ที่มา “ประเทศกัมพูชา” สมัยก่อนเมืองพระนคร?

ปราสาทสมโบร์ไพรกุก กัมพูชา
ปราสาทสมโบร์ไพรกุก หมู่ใต้ หลังที่ 1 (ภาพประกอบจาก https://www.sac.or.th)

จากจดหมายเหตุของจีน นักประวัติศาสตร์ชาวยุโรป ได้แบ่งประวัติศาสตร์ของประเทศ “กัมพูชา” สมัยก่อนเมืองพระนคร ออกเป็น 3 ยุค คือ

ยุคฟูนัน ตั้งแต่แรกเริ่มจนกระทั่งถึงราวพุทธศตวรรษที่ 12

ยุคเจนละ ในพุทธศตวรรษที่ 12

และ การแตกแยกของอาณาจักรเจนละ ในพุทธศตวรรษที่ 13

อย่างไรก็ดี การแบ่งแยกเช่นนี้ก็ไม่มีหลักฐานอย่างแท้จริง เพราะเหตุว่าอาณาจักรฟูนันและเจนละก็เป็นแต่เพียงชื่อของอาณาจักรที่ชาวจีนได้ทำการติดต่อค้าขายด้วยและไม่ได้หมายถึงประเทศกัมพูชาทั้งหมด แต่เป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นและยังเป็นการยากที่จะทราบได้ว่าตั้งอยู่ที่ใดอีกด้วย

ตามความจริงประเทศกัมพูชา คงจะประกอบขึ้นด้วยอาณาจักรและแคว้นเล็กๆ หลายแคว้น ประวัติศาสตร์ทำให้เราทราบได้ว่าชาวขอมหรือเขมรสมัยโบราณได้พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำให้อาณาจักรและแคว้นเล็กๆ เหล่านี้เข้ามารวมกัน ด้วยเหตุนั้นถ้าไม่เลิกใช้ชื่อภาษาจีน อย่างน้อยก็ควรจะใช้ด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นการครอบคลุมประเทศกัมพูชาทั้งหมด

ระยะแรกเริ่ม

ถ้าเราต้องการที่จะขึ้นไปให้ถึงจุดต้นในประวัติศาสตร์ของประเทศกัมพูชาแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องหันไปพึ่งจดหมายเหตุของจีนก่อน

จดหมายเหตุจีนได้กล่าวถึงทวีปเอเชียภาคตะวันออกเฉียงใต้ และกล่าวว่าในราวพุทธศตวรรษที่ 6 มีอาณาจักรชื่อฟูนันตั้งอยู่ราวภาคกลางของแหลมโคชินไชนาในสมัยโบราณ (คือทางภาคใต้ของประเทศเวียดนามปัจจุบัน) และทางภาคใต้ของประเทศกัมพูชา ตามความจริงเราก็ไม่สามารถทราบได้แน่ว่าชนชาติใดเป็นชนชาติพื้นเมืองของอาณาจักรนี้และอาจจะไม่ใช่ชาวขอมก็ได้

อย่างไรก็ดี เราได้ค้นพบเมืองขนาดใหญ่ในสมัยนี้คือ เมืองออกแก้ว (Oe-èo) ซึ่งอาจเป็นเมืองของอาณาจักรฟูนัน ถึงกระนั้นก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่คือจากการขุดค้นที่นายมัล เลอเรต์ (L.Malleret) ได้กระทำ ณ ที่นั้น ปรากฏว่าได้ค้นพบวัตถุของจีนน้อยมาก ในขณะที่วัตถุของอินเดียและแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมีปรากฏอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนั้นจึงน่าเป็นไปได้ว่าเมืองนี้ได้เกี่ยวข้องอย่างมากกับทางทิศตะวันตกคือประเทศอินเดียและผ่านประเทศอินเดียไปยังอ่าวเปอร์เซียและอาณาจักรโรมันที่อยู่ไกลออกไป ยิ่งกว่าทางภาคตะวันออกคือประเทศจีน

