเรื่องพระอารมณ์แปรปรวนอันเกี่ยวข้องกับการเสียพระสติในเวลาต่อมาด้วย คือเรื่องพระเกษาหนึ่งเส้น
ใน พ.ศ. 2323 เจ้าพนักงานภูษามาลาแต่งเครื่องทรงใหญ่ให้พระเจ้าตากสิน แต่เมื่อพระองค์ส่องพระฉายแล้วทอดพระเนตรเห็นพระเกษาเหนือพระกรรณซ้ายเหลืออยู่หนึ่งเส้นก็ทรงพิโรธว่า “แกล้งทำประจานพระองค์เล่น” จึงตรัสถามสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระราชโอรส ว่ามีโทษสถานใด แต่กรมขุนอินทรพิทักษ์กราบทูลว่าเจ้าพนักงานภูษามาลาคงมิได้แกล้งดังว่า เมื่อนั้นพระเจ้าตากสินก็ทรงพิโรธสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอว่าเข้าข้างผู้กระทำความผิด จึงลงพระราชอาญาเฆี่ยน 100 ทีแล้วขังไว้ ส่วนเจ้าพนักงานภูษามาลาและพระยาอุทัยธรรมจางวาง รวม 3 คนให้นำไปประหารชีวิต
จากนั้นมีพระราชโองการให้ถอดพระอิสริยยศกรมขุนอินทรพิทักษ์ แต่เมื่อหายพิโรธแล้วจึงโปรดให้พ้นพระราชอาญา แล้วพระราชทานพระอิสริยยศคืนดังเก่า เรื่องพระเกษาหนึ่งเส้นนี้คงแต่เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นมา อันแสดงให้เห็นถึงพระอารมณ์แปรปรวนของพระเจ้าตากสินได้พอประมาณ
ทั้งเรื่องทรงเจริญพระกรรมฐานและพระอารมณ์แปรปรวนถึงการณ์สุขงอมประจวบเหมาะกันพอดิบพอดี พงศาวดารบันทึกว่า “…ฝ่ายแผ่นดินข้างกรุงธนบุรีนั้นผันแปรต่าง ๆ เหตุพระเจ้าแผ่นดินทรงนั่งพระกรรมฐาน เสียพระสติ พระจริตก็ฟั่นเฟือนไป ฝ่ายพระพุทธจักรและอาณาจักรทั้งปวงเล่า ก็แปรปรวนวิปริตมิได้ปรกติเหมือนแต่ก่อน… พระองค์มีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส…” การเจริญพระกรรมฐานทำให้พระเจ้าตากสินดำริว่าพระองค์ทรงบรรลุเป็นพระโสดาปัตติผล แล้วรับสั่งถามพระสงฆ์ว่า “พระสงฆ์ปุถุชนจะไหว้นบเคารพคฤหัสถ์ซึ่งเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น จะได้หรือมิได้ประการใด”
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ถวายวิสัชนาร่วมกับ พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) และพระพิมลธรรม วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนฯ) ว่าไม่เห็นควรให้พระสงฆ์กราบไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล ความว่า “ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหินเพศต่ำ อันพระสงฆ์ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์ อันเป็นพระโสดานั้นก็บ่มิควร” พระเจ้าตากสินก็พิโรธ มีพระราชโอการถอดยศสมณศักดิ์ลงและให้ลงพระราชอาญาตีหลัง
เมื่อกรุงธนบุรีเกิดจลาจลเดือดร้อน พระราชพงศาวดารฉบับนี้ให้เหตุว่าเป็น “เพราะพระเจ้าแผ่นดินมิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมสุจริต” ทำให้ชาวบ้านเดือนร้อนเพราะมีพวกคนพาลกราบทูลเรื่องมิบังควร เปลี่ยนเรื่องเท็จเป็นเรื่องจริง จนทำให้เกิดเหตุวุ่นวายไปทั่วกรุงธนบุรี มีการโบยตีพระสงฆ์ กังขังตั้งแต่ชาวบ้านจนถึงพระบรมวงศานุวงศ์โดยหาเหตุกระทำผิดไม่ได้ เร่งรัดเอาทัพย์สินโดยพลการหาความผิดมิได้ และเมื่อเจ้าพระยาจักรีปราบเหตุวุ่นวายลงแล้วจึงร่วมปรึกษากับขุนนางทั้งหลาย ขุนนางพร้อมใจกันว่า “พระเจ้าแผ่นดินละสุจริตธรรมเสียประพฤติการทุจริตฉะนี้ ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน จะละไว้มิได้ ควรจะให้สำเร็จโทษเสีย”
