“วัดราชพลี” ฐานปืนใหญ่ฝั่งตะวันตก กองทัพพระเจ้าอลองพญา

เศียรพระพุทธรูป พระประธาน วัดราชพลี
เศียรพระพุทธรูป ที่คาดว่าน่าจะเป็นองค์พระประธานของวัดราชพลี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2565)

วัดราชพลี ปรากฏชื่อเป็นครั้งแรกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เมื่อครั้งที่กรุงศรีอยุธยากำลังเผชิญศึกอลองพญาในระหว่าง พ.ศ. 2302-03 โดยมีข้อความระบุว่า

“ครั้น ณ เดือน 5 แรม 14 ค่ำ พะม่าเอาปืนใหญ่มาตั้ง ณ วัดราชพลี วัดกษัตรา ยิงเข้าในกรุง พระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงช้างต้นพลายแสนพลพ่าย ไปทอดพระเนตรกำชับหน้าที่ ณ วัดสวนหลวงศพสวรรค์” [1]

แต่ในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน กลับเขียนชื่อว่าเป็น “วัดราชพฤกษ วัดกระษัตราวาศ” [2] เหมือนกับฉบับพระราชหัตถเลขาที่ชำระต่อจากฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าผู้ชำระน่าจะใส่ชื่อผิดพลาด เพราะจากแผนที่กรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ ไม่ปรากฏชื่อวัดราชพฤกษ อยู่ริมแม่น้ำนอกเกาะเมือง

แผนที่ตำแหน่งวัดราชพลี แผนที่ภูมิสถานอยุธยา
แผนที่ตำแหน่งวัดราชพลี จากแผนที่ภูมิสถานอยุธยา จากโครงการประวัติศาสตร์ไทยสังเขป ฉบับมติชน

ตำแหน่งของวัดกษัตรานั้น ตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับวัดสวนหลวงสบสวรรค์ ต้องกันกับในพระราชพงศาวดาร ส่วนวัดราชพลี ตั้งอยู่ถัดจากวัดกษัตราลงมาทางทิศใต้ จึงมีภูมิสถานที่สอดคล้องกับในพระราชพงศาวดาร และคงเป็นฐานปืนใหญ่ของฝั่งอังวะ ที่ยิงต่อสู้กับป้อมปืนฝ่ายอยุธยาบนกำแพงฝั่งตะวันตกของเกาะเมือง ซึ่งเป็นป้อมที่ยาวต่อเนื่องจากวัดสวนหลวงสบสวรรค์ ซึ่งคาดว่าทหารอยุธยาได้วางกำลังไว้อย่างหนาแน่นตรงจุดนี้  

ย้อนกลับไปก่อนที่กองทัพของพระเจ้าอลองพญาจะเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา กองทัพของพระองค์ไล่ตีขึ้นมาตามหัวเมืองทางทิศใต้ ตั้งแต่กุยบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ขึ้นมาถึงสุพรรณบุรี และเมื่อตีกองทัพอยุธยาที่ไปสกัด ณ บ้านตาลาน อันเป็นเส้นทางที่มาจากสุพรรณบุรีแตกพ่าย กองทัพอังวะก็เดินทัพตรงเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาทันที

ถ้าวิเคราะห์จากเส้นทางการเดินทัพของพระเจ้าอลองพญาจากข้อความพระราชพงศาวดาร จะเห็นว่าในขั้นต้น เมื่อทัพอังวะเข้าประชิดพระนคร ก็ได้มีการแยกกองกำลังเข้ากระทำการยังจุดต่างๆ ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา เพราะปรากฏว่ามีการปะทะกันกับกองทหารจีนของหลวงอภัยพิพัฒน์ที่บ้านโพธิ์สามต้น และอีกทัพหนึ่งแยกลงไปตีท้ายคูด้านทิศใต้ของพระนคร และคงจะเป็นทัพที่ลงไปตีท้ายคูนี้เอง ที่ย้อนกลับขึ้นมาตั้งฐานปืนใหญ่ตรงแถบวัดราชพลีและวัดกษัตรา

ดูเหมือนว่าฐานปืนใหญ่ฝั่งตะวันตกที่วัดราชพลีกับวัดกษัตรา คงจะปฏิบัติการยิงตอบโต้กับฝั่งอยุธยาอยู่เพียงช่วงระยะหนึ่ง เพราะพงศาวดารระบุว่า พอเข้าเดือนหก กองกำลังตรงจุดนี้ได้ถอนออกจากพื้นที่วัดราชพลีกับวัดกษัตรา ยกกำลังข้ามฟากไปตั้งที่ข้างวัดภูเขาทอง ก่อนที่จะมารวมตัวกันที่วัดหน้าพระเมรุ ระดมยิงปืนใหญ่เข้าสู่พระนครต่อไป

