สำรวจ “ทุ่งโบราณ” แห่งกรุงศรีอยุธยา แหล่งอู่ข้าวอู่น้ำและรับศึกพม่า

เจดีย์ภูเขาทอง กรุงศรีอยุธยา ทุ่งโบราณ
ภาพถ่ายทางอากาศเจดีย์ภูเขาทอง ณ ทุ่งภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ภาพจากหนังสือมรดกโลกอยุธยา เฉลิมกาญจนาภิเษก, 2538)

สำรวจ “ทุ่งโบราณ” แห่ง กรุงศรีอยุธยา แหล่งอู่ข้าวอู่น้ำและรับศึกพม่า

เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนเคยนั่ง ฮ. ผ่านอยุธยา ได้เห็นเมืองนั้นแบบตานก เป็นเกาะล้อมด้วยแม่น้ำและคูคลองสวยงาม ที่สะดุดตาที่สุดก็คือทุ่งนาข้าวสีมรกต ด้วยเป็นช่วงฤดูฝน

Advertisement

ทุ่งโบราณ รอบเมืองอยุธยา มีถึง 10 ทุ่ง ซึ่งน่าจะยังอยู่ครบถ้วนทุกทุ่ง แต่อาจถูกรุกรานให้แคบลงด้วยความเป็นปัจจุบันหลายประการ

ทุ่งอยุธยาโบราณเป็นทุ่งปลูกข้าว เลี้ยงชาวอยุธยาที่ตั้งบ้านเรือนอยู่รอบวังหลวง บนเกาะอยุธยา และริมน้ำเจ้าพระยาเป็นทุ่งทำนาโดยสมบูรณ์ ไม่แต่เท่านั้นหลายทุ่งเป็นสนามรบและที่ประชุมทัพ เช่น ทุ่งหันตราและทุ่งชายเคือง เป็นต้น

ทุ่งแก้ว ทุ่งขวัญ ด้านเหนือวังหลวง น่าจะเป็นทุ่งประกอบการมงคลต่างๆ เช่น พิธีแลกนาขวัญ เป็นต้น

ทุ่งภูเขาทอง เป็นทุ่งบันเทิงใช้เป็นที่ลอยเรือเล่นเพลงเรือและเพลงสักวาในห้วงฤดูน้ำทรง เดือน 12 กระนั้นก็ดีทุ่งภูเขาทองได้รับการขุดเป็นคลองใหญ่ไว้ป้องกันศึกพม่าด้วยหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของการขุดเป็นพระมหาที่ลาสิกขารับอาสางานใหญ่นี้พร้อมพรรคพวกและญาติโยมจำนวนหนึ่งชื่อพระมหานาค คลองนี้จึงเรียกเป็นอนุสรณ์ว่าคลองมหานาค และน่าจะมีอะไรเชื่อมโยงกับชื่อคลองมหานาคในกรุงเทพฯ ด้วยเหมือนกัน

โดยความจริงแล้ว ทุกทุ่งรอบเกาะอยุธยาล้วนเป็นสนามรบกับพม่าแทบทั้งหมด ด้วยพม่ามักยกทัพมาประชิดกรุงศรีอยุธยาช่วงเวลาเดือนอ้าย-เดือนยี่ เพราะข้าวนาทุ่งแก่เก็บเกี่ยวพอดี ข้าวเป็นยุทธปัจจัยที่พม่าต้องการสูงสุดเพราะเดินทัพมาไกล การรบพุ่งกลางทุ่งข้าวจึงเกิดขึ้น!

เริ่มต้นที่ทุ่งหันตราก่อนเลย พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงยกทัพตรงมาที่ทุ่งนี้ (พ.ศ. 2129) ขณะที่ฝ่ายไทยยังเก็บเกี่ยวไม่เสร็จ เจ้าพระยากำแพงเพชรยกทัพไปป้องกันการเกี่ยวข้าว แต่สู้ไม่ได้ถูกกองทหารม้าของมังกะยอชวาตีแตก สมเด็จพระนเรศวรต้องรีบจัดทัพออกไปรบพม่าด้วยพระองค์เอง เพราะเกรงว่าคนไทยจะเสียขวัญ โดยรบกันที่ทุ่งชายเคือง และไทยเป็นฝ่ายชนะ

(ทุ่งชายเคือง อยู่ทางทิศตะวันออกของอยุธยา เขตอำเภออุทัย เคยสอบถามความเป็นมาของชื่อทุ่งกับชาวตำบลนี้ บางคนกรุณาเล่าให้ฟังว่า เป็นเรื่องของชายเคืองชาย ชวนไปรบแล้วไม่กล้าไปทำนองนี้ ไม่ใช่ชายเคืองหญิง ซึ่งชายที่นั่นคงไม่กล้าด้วยมีตำบลหนึ่งไม่ไกลกันนักชื่อโพสาวหาญ!)

คราวหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงจัดทัพไปรบกัมพูชา ทรงตั้งทัพชัยที่ทุ่งชายเคืองนี้

กล่าวสำหรับทุ่งหันตรา ที่ได้ชื่อว่าเป็นทุ่งนาอันอุดม ก่อนหน้านี้ ครั้งบุเรงนองยกทัพมารบอยุธยา (พ.ศ. 2106) คราวมาขอช้างเผือก เจ้าพระยามหาเสนาตั้งป้อมสู้หน้าพม่า ณ ทุ่งหันตรา

ทัพบุเรงนองมาครั้งนั้นเป็นทัพใหญ่ เข้ายึดหลายทุ่ง เช่น มหาอุปราชามังไชยสิงห์ยึดทุ่งเพนียด พระยาพสิมยึดทุ่งลุมพลี พระเจ้าตองอูยึดทุ่งประเชด พระเจ้าอังวะยึดวัดพุทไธสวรรค์ ส่วนทัพหลวงบุเรงนองตั้งมั่นทุ่งวัดโพธิ์เผือก

ที่ทุ่งลุมพลี ปี พ.ศ. 2091 พระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ ยกทัพมาประชิด กรุงศรีอยุธยา และตั้งค่าย ณ ทุ่งนี้ สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงช้างเข้าสู้ศึกและถูกฟันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

ปี พ.ศ. 2111 บุเรงนองยกทัพใหญ่มารบอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง เป็นทัพใหญ่มาเช่นเคย ทัพหลวงตั้งที่ทุ่งมหาพราหมณ์ตั้งนานปีหนึ่งและไทยเสียกรุง (ครั้งที่ 1)

ปี พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญายกทัพใหญ่มา มีเจ้ามังระกับเจ้ามังฆ้องนรธาเป็นทัพหน้า ตั้งค่ายที่ทุ่งตาลาน (ด้านเหนือกรุงศรีอยุธยา) พระยามหาเสนาออกสู้ศึก แต่พระเจ้าอลองพญาบาดเจ็บหนักเพราะอุบัติเหตุปืนใหญ่ระเบิดต้องยกทัพกลับ

กรณีสมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงช้างสู้ศึกที่ทุ่งลมพลี ซึ่งอยู่ด้านใต้ของทุ่งภูเขาทอง (ติดกับทุ่งมะขามหย่อง) และถูกพระเจ้าแปรฟันสิ้นพระชนม์เหนือทุ่งภูเขาทองนี้ บางทีพระมหานาคจะสลดใจอย่างมากถึงกับลาสิกขาและอาสาชวนสมัครพรรคพวกและญาติๆ ขุดคลอง ณ ทุ่งภูเขาทองเพื่อป้องกันพม่ารุกราน

ทุ่งภูเขาทองจึงชวนให้ระลึกถึงมากกว่าทุ่งอื่น

หลายปีมาแล้วมีร้านกาแฟโบราณร้านหนึ่ง เป็นตึกคูหาเดียวอยู่บนเกาะอยุธยาด้านเหนือ (อีกสัก 2 ป้ายรถประจำทางถึงอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์) มีลูกค้าค่อนข้างคับคั่งห้วงเวลาประมาณเก้าโมงถึงสิบเอ็ดโมง ลูกค้าเหล่านั้นคล้ายกันล้วนเป็นชายวัยสี่สิบห้าสิบ แต่งกายและสุ้มเสียงสนทนาเป็นคนพื้นบ้านย่านนั้น ท่าทางช้าๆ และดูหน้าตาเป็นสุข

ผู้เขียนได้ยินพวกเขาคุยต่อรองกันเงียบๆ ฟังไม่ได้ว่าคุยอะไรกัน ต่อเมื่อถามซ้อเจ้าของร้านจึงรู้ว่า เขาคุยเรื่องตัดแบ่งซื้อขายที่ดินข้างบ้านเป็นห้องแถวและบ้านจัดสรรบนที่ดินบริเวณทุ่งภูเขาทอง!

ความเป็นปัจจุบันกำหนดบทบาททุ่งภูเขาทองไปอีกแบบ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงพิมพ์กรมรถไฟ ถนนรองเมือง ซอย 2 นายอุดม กัลยาณมิตร ผู้พิมพ์โฆษณา 15/4/84)


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ทุ่งโบราณอยุธยา” เขียนโดย ส.สีมา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2563