เปิดวรรณกรรมชวนเชื่อ “บ็อณฎำตาเมียะฮ์” เล่าสภาพกัมพูชา หลังเป็นพื้นที่ไทยรบเวียดนาม

ภาพประกอบเนื้อหา - รูปพระราชวังแห่งใหม่ของ พระนโรดม ในพนมเปญ ในภาพข้าหลวงฝรั่งเศสนำข้าราชการชาวเขมรเข้าแถวเคารพธงชาติฝรั่งเศส ในขณะที่เจ้าเขมรฝ่ายกบฏก็ต่อต้านนโยบายแปลกปลอมอย่างเต็มที่ เพราะไม่พอใจกับการกดขี่ข่มเหงของฝรั่งเศส (ภาพจากไปรษณียบัตรเก่า พบในฝรั่งเศส)

การพิมพ์ในประเทศ กัมพูชา เริ่มต้นภายหลังประเทศไทยหลายปี โรงพิมพ์แห่งแรกของ กัมพูชา ซึ่งพิมพ์แต่อักษรโรมันเท่านั้นตั้งขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่อพิมพ์ข่าวสารทางการเป็นภาษาฝรั่งเศสโดยรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศส โรงพิมพ์เอกชนเพิ่งเกิดภายหลังปี พ.ศ. 2453 [1] ต่อมาใน พ.ศ. 2454 จึงมีการออกหนังสือ “ราชกิจราชการ” เป็นภาษาเขมร [2] ก่อนปี พ.ศ. 2463 การพิมพ์หนังสือภาษาเขมรเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจะต้องขออนุญาตจากเสนาบดีเสียก่อน

“บ็อณฎำตาเมียะฮ์ (บณฺฎำตามาส-คำสั่งตาเมียะฮ์)” เป็นวรรณกรรมเขมรเรื่องแรกที่จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2451 พิมพ์ขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์จากนายอาเดมาร์ เลอแกล (Adhemard Leclere) อดีตเรสิดังสุเปรีเออร์ หรือข้าหลวงใหญ่ของรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสประจำประเทศกัมพูชา [3]

ฉบับพิมพ์ของวรรณกรรมเขมรเรื่อง “บ็อณฎำตาเมียะฮ์ (บณฺฎำตามาส-คำสั่งตาเมียะฮ์)” ปัจจุบันมีเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดสำนักฝรั่งเศสปลายบุรพทิศ กรุงปารีส และอีกฉบับหนึ่งอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส มีจำนวน 40 หน้า วรรณกรรมเรื่อง “บ็อณฎำตาเมียะฮ์ (บณฺฎำตามาส-คำสั่งตาเมียะฮ์)” ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ระหว่างปี พ.ศ. 2451 (ค.ศ. 1908) จำนวนถึง 10,000 เล่ม [4]

วรรณกรรมเขมรเรื่องนี้มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะเนื้อหาของวรรณกรรมซึ่งกล่าวถึงประวัติศาสตร์กัมพูชาในเวลาก่อนและหลังจากฝรั่งเศสเข้ามาปกครองกัมพูชา โดยบรรยายสภาพบ้านเมืองกัมพูชาในยุคสงครามตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระอุทัยราชา (พระองค์จันท์) พระองค์มีสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) สมเด็จพระนโรดม และสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ซึ่งสองรัชกาลหลังประเทศกัมพูชาได้ตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส ศาสตราจารย์ฆีง หุกฑี นักวรรณคดีเขมร ได้กล่าวถึงวรรณกรรมเรื่องนี้ว่า “…วรรณกรรมเรื่องนี้ เป็นหนังสือแบบประวัติศาสตร์เพื่อรับใช้ระบบอาณานิคม…” [5]

บทความนี้เป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับวรรณกรรมเขมรเรื่องบ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) ในฐานะวรรณกรรมชวนเชื่อทางการเมือง เพื่อนำเสนอทัศนคติและความคิดของชาวกัมพูชาที่มีต่อไทยในบริบทความสัมพันธ์ช่วงก่อนและหลังกัมพูชาตกเป็นเมืองอาณานิคมฝรั่งเศสในมุมมองที่แตกต่างจากเอกสารประวัติศาสตร์ไทยด้วย

บ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) : วรรณกรรมชวนเชื่อทางการเมือง?