จดหมายมองซิเออร์คูเด
มองซิเออร์คูเดเป็นบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่ได้เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในช่วงกรุงธนบุรี ได้เขียนจดหมายถึงมองซิเออร์เดอโก เอ็ตโลกอง ลงวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1779 (พ.ศ. 2322) ท่านบันทึกถึงความแปลกของพระเจ้าตากสินว่า “พระเจ้าตากรับสั่งอยู่เสมอว่าทรงเหาะเหินเดินอากาศได้(1) เราก็ได้ทูลอยู่เสมอว่าเป็นการที่เป็นไปไม่ได้ เราได้ทูลบ่อยเข้าจนถึงกับทรงเบื่อไม่อยากฟังเราแล้ว…”
(1) “พระเจ้าตากเป็นคนที่มีความคิดพลิกแพลงอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงพระราชดำริจะเป็นพระพุทธเจ้า ในเรื่องนี้ได้มีรับสั่งว่ามีพระราชประสงค์จะเป็นพระพุทธเจ้า และก็มีคนเรียกพระองค์ว่าพระพุทธเจ้าแล้วก็มี เพราะในเมืองนี้ไม่มีเลยที่ใครจะทำถูกพระทัย ตามวิธีดำเนินการที่ทรงพระราชดำริไว้นั้น ในชั้นต้นจะได้เหาะขึ้นไปตามอากาศก่อน และเพื่อจะเตรียมการที่จะทรงเหาะนี้ ได้ทรงทำพิธีต่าง ๆ ในวัดและในวังมา 2 ปีแล้ว เพราะฉะนั้น ในเวลานี้จะต้องถือพระเจ้าตากไม่ใช่มนุษย์ในโลกนี้แล้ว ถ้าเรื่องนี้ใครทูลขัดคอ หรือในเวลาทรงเข้าพิธี ใครเข้าเฝ้าแล้ว คนนั้นก็ถูกเคราะห์ร้าย”
จดหมายอีกฉบับหนึ่งของมองซิเออร์คูเดเขียนถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ ค.ศ. 1780 (พ.ศ. 2323) บันทึกถึงเรื่องที่พระเจ้าตากสินจะทรงเหาะไปในอากาศความว่า “…ทรงสวดมนต์บ้าง อดพระกระยาหารบ้าง จำศีลภาวนาบ้าง เพื่อเตรียมพระองค์สำหรับเหาะเหินเดินอากาศต่อไป…” และในจดหมายยังอธิบายพระอารมณ์แปรปรวนของพระเจ้าตากสินว่า “…พระเจ้าตากก็กริ้วเราบ้างเป็นครั้งคราว แต่ไม่ช้าก็หายกริ้วอีก…”
ในสมัยกรุงธนบุรีได้เกิดปัญหาระหว่างพวกเขารีตคริสต์ศาสนากับชาวกรุงธนบุรีบางกลุ่มที่ต่อต้านศาสนา ทำให้เกิดเหตุวุ่นวายอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง มองซิเออร์คูเดและคณะมิชชันนารีพยายามที่จะอยู่ในกรุงธนบุรีเพื่อเผยแพร่ศาสนาต่อไปแต่ไม่เป็นผล จนถูกขับออกจากกรุงธนบุรี มองซิเออร์คูเดเขียนอธิบายเหตุผลลงในจดหมายฉบับเดียวกันนั้น ความว่า “เพราะพวกพระสงฆ์ได้กราบทูลว่าถ้าเราอยู่ในพระราชอาณาเขตตราบใด ก็จะทรงเหาะเหินเดินอากาศไม่ได้”
จดหมายมองซิเออร์เดอคูร์วิแวร์