บ้านทรงไทย ริมน้ำ เชิงสะพาน วัดกษัตรา พื้นที่ของ วัดราชพลี
บ้านทรงไทยริมน้ำเชิงสะพานวัดกษัตรา เคยอยู่ในพื้นที่ของวัดราชพลี

เมื่อสืบค้นคำว่า “ราชพลี” ก็พบคำตอบได้ 2 ความหมาย อย่างแรกมีความหมายว่า “การถวายให้แด่หลวงหรือการเสียภาษีอากร” เรามักจะเห็นประโยคที่กล่าวกันว่า “ขอถวายชีวิตเป็นราชพลี” อยู่เสมอๆ แต่ทว่าในเอกสารสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่เคยปรากฏว่ามีการใช้ประโยคดังกล่าวกันมากเท่าไรนัก และดูเหมือนเป็นคำที่นิยมใช้กันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ความหมายของชื่อวัด อาจจะมิได้สร้างเพื่อถวายเป็นราชพลีให้แก่ผู้ใด

อีกความหมายหนึ่งที่มีความเป็นไปได้มากกว่า คือคำว่า “ราชพลี” เป็นชื่อดั้งเดิมของเมืองราชบุรีมาแต่โบราณ วัดราชพลี จึงอาจหมายถึงเป็นชุมชนของราษฎรชาวเมืองราชพลีหรือราชบุรี ที่อพยพเข้ามาในช่วงใดช่วงหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา จนกลมกลืนกลายเป็นคนอยุธยา เหลือเพียงชื่อของวัดที่ยังตอกย้ำให้รู้ว่าเป็นวัดของชาวเมืองราชบุรีดั้งเดิม

ในมหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า ปรากฏชื่อเมืองราชพลี เป็นเมืองที่กองทัพของพระเจ้าอลองพญาเข้าตี ดังข้อความที่ว่า

“แล้วทางประทับแรมทอดช้างม้าให้มีกำลังอยู่ที่เมืองพลิบพลี (เพชรบุรี) 4 วัน เสด็จยกจากเมืองพลิบพลีทรงประทับที่บ้านหมอ วันเสด็จยกจากบ้านหมอถึงเมืองราชพลี (ราชบุรี) เลยเข้าตีเมืองราชพลีได้ทั้งเมือง ได้ทรงประทับปรนช้างม้าให้มีกำลังอยู่ที่เมืองราชพลี 4 วัน…” [3]

และสิ่งที่ตอกย้ำว่า วัดราชพลี น่าจะเป็นชุมชนของชาวราชบุรีเลยก็คือเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เรียกชื่อวัดนี้ตรงๆ เลยว่า “วัดราชบุรี” ในข้อความที่กล่าวถึงตำแหน่งยศพระสงฆ์ราชาคณะฝ่ายขวาพระวันรัตน์ ซึ่งมีตำแหน่งยศพระครูอาจารย์ ความว่า “…พระอริยมุนีอยู่วัดราชบุรีนอกกำแพงพระนคร…” [4]

ในเอกสารฉบับเดียวกันอย่างคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ในตอนที่อธิบายภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา ระบุชื่อวัดในข้อความที่ว่า “…บ้านน่าวัดราชพรี วัดธรรมานอกนั้น ทำโลงไม้ศักไม้อุโลกแลเครื่องศพสำหรับศพต่างๆ ไว้ขาย…” [5] แสดงว่าชุมชนหน้าวัดราชพลี ไปจนถึงชุมชนวัดธรรมาราม (หรืออาจจะหมายถึงแค่ชุมชนในบริเวณ 2 วัดนี้ ยกเว้นวัดกษัตราที่อยู่คั่นกลาง) เป็นร้านให้บริการต่อไม้ขายโลงและเครื่องสำหรับพิธีศพ

นอกจากเอกสารชั้นต้นจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กับเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมแล้ว ก็ไม่ปรากฏชื่อวัดราชพลีในเอกสารใดๆ อีก จะมีก็แต่ชื่อในตำแหน่งแผนที่กรุงศรีอยุธยาฉบับเก่า ทั้งของฉบับที่ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 (เขียนว่า “วัดราชพรี”) และฉบับพระยาโบราณราชธานินทร์ พ.ศ. 2469 (เขียนว่า “วัดราชพลี”)