เรื่องบ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) เป็นวรรณกรรมเขมรที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์กัมพูชาในยุคก่อนและในช่วงที่กัมพูชาตกอยู่ใต้อาณานิคมฝรั่งเศส โดย “ตาเมียะฮ์ (ตามาส)” ในฐานะผู้เล่าเรื่อง [6] ได้เล่าถึงเหตุการณ์ซึ่งได้ประสบพบมาตั้งแต่เยาว์วัย รวมทั้งสภาพครอบครัวของท่านซึ่งแตกสลายในสงครามอานามสยามยุทธ์ จนกัมพูชาตกอยู่ใต้อาณานิคมฝรั่งเศส และกล่าวถึงการปกครองกัมพูชาของรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสในรัชกาลสมเด็จพระนโรดมฯ และสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ (ศรีสวัสดิ์) ซึ่งเวลานั้นตาเมียะฮ์อายุได้แปดสิบปีปลาย [7]

วรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นสภาพบ้านเมืองกัมพูชาในภาวะสงครามอานามสยามยุทธ์ และสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดของชาวกัมพูชา ทำให้ “ตาเมียะฮ์” เขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ด้วยน้ำเสียงชื่นชมต่อการเข้ามาของฝรั่งเศส ซึ่งช่วยยุติสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดจากสงครามระหว่างไทยกับเวียดนามในสงครามอานามสยามยุทธ์และการแทรกแซงอื่นๆ จากไทยและเวียดนามในกัมพูชาลง และนำความสงบสุขมาให้แก่ชาวกัมพูชา รวมทั้งสั่งสอนชาวกัมพูชาให้รู้คุณฝรั่งเศส

จากการศึกษาวิเคราะห์ของผู้เขียน วรรณกรรมเขมรเรื่องบ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) สามารถแบ่งเนื้อหาออกได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้

1. อานามสยามยุทธ์ : กัมพูชาในฐานะสนามประลองยุทธ์ระหว่างไทย-เวียดนาม

ตาเมียะฮ์ (ตามาส) ผู้เขียนวรรณกรรมเรื่องบ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) ได้กล่าวถึงอัตชีวประวัติของตนว่า เกิดในปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช 1190 ตรงกับ ค.ศ. 1828 บิดาของท่านมีตำแหน่งเป็นปลัดเมืองลงแวก (ละแวก) มีปู่เป็นเจ้าเมือง ย่าของท่านสูญหายไปกว่า 11-12 ปี “…กลางทางจากพระตะบองไปบางกอก เพราะเวลานั้นพวกกองทัพสยามกวาดต้อนเขานำไปเป็นเชลย…” [8]

มารดาของท่านเสียชีวิตไปในเวลาที่เวียดนามเข้าตีเมืองละแวก พี่ชายและน้องชายของท่าน 3 คน ตายลงในสงครามด้วย ส่วนท่านได้เข้าร่วมรบในสงครามได้ 3 ปี ก็มีการสงบศึกระหว่างไทยกับเวียดนาม และสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ได้ขึ้นครองราชย์ ณ กรุงอุดงค์มีชัย

เนื้อหาของเรื่องบ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) ตอนนี้มีความน่าสนใจ เพราะตาเมียะฮ์ได้บรรยายสภาพบ้านเมืองของกัมพูชาภายหลังสงครามอานามสยามยุทธ์ ซึ่งทำให้ประเทศกัมพูชาต้องกลายเป็นสนามรบระหว่างไทยกับเวียดนามว่า บ้านเมืองของกัมพูชาในเวลานั้นมีแต่ความลำบากยากแค้น บ้านแตกสาแหรกขาด มีความเดือดร้อนจากสงครามไปทุกหย่อมหญ้า ดังความในเรื่องว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบก.)

“…เมืองในเวลานั้นแตกแยกอัตคัดขัดสนในแต่ละหมู่บ้านเงินหนึ่งเรียลไม่มี หนีทิ้งนาไร่สวนเพาะปลูกไม่มีการปลูกไถคราดดำนาพ่นทิ้งเพราะกลัวญวนสยามมันมากำแหงเกี่ยวเอาข้าวในนา ต้นมะพร้าวหมากและต้นไม้กินผลทั้งหลายตัดทิ้งกว่าครึ่ง แล้วในหมู่บ้านซึ่งปู่ซึ่งพ่อของข้าเขาเคยเห็นรู้จักจากเดิมมีบ้าน 150 หลังนั้น เห็นอยู่แต่บ้าน 60 หลัง 50 หลัง 25 หลัง

ส่วนราษฎรที่อยู่ในเมืองก็น้อยกว่าเดิม พวกสมณะชีพราหมณ์ก็เกิดทุกข์เวทนาเพราะมันบุกปล้นพระวิหารอารามขนเอาพระพุทธรูปองค์ใดซึ่งเป็นทองเป็นเงินเป็นสำริด แล้วมันเผาพระวิหารวัดอารามเป็นจำนวนมากทิ้ง ส่วนวัดใดซึ่งเหลือนั้นหาหลังคาไม่มีหลังคานั้นทรุดแยกตกไปครอบบนอาสนะพระหาใครจะมีจิตคิดซ่อมแซมไม่มี เพราะกังวลแต่จะรบด้วยแล้งฝนด้วยเรื่อยมาจน 50 ปี เมือง หมู่บ้านแตกแยกหนีทิ้งสงัดสูญเงียบหน้าควรให้วังเวงใจตรอมตรมมากน่าเวทนาหญิงซึ่งมีลูกน้อยๆ นั่งโอบหัวเข้าหน้าเศร้ามองแต่ลูกตาปริบๆ…” [9]

