ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2552 |
---|---|
ผู้เขียน | รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ |
เผยแพร่ |
เป็นเรื่องธรรมดาที่แต่ละประเทศย่อมมี “วีรบุรุษ” เป็นของตัวเอง สำหรับกัมพูชา พวกเขามี ออกญาสวรรคโลก (เมือง) เป็นวีรบุรุษสำคัญอีกผู้หนึ่งของ กัมพูชา
ในเอกสารของกัมพูชามีการกล่าวถึงออกญาสวรรคโลก (เมือง) ไว้ต่างกัน เอกสารกัมพูชาบางฉบับบันทึกว่า ออกญาสวรรคโลก (เมือง) สละชีวิตเพื่อต่อต้านกองทัพสยาม แต่เอกสารประวัติศาสตร์กัมพูชาบางฉบับบันทึกว่า ออกญาสวรรคโลก (เมือง) สละชีวิตเพื่อช่วยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าพญาจันทราชา) รบกับพระเสด็จกอน [1]
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ดูเหมือนว่าเรื่องราวของออกญาสวรรคโลก (เมือง) ในหลักฐานของกัมพูชาขัดแย้งกัน
ขณะที่ตามตำนานนั้นกล่าวกันมาว่า ท่านสละชีพในการต่อต้านกองทัพสยามที่รุกรานกัมพูชา ประชาชนชาวกัมพูชาจึงนับถือท่านในฐานะของเทพารักษ์ หรือ เนียะก์ตาเฆลียงเมือง (นักตาคลังเมือง) และเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดโพธิสัตว์
เกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ที่บันทึกเรื่องราว “ออกญาสวรรคโลก (เมือง)” ไว้ รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ ได้ศึกษารวบรวมและสรุปไว้ในบทความ “จากแม่ทัพต่อต้านสยาม สู่เทพารักษ์นักตา ประจำเมืองโพธิสัตว์” เผยแพร่ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2552
ออกญาสวรรคโลก (เมือง) : ในเอกสารประวัติศาสตร์กัมพูชา
รศ.ดร. ศานติ สำรวจเอกสารทำเนียบบรรดาศักดิ์กรุงกัมพูชาแล้วพบว่า เอกสารกล่าวว่า เจ้าเมืองโพธิสัตว์มีราชทินนามว่า เมืองโพธิสัตว์ พระยาสังขโลก เจ้าเมือง [2]
ส่วนพงศาวดารเขมรว่า ออกญาสวรรคโลก ราชทินนามนี้ปรากฏหลักฐานใช้มาตั้งแต่สมัยหลังพระนคร รศ.ดร. ศานติ วิเคราะห์ว่า หากพิจารณาจากราชทินนาม ออกญาสวรรคโลก (เมือง) น่าจะมีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นหัวเมืองเอกของกัมพูชาในเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบกับพระราชพงศาวดารกัมพูชาที่ชำระขึ้นในยุคแรก เช่น พระราชพงศาวดารกัมพูชา หรือ รบากษัตริย์ ฉบับออกญาวงศาสรรเพชญ (นง) ซึ่งชำระขึ้นตามพระราชโองการของสมเด็จพระอุทัยราชา เมื่อ พ.ศ. 2361 [3] กลับไม่พบว่ามีการบันทึกเรื่องราวของออกญาสวรรคโลก (เมือง)[4]
พระราชพงศาวดารกัมพูชาฉบับอื่นๆ ที่ชำระขึ้นในเวลาต่อมา เช่น ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับพระองค์นพรัตน์ ก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของออกญาสวรรคโลก (เมือง) เช่นกัน แสดงว่าแม้เรื่องราวของ ออกญาสวรรคโลก (เมือง) จะเป็นที่รู้จักกันในกัมพูชา อย่างน้อยในฐานะของตำนานเกี่ยวกับนักตาคลังเมือง [5] แต่ยังมีลักษณะเป็นเพียงตำนานที่ยังไม่ได้มีการนำมาบรรจุไว้ในพระราชพงศาวดารกัมพูชา
