ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เจดีย์ทุ่งเศรษฐี อยู่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งถ้าดูจากสภาพภูมิประเทศและความเป็นมาแล้ว พื้นที่ชายทะเลจากบ้านแหลมไปจนถึงบ้านบางเก่า ซึ่งอยู่ในตำบลโตนดหลวงของอำเภอชะอำนั้นเป็นแหล่งทำนาเกลือมาแต่โบราณ เป็นสินค้าออกอย่างหนึ่งของเมืองเพชรบุรีทีเดียว
เมืองเพชรบุรีตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นกลางของลุ่มน้ำเพชรบุรีที่ชายหาดเก่า [Old Beach] อันทอดยาวต่อเนื่องมาจากเมืองคูบัวและราชบุรีในลุ่มน้ำแม่กลองและอ่าวบางตะบูนมาสิ้นสุดแนวชายหาดนี้ เป็นเส้นทางคมนาคมที่มีชุมชนบ้านเมืองแต่สมัยทวารวดีและลพบุรีลงมาจนถึงอยุธยา ที่รู้จักกันในตำนานและคำเรียกของชาวบ้านว่า “ถนนท้าวอู่ทอง”
นับเป็นเส้นทางบกที่เชื่อมเมืองเพชรบุรีเข้ากับเมืองคูบัว เมืองราชบุรีแล้วต่อเนื่องไปยังเมืองในลุ่มน้ำท่าจีน เช่น สุพรรณภูมิ และนครชัยศรี ในขณะเดียวกันตำแหน่งของเมืองเพชรบุรีก็เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมทางบกจากบริเวณชุมชนภายใน จากต้นน้ำเพชรบุรีลงมาตามลำน้ำมาสู่เมือง กับเส้นทางเลียบฝั่งทะเลจากเมืองเพชรบุรีผ่านชุมชนบ้านเมืองจากอำเภอเมือง อำเภอท่ายาง ไปสู่อำเภอชะอำ ที่มีชุมชนที่สัมพันธ์กับท่าเรือจอดหลายแห่ง เช่นที่บริเวณหน้าเขาพันธุรัตน์ เป็นต้น
พื้นที่ตามชายหาดดังกล่าวนี้นับเนื่องอยู่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำเพชรบุรี ที่เป็นทุ่งราบดินทรายขนานไปกับชายฝั่งทะเลจนถึงอำเภอชะอำ เป็นที่ดอนมีเขาลูกโดดกระจายอยู่เป็นระยะๆ และมีลำน้ำลำห้วยสายสั้นๆ ไหลไปออกชายหาดทำให้เกิดเป็นอ่าวจอดเรือเล็กๆ เป็นระยะไป เกิดชุมชนตามลำน้ำเล็กๆ เหล่านี้สองอย่างด้วยกัน
อย่างแรกเป็นชุมชนที่ทำการเพาะปลูกและปลูกต้นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญคือ ตาลโตนด เป็นแหล่งผลิตน้ำตาลแต่โบราณ จนทำให้มีชื่อท้องถิ่นหนึ่งว่าตำบลโตนดหลวง กับชุมชนที่อยู่ทางปากอ่าวเป็นชุมชนชาวประมงและผู้ประกอบอาชีพในการทำเกลือทะเล บรรดาชุมชนตามชายทะเลทั้งสองอย่างนี้มีศูนย์รวมในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และกิจกรรมทางวัฒนธรรมในบริเวณบ้านเขาพันธุรัตน์ที่เป็นกลุ่มเขาหินปูนที่โดดเด่นของตำบลโตนดหลวง

ความเก่าแก่ของศูนย์กลางทางสังคมวัฒนธรรมนี้เห็นได้จากการมี “เจดีย์ทุ่งเศรษฐี” ซึ่งเป็นพระสถูปเจดีย์สมัยทวารวดีขนาดใหญ่อยู่หน้าเขาปรางค์อันเป็นเขาลูกหนึ่งในกลุ่มเขาพันธุรัตน์ ปัจจุบันศาสนสถานแห่งนี้อยู่ในบริเวณ “วัดทุ่งเศรษฐี” ซึ่งเมื่อมีการขุดค้นพบโบราณคดีแล้วได้หลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นพระสถูปในพุทธที่มีอิทธิพลศาสนาพุทธมหายาน เช่นเดียวกันกับบรรดาศาสนสถานที่เมืองคูบัว อาจนับเนื่องได้ว่ามีความสัมพันธ์กับเมืองคูบัวที่พัฒนาขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา
แหล่งชุมชนโบราณและศาสนสถานที่พบในเขตตำบลโตนดหลวงหน้าเขาพันธุรัตน์ดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการมีอยู่ของชุมชนชายทะเลแต่สมัยทวารวดีที่มีความสัมพันธ์กับเมืองคูบัวอันเป็นเมืองท่าสำคัญในลุ่มน้ำแม่กลองและเพชรบุรี
อ่านเพิ่มเติม :
- งมคันฉ่องโบราณจากแม่น้ำเพชรบุรี พบชิ้นใหญ่-ชิ้นเล็กห่างกัน 5 ปีแต่ประกบกันได้พอดี
- ส่อง “คันฉ่อง” สมัยราชวงศ์ซ่ง สะท้อนความยิ่งใหญ่เมือง “เพชรบุรี”
อ้างอิง :
สร้างบ้านแปงเมือง. ศรีศักร วัลลิโภดม. จัดพิมพ์โดย สนพ.มติชน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มีนาคม 2561