ดังนั้นหลังจากสงครามอานามสยามยุทธ์ยุติลง ตาเมียะฮ์จึงได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา “…ส่วนตัวข้าในกาลนั้นก็ยากจนมากไม่มีญาติเผ่าสันดานเลย ในเวลานั้นวิชาการก็ลดถอยรู้แต่ความทุกข์เวทนา ก็มีใจตัดศรัทธาปรารถนาบวชเสร็จแล้วก็เข้าอุปสมบทในสำนักพระพุทธศาสนาในอารามแห่งหนึ่งในกรุงอุดงค์มีชัย เพื่อจะได้มรรคผลไปชาติหน้าอย่าให้อกุศลเหมือนชาตินี้และจะได้เรียนสวดธรรมอรรถศาสตราบาลีด้วย…” [10]

แต่วัดวาอารามรวมทั้งคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาของกัมพูชาในเวลานั้นก็เสียหายจากสงครามเพราะถูกไฟไหม้บ้าง ถูกไทยและเวียดนามทำลายบ้าง แม้แต่วัดปรางค์ในกรุงอุดงค์มีชัยซึ่งเป็นวัดหลวงก็เสียหายอย่างหนัก “…ในวัดเล่าก็หาเรียนธรรมอรรถศาสตราบาลีไม่มี ไฟไหม้เสียหายอันตรายบ้าง สยามมันลักเอาบ้าง ญวนมันทำลายบ้าง…” [11]

นอกจากนี้ปัญหาการแทรกแซงทางการเมืองของไทยและเวียดนาม โดยเฉพาะการที่ไทยและเวียดนามเข้ามายึดครองดินแดนบางส่วนของกัมพูชาทั้งก่อนและหลังการทำสัญญาสงบศึกอานามสยามยุทธ์ ก็ส่งผลต่อความมั่นคงทางการเมืองของกัมพูชาในรัชกาลของสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) อย่างมากด้วย

ทัศนคติและความรู้สึกของชาวกัมพูชาเหล่านี้ปรากฏออกมาอย่างชัดเจนในวรรณกรรมเรื่องบ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) ซึ่งอาจมีความหมายทางการเมืองแฝงอยู่ โดยเฉพาะการเน้นย้ำหรือตอกย้ำข้อความเหล่านี้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการที่ฝรั่งเศสจะเข้ามามีอิทธิพลและปกครองกัมพูชาแทนขั้วอำนาจเก่าซึ่งมีอิทธิพลต่อกัมพูชาในเวลานั้นคือไทยและเวียดนาม ดังนี้

“…ที่เกิดสงครามในเมืองเขมรแล้วลงสัญญาทำสะพานไมตรีเสร็จแล้วนั้น พวกมหาศัตรูเราทั้งสองฝ่าย คือ กษัตริย์สยามและกษัตริย์ญวนซึ่งยังกวนเอาแผ่นดินเราอีก กษัตริย์สยามเอาเมืองส่วนทางเหนือคือ เมืองเสียมราบ มีนครธมกรุงเมืองเขมรเรา และเมืองพระตะบอง มลูไพร (มโนไพร) ตวนเลโรปึว และเมืองเขมรทั้งหลายซึ่งอยู่ริมทะเลทางทิศตะวันตก ส่วนกษัตริย์ญวนเอาแผ่นดินเขมรทั้งหลายทางด้านใต้ คือ ไพรนคร (ไซ่ง่อน) โคชินจีนปัจจุบันนี้ ไปจนถึงแพรกจีก (คลองขุด) เมืองเปียม (บันทายมาศ) ทางตะวันตกส่วนทางตะวันออกเอาตลอดไปคู่กับกรุงพนมเปญ…”[12]

ตาเมียะฮ์ได้กล่าวถึงความรู้สึกกังวลพระทัยของสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) กษัตริย์กัมพูชาในเวลานั้นซึ่งมีต่อไทยและเวียดนามไว้ ดังนี้

“…สมเด็จเจ้าแผ่นดินเราท่านเกิดทุกข์กังวลพระทัยเหมือนราษฎรด้วย เพราะทรงเล็งเห็นว่าสยามและญวนมันคิดเอาเมืองเขมรเข้ารวมในเมืองของมันเรื่อยไป เพียงแต่มันรวมเข้าไม่ทันได้เพราะมันเป็นศัตรูกันและแบ่งกันไม่ได้ด้วยมันใคร่ได้ทั้งหมดเหมือนกัน เจ้าเราท่านกังวลพระทัยอีกอย่างหนึ่งเพราะสยามมันใคร่ทำนุบำรุงท่านๆ ไม่สบพระทัย เพราะมันไม่ให้ท่านเป็นกษัตริย์แผ่นดินเมืองเขมร มันให้ท่านเป็นเหมือนแค่เจ้าเมืองๆ เขมร ส่วนญวนมันให้ท่านยอมขึ้นอยู่ใต้อำนาจมัน เหตุดังนี้พระองค์จึงเฝ้าแต่กังวลพระราชหฤทัยเกรงเกิดสงครามใหม่ขึ้นอีก เกรงเมืองเขมรจะพินาศอันตรายและสิ้นสุดหมดเชื้อสายเขมร เกรงมีอยู่แต่สยาม หรือมีอยู่แต่เขมรซึ่งเกล้าผมจากข้างในเหมือนเป็นพนองเสตียง๑๓ เอาผ้าโพกหัวเหมือนเป็นญวน…” [14]

