แมวศึกจารึกโลก! “กองพลแมวเหมียว” ยุทธปัจจัยการรบสมัยสงครามโลก

แมว กองพลแมวเหมียว
(ภาพโดย Leuchtturm81 ใน www.pixabay.com)

แมวศึกจารึกโลก! “กองพลแมวเหมียว” ยุทธปัจจัยการรบสมัย “สงครามโลก”

ม้า สุนัข ลา หรือ แม้กระทั่งนกพิราบ พวกมันคือสัตว์ที่ถูกนำไปใช้เพื่อการทำสงครามของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ มันเข้าร่วมรบในแทบทุกสมรภูมิสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์มนุษย์ และมีส่วนร่วมต่อชัยชนะครั้งสำคัญ

แต่สำหรับ เจ้าเหมียว หรือ น้องแมว แล้ว เราอาจจะคิดว่ามันไม่น่าจะมีประโยชน์ หรือมีความสำคัญใด ๆ ต่อการทำสงคราม แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งของมนุษย์นั้นสัตว์เลี้ยงธรรมดา ๆ อย่าง “แมว” ก็เคยเข้าไปมีบทบาทและสร้างตำนานจารึกเอาไว้ไม่แพ้เจ้าสัตว์สงครามชนิดอื่น ๆ เหมือนกัน

Advertisement

นี่คือเรื่องราวของ “เจ้าแมวเหมียว” ที่มีส่วนร่วมในสงครามของมนุษย์

สงครามโลก ครั้งที่ 1 แมว เดิน บน ปืนใหญ่
แมวปีนป่ายบนปืนใหญ่ขนาด 15 นิ้ว บนเรือ HMS Queen Elizabeth ที่คาบสมุทรกัลลิโพลี ค.ศ. 1915 (ภาพจาก https://www.meowingtons.com/blogs/lolcats/cats-in-war-the-unsung-heroes-of-world-wars)

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ประมาณการว่าน่าจะมีแมวกว่า 5 แสนตัวอาศัยอยู่ในแนวสนามเพลาะของฝ่ายพันธมิตรและมหาอำนาจกลาง ตั้งแต่ปลักโคลนที่แวร์ดังในฝรั่งเศส ไปจนถึงป่าเท็นเนนบิร์กในแนวรบด้านตะวันออก ซึ่งอาศัยอยู่ในสนามเพลาะ บังกอร์ โรงทหาร หรือสถานีพยาบาล นี่ยังไม่นับรวมเจ้าเหมียวที่อยู่บนเรือรบ ตามฐานบิน หรือแม้กระทั่งในเรือดำน้ำ

มันคลอเคลียบรรดาทหารหาญ และให้มนุษย์แสดงความรักต่อมัน หรือคอยออดอ้อนพร้อมทั้งส่งเสียงและเคล้าแข้งเคล้าขาให้ทหารต้องใจอ่อนมอบอาหารหรือนมให้มันกิน

เรื่องราวแมวเหมียวในสนามรบคือเรื่องของ พิททูชี่ แมวกำพร้าซึ่งเกิดในสนามเพลาะ แม่และพี่น้องของมันถูกฆ่าตายจากกระสุนปืนใหญ่ เหลือมันตัวเดียวที่รอดมาได้ โชคดีที่มีนายทหารเบลเยียม ผู้หมวดลึคเคอเก็บมันไปเลี้ยงดู เจ้าพิททูชี่ตามที่กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ “Solders in Fur and Feathers” โดย Susan Bulanda ได้บันทึกวีรกรรมและเรื่องราวของมันกับผู้หมวดลึคเคอว่า

“เมื่อผู้หมวดลึคเคอ ออกไปสอดแนมแนวสนามเพลาะเยอรมนี เขาค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาจนถึงจุดที่ใกล้กับแนวสนามเพลาะข้าศึก และสังเกตเห็นว่าพวกเยอรมันกำลังขุดแนวสนามเพลาะใหม่ขึ้นมา ผู้หมวดลึคเคอซ่อนตัวอยู่ในหลุมระเบิดใกล้ ๆ และเร่งรีบจดบันทึกแนวสนามเพลาะที่เขาเห็นลงไปในสมุด