ขณะเดียวกันก็พบว่า เรื่องราวของออกญาสวรรคโลก (เมือง) ถูกบรรจุไว้ในพระราชพงศาวดารกัมพูชาฉบับ P 58 ซึ่งเป็นพงศาวดารกัมพูชาฉบับที่สมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตารโปรดให้ชำระขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2433-36 (ค.ศ. 1890-93) มีชื่อว่า พระราชพงศาวดารพระมหากษัตริย์เสวยราชย์ในกรุงกัมพูชาธิบดีเป็นลำดับเรียงมา [6]
พงศาวดารกัมพูชาฉบับนี้กล่าวถึงเรื่องราวตำนานของ ออกญาสวรรคโลก (เมือง) และกล่าวถึงการสละชีวิตเพื่อไปรวบรวมกองทัพผีมาทำสงคราม แต่เหตุการณ์ที่ออกญาสวรรคโลก (เมือง) สละชีวิตนั้นเกิดขึ้นในสงครามการรบระหว่างสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าพญาจันทราชา) กับพระเสด็จกอน
ในพงศาวดารฉบับอื่นๆ ที่ชำระขึ้นภายหลังก็ยังสามารถพบเรื่องราวของออกญาสวรรคโลก (เมือง) ในแบบที่คล้ายคลึงกันอีกหลายฉบับ หนังสือหนังสือ เอกสารมหาบุรุษ ก็ปรากฏเรื่องราวออกญาสวรรคโลก (เมือง) คล้ายคลึงกับที่กล่าวมาข้างต้นด้วย แต่ได้เพิ่มรายละเอียดบางอย่างมากขึ้น [8]
รศ.ดร. ศานติ มองว่า เรื่องราวของออกญาสวรรคโลก (เมือง) ในพระราชพงศาวดารกัมพูชาจึงเป็นเรื่องราวที่น่าจะแทรกเข้าไปภายหลัง โดยมีที่มาจากตำนานพื้นบ้านของกัมพูชา (เพราะไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกัมพูชาฉบับที่ค่อนข้างเก่าแก่) หากพิจารณาตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของกัมพูชา แต่การแทรกภายหลัง ผู้ชำระพระราชพงศาวดารกัมพูชาได้นำมาบันทึกไว้ในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสงครามระหว่างสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าพญาจันทราชา) กับพระเสด็จกอน เหตุการณ์เกี่ยวกับ ออกญาสวรรคโลก (เมือง) ตอนนี้จึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสงครามระหว่างกัมพูชากับสยามแต่ประการใด
อย่างไรก็ตาม ในเอกสารประเภทอื่น เช่น ตำนานหรือนิทานพื้นบ้าน รวมทั้งตามการรับรู้ของประชาชนชาวกัมพูชา เมื่อกล่าวถึงประวัติของออกญาสวรรคโลก (เมือง) หรือ นักตาคลังเมือง กลับมีความเกี่ยวข้องกับสงครามระหว่างกัมพูชากับสยาม ขณะที่พระราชพงศาวดารกัมพูชาสำนวนต่างๆ ที่เอ่ยถึงข้างต้นจะกล่าวถึงเรื่องราวของ ออกญาสวรรคโลก (เมือง) ว่าเป็นเรื่องการสงครามภายในของกัมพูชาเอง
การรบกับสยามในตำนานพื้นบ้าน
ประชุมเรื่องเพรงเขมร ภาคที่ 8 (รวบรวมตำนานนิทานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักตา หรือ เทพารักษ์) มีประวัติของนักตาตนหนึ่งของเมืองโพธิสัตว์ชื่อว่า นักตาคลังเมือง (เนียะก์ตาเฆลียงเมือง) นักตาตนนี้ในทางประวัติศาสตร์คือ ออกญาสวรรคโลก (เมือง) นั่นเอง แต่ในตำนานเรื่องนี้กล่าวว่า เกิดขึ้นในรัชกาล พระชัยเจษฎา พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี [9] ขณะที่หลักฐานประวัติศาสตร์บ่งชี้เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ว่าเกิดขึ้นในรัชกาลของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าพญาจันทราชา)