จดหมายมองซิเออร์เดอคูร์วิแวร์ ลงวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1782 (พ.ศ. 2325) อธิบายเหตุการณ์ในช่วงปลายรัชกาลว่า “เมื่อหลายปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าตากได้กดขี่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินและชาวต่างประเทศที่เข้าไปอยู่ หรือไปทำการค้าขายในเมืองไทยอย่างสาหัสมาก เมื่อปีกลายนี้พวกจีนซึ่งได้เคยไปค้าขายในเมืองไทย ต้องละทิ้งทรัพย์สมบัติหนีไปหมดด้วยทนความกดขี่ของพระเจ้าตากไม่ไหว มาในปีนี้พระเจ้าตากซึ่งเสียพระสติแล้วนั้น ได้กลับกดขี่ข่มเหงพวกพลเมืองมากกว่าเก่าขึ้นอีกหลายเท่า บางทีก็จับพระสนม หรือพระราชโอรสผู้เป็นรัชทายาท หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จำตรวนเสียบ้าง ลงพระราชอาญาเฆี่ยนตีเสียบ้าง แล้วแต่พระทัยจะฉุนเฉียวกลับกลอกอย่างไรก็ทำเอาตามพระทัยทั้งสิ้น…”
แม้มองซิเออร์เดอคูร์วิแวร์จะเป็นคนร่วมสมัยกรุงธนบุรี แต่ท่านเขียนเล่าเรื่องทั้งหมดในจดหมายตามที่ได้รับทราบมาจากจดหมายที่มีคนเขียนส่งมา ทราบจากข้าราชการไทยบ้าง และทราบจากพวกคนไทยที่เข้ารีตบ้าง
จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี
จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีได้ให้ข้อมูลสำคัญว่า พระเจ้าตากสินทรงเริ่มแสดงพระอาการฟั่นเฟือนมาตั้งแต่ จ.ศ. 1130 ปีชวดสัมฤทธิศก ตรงกับ พ.ศ. 2311 แล้ว ความว่า
“ปีชวดสัมฤทธิศก ไปตีเมืองนครราชสีมา กรมหมื่นเทพพิพิธ เจ้าศรีสังข์ ไปอยู่พิมาย ต่อสู้รบประจัญกัน จับได้กรมหมื่นเทพพิพิธ บุตรชาย 2 บุตรหญิง 1 กับเจ้าศรีสังข์ กรมหมื่นเทพพิพิธ ท่านให้สำเร็จโทษเสีย เจ้าศรีสังข์หนีไปเมืองขอม บุตรกรมหมื่นสุนทรเทพ หม่อมประยงค์ โปรดให้เป็นเจ้า อนิรุทเทวา บุตรกรมหมื่นจิตรสุนทร หม่อมกระจาดให้ชื่อบุษบา บุตรกรมพระราชวัง หม่อมเจ้ามิตรประทานชื่อประทุม บุตรกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมมงคล หม่อมพะยอม พี่หม่อมอุบลบุตรเจ้าฟ้าจิตรเลี้ยงเสมอกันทั้ง 4 คน แต่โปรดหม่อมฉิม หม่อมอุบล ประทมอยู่คนละข้าง
วิบัติหนูกัดพระวิสูตร รับสั่งให้ชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ ให้มาไล่จับหนูใต้ที่เสวยในที่ด้วย เจ้าประทุมทูลว่าฝรั่งเป็นชู้กับหม่อมฉิม หม่อมอุบล กับคนรำ 4 คน เป็น 6 คนด้วยกัน รับสั่งถามหม่อมอุบลไม่รับ หม่อมฉิมว่ายังจะอยู่เป็นมเหสีขี้ซ่อนหรือ มาตายตามเจ้าพ่อเถิด รับเป็นสัตย์หมด ให้เฆี่ยนเอาน้ำเกลือรด ทำประจานด้วยแสนสาหัส ประหารชีวิตผ่าอกเอาเกลือทา ตัดมือตัดเท้า
สำเร็จโทษเสร็จแล้วไม่สบายพระทัย คิดถึงหม่อมอุบลว่ามีครรภ์อยู่ 2 เดือน ตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบล ว่าใครจะตายกับกูบ้าง เสมเมียกรมหมื่นเทพพิพิธว่าจะตามเสด็จ หม่อมทองจันทร์ หม่อมเกศ สั่งบุษบา จะตามเสด็จด้วย ประทานเงินคนละ 1 ชั่ง ให้บังสุกุลตัว ทองคนละ 1 บาท ให้ทำพระ แล้วให้นั่งในแพหยวกนิมนต์พระเข้ามาบังสุกุล แล้วจะประหารชีวิตคนที่ยอมตามเสด็จนั้นก่อน แล้วท่านจะแทงพระองค์ท่านตามไปอยู่ด้วยกัน เจ้าข้าพระสติฟั่นเฟือน