นอกจากนี้ก็ยังมีผู้กล่าวอ้างอีกว่ามีชื่อเมืองท่าหนึ่งเมืองหรือหลายเมืองปรากฏอยู่ในหนังสือ Périple de la mer Erythrée อันมีชื่อเสียง หรือในหนังสือตำราภูมิศาสตร์ของ ปโตเลมี (Ptolemy) ทั้งๆ ที่ก็ยังไม่สู้แน่นอนนัก

ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรฟูนันกับประเทศจีนนั้น ประเทศจีนถือว่าเป็นประเทศราชของตน และตามจดหมายเหตุจีนอาณาจักรฟูนั้นก็ได้ส่งคณะทูตเข้าไปสม่ำเสมอบ้างขาดหายไปบ้าง คณะทูตเหล่านี้ความจริงก็เพื่อขอความสะดวกในการใช้เมืองท่าของจีนนั่นเอง และก็ไม่ได้มีจำนวนมากนักในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 8-11 คือมีอยู่มากในช่วงระยะเวลาอันสั้นและต่อจากนั้นก็ค่อยๆ ห่างออกไป

คณะทูตรุ่นแรกๆ ในพุทธศตวรรษที่ 8-9 ก็คือใน พ.ศ. 768, 786, 811, 828, 829 และ 830 ภายใต้รัชกาลของพระเจ้าฟันจัน (Fan-Tchan) และฟันซิอุน (Fan-Siun) คณะทูตอีกคณะหนึ่งเข้าไปยังประเทศจีนใน พ.ศ. 900 ภายใต้รัชกาลของพระเจ้าจูจันถัน (Tchou Tchan-t’an) ซึ่งก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

คณะทูตอื่นๆ เดินทางเข้าไปอีกใน พ.ศ. 977, 978 และ 981 ภายใต้รัชกาลของพระเจ้าเฉลิโตปาโม (Tch’e-li-to-pa-mo) และเข้าไปอีกใน พ.ศ. 1027, 1046, 1054 และ 1053 ในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมัน และในที่สุดก็เดินทางเข้า ไปใน พ.ศ. 1082, 1115, และ 1131 โดยที่ไม่ทราบพระนามของพระเจ้าแผ่นดิน

พระนามของพระราชาฟูนั้น 2 องค์แรกไม่อาจเทียบเคียงได้เลยกับภาษาในท้องถิ่น สำหรับพระนาม “จูจันถัน” นั้นคงจะเป็นพระราชา “ชาวอินเดีย” จากคำว่า “จู” และ คำว่า “เฉลิโตปาโม” ก็คงจะเป็นพระนามภาษาสันสกฤตที่ลงท้ายด้วยคำว่า “ปาโม” คือ “วรมัน” แต่พระนามข้างต้นนั้นก็ยังไม่อาจทราบได้ว่าตรงกับอะไร

นอกจากนี้ จดหมายเหตุจีนยังได้ให้ความรู้บางประการเกี่ยวกับอาณาจักรฟูนันด้วย เป็นต้นว่าพระเจ้าฟันมัน (Fan-man) หรือฟันเชมัน (Fan-che-man) ทรงเป็นนักรบอันยิ่งใหญ่ต่อบรรดาอาณาจักรที่ตั้งอยู่รอบอ่าวไทยและโดยเฉพาะบนแหลมมลายู เป็นเหตุให้เปิดทางติดต่อกับประเทศอินเดียได้ ผู้ครองราชย์ต่อจากพระองค์คือพระเจ้าฟันจัน (FanTchan) ซึ่งจดหมายเหตุจีนกล่าวว่า เป็นผู้แย่งราชสมบัติ ได้พยายามเปิดการค้าขายกับประเทศอินเดียอย่างกว้างขวางด้วยการส่งคณะทูตเข้าไปจนถึงแคว้นคันธาระซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย

จดหมายเหตุจีนยังกล่าวถึงต้นกำเนิดของอาณาจักรฟูนันอีก คือ กล่าวว่าราชธิดาของกษัตริย์แห่งประเทศทรงนามว่านางโสมาได้เสกสมรสกับพราหมณ์ชาวอินเดียนามว่า โกณฑินยะ ซึ่งเดินทางมาที่นั่นเนื่องจากความฝัน อย่างไรก็ดี นิยายเรื่องนี้ก็เป็นที่รู้จักกันในอาณาจักรอื่นๆ ของประเทศอินเดียด้วย และก็ดูเหมือนจะไม่ใช่นิยายของขอมโดยเฉพาะ ความจริงนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องในชั้นหลังและไม่ปรากฏว่าได้เขียนขึ้นก่อนพุทธศตวรรษที่ 11

นอกจากนี้ ยังมีพราหมณ์อีกท่านหนึ่งนามว่าโกณฑินยะเช่นเดียวกัน จดหมายเหตุจีนได้กล่าวว่าท่านผู้นี้เป็น “นักกฎหมาย” ของอาณาจักรฟูนัน เพราะเหตุว่าได้นำเอากฎหมายของอินเดียเข้ามาใช้ และคงจะมีชีวิตอยู่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 10 อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับพราหมณ์ท่านแรก เราก็อาจคิดได้ว่าท่านผู้นี้ก็คงเป็นบุคคลในนิยายอีกเช่นเดียวกัน

“อาณาจักรฟูนัน” นี้ดูเหมือนจะอยู่ติดกับทะเลและมีพื้นที่ทางด้านในเพียงเล็กน้อย ความยาวของอาณาจักรตามจดหมายเหตุจีนแต่ก็ไม่ปรากฏว่าอยู่ในสมัยไหนคือ 5,000 ลี้ หรือราว 2,000 กิโลเมตร ซึ่งก็คงจะไม่ใช่ความลึกเพราะจะทำให้เข้าไปในพื้นแผ่นดินใหญ่มากเกินไป ระยะความยาวดังกล่าวน่าจะเป็นโดยรอบอ่าวไทยมากกว่า

จดหมายเหตุจีนได้กล่าวถึง “ราชธานี” ของอาณาจักรฟูนั้นเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ว่าอยู่ในสมัยไหน จดหมายเหตุจีนกล่าวว่า ราชธานีนี้ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำห่างจากฝั่งทะเล 500 ลี้ หรือราว 250 กิโลเมตร ราชธานีแห่งนี้อาจตั้งอยู่ในแถบเมืองนครบุรี (Ankor Borei) ในประเทศกัมพูชาก็ได้ ณ ที่นั้นได้ค้นพบร่องรอยของโบราณวัตถุสถาน แต่รองรอยเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะเก่าขึ้นไปจนถึงจารึกภาษาสันสกฤตรุ่นแรกในบริเวณนั้นเท่านั้นคือในรัชสมัย พระเจ้าชัยวรมัน

จากเอกสารพื้นเมืองปรากฎว่าพระเจ้าชัยวรมันทรงสืบลงมาแต่พราหมณ์โกณฑินยะ และไม่ได้เป็นพระราชาที่ทรงอำนาจมากนัก ทั้งนี้ถ้าสันนิษฐานจากตำแหน่งที่พระองค์ทรงมีอยู่ อาณาจักรของพระองค์คงจะตั้งอยู่ในภาคใต้ของประเทศกัมพูชาและส่วนหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศเวียดนามปัจจุบัน พระองค์คงจะพยายามที่จะขยายอาณาเขตของพระองค์ออกไป ซึ่งทำให้ต้องเกิดการกระทบกระทั่งกับอาณาจักรจัมปาของชนชาติจาม