การที่ตาเมียะฮ์กล่าวถึงความรู้สึกกังวลพระทัยของสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) มีต่อไทยและเวียดนาม เป็นการเกริ่นหรืออธิบายถึงสาเหตุที่สมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ทรงตัดสินพระทัยติดต่อกับฝรั่งเศส และพยายามให้ฝรั่งเศสเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองระหว่างไทยกับเวียดนาม

2. กัมพูชา : การเข้ามาของฝรั่งเศส

เนื้อหาในส่วนต่อมาของเรื่องบ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) กล่าวถึงภัยอันตรายจากการแทรกแซงของไทยและเวียดนาม และอธิบายว่าความกังวลกลัวว่าไทยกับเวียดนามจะเอาเมืองเขมรมาแบ่งกันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ทรงพยายามเลือกติดต่อชาติต่างๆ ในยุโรปเพื่อให้เข้ามาช่วยอุปถัมภ์กัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ วิลันดา (ฮอลันดา) สเปน และโปรตุเกส แต่ในที่สุดก็ทรงเลือกฝรั่งเศสเพราะฝรั่งเศสไม่มีเมืองขึ้น และเพราะพระองค์ทรงต้องการหลุดพ้นจากการควบคุมของสยามซึ่งส่งข้าหลวงสยาม [15] มาอยู่ในเมืองอุดงค์มีชัยนั้นด้วย ดังนี้

“…แต่ยังทรงมีพระวิตกเกรงต่อไปภายหน้าสยามและญวนมันเอาเมืองเขมรเราแบ่งกัน ทรงพระจินดาแต่เพียงเท่านี้จึงทรงเล็งเห็นว่าจะพึ่งประเทศยุโรปใดประเทศหนึ่งให้ช่วยทำนุบำรุง บัดนี้จะพึ่งบุญอังกฤษได้อินเดียแล้วและเมืองสิงคโปร์แล้ว บัดนี้จะไปพึ่งบุญวิลันดาทรงไม่สบพระทัยเพราะวิลันดาเป็นเจ้าฝ่ายอยู่เมืองชวา เมืองสุมาตรา แล้วบัดนี้จะไปพึ่งบุญสเปนหรือโปรตุเกสเพราะเมืองนั้นไม่เก่ง ทรงพระจินดาดังนี้เสร็จแล้วก็ทรงตัดสินพระทัยว่าจะพึ่งฝรั่งเศสเพราะฝรั่งเศสไม่มีเมืองขึ้นอยู่ใกล้เขมร

อีกประการหนึ่งเมื่อทรงประทับอยู่ในเมืองบางกอกได้พบกับฝรั่งเศสและทรงทอดพระเนตรเห็นรื่นเริงไม่หยิ่งยโสกับใครโอภาปราศรัยนับถือคนทั้งปวงและจิตใจก็มีธรรมสัปบุรุษ จึงทรงตัดสินว่าขอพึ่งฝรั่งเศสให้ช่วยทำนุบำรุงการพระราชศัตรูญวนที่เมืองไพรนคร (ไซ่ง่อน) และการพระราชศัตรูสยามเป็นต้น เพราะมีข้าหลวงมายืนเคียงพระองค์อยู่ในเมืองอุดงค์มีชัย ทรงมีพระทัยอับอายอยากให้หลุดจากมือสยามนั้นมาก…” [16]

เรื่องบ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) กล่าวว่า ด้วยสาเหตุดังกล่าวมานี้สมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) จึงโปรดให้ราชทูต 2 นายนำพระราชสาส์นไปถึงกงสุลฝรั่งเศสที่เมืองสิงคโปร์ อีกฉบับหนึ่งไปถึงพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ความในพระราชสาส์นนั้นว่า “…ขอพึ่งบุญกษัตริย์ฝรั่งเศสขอให้กษัตริย์ฝรั่งเศสแต่งราชทูตเข้ามาจะลงสัญญากัน…” [17]

ในเวลานั้นฝรั่งเศสไม่ได้แต่งราชทูตเข้ามากัมพูชา แต่ได้ส่งกองทัพมารบกับเวียดนาม ฝรั่งเศสตีได้เมืองไพรนคร (ไซ่ง่อน) และโคชินจีน เป็นเหตุให้สมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) “…ก็มีพระราชหฤทัยยินดีเนื่องจากเห็นว่าฝรั่งเศสยกทัพมาตีไล่ญวน หลวงสุคตในปีมะแม เอกศก จุลศักราช 1220…” [18]