แต่ขณะที่เขากำลังหมกมุ่นอยู่กับการบันทึกอยู่นั้น ทหารเยอรมันกลุ่มหนึ่งเดินลาดตระเวนเข้ามาใกล้ตรงหลุมระเบิดที่เขาซ่อนตัวอยู่ ลึคเคอรู้ตัวแล้วว่าข้าศึกกำลังใกล้เข้ามา แต่มันสายไปแล้วที่เขาจะหนีไปไหนได้ เขาจึงตัดสินใจนอนนิ่ง ๆ อยู่ตรงนั้นโดยหวังพวกเยอรมันจะไม่เห็นเขา แต่ทว่าเขาก็คิดผิด

สงครามโลก ครั้งที่ 1 ทหาร เล่น กับ แมว
พลปืนกลกับแมวที่อาศัยอยู่ในกองร้อยในสนามเพลาะ ที่เมืองกอมบรังฝรั่งเศส 6 กุมภาพันธ์ 1918 (ภาพจาก https://www.meowingtons.com/blogs/lolcats/cats-in-war-the-unsung-heroes-of-world-wars)

หนึ่งในทหารเยอรมันตะโกนขึ้นมาว่า เฮ้ย!!! อะไรอยู่ตรงนั้นวะ ผู้หมวดลึคเคอคิดว่าเขาคงต้องถูกทหารเยอรมันฆ่าทิ้ง หรือไม่ก็โดนจับเป็นเชลยแน่ ๆ แต่แล้วเจ้าเหมียวพิททูชี่จู่ ๆ ก็โผล่ออกมา มันก็กระโดดเข้ามาในหลุมระเบิดที่ลึคเคอนอนอยู่ตรงนั้น และกระโดดเข้าไปในสนามเพลาะเยอรมนี ทหารเยอรมันตกใจที่จู่ ๆ มีตัวอะไรก็ไม่รู้โผล่ออกมาจากหลุม ด้วยความตกใจทหารกลุ่มนี้จึงใช้อาวุธประจำกายยิงใส่เจ้าพิททูชี่ แต่โชคดีที่มันว่องไวกว่าการเล็งปืนของทหารเยอรมันกลุ่มนี้ และรีบวิ่งหนีไป

หลังจากเจ้าแมววิ่งหนีไป ทหารเยอรมันพากันหัวเราะและคิดว่าตัวเองพากันหลอนเห็นแมวเป็นคนไปได้และเดินผละออกจากตรงจุดนั้นไป นั่นจึงเปิดโอกาสให้ผู้หมวดลึคเคอ สามารถหลบหนีกลับไปยังแนวทหารฝ่ายตนเองได้ในที่สุด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเจ้าพิททูซี่ช่วยชีวิตเขาเอาไว้ในวันนั้น”

โดยปกติแล้วแมวในสนามรบมีหน้าที่ในการจับหนูที่คอยรังควานการใช้ชีวิตของทหารในสนามรบ ภารกิจของมันมีอยู่ทั้งบนเรือรบและในสนามเพลาะ การจับหนูและป้องกันไม่ให้พวกหนูเข้าไปกัดแทะหรือกินเสบียงอันมีค่าของทหาร รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดอันมีหนูเป็นพาหะ เป็นหน้าที่สำคัญของแมว

ลำพังแค่ยาเบื่อหนู กับดักต่าง ๆ ก็อาจจะยังน้อยไปในการกำจัดสิ่งมีชีวิตที่น่ารำคาญพวกนี้ ดังนั้น แมวจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการนำมันมาจัดการกับหนูพวกนี้ ดังตัวอย่างเรื่องราวการใช้แมวในการจัดการกับหนูในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของกองทัพโซเวียต

แนวรบด้านตะวันออกเมื่อกองทัพเยอรมันล้อมเมืองเลนินกราด ชาวเมืองและทหารโซเวียตต่างยืนหยัดสู้กับการปิดล้อมเมืองแห่งนี้อย่างทรหด การรบเพื่อรักษาเมืองแห่งนี้เป็นงานที่ยากลำบากแก่พลเมืองโซเวียตทุกคน

แต่นอกเหนือจากที่พวกเขาจะต้องเผชิญกับข้าศึกที่อยู่เบื้องหน้าแล้ว ข้าศึกตัวเล็ก ๆ ที่คอยรังควานพวกเขาอยู่ในเมืองและสร้างความปั่นป่วนต่อแนวรบฝ่ายโซเวียตในเมืองไม่น้อย ก็คือเหล่าบรรดา “หนู” จำนวนมากที่มากัดกินเสบียงอาหารที่มีอยู่เพียงน้อยนิดให้หมดลงอย่างรวดเร็ว และพวกมันเองยังเป็นพาหะของโรคร้ายต่าง ๆ อีกด้วย