จดหมายเหตุจีนกล่าวว่าพระองค์ทรงเกี่ยวดองกับชนชาติจามทางภาคใต้ของประเทศและทรงร้องขอความช่วยเหลือจากพวกนั้นแต่ก็ไม่สำเร็จ จดหมายเหตุจีนยังกล่าวอีกว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 1057 และผู้ที่สืบต่อจากพระองค์คือ พระเจ้ารุทรวรมัน ผู้เป็นพระโอรสของสนมและได้ปลงพระชนม์เจ้าชายผู้เป็นรัชทายาทโดยชอบธรรมเสีย

เราไม่ทราบอะไรมากเกี่ยวกับพระเจ้ารุทรวรมัน นอกจากว่าพระองค์ทรงครอบครองอาณาจักรที่มีพื้นที่น้อยลงไปกว่าในรัชสมัยพระราชบิดาของพระองค์เสียอีก เจ้าชายคุณวรมันผู้เป็นโอรสของพระเจ้าชัยวรมัน และเป็นโอรสต่างพระมารดากับพระเจ้ารุทรวรมันก็ดูเหมือนจะได้ครองราชย์ในเวลาเดียวกับพระองค์ทางทิศใต้สุดของแหลมอินโดจีน

นอกจากนี้ก็ยังมีร่องรอยของพระนางกุลประภาวดี มเหสีเอกของพระเจ้าชัยวรมัน พระนางอาจจะได้ทรงครอบครองส่วนหนึ่งของอาณาจักรของพระองค์ หลังจากที่พระเจ้าชัยวรมันสิ้นพระชนม์ไปแล้ว โดยมีพรรคพวก “ที่ถูกต้องตามกฎหมาย” สนับสนุนอยู่ อย่างไรก็ดี ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็เป็นแต่เพียงสมมุติฐานเท่านั้น

พุทธศตวรรษที่ 11-13

ดินแดนทางทิศเหนือของอาณาจักรฟูนันทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งคงเป็นที่ตั้งของแคว้นที่จดหมายเหตุจีนเรียกว่าเจนละ คำนี้จีนใช้เรียกประเทศกัมพูชาลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 23 ชาวจีนได้กล่าวเพิ่มเติมว่าแคว้นเจนละนี้เป็น “ประเทศราชของอาณาจักรฟูนัน” แต่คำกล่าวเช่นนี้อาจเป็นจริงเฉพาะบางระยะเท่านั้น ซึ่งเราก็ไม่อาจทราบได้อีกว่าเมื่อไรแน่

ทั้งหมดนี้ทำให้คิดได้ว่าดินแดนดังกล่าวคงแบ่งออกเป็นอาณาจักรหรือแคว้นเล็กๆ หลายแคว้น แต่ที่เราพอมีร่องรอยทราบได้บ้างก็คือแคว้นเจนละ เรามีร่องรอยของ “พระราชาธิราช” องค์หนึ่ง คือพระเจ้าเทวานีกะในพุทธศตวรรษที่ 10 บนศิลาจารึกซึ่งค้นพบที่วัดภูทางทิศใต้ของประเทศลาวปัจจุบัน มีคำกล่าวถึงพระองค์ว่า “มาจากหนทางไกล” เราอาจคิดได้ว่าพระองค์ทรงเป็นชนชาติขอม แต่เราก็ไม่สามารถทราบได้ว่าราชธานีของพระองค์อยู่ที่ใด

ราว พ.ศ. 1100 อาณาจักรเหล่านี้อาณาจักรหนึ่งซึ่งคงจะตั้งอยู่แถบเมืองกระเตี้ย (Kratié) มีพระราชาทรงนามว่าวีรวรมัน พระองค์ทรงมีโอรส 2 องค์เป็นอย่างน้อย องค์แรกทรงนามว่าจิตรเสน ได้ทรงทิ้งร่องรอยของจารึกแสดงการปราบปรามดินแดนต่างๆ ไว้ในพระนามของพระบิดาของพระองค์ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของราชธานี

เมืองสมโบร์ไพรกุก

โอรสองค์ที่ 2 ทรงมีพระนามว่า ภววรมันที่ 1 ได้ทรงแบ่งแยกดินแดนของอาณาจักรออกมา “ด้วยอำนาจของพระองค์” ซึ่งหมายความว่าทรงแย่งเอาดินแดนที่พระองค์ไม่มีสิทธิ์มาครอบครอง พระองค์ได้ทรงตั้งถิ่นฐานลงแถบเมืองสมโบร์ไพรกุก คงจะเป็นพระองค์อีกที่มีพระนามปรากฎอยู่ใกล้กับเมืองพระตะบอง แต่ก็ยังน่าสงสัยที่ว่าพระองค์ได้ทรงแผ่อาณาเขตขึ้นไปทางภาคเหนือจนกระทั่งถึงเมืองศรีเทพภายในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี มีผู้กล่าวถึงพระนามของพระองค์ที่นั่นด้วยเหตุนั้นจึงหมายความว่าพระเกียรติคุณของพระองค์ได้แพร่หลายขึ้นไปจนกระทั่งถึงเมืองศรีเทพทางทิศใต้พระองค์คงจะทรงยึดได้ดินแดนส่วนหนึ่งของ “อาณาจักรฟูนัน” โดยเฉพาะในดินแดนแถบไพรเวง แต่เราก็ไม่สามารถทราบได้ว่าจากพระราชาองค์ใดที่ทรงเป็นผู้ครอบครองอยู่ในขณะนั้น เรามีระยะเวลาที่แน่นอนของพระเจ้าภววรมันที่ 1 เพียงครั้งเดียว คือการสร้างศาสนสถานที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากเมืองสมโบร์ไพรกุกนัก โดยเจ้าประเทศราชของพระองค์ท่านหนึ่ง ศักราชนี้ตรงกับวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 1141

ในระยะเวลานั้นพระเจ้าวีรวรมันได้สิ้นพระชนม์ลง เจ้าชายจิตรเสนได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทนทรงพระนามว่า มเหนทรวรมัน ในชั้นต้นพระองค์ได้ทรงทำการปราบปรามต่อไปในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน และได้รุกล้ำเข้ามาจนกระทั่งเหนือเมืองขอนแก่นในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ด้วยสาเหตุที่ยังไม่ทราบกัน เมื่อพระเจ้าภววรมันสิ้นพระชนม์พระองค์ก็เสด็จกลับมาครอบครองราชบัลลังก์ที่เมืองสมโบร์ไพรกุก ราว พ.ศ. 1150 โดยละทิ้งการปราบปรามแต่ก่อนของพระองค์ซึ่งมีศิลาจารึกเป็นพยานหลักฐานอยู่หลายหลัก

อาจเป็นไปได้ที่ว่าคำนามภาษาจีนว่า “เจนละ” ได้กลายมาจากพระนามของเจ้าชายองค์นี้คือ จิตร (เสน)

นอกจากนี้ เรายังมีร่องรอยของเจ้าชายอีกองค์หนึ่งซึ่งเป็นโอรสของพระขนิษฐภคินีของพระราชา 2 องค์ ที่ครองราชย์มาก่อน พระองค์ทรงพระนามว่าหิรันยวรมัน และอาจทรงเป็นพระราชาทางทิศตะวันตกของเมืองกระเตี้ย

เมื่อพระเจ้ามเหนทรวรมันสิ้นพระชนม์ลงราว พ.ศ. 1160 โอรสของพระองค์ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อทรงพระนามว่า “อีศานวรมันที่ 1” พระองค์ทรงเป็นพระราชาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในสมัยนั้น ทรงขยายอาณาจักรที่ได้ทรงรับมาจากพระบิดา ซึ่งคงจะขยายไปเกือบเท่ากับดินแดนของประเทศกัมพูชาปัจจุบันรวมทั้งได้ขยายออกไปทางทิศตะวันตกด้วย