ตาเมียะฮ์กล่าวว่า ตนเองมีใจยินดีกับการที่ฝรั่งเศสมาไล่ญวนซึ่งเป็นศัตรู “…ข้ามีจิตยินดีกับฝรั่งเศสซึ่งมาไล่ญวนมันเป็นศัตรูกับเราเขมร มันตีกดขี่ข่มเหงเราใกล้ๆ แต่สามสิบปี…เพียงแต่เวลานั้นเรากลัวแต่ฝรั่งเศสเมื่อใดที่ตีเมืองญวนเสร็จแล้วก็จะกลับคืนไปเมืองไม่มาช่วยเราเขมร…” [19]

เมื่อฝรั่งเศสทำสงครามกับเวียดนามแล้ว ทำให้กัมพูชาปลอดศัตรูไปทางหนึ่ง เหลือแต่สยามซึ่งในเวลานั้นสมเด็จพระนโรดมซึ่งเป็นพระราชบุตรของสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ขึ้นครองราชย์ พระองค์วัตถาซึ่งเป็นพระราชบุตรองค์ที่ 3 ในสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี “…ซึ่งไม่ควรจะขึ้นครองราชสมบัติแทนองค์สมเด็จพระวรราชบิดานั้นคิดก่อการขบถตั้งเป็นกองทัพแล้วหนีไปหลบในเมืองสยาม…” [20]

นอกจากนี้ตาเมียะฮ์ยังกล่าวว่าไทยเป็นผู้ให้การสนับสนุนการขบถของพระองค์เจ้าวัตถา ดังความในเรื่องว่า

“…ฝ่ายกษัตริย์สยามทรงบนให้แต่เจ้าวัตถา ยกกองทัพเข้ามารบกับพระบาทสมเด็จพระนโรดมในกัมพูชา เหมือนเมื่อพระราชวงศาเขมรทั้งหลายซึ่งขบถตั้งแต่เดิมเรื่อยมา นั้นมักหนีไปหลบพึ่งบุญสยาม สยามมักช่วยสนับสนุนเรื่อยมา…” [21]

แม้เมื่อฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าเมืองไพรนคร (ไซ่ง่อน) ขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระนโรดมเพื่อกราบบังคมทูลทางราชการว่า

“…ราชการฝรั่งเศสคิดว่าต้องเอาเมืองโคชินจีนไว้เป็นของราชการฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระนโรดมได้ทรงทราบดังนั้นก็มีพระราชหฤทัยโสมนัสกับราชการฝรั่งเศสเอาโคชินจีนตัดเป็นของฝรั่งเศส…” [22]

ข้อความนี้แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตาเมียะฮ์เป็นชาวกัมพูชากลุ่มที่มีแนวความคิดสนับสนุนฝรั่งเศส (อาจเป็นไปได้เช่นกันว่าฝรั่งเศสเป็นผู้กำหนดเนื้อหาให้เขียน) เนื้อหาของเรื่องบ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) ในส่วนนี้จึงสนับสนุนการเข้ามามีอิทธิพลของฝรั่งเศสในดินแดนโคชินจีน ซึ่งในเวลาต่อมาจะกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนอาณานิคมของฝรั่งเศส ทั้งๆ ที่ดินแดนเหล่านี้เป็นของกัมพูชามาแต่เดิมแต่ถูกเวียดนามเข้ามายึดครอง

แสดงให้เห็นว่าเรื่องบ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) ถูกเขียนขึ้นเพื่อสนับสนุนความชอบธรรมของอาณานิคมฝรั่งเศสในการที่จะเข้ามามีบทบาทในการปกครองกัมพูชาอย่างชัดเจน และยิ่งปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อกล่าวถึงการที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองกัมพูชาในฐานะอาณานิคมอย่างชัดเจนดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

3. อาณานิคมฝรั่งเศส : ความชอบธรรมในการปกครองกัมพูชา

บ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับความชอบธรรมของรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสในการปกครองประเทศกัมพูชาไว้อย่างชัดเจน มีการเน้นย้ำในประเด็นนี้หลายครั้ง โดยมากเป็นการกล่าวถึงคุณงามความดีของรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสที่ช่วยเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ในกัมพูชา และสามารถปกครองกัมพูชาให้อยู่ในความสงบสุข ดังความว่า

“…ตั้งแต่ได้ราชการฝรั่งเศสมาทำนุบำรุง กรุงกัมพูชาก็ได้สมบูรณ์โสภิณี ไม่มีศัตรูไหนมาเบียดเบียนยายีและอาณาประชาราษฎร์ก็หากินสุขสบายตามโดยสุจริตซื่อตรง ไม่มีกังวลเหนื่อยกลัวเกรงหนีกับศึกสมรสงครามชัยเลย