ใจความสำคัญของตำนานเอ่ยถึงการสละชีวิตของออกญาสวรรคโลก (เมือง) หรือ เสนาเมือง ว่าเพื่อไปเกณฑ์กำลังจากพวกผีไปสู้รบกับกองทัพไทย รศ.ดร. ศานติ แปลความตอนหนึ่งไว้ดังนี้
“…ชัยอัศจรรย์[10] ได้รู้ชัด ว่าพระเจ้า [11] ยกทัพมาตามดังนั้น ทรงชุมนุมกับเสนาบดีว่า ขณะนี้พลเสนาของเราและเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ของเราไม่บริบูรณ์ เช่นนั้นท่านทั้งปวงคิดหาอุบายกลแบบใดให้มีชัยชนะในเวลานี้ เสนาทั้งหมดไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดกล้าตอบรับประกันเลย มีแต่เสนาเมืองตอบรับรองกล้าต่อต้านทัพสยาม โดยอุบายหนึ่งซึ่งแปลก คือกล้าแลกชีวิตเพื่อจะไปเกณฑ์พลผีโขมด ทำเป็นทัพรบกับพลสยาม จึงสั่งให้ขุดหลุมขนาด 4 เมตร 4 มุม ลึก 4 เมตร แล้วให้ปักเครื่องศาสตราวุธในหลุมนั้น เพื่อจะกระโดดไปให้แทงตายในหลุม แต่ในเวลาก่อนที่ท่านจะกระโดดฆ่าตัวตายนั้น เสนาเมืองสั่งให้พวกพลรัฐทั้งหมดมาฟังคำโอวาท
ท่านประกาศว่า ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามเอาใจใส่ในเรื่องสงครามในเวลานี้ เพื่อปลดปล่อยแผ่นดินเขมร ให้ได้รอดพ้นจากกำมือของปัจจามิตร ส่วนข้าๆ รับรองทางส่วนของทัพผีโขมด ขอท่านทั้งปวงเชื่อมั่นเถอะ ถ้าข้าตายไปได้ 7 วัน จะได้ยินเสียงดังโห่ส่งเสียงดังเหมือนเป็นเสียงกลองลั่น เราจะมีชัยแล้ว เมื่อสั่งแล้วกระโดดลงในหลุมดังพรึบ ภรรยาเห็นสามีกระโดดดังนั้น ก็กระโดดไปกับสามีพร้อมทั้งลูกชายอีกสองคนตายด้วยกัน ถึงวันเป็นคำรบ 7 วัน ได้ยินเสียงดังเหมือนเมื่อสั่งไว้จริง
ทัพสยามเข้ามาถึงพระตะบอง ข้ามมาถึงคลองแห่งหนึ่ง เรียกว่าคลองสวายโฎนแก้ว พบกับทัพของชัยอัศจรรย์ ทัพผีโขมดออกไปก่อนสำแดงฤทธิ์ ทำให้พลสยามหน้ามืด จุกในท้อง อาเจียนล้มลงเอง ทัพพระชัยอัศจรรย์เข้าไปฆ่าฟันตายหมด พวกกองทัพสยามต้านทานไม่ได้ ถอยไปถึงพระตะบอง ทำสารไปกราบทูลพระเจ้าตามเรื่องราวทุกประการ พระเจ้าทรงทราบให้ถอยกลับคืนไปเมืองสยาม
ส่วนพวกกองทัพพระชัยอัศจรรย์ พากันกลับมายังบันทาย ปัจจุบันเรียกว่าบันทายชัย นับแต่เวลานั้นมา พระชัยอัศจรรย์ได้รับอภิเษกเสวยราชย์ และรับพระนามว่า พระชัยเจษฎา พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี ประทับที่บันทายชัย เมื่อพระองค์ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติสุขกษานต์แล้ว ทรงนึกถึงคุณูปการของเสนาเมือง ซึ่งยอมแลกชีวิตต่อพระองค์ต่อแผ่นดินเขมร ทรงจัดให้ทำบุญอุทิศผลแก่ดวงวิญญาณของเสนาเมือง อย่างยิ่งใหญ่อัศจรรย์ จนเป็นธรรมเนียมมาถึงปัจจุบันนี้ เรียกว่างานขึ้นนักตาคลังเมือง…[12]“
อีกทั้งในหนังสือพิธีประจำสิบสองเดือน (พิธีปฺรจำฎบ่พีรแข) ของ นางปึจ ซ็อล (เพชฺร สล่) พุทธศาสนบัณฑิตย์จัดพิมพ์ ก็ได้กล่าวถึงตำนานนักตาคลังเมือง ตามที่ รศ.ดร. ศานติ ยกความมาว่า
” …ส่วนนักตาคลังเมือง (คลังเมือง-ฆฺลำงเมือง) ในจังหวัดโพธิสัตว์เป็นนักตาตนหนึ่งซึ่งเขมรทั้งประเทศรู้จักที่สุด นักตาตนนี้มีตำนานว่า ในปลายศตวรรษที่ 16 พระบาทชัยเชษฐา เมื่อทรงประทับอยู่บันทายชัยห่างประมาณ 2-3 กิโลเมตรจากเมืองโพธิสัตว์ทุกวันนี้ เวลานั้นสยามกับเขมรเกิดสงครามกัน กองทัพเขมรต้องปราชัย