แต่จารึกในสมัยของพระองค์ได้ขนานนามพระองค์ว่าทรงเป็นนักปราชญ์ ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะพระองค์ทรงมีพระชนม์มากแล้วเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติก็ได้ พระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 ได้ทรงสร้างศาสนสถานที่เรียกกันว่า “หมู่ใต้” ขึ้นที่เมืองสมโบร์ไพรกุก พระองค์ได้ประทานราชธิดาองค์หนึ่งให้เสกสมรสกับโอรสของพระราชาแห่งอาณาจักรจัมปา ด้วยเหตุนั้นจึงมีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน พระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 คงสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 1171

เช่นเดียวกับที่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อพระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 สิ้นพระชนม์ลงอาณาจักรที่พระองค์ได้ทรงรักษาไว้และเพิ่มเติมขึ้นอีกก็ถูกทำลายลง คงเป็นโอรสองค์หนึ่งของพระองค์คือพระเจ้าภววรมันที่ 2 ที่ครองราชย์ต่อจากพระองค์ที่เมืองสมโบร์ไพรกุก แต่เท่าที่เราสามารถทราบได้ ดินแดนทั้งทางภาคเหนือและภาคใต้ก็ถูกผู้อื่นยึดครองไป เวลาอันแน่นอนที่เราทราบเกี่ยวกับพระราชาองค์หลังนี้ก็คือ พ.ศ. 1187

พระเจ้าชัยวรมันที่ 1

ในสมัยเดียวกันนี้ทางทิศเหนือ มีเจ้าชายองค์หนึ่งทรงนามว่าจันทรวรมันซึ่งไม่ทราบแน่ว่าทรงสืบเชื้อสายมาจากผู้ใดครองราชย์อยู่

ในบรรดามเหสีของพระองค์นั้น มีอยู่องค์หนึ่งที่ทรงเป็นราชนัดดาของพระเจ้าอีศานวรมันที่ 1

ดินแดนของเจ้าชายจันทรวรมันนี้คงไม่กว้างขวางนัก แต่โอรสของพระองค์ซึ่งเริ่มขึ้นครองราชย์ราว พ.ศ. 1205 ภายใต้พระนามว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 1 (ทั้งนี้ไม่นับพระเจ้าชัยวรมันที่ครองราชย์มาก่อน เพราะเหตุว่าพระองค์ทรงครอบครอง “อาณาจักรฟูนัน”) ได้ทรงพยายามที่จะรวบรวมดินแดนของพระปัยกาของพระองค์ทางพระมารดาคือ พระเจ้าอีศานวรมันเข้ามาไว้ภายในราชอาณาจักร และก็ทรงกระทำได้สำเร็จ

เราได้ค้นพบร่องรอยของพระราชาองค์นี้เป็นจำนวนมากทางทิศใต้ของประเทศกัมพูชา แต่ดูเหมือนว่าราชธานีของพระองค์คือ เมืองปุรันทปุระคงจะตั้งอยู่แถบบริเวณเมืองพระนคร และพระองค์อาจจะเป็นผู้ริเริ่มทรงสร้างศาสนสถานบนฐานเป็นชั้น คือปราสาทออกยม (Ak Yum) ขึ้น อย่างน้อยที่สุดระยะหนึ่งของปราสาทแห่งนี้ก็สร้างขึ้นโดยพระองค์ จารึกหลักสุดท้ายของพระองค์มีศักราชอยู่ในกลาง พ.ศ. 1234 แต่พระองค์ก็อาจทรงมีพระชนมชีพอยู่หลังระยะเวลานี้อีกเล็กน้อย

หลังจากที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 1 สิ้นพระชนม์แล้ว ประเทศกัมพูชาก็แบ่งแยกออกอีกแถบบริเวณเมืองพระนครกลายเป็นที่ตั้งของอาณาจักรอนินทิตปุระ อาจเป็นพระราชาองค์ก่อนหรือโอรสของพระองค์ทรงนามว่านฤปาทิตย์ พระองค์ได้ทรงปราบปรามอาณาจักรนี้และประทานราชธิดาของพระองค์แก่ผู้ที่สืบราชสมบัติต่อมา แต่ก็คงเป็นชั่วระยะเวลาอันสั้น เพราะเหตุว่าราชธิดาองค์ดังกล่าวคือ พระนางชัยเทวีได้ขึ้นครองราชย์ และก็เป็นกรณีเดียวที่เราได้ทราบถึงพระราชินีผู้เสด็จขึ้นครองราชย์อย่างแน่นอนในดินแดนแถบนี้เมื่อ พ.ศ. 1256

