ทำไมถึงเสียเมืองเพชรบุรี? เมื่อพระยาละแวก กษัตริย์กัมพูชาผู้ครองละแวกยกทัพบุก

พระนครคีรี เพชรบุรี พระสุทธเสลเจดีย์ เมืองเพชรบุรี
ภาพประกอบเนื้อหา - บริเวณวัดพระแก้วน้อย พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี

เมืองเพชรบุรี หรือ เมืองพริบพรี อันเป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการในสมัยอยุธยา เป็นเมืองท่าสำคัญเมืองหนึ่งทางทิศตะวันตกของอ่าวไทย ปรากฏร่องรอยหลักฐานความสำคัญของเมืองนี้อย่างน้อยตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ในสมัยอยุธยานั้น เมืองเพชรบุรี ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในฐานะเมืองท่า และเป็นเมืองที่อยู่ในเส้นทางการค้าสำคัญระหว่างสองคาบสมุทร เหตุนี้ทำให้ พระยาละแวก ยกทัพมาตีอยุธยา

กล่าวคือ เพชรบุรีเป็นเมืองในเส้นทางระหว่างเมืองมะริด-ตะนาวศรี กับกรุงศรีอยุธยา สอดคล้องกับเส้นทางที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 11 วัดเขากบ

ด้วยความสำคัญต่างๆ ของเมืองเพชรบุรี จึงปรากฏหลักฐานว่า “พระยาละแวก” หรือกษัตริย์กัมพูชาผู้ครองเมืองละแวก ยกทัพมาตีเมืองเพชรบุรีถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ใน พ.ศ. 2121 และครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2124

จากการศึกษาหลักฐานของไทยและของกัมพูชาโดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ พบว่ามีการกล่าวถึงพระยาละแวก หรือกษัตริย์กัมพูชาผู้ครองเมืองละแวก ให้ยกทัพมาตีเมืองเพชรบุรี ในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชจำนวน 2 ครั้ง

“พระยาละแวก” รับบทโดย เศรษฐา ศิระฉายา ในภาพยนตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 4 ศึกนันทบุเรง” กำกับโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

พระยาละแวกให้ตี “เมืองเพชรบุรี” ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2121

สงครามตีเมืองเพชรบุรี หรือ เมืองพริบพรี นี้ เกิดขึ้นในรัชกาล สมเด็จพระมหาธรรมราชา และตรงกับรัชกาล สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (นักพระสัฏฐา) กษัตริย์ผู้ครองกรุงละแวกระหว่าง พ.ศ. 2119-2137 สงครามครั้งนี้ปรากฏหลักฐานในเอกสารไทยว่า พระยาละแวกให้ยกทัพเรือมาตีเมืองเพชรบุรี แต่ไม่สามารถตีได้ ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ว่า

“…ศักราช 940 ขาลศก (พ.ศ. 2121) พรญาละแวก แต่งทัพให้มาเอาเมืองเพ็ชรบุรีมิได้เมือง แลชาวละแวกนั้นกลับไป ครั้งนั้นพรญาจีนจันตุ หนีมาแต่เมืองละแวก มาสู่พระราชสมภาร ครั้นอยู่มาพรญาจีนจันตุก็หนีกลับคืนไปเมือง…” [1]

ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า พระยาละแวกแต่งให้พระยาอุเทษราชา กับพระยาจีนจันตุ ยกทัพเรือ พล 30000 มาตีเมืองเพชรบุรี พระยาสุรินทฤๅไชยเจ้าเมืองป้องกันเมืองเป็นสามารถ ทัพพระยาอุเทษราชายกเข้าปล้นเมืองอยู่ 3 วัน เสียรี้พลจำนวนมากจึงถอยทัพกลับ

ฝ่ายพระยาจีนจันตุ ซึ่งให้ทัณฑ์บนแก่พระยาละแวกว่าจะเอาเมืองเพชรบุรีให้ได้ กลัวความผิด จึงมาสวามิภักดิ์ต่อพระนครศรีอยุธยา ต่อมาจึงแต่งสำเภาหนีกลับกรุงละแวก สมเด็จพระนเรศวรทรงพยายามจะตามจับตัวพญาจีนจันตุ แต่พญาจีนจันตุสามารถหลบหนีกลับไปกัมพูชาได้สำเร็จ

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ฉบับตัวเขียน กล่าวถึงสงครามตีเมืองเพชรบุรีไว้คล้ายกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ จ.ศ. 922

สงครามครั้งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกัมพูชา เช่น พงศาวดารเขมร จ.ศ. 1217 และราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา รวมทั้งพระราชพงศาวดารพระมหากษัตริย์เสวยราชสมบัติในกรุงกัมพูชาธิบดี

ตีเมืองเพชรบุรี ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2124

รศ. ดร. ศานติ บรรยายต่อว่า หลังจากที่ตีเมืองเพชรบุรีใน พ.ศ. 2121 ไม่สำเร็จ ครั้นถึง พ.ศ. 2124 พระยาละแวก (สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 นักพระสัฏฐา) ยกทัพเรือมาตีเมืองเพชรบุรีอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้สามารถตีเมืองเพชรบุรีได้สำเร็จ ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ว่า