ส่วนพระกรุณาทรงกังวลพระทัยอย่างมาก เมื่อเห็นดังนั้นจึงท่านสวรรคาโลกซึ่งเป็นเจ้าเมืองโพธิสัตว์เข้าไปกราบบังคมขอไปบูชาตนเฉพาะพระกรุณา ขอรับรองไปเกณฑ์พลผีโขมดมาเป็นผู้ช่วยพระมหากษัตริย์ ว่าแล้วเจ้าเมืองนั้นบังคับให้เขาขุดหลุม 1 แล้วให้เขาเอาเครื่องศาสตราวุธทุกอย่างมาใส่ลงในหลุม
เมื่อจัดเสร็จเมื่อใด เขาทำพิธีบวงสรวงเสร็จแล้วท่าน สวรรคาโลก ก็กระโดดลงไปในหลุมนั้นทันที ภรรยาของท่านก็กระโดดฆ่าตัวเองตามสามีด้วย คนทั้งปวงก็จัดกลบดินครอบผีนั้นทันที ภายหลังมาทัพสยามก็เข้ามาล้อมค่ายเขมร ทันทีทันใดก็ได้ยินเสียงอึกธึกอะไรอย่างหนึ่งน่ากลัวเหลือเกินในราตรีนั้น แล้วทัพสยามล้มตายเละเหมือนเขาตากปลาแห้ง นี้เองที่เป็นพลผีโขมดซึ่งเจ้าเมืองขอเอาตนไปเกณฑ์มาช่วยประเทศกัมพูชาให้รอดพ้นจากภัยอันตราย…[13]“
สรุป
จากความเห็นของรศ.ดร.ศานติ แล้ว เมื่อพิจารณาเรื่องราวของออกญาสวรรคโลก (เมือง) ในฐานะของตำนานนักตาคลังเมือง เหตุการณ์นี้กลับมีความเกี่ยวข้องกับสงครามระหว่างไทย-กัมพูชา ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าพญาจันทราชา)
เมื่อย้อนกลับไปถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยและกัมพูชา ที่มาของตำนานเรื่องออกญาสวรรคโลก (เมือง) หรือ นักตาคลังเมือง รศ.ดร. ศานติ มองว่า น่าจะเกิดจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในครั้งที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดให้พระองค์สวรรคโลก[14] มาตีกัมพูชาในปี พ.ศ. 2099 ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ก็มีบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้
หากเปรียบเทียบเหตุการณ์นี้กับหลักฐานประวัติศาสตร์ของกัมพูชา จะพบว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าพญาจันทราชา) ดังความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกัมพูชา ฉบับออกญาวงศาสรรเพชญ (นง)
ดังนั้น เรื่องราวของออกญาสวรรคโลก (เมือง) ทั้งในเอกสารประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงสงครามระหว่างเจ้าพญาจันทราชากับพระเสด็จกอน และตำนานที่กล่าวถึงสงครามระหว่างสมเด็จพระจันทราชากับสยามแล้ว เรื่องราวทั้ง 2 เรื่องนี้ต่างมีจุดร่วมกันคือ เป็นตำนานที่มีพื้นฐานมาจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าพญาจันทราชา) เหมือนกันนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงน่าจะขึ้นอยู่กับผู้เล่าว่าต้องการเล่าเรื่องนี้โดยเชื่อมโยงกับใคร ระหว่างพระเสด็จกอน หรือสยาม
ไม่ว่าออกญาสวรรคโลก (เมือง) จะสละชีวิตของตนเพื่อไปเกณฑ์ทัพผีมารบกับพระเสด็จกอน หรือรบกับสยามก็ตาม แต่นับแต่เวลานั้นเป็นต้นมา ประชาชนชาวกัมพูชาจึงนับถือ ออกญาสวรรคโลก (เมือง) เป็นเทพารักษ์ประจำเมืองโพธิสัตว์ และมีชื่อเรียกว่า เนียะก์ตาเฆลียงเมือง (นักตาคลังเมือง นักตา หรือ เนียะก์ตา (อฺนกตา) ตามความเชื่อของชาวกัมพูชาหมายถึงเทวดาที่ดูแลรักษาเมือง) และทุกปีจะต้องมีการเซ่นไหว้นักตาคลังเมือง ที่เมืองโพธิสัตว์เป็นประจำทุกปี