เวลานั้นฝรั่งเศสได้ทำราชการถวายสมเด็จพระนโรดมช่วยรบไล่จับอาจารย์สวา โพก็อมโบร์ ส่วนตัวโพก็อมโบร์แตกทัพจากเมืองบาพนม หนีไปถึงเมืองกำพงธมเขตกำพงสวายจับได้แล้วประหารชีวิตในที่นั้น…” [23]

บางครั้งเรื่องบ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) ไม่ได้กล่าวถึงฝรั่งเศสโดยตรง แต่บอกเป็นนัยด้วยการอ้างถึง “ผู้มีบุญอำนาจ” ที่ปกครองเวียดนามในโคชินจีนและทำให้ไทยไม่กล้ารุกรานกัมพูชาซึ่งหมายถึง “ฝรั่งเศส” นั้นเอง ดังความในเรื่องว่า

“…ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนโรดมเสวยราชย์เรื่อยมาถึงบัดนี้ ในเมืองเขมรทางด้านวิชาความรู้ก็มีความเจริญและรุ่งเรืองขึ้นกว่าแต่เดิมนั้นมากและไม่มีศัตรูมาเบียดเบียน เพราะมีผู้มีบุญอำนาจซึ่งทำนุบำรุงเราครอบครองพวกญวนในโคชินจีน และสยามมากลัวไม่กล้ามาเบียดเบียนอีกตั้งแต่เวลาตอนนั้นเรื่อยมา…” [24]

นอกจากจะมีการกล่าวถึงคุณความดีของอาณานิคมฝรั่งเศสแล้ว เนื้อความในส่วนนี้ยังเป็นการสั่งสอนให้ชาวกัมพูชารู้คุณฝรั่งเศส จึงถือได้ว่าเนื้อหาในส่วนนี้เป็นเนื้อหาส่วนสำคัญที่สุดของหนังสือเรื่องนี้ เพราะเป็นเนื้อหาในส่วนที่เป็น “บ็อณฎำตาเมียะฮ์” ซึ่งหมายถึง “คำสั่ง (สอนของ) ตาเมียะฮ์” จริงๆ ดังความว่า

“…ท่านทั้งหลาย นาหมื่นก็ดี ราษฎรก็ดี จงดูแล้วพิจารณาให้ครบถ้วนไปเห็นหรือไม่ว่า…เหตุซึ่ง (กัมพูชา) ได้สมบูรณ์ทั้งนี้เพราะอะไรนั้น เห็นว่าความอดอยากไม่ค่อยมี ตั้งแต่เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาอยู่ในเมืองเราแล้วเมืองเราก็ไม่นานเลยสมบูรณ์มีทรัพย์สมบัติ เออ เหมือนว่าตัวตานี้อายุ 80 ปีปลายแล้วๆ จำดำเนินเรื่องเก่า นำมาเล่าให้ลูกหลานโหลนเหลนในภายหลังให้รู้เรื่องฝรั่งเศสนี้เมื่อก่อนเป็นเช่นไร ต่อมาอีกเป็นเช่นไรอีกปัจจุบันนี้ จงจำอย่าลืมความซึ่งคนตั้งแต่เดิมทนลำบากทุกขเวทนานั้นอย่างไรบ้าง แล้วอย่าลืมคุณฝรั่งเศส แต่นำปากชั่วคิดการทุจริตลับแล้วสิ่งนั้นมันจะนำให้เมืองนครของเรากลับไปแหล่งเดิมเหมือนกาลเมื่อมักเกิดสงครามกำสรดอดอยาก 20 ปีครั้ง 10 ปีครั้ง…” [25]

เห็นได้ว่าในคำสั่ง (สอน) ของ “ตาเมียะฮ์” กล่าวว่า หากมีการทำ “การทุจริตลับ” อันน่าจะหมายถึง การดำเนินการลับเพื่อต่อต้านฝรั่งเศส จะเป็นการนำพาประเทศกัมพูชากลับไปสู่เป็นอย่างเดิมคือมีสงครามอดอยากทุก 10 ปีครั้งหนึ่ง 20 ปีครั้งหนึ่ง ดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา แสดงว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีความพยายามในการต่อต้านฝรั่งเศสเกิดขึ้นแล้วในประเทศกัมพูชา

ดังนั้นการเขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ขึ้นก็อาจเป็นความพยายามที่จะลดปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นและเป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้ชาวกัมพูชาที่ได้อ่านหนังสือเรื่องนี้เชื่อว่า การเข้ามาปกครองกัมพูชาของฝรั่งเศสเป็นความชอบธรรม เพราะทำให้กัมพูชามีความสงบสุข ปราศจากสงคราม และมีความเจริญรุ่งเรือง

จากนั้น “บ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์)” ได้บรรยายถึงความเจริญในด้านต่างๆ ที่ฝรั่งเศสนำมาให้กับกัมพูชา เช่น การคมนาคม การค้า และกล่าวถึงความสามารถในด้านต่างๆ ของฝรั่งเศส เช่น รู้จักถ่ายรูป สามารถเหาะบนอากาศได้ ฯลฯ เพื่อแสดงว่าฝรั่งเศสเป็นผู้มีความเจริญด้านวิทยาการสมัยใหม่และมีคุณูปการต่อการทำนุบำรุงบ้านเมืองของกัมพูชาให้มีความเจริญ