เจ้าคุณใหญ่ท้าวเจ้าคุณทรงกันดาลกับเตี่ยหม่อมทองจันทร์นิมนต์พระเข้ามามาก ชุมนุมสงฆ์ถวายพระพรขออย่าให้ทำหาควรไม่ว่าที่จะได้พบกันนั้นหามิได้ แล้วถวายพระพรขอชีวิตไว้ ได้พระสติคืนสมประดี ประทานเงินเติมให้แก่ผู้รับตามเสด็จนั้น…”
จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีมากล่าวถึงพระอาการเสียพระจริตฟั่นเฟือนของพระเจ้าตากสินอีกครั้งหนึ่งในลำดับก่อนหน้าพระองค์จะทรงแต่งพระราชสาสน์ไปยังเมืองจีนใน พ.ศ. 2324 ว่า “ให้ปลูกไม้ไผ่ 1000 ไม้แก่น 1000 ไว้ท่าท่านผู้มีบุญจะมาข้างหน้า จะได้สร้างปราสาท ไม้ไผ่จะทำร่างร้าน ไม้แก่นดูกในก่อตั้งเสาปราสาท ปลูกไว้สำหรับผู้มีบุญจะมา พระองค์ท่านจะเหาะแล้ว”
ลําดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์
พระทัศดาจตุรงค์ ข้าราชการในกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นผู้นิพนธ์ ได้พิมพ์ออกเผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือวชิรญาณ ตอนที่ 85 ร.ศ. 120 เรื่องลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์นี้ แต่งเป็นกาพย์ฉบัง 16 เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งถึง รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บอกจำนวนปีและ พ.ศ. ที่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติทุกรัชกาล และได้กล่าวถึงพระเจ้าตากสิน ความว่า
ภายหลังท่านผู้ครองภพ เสียจริตคิดคด
บอยู่ในสัตยาธรรม์
เฆี่ยนฆ่าสามารถใจฉกรรจ์ เรียกเงินทองทัณฑ์
ทำโทษพิโรธมุลิกา
เก็บริบทรัพย์สินโภคา ปรับไหมเหลือตรา
ทุกหมู่อำมาตย์มนตรี
สมทรัพย์ใส่คลังมากมี ร้อนทั่วประชาชี
ก็เกิดพิบัติอัศจรรย์
ก่อยุคขุกแข็งขืนขัน ตริเอาเมืองพลัน
ก็ได้ด้วยคิดขับเคี่ยว
เจ้าตากจนใจจริงเจียว สุดคิดจักเหลียว
ก็อ่อนฤทัยทำดี
…
เกิดวิกลดลจิตประจุบัน ท้าวดับชีวัน
ผ่านภพได้สิบห้าปี
สังคีติยวงศ์
คัมภีร์สังคีติยวงศ์ประพันธ์โดยสมเด็จพระวันรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นคัมภีร์ประพันธ์ภาษาบาลีเล่มแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ จัดเป็นวรรณคดีภาษาบาลี ได้กล่าวถึงพระเจ้าตากสิน ความว่า “…ได้ทรงทำกรรมต่าง ๆ มีนวทาเป็นต้น (หรือนวทาน) แล้วมีจิตรฟุ้งซ่านวิปริตต่าง ๆ มหาชนพากันโกรธฆ่าเสียได้ทำกาลกิริยา ทั้งบุตรและนัดดาทั้งหลาย”
อย่างไรก็ตาม กรมพระยาดำรงราชานุภาพอธิบายคัมภีร์สังคีติยวงศ์ว่า สมเด็จพระวันรัตน์แต่งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศรัชกาลที่ 1 เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก และกรมพระยาดำรงราชานุภาพอธิบายถึงเหตุที่รัชกาลที่ 1 ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ความว่า “ทรงอุปถัมภกพระพุทธศาสนาซึ่งเศร้าหมองมาแต่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่ข้าศึก แลมาซ้ำเปนจลาจลในครั้งกรุงธนบุรีให้กลับรุ่งเรืองในสยามประเทศ”
นักวิชาการว่าไม่บ้า?