รศ.ดร. ศานติ สรุปมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “แม้ว่าเรื่องราวของออกญาสวรรคโลก (เมือง) จะไม่สอดคล้องกันระหว่างการนำเสนอในเอกสารประวัติศาสตร์ เช่น พระราชพงศาวดารกัมพูชา ฉบับ P 58 หรือในเอกสารมหาบุรุษเขมร เนื่องจากกล่าวถึงว่าเป็น วีรบุรุษในการสงครามระหว่าง เจ้าพญาจันทราชา กับ พระเสด็จกอน กับการนำเสนอในรูปแบบของตำนานนักตาคลังเมือง ซึ่งกล่าวถึงในฐานะวีรบุรุษที่ต่อต้านการรุกรานของสยามก็ตาม
แต่สิ่งหนึ่งที่ร่วมกันของหลักฐานในทางประวัติศาสตร์กับตำนานที่กล่าวมาคือ โครงเรื่องของประวัติออกญาสวรรคโลก (เมือง) ที่กล่าวถึงการสละชีพเพื่อไปเกณฑ์กองทัพผีมาช่วยทำสงคราม ความแตกต่างอยู่ที่การเลือกของผู้เล่าที่จะนำเสนอว่าเป็นสงครามระหว่างใคร กับใครเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ตำนาน ออกญาสวรรคโลก (เมือง) ในเอกสารประวัติศาสตร์กับตำนาน จึงขึ้นอยู่กับผู้เล่า ทั้งที่เล่าไว้ในเอกสารประวัติศาสตร์ หรือเล่าไว้ในตำนาน ว่าจะเน้นให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างชาวเขมรด้วยกันเอง หรือจะเน้นการให้ภาพการต่อสู้กับสยามที่รุกรานกัมพูชา”
อ่านเพิ่มเติม :
- จาก “เสียม (สยาม)” สู่ “ไถ (ไทย)” : บริบทและความหมายในการรับรู้ของชาวกัมพูชา
- ที่มา “ประเทศ กัมพูชา” สมัยก่อนเมืองพระนคร?
เชิงอรรถ :
[1] โปรดติดตาม เรื่องเกี่ยวกับพระเสด็จกอนได้ในบทความเรื่อง พระเสด็จกอน : จาก กบฏผู้ชิงราชย์ สู่ วีรกษัตริย์นักปฏิวัติ ของผู้เขียน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2553
[2] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12, (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2549), น. 911.
[3] พงศาวดารเขมร ฉบับแปล จ.ศ. 1217,ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12, (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2549), น. 131.
[4] เรื่องเดียวกัน, น. 143.
[5] หลักฐานการอ้างถึง นักตาคลังเมือง ปรากฏหลักฐานในคำประณิธานซึ่งเรียบเรียงขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) มีความตอนหนึ่งว่า ปวงข้าขออัญเชิญปวงเหล่าเทพารักษ์ซึ่งมีมหิทธิฤทธิ์สิทธิศักดิทั้งหลาย คือ เม-สอ คลังเมือง ในอุดงค์มีชัย แสดงให้เห็นว่าความเชื่อเกี่ยวกับนักตาคลังเมือง มีมานานแล้ว โปรดดู ศานติ ภักดีคำ (ผู้แปล). พระราชพิธีทวาทศมาส หรือ พระราชพิธีสิบสองเดือนกรุงกัมพูชา ฉบับฉลองครบรอบ 55 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-กัมพูชา ภาค 2. (กรุงเทพฯ : กรมสารนิเทศ, 2550), น. 56.
[6] ฆีง หุก ฑี. มาลีบทอกฺสรสิลฺป์แขฺมรสตวตฺสที 19. (ภฺนํเพญ : บณฺณาคารองฺคร, 2002), น. 209.
[7] พระราชพงศาวดารเขมร. J.S.R.C, น. 71-72.
[8] เอง สุต. เอกสารมหาบุรสแขฺมร ภาคที่ 2. น. 6-7.