ปัจจุบัน ในขณะที่วัดกษัตราธิราชวรวิหารได้รับการบูรณะขึ้นใหม่อย่างสมบูรณ์และสวยงาม แต่วัดราชพลีมีสภาพเป็นวัดร้าง ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงบนพื้นที่ของวัด ทั้งถนนหนทาง บ้านเรือนผู้คน และตัวอาคารสมัยใหม่ที่กลืนกินจนหมดสภาพความเป็นเขตพุทธาวาสไปตลอดกาล

แต่ก็ใช่ว่าวัดราชพลีจะไม่เหลือร่องรอยความเป็นวัดไปเสียทีเดียว เพราะเมื่อได้ลงพื้นที่สำรวจวัดแห่งนี้ ยังพบหลักฐานที่ยังแสดงถึงความมีอยู่ของวัดราชพลี ทั้งโบราณวัตถุ และบุคคลที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของวัดแห่งนี้ตลอดมา

จากตำแหน่งที่ตั้งที่ชัดเจน การค้นหาวัดราชพลีในปัจจุบัน จึงทำได้ไม่ยาก เพราะวัดนี้ตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามเกาะเมือง อยู่ตรงเชิงสะพานวัดกษัตรา เมื่อลงสะพานก็ชิดซ้ายเตรียมเลี้ยวเข้าถนนเส้น 3469 (ทางไปวัดไชยวัฒนาราม) และเลี้ยวเข้าสู่ซอยบ้านป้อม 33 ที่ในป้ายนั้นระบุอีกชื่อว่า “ซอยวัดราชพลี 2”

ผู้เขียนได้พบกับ คุณอุดร ประสมเพชร เจ้าของบ้านเรือนไทยริมแม่น้ำ ทั้งยังเป็นผู้ดูแลรักษาโคกวัดราชพลี ซึ่งอยู่ในรั้วของอดีตโกดังเก่าต้นซอยบ้านป้อม 33 ที่ถูกทิ้งร้างไป และการที่จะเข้าไปสำรวจข้างใน ต้องให้คุณลุงอุดรไขกุญแจพาเข้าไปดูเท่านั้น

เมื่อเปิดประตูรั้วเข้าไป ลุงอุดรพาผู้เขียนเดินผ่านหน้าอาคารโกดังเข้าไปยังเนินโคกด้านข้างโกดังที่รกครึ้มไปด้วยต้นไม้ปกคลุม บนเนินนั้นมีซุ้มทำเป็นเสาปูน 4 เสา ยอดเสาทำคานไม้ปูด้วยหลังคาสังกะสี ตรงหน้าซุ้มมีโต๊ะไม้สี่เหลี่ยมสำหรับวางของบูชาศาลเพียงตาที่ตั้งอยู่ด้านหน้าซุ้ม

สิ่งพิเศษบนเนินดินนี้มิใช่ศาลเพียงตาเล็กๆ แต่อย่างใด แต่เป็นเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งวางอยู่พร้อมกับชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดงที่เหลือเพียงช่วงลำตัวอีก 2 องค์ และชิ้นส่วนท่อนแขนส่วนบนของพระพุทธรูปซึ่งมีขนาดใหญ่ 1 ชิ้น วางกองรวมกันภายในซุ้ม

พิจารณาเศียรพระองค์ใหญ่ที่อาจเป็นพระประธานของวัด เป็นเศียรที่สลักจากหินทรายแดง มีร่องรอยการพอกปูนถึง 3 ชั้น พระพักตร์ยิ้มละมุน นับเป็นพุทธลักษณะที่งดงามมาก ส่วนท่อนแขนช่วงบนขนาดใหญ่ก็เป็นหินทรายแดง มีร่องรอยการพอกปูน 3 ชั้น รวมทั้งลำตัวพระพุทธรูปที่วางอยู่ใกล้ๆ ก็ทำจากหินทรายแดงและมีปูนพอกอยู่เช่นเดียวกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าองค์พระพุทธรูปน่าจะมีการบูรณะอยู่ 3 ช่วงเวลาด้วยกัน ด้วยขนาดของเศียรและท่อนแขนที่มีขนาดใหญ่ ทำให้จินตนาการถึงองค์พระที่สมบูรณ์ว่าคงมีขนาดที่ใหญ่โตและอลังการมากพอสมควร

นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนปูนปั้นลวดลายประดับปรางค์ อันเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของพระปรางค์ และท่อนชิ้นส่วนพระพุทธรูปท่อนลำตัวถึงหน้าตักที่มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์อีกหนึ่งชิ้นอยู่ตรงเนินโบราณสถาน ประมวลผลจากซากโบราณวัตถุที่เราพบโดยเฉพาะพระพุทธรูปหินทรายแดง อาจเป็นวัดที่มีอายุถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น และได้รับการบูรณะมาตลอดยุคสมัย

พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์
ชิ้นส่วนพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2565)

ลุงอุดรเปิดเผยว่า เคยเห็นวัดนี้มาตั้งแต่เด็กๆ สิ่งที่คุณลุงเห็นในตอนนั้นคือ เนินโบราณสถานที่วางชิ้นส่วนของพระพุทธรูปนี้น่าจะเป็นพระวิหาร เพราะเคยเห็นกำแพงอิฐสูงโผล่ขึ้นมา มีซากพระปรางค์ที่มีลักษณะรูปแบบเดียวกันกับปรางค์วัดกษัตราล้มอยู่ ถัดจากพระปรางค์ขึ้นไปเป็นซากอาคารโบสถ์ขนาดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันนี้ ซากโบสถ์จมอยู่ใต้อาคารพาณิชย์ของร้านสะดวกซื้อริมถนนไปแล้ว และฝั่งตรงข้ามถนนที่เป็นบ้านเรือนของผู้คนเป็นพื้นที่ของ “ป่าช้า” วัดราชพลี

“ผมจำได้ดี ตอนเด็กๆ ผมเข้ามาวิ่งเล่นบนโคกนี้ประจำ เห็นท่อนพระปรางค์ล้มอยู่ ยังเคยซุกซนขนาดขึ้นไปยืนบนนั้น จนกระทั่งต่อมา ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 มาทราบทีหลังว่าเขามีการขนอิฐวัดร้างในอยุธยาเอาไปขายกัน ผมเคยเห็นเรือกระแชงมาจอดที่ท่าน้ำ แล้วขนอิฐที่เป็นกำแพงอุโบสถ กับท่อนพระปรางค์ยกขึ้นเรือไปจนเกือบหมด พอเขายกพระปรางค์ไป ผมถึงเห็นเศียรพระกับลูกนิมิตกลมๆ จมอยู่ในดิน ก็เลยเอาขึ้นมาตั้งไว้ ทำศาลเพียงตาดูแลรักษากันไปตามมีตามเกิด…” ลุงอุดรเล่าความทรงจำเมื่อครั้งที่ยังได้เห็นสภาพของวัดราชพลี ก่อนจะเหลืออยู่เท่าที่เห็นในปัจจุบันให้เราฟัง

คุณลุงอุดรยังเล่าต่อว่า จากนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงบนพื้นที่แห่งนี้อีกหลายครั้ง เมื่อความเจริญเข้ามายังเมืองอยุธยา ก็มีการตัดถนน ซื้อที่ซื้อทางสร้างอาคารสมัยใหม่ทับบริเวณที่เป็นซากอุโบสถเก่า ตรงบริเวณโคกมีกลุ่มบุคคลเข้ามาทำโกดังเก็บวัสดุก่อสร้างใช้งานอยู่หลายปีจนกระทั่งทิ้งร้างไป

ด้วยความที่เห็นถึงคุณค่าของโบราณสถานแห่งนี้ ลุงอุดรจึงได้เข้ามาเช่าพื้นที่จากกรมการศาสนา เพื่อดูแลรักษาสิ่งที่เหลืออยู่ของ “วัดราชพลี” ไว้คงอยู่เป็นสมบัติของแผ่นดินต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ, คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด, (สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2553), น. 373.

[2] พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน, มูลนิธิ “ทุนพระพุทธยอดฟ้า” ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558, (2558), น. 337.

[3] มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า. นายต่อ แปล. (สำนักพิมพ์มติชน, 2545), น. 203.

[4] “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง,” ใน ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยารวม 3 เรื่อง, พิมพ์ครั้งที่ 2. (สำนักพิมพ์แสงดาว, 2553), น. 259.

[5] เรื่องเดียวกัน, น. 232.


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจาก “วัดราชพลี ฐานปืนใหญ่ฝั่งตะวันตก ขอพระเจ้าอลองพญา” เขียนโดย อชิรวิชญ์ อันธพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2565 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566