ทหารอังกฤษคนหนึ่งกำลังเล่นกับลูกแมว (ภาพจาก https://www.meowingtons.com/blogs/lolcats/cats-in-war-the-unsung-heroes-of-world-wars)

ภัยคุกคามจากพวกนาซี ทหารและประชาชนโซเวียตยังพอรับมือไหว แต่กับกองทัพหนูเหล่านี้คือศัตรูตัวฉกาจที่กำลังทำลายแนวรบโซเวียตลงไปช้า ๆ ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นหน้าที่ของเหล่าบรรดา “แมวเหมียว” ที่จะต้องถูกส่งมาเพื่อภารกิจนี้โดยเฉพาะ โจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียต ออกคำสั่งให้นำแมวที่มีอยู่ในเมืองต่าง ๆ รวบรวมส่งไปที่เลนินกราดทันที นั่นจึงเป็นที่มาของหน่วยทหารที่ชื่อ “กองพลแมวเหมียว” หรือ Meow Division ที่มีบทบาทใน สงครามโลก

เจ้าแมวเหมียวกว่า 300 ตัวถูกส่งไปยังเลนินกราดทันที และเมื่อมันไปถึง มันก็ไม่ทำให้แผ่นดินมาตุภูมิรัสเซียต้องผิดหวัง พวกมันทั้งหมดใน “กองพลแมวเหมียว” สู้ไม่ถอยแม้แต่ก้าวเดียว หนูจากที่เคยพบเห็นอยู่แทบทุกที่ลดจำนวนลงไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เจ้าแมวพวกนี้ยังสามารถรับรู้ได้ถึงการมาถึงของเครื่องบินข้าศึกที่บินเข้ามาโจมตีเมือง และแสดงพฤติกรรมให้ทหารและพลเรือนโซเวียตได้ล่วงรู้และรีบหลบหรือรับมือกับการโจมตี

ปัจจุบัน เมืองเลนินกราดถูกเปลี่ยนกลับไปใช้ชื่อดั้งเดิมว่า เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และเมืองแห่งนี้จะปรากฏรูปปั้นหรือภาพวาดแมวอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของเมือง เพื่อรำลึกคุณความดีของ “กองพลแมวเหมียว” ที่เคยช่วยชาวเมืองแห่งนี้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

(ชมภาพเพิ่มเติม คลิก)

นอกจากความสามารถในการจับหนูแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่แมวเหมียวทำได้เป็นอย่างดีคือ มันทำให้ชีวิตของทหารในสนามรบที่ต้องเผชิญหน้ากับความโหดร้าย มีช่วงเวลาที่ผ่อนคลายจากการได้สัมผัสหรือเลี้ยงดูให้มันได้กินอิ่มนอนหลับกับพวกเขา

เสียงร้องและการออดอ้อนของมัน ทำให้แม้แต่ทหารที่กรำศึกในสมรภูมิอย่างโชกโชนยังต้องหยุด เพื่อมีโอกาสได้สัมผัสตัวมัน นับเป็นความสุขเล็ก ๆ ของทหารในสนามรบเลยทีเดียว ยิ่งถ้าทหารคนใดมีลูกด้วยแล้ว การได้เลี้ยงดูแมวในสนามรบพวกนี้ก็เหมือนการได้เจอหน้าลูก และซึมซับโอกาสในการเลี้ยงดูเจ้าแมวตัวน้อยที่เป็นดั่งตัวแทนของลูกรักของพวกเขา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Lisa Marcus. (2014). The Cats Who Served in WWI, from https://www.neatorama.com/pet/2014/08/25/The-Cats-Who-Served-in-WWI/

20 Historical Photos of Cats And Their Soldiers in World War I and II. (2018), from https://www.meowingtons.com/blogs/lolcats/cats-of-war-the-unsung-heroes-of-world-war

Micky Wren. (2017). The Brave Cats Who Helped Soldiers Win World War I, from http://www.atchuup.com/cats-during-world-war-i/

Patrick Roberts. Faith the London Church Cat, from http://www.purr-n-fur.org.uk/famous/faith.html

Heziel Pitogo. (2014). WWI’s Cuddly Yet Brave ‘Soldiers’ – Cats, from https://www.warhistoryonline.com/war-articles/wwis-cuddly-yet-brave-soldiers-cats.html


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 สิงหาคม 2562