เมื่อเร็วๆ นี้ได้ค้นพบหลักฐาน ว่าในระยะนี้มีพระราชาอีกองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าภววรมันที่ 3 ทรงเป็นโอรสของพระขนิษฐภคินีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 พระองค์ได้ครองราชย์อยู่ทางทิศเหนือของเมืองพระตะบองและดินแดนที่ติดต่อกับประเทศไทย และได้ทรงมีอาณาเขตอยู่ทางทิศใต้ของประเทศกัมพูชาปัจจุบันด้วย ทั้งนี้โดยที่เราไม่อาจทราบได้ว่าดินแดนอันแท้จริงของพระองค์นั้นตั้งอยู่ที่ไหน

สำหรับส่วนที่เหลือของประเทศกัมพูชา สถานการณ์ที่ยุ่งยากมากสำหรับนักประวัติศาสตร์ เพราะเหตุว่าหลักฐานที่มีระยะเวลาอยู่ในสมัยนี้ไม่ได้กล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีพระราชาที่ครองราชย์อยู่เลย แต่อาจจะเป็นเพราะเหตุว่าอำนาจของพระองค์มีไม่มากพอที่จะสมควรกล่าวอ้างถึง

ในจารึกราวต้นพุทธศตวรรษที่ 15 เราจึงมีร่องรอยบ้างเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีมาก่อน นอกไปจากการแตกแยกซึ่งคงมีอยู่แล้ว เราก็อาจกล่าวได้ว่ามีอาณาจักรเล็กๆ ที่มีอิสระตั้งอยู่ คือมีพระนามของพระราชาแห่งอาณาจักรศัมปุระใกล้กับเมืองสมโบร์บนฝั่งแม่น้ำโขง อาณาจักรวยาธปุระในดินแดนทางทิศใต้ของไพรเวง และอาณาจักรภวปุระใกล้กับเมืองสมโบร์ไพรกุก

นอกจากนี้ ก็คงมีอาณาจักรอื่นๆ อีก เพราะเหตุว่าเราสามารถทราบถึงพระนามของพระราชาองค์อื่นๆ แต่เราก็ไม่สามารถทราบว่าเป็นใครและครองราชย์อยู่ทางทิศใดในประเทศกัมพูชา

นอกจากนี้ เรายังสามารถรู้จักชื่อเมืองต่างๆ อีกบางเมืองเช่น เมืองหริหราลัยก็ตั้งอยู่แถบบริเวณเมืองพระนคร หรือเมืองอินทรปุระ ซึ่งตั้งอยู่ในแคว้นกำปงจาม เมืองหลังนี้อาจเคยเป็นราชธานีของอาณาจักรวยาธปุระและศัมภุปุระซึ่งรวบรวมกันอยู่ภายใต้พระราชาองค์หนึ่ง เมืองเหล่านี้พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้เคยประทับอยู่ก่อนที่พระองค์จะทรงกระทำพิธีราชาภิเษกใน พ.ศ. 1345 บนเขาพนมกุเลน ซึ่งเป็นการเปิดศักราชที่เรียกกันว่า “สมัยเมืองพระนคร” อย่างแท้จริง

ชนชาวขอม

เท่าที่ผ่านมาแล้ว เราสามารถทราบถึงรายพระนามของพระราชา ซึ่งทรงครองอยู่ในส่วนต่างๆ ของประเทศกัมพูชา แต่ก็เป็นการยากที่จะทราบถึงราชธานีของพระองค์

