คนไทยโบราณเชื่อ “แมวดำคือแมวดี แมวอัปรีย์คือแมวขาว”

แมว แมวดำ แมวดี ภาพวาด สมุดข่อย
ภาพของแมวดำจากสมุดข่อยไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน และผู้วาดภาพ รวมถึงวันที่ที่ทำการบันทึก แต่คาดว่าน่าจะเป็นตำราที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันถูกเก็บรักษาอยู่ที่ห้องสมุด British Library

ความเชื่อเรื่อง “แมว” ของคนไทยโบราณ “แมวดำ” คือ แมวดี แมวอัปรีย์ คือ “แมวขาว” ทำไมเป็นเช่นนั้น?

ผู้เขียนเป็นคนที่ชอบแมวมาก ขอให้เป็นแมวไม่ว่าจะสีอะไรก็ชอบหมด แต่ตอนเด็กๆ ผู้เขียนมักถูกผู้ใหญ่ทักไม่ให้ไปยุ่งกับ “แมวดำ” โดยอ้างว่า แมวดำคือ “แมวผี” ซึ่งมีอำนาจชั่วร้ายที่สามารถทำให้คนตายไปแล้วฟื้นขึ้นมาได้ หากว่ามันได้ไปกระโดดข้ามโลงศพของใครเข้า ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี แต่กลับกัน ซากศพที่ถูกแมวดำกระโดดข้ามจะกลายเป็นผีร้ายที่มาพร้อมความอาฆาตพยาบาท

ถึงตอนนี้เมื่อนึกย้อนกลับไปก็อดสงสัยไม่ได้ว่า คนเฒ่าคนแก่เหล่านั้นเขาเชื่อกันอย่างนั้นจริงๆ หรือแค่ต้องการขู่ไม่ให้เด็กไปยุ่งกับ “แมว” เพราะกลัวว่าจะกลายมาเป็นภาระของตัวเองหรือเปล่า

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ในหลายวัฒนธรรม แมวดำเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ทำให้แมวดำจรจัดเป็นแมวที่หาผู้รับเลี้ยงได้ยาก (บางประเทศไม่ยอมให้สัตว์เลี้ยงออกเพ่นพ่านในที่สาธารณะจึงถูกจับมาขังจนกว่าจะหาผู้รับเลี้ยงได้) ขณะที่ แมวขาว ได้รับความนิยมมากกว่า

สำหรับอคติต่อแมวดำในตะวันตกส่วนใหญ่เชื่อกันว่า แมวดำเป็นตัวแทนของความชั่วร้ายมักไปพัวพันกับแม่มดมนต์ดำทำให้ในช่วงยุคกลางแมวดำจึงถูกฆ่าทิ้งเป็นจำนวนมาก ในอินเดียเองก็มีทัศคติในเชิงลบต่อแมวดำเช่นกันว่า หากใครเจอแมวดำเดินตัดหน้าก็จะทำให้คนๆนั้นต้องเจอกับความโชคร้ายเนื่องจากสีดำเป็นสีของ “พระเสาร์” (Shani) ซึ่งมีอำนาจในทางบาปเคราะห์ (13 Superstitions We Indians Follow Blindly. The India Times)

ส่วนในเมืองไทยมีคนพยายามอธิบายว่า อคติต่อแมวดำของคนอินเดียนั้นน่าจะเกี่ยวโยงกับพระษัษฐีมากกว่า โดยอ้างว่า แมวดำเป็นสัตว์ผี เป็นพาหนะของพระษัษฐี เทวีแห่งความตายของทารก หรือ ผีแม่ซื้อประจำตัวเด็กในวันที่ 6 ซึ่งพระษัษฐีเป็นเทวีที่มีอิทธิฤทธิ์”

“หากใครเห็นแมวดำที่ไหน มักต้องเห็นพระษัษฐีปรากฏกายที่นั่น และจะมีเด็กหรือคนตายที่นั่นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในงานศพจะระมัดระวังไม่ให้แมวมาถูกต้องศพ ด้วยเชื่อว่าจะเกิดมนทินกับศพนั้น ๆ ไปตลอด…ในคติความเชื่อของจีน ก็ถือกันว่าหากแมวข้ามศพผีนั้น จะฟื้นคืนชีพและกลายเป็นผีที่ดุร้ายมากซึ่งก็ไม่ต่างจากไทย”