นอกจากหลักฐานที่ยกมาข้างต้น ทั้ง พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, จดหมายมองซิเออร์คูเด, จดหมายมองซิเออร์เดอคูร์วิแวร์, จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี, ลําดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ และสังคีติยวงศ์ ยังมีปรากฏเรื่องการเสียพระสติของพระเจ้าตากสินใน พงศาวดารเมืองสงขลาที่ระบุไว้ว่า เมื่อ “พระสงขลา” เข้าเฝ้าพระเจ้าตากสินเพื่อกราบทูลเหตุขัดแย้งกับเมืองนครศรีธรรมราชเสร็จแล้วนั้น กลับมาอยู่เมืองสงขลาก็ทราบข่าวพระเจ้าตากสิน ความว่า “…พระสงขลาทูลลากลับออกมาเมืองสงขลาปรกติอยู่สองปี พอเจ้าตากเสียพระจริต พระยาสรรข์เปนขบถจับเจ้าตากขังไว้”
ปรามินทร์ เครือทอง กล่าวถึงพระอาการของพระเจ้าตากสินในจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี ในบทความเรื่อง “กลยุทธ์พระเจ้าตาก “เหาะ” ฟื้นวิกฤตศรัทธา” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2554 ความว่า “พระอาการ “พระสติฟั่นเฟือน” ตามบันทึกข้อนี้ เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่อาการ “บ้า” อย่างที่เราเข้าใจกันแน่นอน เพราะเป็นอาการที่มีสาเหตุความเป็นมา เพียงแต่พระอาการอ่อนไหวจน “ขาดสติ” นี้ เป็นอาการ “เกิน” กิริยาของพระมหากษัตริย์ไปมาก จนไม่สามารถยอมรับได้ เป็นผลร้ายต่อ “ภาพลักษณ์” ของพระเจ้าตากถึงขนาดเริ่มมีการใช้คำว่า “ฟั่นเฟือน” เพื่ออธิบายพระอาการของพระองค์”
และในประเด็นที่พระเจ้าตากสินลงพระราชอาญาพระสงฆ์ที่มิยอมกราบไหว้นั้น ปรามินทร์อธิบายว่า “การลงโทษพระสงฆ์ที่ “เห็นต่าง” ด้วยการโบย การลงโทษให้ขนอาจม จน“พระพุทธศาสนาก็เศร้าหมอง” และเป็นเหตุแห่งข้อกล่าวหาว่า “มีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส” นั่นเอง”
จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวีที่ยกมาข้างต้น ยังปรากฏในบทความเรื่อง “แฉเบื้องหลังพงศาวดารกระซิบ กรณีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทูลขอพระธิดาพระเจ้ากรุงจีน” เขียนโดยสุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขวานนท์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน พ.ศ. 2554 สุทธิศักดิ์แสดงทัศนะว่า
“กรมหลวงนรินทรเทวีองค์ผู้ทรงพระนิพนธ์จดหมายเหตุความทรงจำทรงมีฐานะเป็นพระน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (เจ้าพระยาจักรี) ผู้ล้มล้างพระราชอำนาจสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงถือเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม ย่อมมีอคติต่อพระองค์บ้างไม่มากก็น้อย จึงทรงพระนิพนธ์เนื้อความบางช่วงบางตอนแสดงให้เห็นถึงพระอาการเสียพระจริตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่เป็นระยะ ๆ ตราบจนกระทั่งสิ้นรัชกาล…
แต่พระราชสาส์นไปเมืองจีนของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2324 กลับไม่มีเนื้อความตอนใดบ่งบอกถึงพระอาการเสียพระจริตไว้เลยแม้แต่น้อย จึงเป็นปมปริศนาที่นักพงศาวดารไทยต้องทำการศึกษากันต่อไปในเบื้องหน้า”