“…ศักราช 943 มะเส็งศก (พ.ศ. 2124)…อนึ่งในเดือน 3 นั้น พรญาละแวกยกพลมาเมืองเพ็ชรบุรี ครั้งนั้นเสียเมืองเพ็ชรบุรีแก่พรญาละแวก…” [2]

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า พระยาละแวกยกทัพเรือ มีพล 70000 มาตีเมืองเพชรบุรี สมเด็จพระมหาธรรมราชาให้เจ้าเมืองยโสธรธานีและเจ้าเมืองเทพธานีไปช่วยพระยาศรีสุรินทรฤๅไชยเจ้าเมืองเพชรบุรีรบศึก ครั้งนั้นเสียเมืองเพชรบุรี เจ้าเมืองทั้ง 3 เสียชีวิตในที่รบ พระยาละแวกกวาดต้อนครัวกลับไป

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระพนรัตน์ ฉบับตัวเขียน กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ว่า

“…๏ ลุะศักราช 924 ปีจอ จัตวาศก…ครั้นถึงเดือนสาม พญาลแวกก็ยกทับเรือมา พลประมาณเจ็ดหมื่น มาเอาเมืองเพ็ชบูรี ในขณะนั้น สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสให้เมืองยศโสธรราชธาณี เมืองเทพราชธาณี ออกไปรั้งเมืองเพ็ชบูรี จึ่งพระศรีสุรินทฦๅไชยเจ้าเมืองเพ็ชบูรี แลเมืองยศโสธรราชธาณี เมืองเทพราชธาณี ก็ช่วยกันตกแต่งการที่จะรบพุ่งป้องกรรเมือง

ครั้นพญาลแวกยกมาถึง ก็ให้ยกพลขึ้นล้อมเมืองเพ็ชบูรีอยู่สามวัน แล้วให้ยกพลเข้าปล้นเมืองเพ็ชบูรี ให้พลทหารเอาบันไดพาดปีนกำแพงเมือง แลชาวเมืองเพ็ชบูรีรบพุ่งป้องกรรเปนสามารถ ข้าศึกชาวลแวกต้องสาตราวุทธตายเปนอันมาก จะปีนป่ายปล้นมิได้ก็พ่ายออกไป แต่พญาลแวกยกเข้าปล้นดั่งนั้นถึงสามครั้งก็มิได้เมือง แล้วตำหริะว่าจะปล้นอีกครั้งหนึ่ง ถ้ามิได้ไซ้จะเลีกทับคืนไป

ขณะนั้นเจ้าเมืองเพ็ชบูรี แลเมืองยศโสธรราชธาณี เมืองเทพราชธาณี มิได้สมัคสมานด้วยกัน ต่างคนต่างบังคับบันชา แลอยู่ป้องกรรแต่หน้าที่ซึ่งได้เปนพนักงานรักษานั้น มิได้พร้อมมูนคิดอ่านด้วยกันซึ่งจะแต่งการป้องกรรข้าศึก

ครั้นถึงวันแปดค่ำ พญาลแวกยกเข้าปล้นตำบลคลองกระแชงแลประตูบางจาน ชาวเมืองต้านทานเปนสามารถ ข้าศึกเผาหอรบทลายแล้วปีนกำแพงเข้าได้ในที่นั้น ก็เสียเมืองเพ็ชบูรีแก่พญาลแวก แลเสียเจ้าเมืองเพ็ชบูรี เมืองยศโสธรราชธาณี เมืองเทพราชธาณี ตายในที่นั้น พญาลแวกก็กวาดครัวอพยบเลีกทับคืนไปเมือง…” [3]

สงครามครั้งนี้ปรากฏในพงศาวดารของกัมพูชา เพียงแต่มีการกล่าวถึงปีศักราชคลาดเคลื่อนไปบ้างเล็กน้อย โดยระบุว่าเป็นสงครามที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2123

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] อัญชนา จิตสุทธิญาณ และ ศานติ ภักดีคำ (บรรณาธิการ). พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ภาษาไทย-เขมร. (กรุงเทพฯ : บริษัท ครีเอท มายด์ จำกัด, 2552), น. 132.

[2] อัญชนา จิตสุทธิญาณ และ ศานติ ภักดีคำ (บรรณาธิการ). พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ภาษาไทย-เขมร. น. 134.

[3] พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ฉบับตัวเขียน เล่ม 6 (หมู่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 6) เลขที่ 6 ตู้ 108 มัดที่ 1 ประวัติ ได้จากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 7/4/2482.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “พระยาละแวก ตี “เมืองเพชรบุรี” ทางไหน? (๑)” เขียนโดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2559 และเผยแพร่ในเว็บไซต์ silpa-mag.com ในภายหลัง (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกอง บก. ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2563