ได้เชื่อกันมาเป็นเวลานานแล้วว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งในสมัยนั้น ได้ทรงครองราชย์อยู่ทางทิศใต้ โดยเฉพาะที่เมืองนครบุรี ซึ่งได้ค้นพบร่องรอยเป็นต้นว่าเชิงเทินเมืองซึ่งแสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเมืองที่สำคัญตามความจริงในปัจจุบันเชื่อกันว่า พระองค์คงจะทรงครองราชย์อยู่แถบบริเวณเมืองพระนครมากกว่าด้วย เหตุนั้นเมืองนครบุรีจะตกอยู่ภายใต้การครอบครองของใครกันแน่ เพราะแม้แต่ศักราชของเมืองเองเรายังไม่อาจทราบได้อย่างแน่นอน

เราไม่อาจกล่าวอะไรได้มากเกี่ยวกับข้าราชการของอาณาจักรเหล่านี้รวมทั้งประชาชนพลเมืองด้วย เพราะเหตุว่าจารึกที่ค้นพบไม่ได้ให้ความรู้แก่เราเลยเกี่ยวกับชีวิตของประชาชน

เป็นของแน่นอนที่ว่าจารึกส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการสร้างศาสนสถานหรือการบริจาคของถวายแก่ศาสนสถาน เราอาจประหลาดใจที่ว่า มีพระราชาเป็นจำนวนน้อยเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับศาสนสถาน และเมื่อมีการกล่าวถึงพระองค์ก็หมายความว่าพระองค์ทรงมีพระราชโองการเกี่ยวกับศาสนสถานหรือทรงรับรองการบริจาคที่ดินแก่ศาสนสถานเท่านั้น ยังน่าประหลาดใจอีกที่ว่า ในขณะนั้นศาสนาพราหมณ์กำลังแพร่หลาย แต่ก็ได้รับการสนับสนุนน้อยจากพระราชาซึ่งเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์น้อยยิ่งกว่าบุคคลซึ่งเรารู้จักตำแหน่งว่า “โปญ” หรือ “มฺรตาญ” ท่านเหล่านี้บางครั้งก็กล่าวกันว่าเป็น “ผู้รับใช้พระราชา” และเราก็ยังไม่ทราบว่ายศชั้นใดสูงกว่ากัน เพราะเหตุว่าในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานพอที่จะเทียบเคียงได้

บางทีเราอาจนำสมัยนี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับ “เมืองรูปร่างกลม” สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในการเริ่มแรกตั้งถิ่นฐานของชนชาวขอมได้

เราอาจคิดได้ว่า “เมืองรูปร่างกลม” เหล่านี้ซึ่งมีการป้องกันเมืองมากบ้างน้อยบ้าง มีพระราชาที่ไม่สู้สำคัญนักเป็นผู้ปกครองหรือโดยขุนนางซึ่งเราพบเห็นบ่อยๆ ในบรรดาจารึกในพุทธศตวรรษที่ 12-13

แต่ก็ยังมีข้อยุ่งยากอยู่บ้างเพราะเหตุว่าบรรดาจารึกเหล่านี้ส่วนใหญ่ ได้ค้นพบในภาคใต้ของประเทศกัมพูชา ซึ่งดูเหมือนจะไม่เคยได้พบ “เมืองรูปร่างกลม” เลย

จดหมายเหตุจีนได้ให้ความรู้บ้างเกี่ยวกับสังคมและประเพณีของชาวขอม แต่ประเพณีเหล่านี้ก็มักจะกระทำขึ้นตามแบบและใกล้เคียงกับประเพณีของอินเดียอย่างยิ่ง จนกระทั่งจำต้องพิจารณาสอบสวนโดยละเอียด เราอาจคิดได้ว่า คำบอกเล่าเหล่านี้คงได้รับผ่านทางล่ามจีนจาก “พราหมณ์” ผู้ทรงความรู้และกังวลที่จะเผยแพร่ศาสตร์ของตนยิ่งกว่าที่จะบรรยายความจริงให้ฟัง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มิถุนายน 2565