ขณะที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายในหนังสือ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” ในเรื่องความ “บ้า” ของพระเจ้าตากสินว่า “เจ้าพระยาจักรีดูเหมือนได้ใช้อาการวิกลจริตเป็นข้ออ้างอย่างหนึ่งในการเจรจาหย่าศึกกับญวณ จะเห็นได้ว่ารายงานของบุคคลร่วมสมัยเหล่านี้ล้วนเป็นการรายงานจากข่าวลือหรือกล่าวขึ้นเพื่อปรักปรำและหวังประโยชน์ทางการเมืองหรือการทหาร หรือกล่าวขึ้นในภายหลังเพื่ออธิบายการยึดอำนาจของเจ้าพระยาจักรี
การที่รัฐบาลในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ไม่ได้ใช้การวิกลจริตเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจหลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ขึ้นครองราชย์มากนัก แสดงให้เห็นว่าเมื่อได้ยึดอำนาจไว้แล้ว ข้ออ้างซึ่งอาจรู้กันอยู่ว่าไม่จริงนั้นก็ได้ถูกยกเลิกไป แต่หันไปเน้นในเรื่องของอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกันมากกว่า ในขณะที่บุคคลร่วมสมัยยังยึดอยู่กับเรื่องวิกลจริต อันเป็นเพียงกลยุทธ์ทางการเมืองในขณะนั้นที่จะก่อรัฐประหารเท่านั้นเอาไว้สืบมา”
เจ้านายว่าบ้า?
ด้านเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ได้ให้ความคิดเห็นเรื่องความบ้าของพระเจ้าตากสินไว้ด้วย กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ให้หม่อมราชวงศ์สุมนชาติฟัง ซึ่งได้ตั้งคำถามและจดบันทึกเอาไว้ ก่อนจะนำมารวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือ ชื่อ “บันทึกรับสั่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” จัดพิมพ์ พ.ศ. 2493
ในหัวข้อเรื่อง “ขุนหลวงตากเป็นบ้าหรือ?” กรมพระยาดำรงทรงตั้งข้อสังเกตว่า “เรื่องขุนหลวงตากนี้เป็นเรื่องที่น่าเอาใจใส่ นักปราชญ์สมัยใหม่กำลังปรักปรำราชวงศ์จักรี แต่ไม่มีอะไรจะว่านอกจากจะว่าขุนหลวงตากไม่บ้า และเพื่อชี้ให้คนเห็นว่า พระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นกบฏต่อขุนหลวงตาก”
และทรงอธิบายว่าได้มีความพยายามให้ความยุติธรรมกับพระเจ้าตากสินโดยการชูคุณงามความดีของพระองค์ ส่วนเรื่องที่ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงวิปลาสหรือไม่ ทรงสรุปว่า พระเจ้าตากสินนั้น “ไม่มีที่สงสัยเลยที่ว่าขุนหลวงตากจะไม่บ้า บ้าแน่ๆ... ถ้าขุนหลวงตากเป็นบ้าอย่างมากมายไม่รู้วันรู้คืน พระพุทธยอดฟ้าฯ ก็คงออกพระโอษฐ์ขอไม่ให้ปลงชีวิต นี่ขุนหลวงตากไม่ได้บ้าถึงเพียงนั้น เป็นบ้าคลั่งอันตรายต่อแผ่นดิน”
- คลิกอ่านเพิ่มเติม : พระราชภารกิจ “คืนความสุข” ของ “พระเจ้าตาก” ฟื้น-สร้างธนบุรีเหมือนครั้งบ้านเมืองยังดี
- คลิกอ่านเพิ่มเติม : ชำแหละตำนานนอกพงศาวดารหลัง พระเจ้าตาก “หนีตาย” หรือ “หนีหนี้” สู่เมืองนครฯ
นอกจากนี้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังได้ทรงเล่าถึงพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าตากสิน โดยทรงเล่าว่ารัชกาลที่ 5 ทรง “กริ้วมาก” ที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เขียนถึงพระเจ้าตากสินในทางที่ทำให้เสียหาย เพราะพระเจ้าตากสินเป็นบุคคลที่ทำคุณงามความดีให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบ้าหรือไม่ก็ไม่ควรเอามาเป็นเรื่องล้อเลียน และ “กษัตริย์ในราชวงศ์จักรีนี้ทุกพระองค์นับถือขุนหลวงตากเสมอ ไม่ควรที่ใครจะมาลบหลู่บุญคุณ ฉะนั้นการที่เขียนเรื่องล้ออย่างนี้ ไม่ชอบด้วยพระราชนิยม”