เรื่องบ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) สนับสนุนความชอบธรรมในการปกครองของอาณานิคมฝรั่งเศสมากถึงกับกล่าวว่า สมเด็จพระนโรดมได้มอบราชการแผ่นดินทั้งปวงให้ฝรั่งเศสครอบครองต่างพระเนตรพระกรรณ ดังความในเรื่องว่า

“…พระบาทสมเด็จพระนโรดมเป็นเจ้าแผ่นดินนครเรา พระองค์ได้มอบราชการให้ฝรั่งเศสครอบครองต่างพระเนตรพระกรรณ [26] กับเสนาบดี เจ้าเมือง ปลัด และพวกข้าราชการเขมรเป็นพันคนซึ่งเป็นราชการอยู่ในบังคับเรสิดังฝรั่งเศส…” [27]

ข้อความนี้แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนเรื่องราวในประวัติศาสตร์ผ่านการเล่าของ “ตาเมียะฮ์” เพื่อให้เห็นว่าการที่ฝรั่งเศสมาปกครองกัมพูชานั้นเป็นเพราะ “พระองค์ได้มอบราชการให้ฝรั่งเศสครอบครองต่างพระเนตรพระกรรณ” ไม่ได้เกิดจากการที่ฝรั่งเศสบังคับ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมากกว่า ดังที่เดวิด แชนด์เลอร์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์กัมพูชาว่า

“…เจ้านโรดมทรงปกครองราชสำนักกัมพูชาตามแบบอย่างที่ฝรั่งเศสใช้อำนาจกำหนดเอาตามอำเภอใจ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ เจ้านโรดมทรงถูกขีดเส้นให้ดำเนินนโยบายเพื่อความอยู่รอดมากกว่าเพื่ออุดมการณ์ในการบริหารประเทศ…” [28]

ความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วรรณกรรมเรื่องนี้ได้พยายามแก้ไขหรือเบี่ยงเบนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างราชสำนักกัมพูชากับอาณานิคมฝรั่งเศสให้กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปรกติมิได้มีความรุนแรง และที่สำคัญคือแสดงให้เห็นว่าราชสำนักเป็นผู้กำหนดที่จะ “มอบราชการให้ฝรั่งเศส” มิใช่ “ฝรั่งเศสใช้อำนาจกำหนดเอาตามอำเภอใจ” ด้วยเหตุนี้ฝรั่งเศสจึงมี “สิทธิธรรม” ในการปกครองกัมพูชาอย่างถูกต้อง

“บ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์)” ยังได้กล่าวสรรเสริญความดีของฝรั่งเศสในด้านการแพทย์ที่มีต่อชาวกัมพูชา และสั่งสอนว่าชาวกัมพูชาที่รู้คุณฝรั่งเศสควรที่จะอาสาช่วยงานฝรั่งเศสเป็นการตอบสนองคุณ ดังนี้

“…อีกประการหนึ่งที่น่าสรรเสริญฝรั่งเศสนั้น จิตใจอะไรก็ดีกับคนยากจนทุรคตคนที่ป่วยโรคาพยาธิ เขาจัดแพทย์อยู่ทุกที่ว่าราชการของเรสิดังประจำจังหวัดให้คอยรักษาดูแลคนป่วยเหล่านั้นก็เห็นว่าใจเขาดีแน่แท้ ส่วนเราเขมรซึ่งจะรู้คุณเขานั้นคือเอาใจรับอาสาช่วยเขาตามความคิดซึ่งเขาคิดทำอะไรๆ ส่วนความซึ่งอาสาช่วยงานเขานั้น เปรียบเหมือนเรารักเมืองเราทำราชการตอบสนองคุณนครเรา…” [29]

“บ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์)” กล่าวถึงการที่ฝรั่งเศสช่วยให้กัมพูชาได้รับดินแดนที่สูญเสียไปตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) คืนมาว่า เป็นเพราะฝรั่งเศสจึงทำให้กัมพูชาได้รับเมืองเหล่านี้คืน ดังปรากฏในเรื่องว่า