[9] พุทฺธสาสนบณฺฑิตฺย. ปฺรชุมเรืองเพฺรงแขฺมร ภาค 8. (ภฺนํเพญ : พุทฺธสาสนบณฺฑิตฺย, 2515), น. 19.
[10] ในตำนานกล่าวว่าเป็นคนละองค์กับเจ้าพญาจันทราชา แต่เรื่องราวที่ปรากฏในตำนานกลับเป็นเรื่องราวของเจ้าพญาจันทราชาเอง ดังนั้นชัยอัศจรรย์ในที่นี้จึงน่าจะได้แก่เจ้าพญาจันทราชานั่นเอง.
[11] พระเจ้า ในที่นี้หมายถึง พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (ผู้แปล)
[12] พุทฺธสาสนบณฺฑิตฺย. ปฺรชุมเรืองเพฺรงแขฺมร ภาค 8. (ภฺนํเพญ : พุทฺธสาสนบณฺฑิตฺย, 2515), น. 17-19.
[13] พุทฺธสาสนบณฺฑิตฺย. พิธีปฺรจำฎบ่พีรแข. (ภฺนํเพญ : พุทฺธสาสนบณฺฑิตฺย, 2508), น. 23.
[14] พงศาวดารกัมพูชาฉบับแปล จ.ศ. 1217 ระบุว่าเป็นสมเด็จพระเชษฐา (สมเด็จพระเรียม) ของพระเจ้าจันทราชา พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่าเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอบุญธรรมในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ โปรดให้ขึ้นไปครองเมืองสวรรคโลก ปรากฏพระนามเดิมว่านักพระสุทัน ศิลาจารึกนครวัดหลังพระนครหลักที่ 4 (IMA 4) เรียกว่า ออกญาโอง สันนิษฐานว่าพระนามเดิมคือ โอง ส่วนพระนามว่านักพระสุทันพบแต่เฉพาะเอกสารไทย และสันนิษฐานว่าเหตุที่เรียกว่าพญาองค์สวรรคโลก น่าจะเป็นเพราะเดิมทรงเป็นเจ้าเมืองโพธิสัตว์ ซึ่งในทำเนียบบรรดาศักดิ์กรุงกัมพูชาระบุว่ามีตำแหน่งเป็นพระยาสวรรคโลก เมืองเอก ส่วยขึ้นพระยาจักรี มากกว่าที่จะเป็นเจ้าเมืองสวรรคโลก หัวเมืองเหนือของไทย
[15] กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ. (นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2549), น. 41.
บรรณานุกรม :
กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2549.
ฆีง หุก ฑี. มาลีบทอกฺสรสิลฺป์แขฺมรสตวตฺสที 19. ภฺนํเพญ : บณฺณาคารองฺคร, 2002.
ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2549.
พระราชพงศาวดารพระมหากษัตริย์เสวย ราชสมบัติในกรุงกัมพูชาเป็นลำดับเรียงมา. J.S.R.C., 1987.
พุทฺธสาสนบณฺฑิตฺย. ปฺรชุมเรืองเพฺรงแขฺมร ภาค 8. ภฺนํเพญ : พุทฺธสาสนบณฺฑิตฺย, 2515.
______. พิธีปฺรจำฎบ่พีรแข. ภฺนํเพญ : พุทฺธสาสนบณฺฑิตฺย, 2508.
ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณแปลใหม่. จางวางตรี พระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ พิมพ์แจกในงานศพ พระตำรวจตรี พระกำแหงรณฤทธิ จางวางพระตำรวจ ผู้บิดา. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2460.
ศานติ ภักดีคำ (ผู้แปล). พระราชพิธีทวาทศมาส หรือ พระราชพิธีสิบสองเดือนกรุงกัมพูชา ฉบับฉลองครบรอบ 55 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-กัมพูชา ภาค 2. กรุงเทพฯ : กรมสารนิเทศ, 2550.
เอง สุต. เอกสารมหาบุรสแขฺมร ภาคที่ 1-2. ภฺนํเพญ : โรงพุมฺพอนฺตรชาติ, 1969.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ออกญาสวรรคโลก (เมือง) : จากแม่ทัพ ต่อต้านสยาม สู่เทพารักษ์นักตา ประจำเมืองโพธิสัตว์” เขียนโดย รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2552
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มีนาคม 2563