ส่วนพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ก็เป็นเจ้านายอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงบันทึกถึงพระเจ้าตากสินเช่นกัน ทรงบันทึกว่ามีผู้ออกความคิดเห็นกันหลายคนว่าเหตุที่พระเจ้าตากสินเสียพระสตินั้น เนื่องจากความเหน็ดเหนื่อยพระทัยและพระวรกายที่ต้องตากตำทำสงครามและปกครองบ้านเมือง
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงบันทึกในหนังสือ “เจ้าชีวิต” ความว่า “มีผู้คนมิใช่น้อยที่ได้แสดงความสงสัยว่าพระเจ้าตากสินทรงพระประชวรวิกลจริตจริง ๆ หรือเปล่า และมีผู้ออกความเห็นว่าเรื่องพระเจ้าตากสินทรงพระประชวรวิกลจริตนั้นเป็นเรื่องที่ตกแต่งขึ้นทั้งสิ้น เพื่อจะเอาพระองค์ออกจากการเป็นพระมหากษัตริย์ และเป็นข้อแก้ตัวที่เจ้าพระยาจักรีจะแย่งแผ่นดิน…”
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ อธิบายว่า พระยาจักรีเป็นผู้จงรักภักดีพระเจ้าตากสินมาโดยเสมอ ซึ่งไม่ปรากฏว่าเคยขาดความจงรักภักดีหรือคัดคำสั่งหรือพระบรมราชโองการแม้แต่ครั้งเดียว หรือแม้แต่เคยบ่นหรือแสดงความไม่พอใจพระเจ้าตากสินแต่อย่างใด และพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงอธิบายในประเด็นที่ว่าอาจมีหลักฐานที่โจมตรีพระราชวงศ์จักรี ความว่า “จริงอยู่อาจจะมีผู้เถียงว่าถ้ามีทางพระบรมราชวงศ์จักรีก็คงสั่งให้ลบทำลายเสียหมด ขอเตือนนักประวัติศาสตร์ว่าถ้ามีจริง คงจะมีผู้จดข้อความเช่นนั้นไว้บ้าง เช่นชาวต่างประเทศที่ไม่เกรงกลัวพระราชวงศ์จักรีเขาก็คงจดไว้บ้าง ถ้ามีที่เขาจดไว้เช่นนั้น ถึงบัดนี้คงจะมีเผยออกพิมพ์บ้างแล้ว
เมื่อไม่มีจึงน่าจะพิสูจน์ได้ว่าเจ้าพระยาจักรีไม่เคยคิดทรยศ กลับเป็นผู้วึ่งจงรักภักดีต่อพระเจ้าตากสินโดยตลอด”
ในหนังสือเจ้าชีวิตระบุลงรายละเอียดในตอนประหารพระเจ้าตากสินอย่างชัดเจน ความว่า “…ขณะนั้นเจ้าพระยาจักรีทรงยืนอยู่ไม่ไกลนักพอแลเห็นกันได้ เมื่อมีผู้มาทูลถามว่า พระเจ้าตากสินขอพบ เจ้าพระยาจักรีพระเนตรคลอ พระศอตื้นตัน ตรัสไม่ออก ได้แต่โบกพระหัตถ์แล้วเขาก็เชิญพระเจ้าตากไปสำเร็จโทษ” ขณะที่ในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุเพียงว่า “…ผู้คุมก็ให้หามเข้ามา ได้ทอดพระเนตรเห็น จึงโบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า ผู้คุมและเพชฌฆาตก็หามออกไป…”
ขณะที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชวิจารณ์เรื่องความบ้าของพระเจ้าตากสิน ในพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ในประเด็นว่า “ให้แต่งสำเภาทรงพระราชสาส์นไปถึงพระเจ้าปักกิ่ง ว่าจะขอลูกสาวพระเจ้าปักกิ่ง ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชผู้เถ้า กับหลวงนายฤทธิหลวงนายศักดิ์เปนราชทูต หุ้มแพรมหาดเล็กเลวไปมาก แต่งเครื่องบรรณาการไปกล่าวขอลูกสาวเจ้าปักกิ่ง”
รัชกาลที่ 5 มีพระราชวิจารณ์ความข้างต้นว่า “เรื่องขอลูกสาวเจ้าปักกิ่งนี้ เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวรับสั่งเล่าให้ฟัง แต่ครั้นเมื่อค้นดูในสำเนาพระราชสาส์นห้องอาลักษณ์ จำนวนจุลศักราช 1143 ได้ความว่าทูตครั้งนั้นเปน 2 สำรับ ทูตที่เชิญพระราชสาส์นคุมเครื่องราชบรรณาการตามเคยสำรับหนึ่ง แต่พระราชสาส์นนั้น ไม่ใช่ส่งของไปเจริญทางพระราชไมตรี ตามธรรมเนียมเท่านั้น มีข้อความแถมท้ายพระราชสาส์น เหมือนหนึ่งเข้าใจว่าหนังสือฉบับนั้น พระเจ้ากรุงจีนจะได้อ่านเอง
…เจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ทราบผลของการที่แต่งทูตออกไปนี้ด้วยหมดเวลา, สังเกตดูถ้อยคำที่จดหมาย อยู่ข้างพลุ่งพลั่ง แต่ไม่ใช่บ้า”
ดังนั้น จึงไม่อาจหาข้อสรุปได้ว่าพระเจ้าตากสิน “มีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส” นั้นจริงหรือไม่ เพราะเมื่อมีข้อยุติของฝ่ายที่ว่าบ้า ก็จะมีข้อยุติของฝ่ายที่ว่าไม่บ้า การถกเถียงกันในประเด็นนี้จึงน่าสนใจสำหรับผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ หากแต่จะเชื่อแนวคิดฟากฝั่งใดนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์และวิจารณญาณของแต่ละบุคคล
อ้างอิง :
กรมศิลปากร. (2548). พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. พิมพ์ครั้งที่ 10. นครปฐม : นครปฐมการพิมพ์.
กรมศิลปากร. (2560). จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ 7. ม.ป.ท. : เอดิสัน เพรส โพรดักส์.
สังคีติยวงศ์, พิพม์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย. (2466). พระนคร : โรงพิมพ์ไทย, จากสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ลําดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์, พิมพ์เนื่องในงานฌาปนกิจ นางสาวอรวรรณ เลขะกุล. (2513). พิมพ์ครั้งที่ 2. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
ประชุมพงศาวดาร 53 เมืองสงขลา นครศรีธรรมราช พัทลุง, พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพระพิทักษ์สาครเกษตร์ (หยวก ลีละบุตร). (2476). ม.ป.ท. : โสภณพิพรรฒธนากร.
จดหมายเหตุคณะบาทหลวงฝรั่งเศสในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 23 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 39 (ต่อ) – 40). (2511). กรุงเทพฯ : ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์.
จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. (2536). เจ้าชีวิต สยามก่อนยุคประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2548). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : มติชน.
สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขวานนท์. (2554, มิถุนายน). แฉเบื้องหลังพงศาวดารกระซิบ กรณีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทูลขอพระธิดาพระเจ้ากรุงจีน. ศิลปวัฒนธรรม. 32 (8) : 88-89.
ปรามินทร์ เครือทอง. (2554, ธันวาคม). กลยุทธ์พระเจ้าตาก “เหาะ” ฟื้นวิกฤตศรัทธา. ศิลปวัฒนธรรม. 33 (2).
ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์. (2562). “ขุนหลวงตากเป็นบ้าหรือ?”: พระวินิจฉัยกรมพระยาดำรงฯ เรื่องสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี. เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม 2562, จาก https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_35232
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กรกฎาคม 2562