“…เมื่อในรัชกาลพระบาทพระหริรักษ์รามา (พระองค์ด้วง) หรือเมื่อในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนโรดม (หลวงสุวรรณโกศ) นั้นเมืองเขมรเราก็ไม่ทันได้ใหญ่เท่าใด ส่วนสยามเนื่องจากฝรั่งเศสขู่เข็ญมันมอบเขตพระตะบอง มงคลบุรี ศรีโสภณ เสียมเรียบ ซึ่งอยู่ด้านหนึ่งของทะเลสาบทั้งหลายคืนให้เรา ส่วนเขตเกาะกงซึ่งอยู่ริมทะเลทางตะวันตกสยามมันก็มอบคืนมาให้เราด้วย ส่วนเขตตวนเลโรปึว มลูไพร ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของนครเขมรเราก็สยามมันมอบคืนมาให้ อีกเมืองหนึ่งซึ่งฝรั่งเศสเอาเมืองลาวได้มาจากมือสยาม แล้วเขาก็มอบเขตสตึงแตรงคืนมาให้เขมร ถ้าไม่มีฝรั่งเศสเช่นนี้แล้วเราน่าจะเอาเขตทั้งนั้นคืนมารวมเข้าในเมืองเขมรไม่ได้เลย…” [30]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ฆีง หุก ฑี. มาลีบทอกฺสรสิลฺป์แขฺมรสตวตฺสที 20. (ภฺนํเพญ : บณฺณาคารองฺคร, 2002), น. 24.

[2] เรื่องเดียวกัน, น. 25.

[3] ฆีง หุกฑี. บณฺฎำตามาส. (ภฺนํเพญ : บณฺณคารองฺคร, 2007), น. 7.

[4] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

[5] ฆีง หุกฑี. ทิฎฺฐภาพทูเทาไนอกฺสรสาสฺตฺรแขฺมร. (ภฺนํเพญ : บณฺณาคารองฺคร, 2003), น. 130.

[6] สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับวรรณกรรมเรื่องนี้คือ ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่า “ตาเมียะฮ์ (ตามาส)” ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องนี้มีตัวตนจริงหรือไม่ นอกจากประวัติที่กล่าวถึงในตัวบทวรรณกรรม ดังนั้น “ตาเมียะฮ์ (ตามาส)” อาจเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นเช่นเดียวกับตัวบทวรรณกรรมเรื่องนี้ก็ได้ แต่เนื่องจากบทความนี้ผู้เขียนต้องการนำเสนอเนื้อหาของตัวบทวรรณกรรมเรื่องนี้จึงขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ ประเด็นที่น่าสงสัยเกี่ยวกับ “ตาเมียะฮ์ (ตามาส)” และการศึกษาเรื่องนี้ในฐานะตัวบทวรรณกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อรับใช้การเมืองอาณานิคมฝรั่งเศสนั้นผู้เขียนจะได้ศึกษาวิเคราะห์นำมาเสนอในโอกาสต่อไป

[7] ฆีง หุกฑี. บณฺฎำตามาส. น. 33.

[8] เรื่องเดียวกัน, น. 13.

[9] เรื่องเดียวกัน, น. 14.

[10] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

[11] เรื่องเดียวกัน, น. 15.

[12] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

[13] พนอง, เสตียง เป็นชื่อชนกลุ่มน้อยในประเทศกัมพูชา

[14] เรื่องเดียวกัน หน้าเดียวกัน.

[15] น่าจะหมายถึงหลวงศรีเสนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ออกมาเป็นข้าหลวงอยู่ที่เมืองอุดงค์มีชัย

[16] เรื่องเดียวกัน, น. 16.
[17] เรื่องเดียวกัน, น. 17.
[18] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
[19] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
[20] เรื่องเดียวกัน, น. 21.
[21] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
[22] เรื่องเดียวกัน, น. 22.
[23] เรื่องเดียวกัน, น. 23.
[24] เรื่องเดียวกัน, น. 24.
[25] เรื่องเดียวกัน, น. 25.

[26] ฉบับภาษาเขมรเขียนเป็นสำนวนราชาศัพท์ในภาษาเขมรว่า “ต่างพระเนตรพระโอษฐ์”

[27] เรื่องเดียวกัน, น. 29.

[28] เดวิด แชนด์เลอร์, พรรณงาม เง่าธรรมสาร และคณะ (ผู้แปล). ประวัติศาสตร์กัมพูชา. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2540), น. 222.

[29] ฆีง หุกฑี. บณฺฎำตามาส. น. 30.

[30] เรื่องเดียวกัน, น. 32.

[31] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

[32] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

บรรณานุกรม :

ฆีง หุกฑี. ทิฎฺฐภาพทูเทาไนอกฺสรสาสฺตฺรแขฺมร. ภฺนํเพญ : บณฺณาคารองฺคร, 2003.

_________. บณฺฎำตามาส. ภฺนํเพญ : บณฺณคารองฺคร, 2007.

_________. มาลีบทอกฺสรสิลฺป์แขฺมรสตวตฺสที 20. ภฺนํเพญ : บณฺณาคารองฺคร, 2002.

เดวิด แชนด์เลอร์. พรรณงาม เง่าธรรมสาร และคณะ (ผู้แปล). ประวัติศาสตร์กัมพูชา. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2540.

Jacob, Judith M. The Traditional Literature of Cambodia. New York : Oxford University Press, 1996.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “บ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) : วรรณกรรมชวนเชื่อของกัมพูชายุคอาณานิคมฝรั่งเศส” เขียนโดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน 2564