ศิลปะทาสแมวยุค โชซอน “บยอน ซังบยอก” ผู้หลงรักและเฝ้าทุกความเคลื่อนไหวของเจ้าเหมียว

Cat with bird ผลงานโดย Byeon Sang-byeok (ภาพจากเว็บไซต์ http://www.thegreatcat.org/the-cat-in-art-and-photos-2/cats-asian-art/byeon-sang-byeok-mid-18th-century-joseon-dynasty-korean/)

หากกล่าวถึงศิลปะการวาดภาพในยุค โชซอน หลายๆ คน อาจนึกถึง “ซินยุนบก” เพราะกระแสละครอิงประวัติศาสตร์เกาหลีที่แพร่เข้ามาในเมืองไทยทำให้ซินยุนบกกลายเป็นที่รู้จัก

ในละครนั้นได้นำเสนอความสามารถการวาดภาพของซินยุนบกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และแหวกแนวในยุคสมัยที่ซินยุนบกดำรงอยู่กล่าว คือ ซินยุนบกนิยมวาดภาพสะท้อนชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวโซซอนที่เปิดเผยให้เห็นเรื่องราวที่ค่อนข้างหวือหวาทางเพศ (Erotic)

ผลงานของซินยุนบกไม่เป็นที่ยอมรับในยุคสมัยนั้นเพราะมันเป็นการวาดภาพแนวอนาจาร เขาจึงถูกขับออกจากศูนย์ศิลปะของวังหลวง ทั้งๆ ที่ผลงานการวาดภาพของเขานั้นออกจะล้ำยุคเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้เขียนเริ่มหันมาสนใจศิลปะการวาดภาพในสมัยโซซอน และพบว่ามีศิลปินอีกคนหนึ่งที่มีเอกลักษณ์การวาดภาพในรูปแบบเฉพาะเขาคนนั้นคือ “บยอน ซังบยอก” ศิลปินแห่ง โชซอน

บยอน ซังบยอก (Byeon Sang-byeok) เขาเกิดในยุคราชวงศ์โซซอน ไม่ทราบช่วงเวลาเกิดและตายที่แน่ชัดแต่ผลงานของเขาปรากฏอยู่ในช่วงศตวรรษที่18 บยอน ซังบยอกได้เข้ารับราชการเป็นช่างศิลป์ในศูนย์ศิลปะวังหลวงโดฮวาซอ (Dohwaseo) ที่แห่งนี้ทำให้เขาได้ฝึกฝนตนเองจนมีชื่อเสียงในด้านการวาดภาพสัตว์โดยเฉพาะ การวาดภาพแมว

บยอนหลงใหลในการวาดภาพแมวมากจนเขามีชื่อเล่นว่า “บยอนโกยาง” ซึ่งโกยางมีความหมายว่า แมว ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา คือ ภาพวาดแมว Myojakdo (Painting of Cats and Sparrows) และ Gukjeong (An autumn cat in a garden with chrysanthemum)

Myojakdo( Painting of Cats and Sparrows) (ภาพจากเว็บไซต์ เข้าถึงได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Myojakdo)

บยอน วาดภาพแมวและนกกระจอก Myojakdo (Painting of Cats and Sparrows) โดยใช้เทคนิคการวาดภาพที่ทำให้พื้นผิวของภาพมีองค์ประกอบของแสงสว่าง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ก้าวข้ามการวาดแบบเดิมที่ใช้แค่พู่กันและน้ำหมึกสีดำวาดลงบนกระดาษ

