
ผู้เขียน | หนุ่มบางโพ |
---|---|
เผยแพร่ |
คันฉ่องนี้งมได้จากแม่น้ำเพชรบุรี เขตอำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
ปรากฏอักษรจีนสี่ตัวความว่า “หลินอันหวางเจีย”
“หลินอัน” เป็นชื่ออำเภอหนึ่งในมณฑลหางโจว ส่วน “หวางเจีย” คือบ้านของตระกูลหวาง รวมความแล้วหมายถึง “บ้านตระกูลหวางแห่งหลินอัน”
คุณกิตติพงษ์ พึ่งแตง นำคันฉ่องนี้มาให้ อ.ล้อม เพ็งแก้ว และคุณพิเชษฐ์ วนวิทย์ ช่วยตรวจสอบ คุณพิเชษฐ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตัวอักษรบนคันฉ่อง ไม่ใช่อักษรรุ่นเก่าสมัยจิ๋นซี แต่ก็มีอายุกว่าพันปีมาแล้ว ประเด็นที่พิจารณาคือ คันฉ่องด้ามนี้ทำขึ้นในสมัยใด ?
คุณพิเชษฐ์ ชี้ว่า ทางด้านซ้ายของคันฉ่อง คนที่นั่งอยู่บนนกกระเรียนใส่หมวกขุนนาง หมวกแบบนี้ใช้กันก่อนราชวงศ์ชิง นั่นคือหมวก “ฉางซื่อเม่า” แปลว่าหมวกปีกยาว มีหลายขนาดทั้งสั้นทั้งยาว บ้างอาจยาวได้ถึง 1 เมตร หมวกชนิดนี้ถือกำเนิดขึ้นสมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1503-1822) โดย “ซ่งไท่จู่” ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่ง
การที่จักรพรรดิซ่งไท่จู่สร้างหมวกปีกยาวให้ข้าราชการใช้ ก็เพื่อป้องกันการซุบซิบนินทาของเหล่าขุนนางเวลาเข้าเฝ้า และเป็นการรักษาระยะห่างอีกด้วย
ประเด็นต่อไปที่พิจารณาคือ คันฉ่องนี้มาอยู่ที่เมืองเพชรบุรีได้อย่างไร ?
อ.ล้อม อธิบายว่า ในจดหมายเหตุจีนร่วมสมัยยุคสุโขทัย ได้กล่าวถึงจักรพรรดิจีนพระองค์หนึ่งเสด็จออกรับทูตจากเมืองเพชรบุรี
ทูตจากเมืองเพชรบุรีจึงมีโอกาสเดินทางไปจิ้มก้องถึงเมืองจีน ตอนขากลับ คณะทูตย่อมได้รับของพระราชทานจากจักรพรรดิจีน และทางขุนนางจีนก็คงถือโอกาสมอบของตอบแทนด้วยเช่นกัน และเป็นไปได้ที่คันฉ่องของบ้านตระกูลหวาง น่าจะเป็นของที่ทูตเมืองเพชรบุรีได้รับจากขุนนางจีนและนำกลับมาจากเมืองจีนด้วยนั่นเอง
คันฉ่องโบราณสมัยราชวงศ์ซ่งนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันถึงสถานะของเมืองเพชรบุรีในสมัยนั้น ว่าเคยมีฐานะสูงมากระดับหนึ่งซึ่งทางการจีนให้การรับรอง มีการติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน แต่ต่อมาเมืองเพชรบุรีลดฐานะลง หรืออาจถูกรวมเข้ากับรัฐอื่นที่มีความแข็งแกร่งมากกว่าหรือฐานะสูงกว่า
อ้างอิง :
ล้อม เพ็งแก้ว. (ตุลาคม, 2565). คันฉ่องสมัยซ่งมาอยู่เมืองเพชรได้อย่างไร?. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 43 : ฉบับที่ 12.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ตุลาคม 2565