ข้อความข้างต้นมาจากบทความเรื่อง “ตำนาน ภูติ ผี ปีศาจ และ สิ่งแปลกประหลาด ตอนที่ 110 ความเชื่อ แมวดำ” จากเว็บไซต์ Dek-D และยังมีอีกหลายเว็บไซต์ที่กล่าวคล้ายๆ กัน ซึ่งผู้เขียนบอกตามตรงว่าไม่รู้จักเทพอินเดียองค์นี้ ส่วนความเชื่อของไทยเรื่องแมวดำข้ามศพที่ว่าเหมือนกับจีนนั้น คงเป็นเพราะไทยรับมาจากจีน

ที่ผู้เขียนเห็นเช่นนั้นเนื่องจากตามตำราโบราณของไทยว่าด้วยแมวลักษณะต่างๆ ระบุว่า แมว “ดำปลอดตลอดล้ำ” นั้น “เลี้ยงไว้จะดีเป็นเสรฐีมีทรัพย์หลาย” ขณะที่ “แมวขาวตาแดง” หากใครเลี้ยงไว้ “จักเกิดโกลี มักอัปปรีศรีเสาอยู่โรยรา อย่าเลี้ยงไว้บ่มีดี เอาไปเสียจงไกลตา”

ภาพของแมวดำจากสมุดข่อยไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน และผู้วาดภาพ รวมถึงวันที่ที่ทำการบันทึก แต่คาดว่าน่าจะเป็นตำราที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันถูกเก็บรักษาอยู่ที่ห้องสมุด British Library

ตำราดังกล่าวเป็นตำราซึ่งบันทึกบนสมุดข่อยในยุคศตวรรษที่ 19 (ค.ศ.1801-1900 หรือ พ.ศ. 2344-2443) หรือในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ จึงเป็นไปได้ว่า อคติต่อแมวดำของคนไทยน่าจะพัฒนาขึ้นในยุคหลังที่ไทยเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับนานาชาติมากขึ้นจึงได้อิทธิพลทางความเชื่อในลักษณะนี้มาจากทั้งจีน อินเดียและตะวันตก

แมวขาว
ภาพของแมวขาวตาแดงจากสมุดข่อยไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน และผู้วาดภาพ รวมถึงวันที่ที่ทำการบันทึก แต่คาดว่าน่าจะเป็นตำราที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันถูกเก็บรักษาอยู่ที่ห้องสมุด British Library

ความเชื่อเรื่องโชคลางถือเป็นเรื่องส่วนตัวที่คงจะห้ามกันไม่ได้ อย่างไรก็ดี ในต่างประเทศเริ่มมีการรณรงค์ให้คนลดละอคติต่อแมวดำ โดยในอังกฤษกลุ่ม Cat Protection ได้ประกาศให้วันที่ 27 ตุลาคม เป็นวันแมวดำแห่งชาติเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อแมวดำ

แม้ว่าแต่เดิมมาชาวบริเตนจะเชื่อกันว่าแมวดำถือเป็นแมวนำโชค (เหมือนคนไทยสมัยก่อน) แต่ดูเหมือนปัจจุบันแมวดำในบริเตนจะโชคไม่ดีนัก เห็นได้จากสถิติของราชสมาคมเพื่อการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ (RSPCA) ที่พบว่าแมวไร้บ้านในความดูแลขององค์กรนับพันตัวกว่า 70 เปอร์เซนต์เป็นแมวดำ หรือดำปนขาว

“มันมีเหตุผลหลายอย่างเลย ทั้งด้วยเหตุที่แมวดำมันยากที่จะแยกแยะไม่เหมือนแมวที่มีลายเฉพาะตัว และสัตว์เลี้ยงสีดำก็เป็นพวกที่ถ่ายรูปไม่ขึ้นด้วย” RSPCA ระบุ ทั้งนี้จากรายงานของเทเลกราฟ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 สิงหาคม 2562