ในภาพวาดนี้พรรณาให้เห็นถึงความเป็นจริงที่แสนจะเรียบง่ายกับการมองดูความมีชีวิตชีวาของแมวสองตัว ตัวหนึ่งกำลังยึดเกาะต้นไม้ และกำลังลื่นไถลลงมาพร้อมๆ กับการชำเลืองมองพื้น  ขณะที่แมวอีกตัวกำลังจับจ้องมองฝูงนกกระจอกบนกิ่งไม้ นกกระจอกบนกิ่งไม้มีลักษณะอาการที่กำลังส่งเสียงร้องด้วยความตื่นตกใจ บยอนได้จัดองค์ประกอบในภาพให้มีความขัดแย้งตรงข้ามกันระหว่างต้นไม้ที่แข็งทื่อ และแมวที่มีชีวิตจิตใจแข็งแรงและสดใส

Gukjeong (An autumn cat in a garden with chrysanthemum) (ภาพจากเว็บไซต์ เข้าถึงได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Gukjeong_chumyo)

ในภาพ แมวกับสวนเบญจมาศในฤดูใบไม้ร่วง Gukjeong (An autumn cat in a garden with chrysanthemum) บยอนใช้ทักษะที่ละเอียดอ่อนแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดที่พิถีพิถันในการวาดภาพแมวให้มีจุดเด่นนั้น คือ การเติมลายบนตัวของแมวที่อยู่ในท่าทางลักษณะการย่อตัวหมอบลงกับพื้นใกล้ๆ ต้นดอกเบญจมาศ ซึ่งดอกเบญจมาศมีความหมายถึงความแข็งแกร่งและความหยิ่งทรนง ส่วนแมวสามสีตัวเมียในภาพเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี ความหวัง ความรัก และสิ่งที่น่าสนใจในภาพนี้ อีกประการหนึ่งคือการแสดงออกทางใบหน้าของแมวที่แลดูเจ้าเล่ห์เฉลียวฉลาดได้อย่างเด่นชัดอาจเป็นไปได้ว่าแมวลายหน้าเจ้าเล่ห์กำลังคิดถึงการไล่ล่านกอยู่

บยอน ซังบยอก มีสไตล์การวาดภาพแนวสะท้อนความเป็นจริง ภาพที่วาดออกมาล้วนมาจากการที่เขาคอยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของแมวทั้งการเล่น การหลับ การกิน การไล่ล่านก และเหนือสิ่งอื่นใด คือ เขารักแมว อารมณ์และความรู้สึกที่ใกล้ชิดจากการสังเกตแมว ทำให้งานของเขามีความละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง

แต่ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตก็ คือ การวาดภาพแมวของบยอนมีลักษณะที่แสดงถึงความเป็นปัจเจกส่วนบุคคลบ่งบอกได้ว่า มันอาจเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงของโลกทัศน์การวาดภาพแบบจีนมาสู่การคิดค้นแบบแผนศิลปะแบบเกาหลี

สาเหตุที่พอจะอธิบายได้อาจเป็นเพราะการล่มสลายลงของราชวงศ์หมิงในศตวรรษที่17 ทำให้อิทธิพลศิลปะการวาดภาพแบบจีนที่นิยมวาดภาพภูมิทัศน์อันเกิดจากจินตนาการของศิลปินด้วยการผสมผสานแนวคิดที่สอดคล้องกับความเชื่อในลัทธิเต๋า โดยมีนัยยะของการวาดภาพภูมิทัศน์แบบจีนว่าคือสัญลักษณ์ความเป็นแก่นแท้ของทุกสรรพสิ่ง ทั้งหมดทั้งมวลเป็นจุดเริ่มต้นแห่งจิตวิญญาณอันสูงส่งที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยปลายพู่กันของมนุษย์

แนวคิดการวาดภาพที่อิงอยู่กับหลักปรัชญาที่จับต้องไม่ได้เริ่มหมดอิทธิพลในโซซอน ส่งผลให้ช่างศิลป์ในยุคโซซอนมีอิสระที่จะดำเนินการวาดภาพในรูปแบบของตนเอง และมีเอกลักษณ์เฉพาะ ในช่วงศตวรรษที่18 นั้นคือการวาดภาพที่สะท้อนความเป็นจริงในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในท้องถิ่น ซึ่งปรากฏผลงานโดดเด่นที่สุดในการวาดภาพวิถีชีวิต วาดโดย คิมฮงโด และการภาพวาดที่เป็นความพึงพอใจในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งสามารถดูได้จากการวาดภาพแมวของ บยอน ซังบยอก

และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ การเข้ามาของชาติตะวันตกส่งผลให้เกิดการผสมผสานรูปแบบการวาดภาพเฉพาะแบบเกาหลี โดยเทคนิคการใช้แสง และเงาจากชาติตะวันตกเพื่อให้ภาพมีความสมจริงมากยิ่งขึ้น

Plowing a rice field (ภาพจากเว็บไซต์ เข้าถึงได้ที่ http://www.artistsandart.org/2010/01/kim-hong-do-17451806-korean-painter.html)

ในราชวงศ์โซซอน ช่วงศตวรรษที่18 เป็นช่วงเวลาแห่งการบ่มเพาะวิทยาการรูปแบบการวาดภาพอันเป็นลักษณะเฉพาะแบบโซซอน นั่นคือการวาดภาพสะท้อนวิถีชีวิต และการวาดภาพโดยความพึงพอใจส่วนตัว ผสมผสานกับการรับเทคนิคการใช้แสงและเงาจากชาติตะวันตก มาเป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อขับเน้นให้ภาพวาดมีความสมจริง

จากอิทธิพลดังกล่าวทำให้ บยอน ซังบยอก วาดภาพแมวขึ้นมาด้วยความหลงใหลและเฝ้าสังเกตมองดูทุกอิริยาบถของแมวแล้วถ่ายทอดมันออกมาด้วยความรัก ส่งผลให้ภาพแมวที่วาดออกมามีความละเอียดอ่อนในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ผสมผสานกับเทคนิคการใช้แสงและเงาทำให้ภาพมีความเสมือนจริงสะท้อนอารมณ์ และความรู้สึกที่บยอนมีต่อแมวได้อย่างนุ่มนวลและทรงพลัง

ศิลปะการวาดภาพแมวของ บยอนยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับช่างศิลป์ในยุคต่อมา ให้กล้าสร้างสรรค์วาดภาพจากสิ่งที่กระตุ้นเร้าความหลงใหลให้กลายเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Byeon Sang-byeok, แหล่งที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Byeon_Sang-byeok

Joseon Dynasty, แหล่งที่มา  https://en.wikipedia.org/wiki/Korean_art#Joseon_Dynasty

Byeon Sang-byeok (Mid 18th Century, Joseon Dynasty, Korean), แหล่งที่มา http://www.thegreatcat.org/the-cat-in-art-and-photos-2/cats-asian-art/byeon-sang-byeok-mid-18th-century-joseon-dynasty-korean/

The art of the Joseon period was influenced by both Confucianism and Buddhism and has left a substantial legacy on Korean art., แหล่งที่มา https://www.boundless.com/art-history/textbooks/boundless-art-history-textbook/china-and-korea-after-1279-ce-29/korea-the-joseon-dynasty-185/joseon-painting-677-1923/

Religious Influence on Korean Art, แหล่งที่มา http://asiasociety.org/education/religious-influence-korean-art

KOREAN PAINTING – Prehistory to the late 19th Century, แหล่งที่มา http://www.asia-art.net/korean_paint.html

Byeon Sang-byeok: The Korean Cat Artist, แหล่งที่มา http://thecatalley.blogspot.com/2012/12/byeon-sang-byeok-korean-cat-artist.html

Myojakdo, แหล่งที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Myojakdo

Gukjeong chumyo, แหล่งที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Gukjeong_chumyo

화재(和齋) 변상벽,국정추묘(菊庭秋猫 :·국화 핀 뜰 안의 가을 고양이), แหล่งที่มา http://blog.daum.net/wi3000/931


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2562