ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“พระธาตุเมืองลาหนองคาย” พระธาตุกลางน้ำโขงที่หนองคาย
ที่จังหวัดหนองคาย มีพระธาตุองค์หนึ่งจมอยู่ในแม่น้ำโขง พระธาตุองค์นี้คือ พระธาตุเมืองลาหนองคาย บ้างเรียกพระธาตุหล้าหนอง พระธาตุที่มีความเก่าแก่องค์หนึ่งในภาคอีสาน เพราะปรากฏร่องรอยอยู่ในตำนานอุรังคธาตุ ตำนานโบราณพื้นถิ่นสองฝั่งโขง
ตำนานอุรังคธาตุ กล่าวถึงสถานที่แห่งนี้ว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนของฝ่าพระบาทเบื้องขวา (ฝ่าเท้าข้างขวา) จำนวน 9 องค์ ที่พระอรหันต์สังขวิชาเถระอัญเชิญมาจากอินเดีย ดังที่ ตำนานอุรังคธาตุ บันทึกไว้ว่า
“…ส่วนมหาสังขวิชเถระนั้นนำเอาพระบรมธาตุ 9 องค์ประดิษฐานที่เมืองลาหนองคาย น้าเลี้ยงพ่อนมพร้อมด้วยชาวเมืองสร้างอุโมงค์สำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุนั้นใต้พื้นแผ่นดิน ขนาดกว้างด้านละ 2 วา 2 ศอก สูง 3 วา แล้วไปด้วยซะทายลายจีน จึงเอาแผ่นเงินอันบริสุทธิ์รองพื้น แล้วนำเอาพระบรมธาตุเข้าในผอบทองคำ นำไปประดิษฐานไว้ในอุโมงค์นั้น…”
ต่อมา ในสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ล้านช้าง ที่ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2091-2114 โปรดให้สร้างเจดีย์ครอบพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุเมืองลาหนองคายจึงน่าจะก่อสร้างครั้งแรกในปลายพุทธศตวรรษที่ 21
จนกระทั่งแม่น้ำโขงกัดเซาะตลิ่งทำให้พระธาตุเมืองลาหนองคายจมลงในแม่น้ำเมื่อ พ.ศ. 2390 ดังที่พงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์ ระบุว่า “…ศักราชได้ 209 ปีเมิงมด (มะแม)…เดือน 9 ขึ้น 9 ค่ำ วันศุกร์ยามแลใกล้ต่ำมื่อฮับไค้ พระธาตุใหญ่หนองคายเพ (พัง) ลงน้ำของ มื่อนั้นแล…”
ใน พ.ศ. 2410 ฟรองซิส การ์นิเย (Francis Garnier) หนึ่งในคณะสำรวจแม่น้ำโขงของฝรั่งเศสได้เดินทางมาถึงเมืองหนองคาย ได้บันทึกถึงพระธาตุเมืองลาหนองคายว่า พระธาตุได้พังลงเมื่อราวสิบปีที่แล้ว และฟรองซิสยังได้วาดภาพเอาไว้ด้วย ปรากฏในหนังสือ Voyage d’exploration en Indo-Chine : effectue pendant les annees 1866, 1867 et 1868 นั่นจึงเป็นข้อยืนยันว่า พระธาตุเมืองลาหนองคายจนลงก่อน พ.ศ. 2410 อย่างแน่นอน

ใน พ.ศ. 2538 กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจพระธาตุเมืองลาหนองคายพบว่าพระธาตุได้พังหักเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 อยู่เหนือน้ำ ประกอบด้วยส่วนฐานจนถึงเรือนธาตุบางส่วน เป็นฐานก่ออิฐถือปูนทึบตันทั้งองค์ ฐานล่างสุดกว้าง 15.80 เมตร สูงประมาณ 4.88 เมตร
ส่วนที่ 2 ส่วนเรือนธาตุที่จมอยู่ใต้น้ำ มีลวดลายปูนปั้นประดับ ที่ส่วนปลายมีรอยหักต่อไปอีก มีความสูงประมาณ 7.32 เมตร
ส่วนที่ 3 ยอดเจดีย์ คาดว่าจมอยู่ในตะกอนทราย

สำหรับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของพระธาตุกลางน้ำโขงที่หนองคายแห่งนี้นั้น สันนิษฐานว่ามีความคล้ายคลึงกับพระธาตุบังพวน วัดพระธาตุบังพวน ตำบลพระธาตุบังพวน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย แต่ไม่ใช่พระธาตุบังพวนองค์ปัจจุบัน จะเป็นพระธาตุองค์เดิมก่อนที่จะล้มลงเมื่อ พ.ศ. 2513
สันนิษฐานว่าพระธาตุเมืองลาหนองคายมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบล้านช้าง ได้รับคติการสร้างและรูปแบบทางศิลปกรรมจากล้านนา ก่ออิฐ ฉาบปูน มีปูนปั้นประดับเรือนธาตุ
และเนื่องในวโนกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา จึงได้มีการก่อสร้างพระธาตุหล้าหนององค์จำลองขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ
ปัจจุบัน พระธาตุหล้าหนอง ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำโขง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย และไม่ไกลจากริมฝั่งก็ปรากฏซากของพระธาตุเมืองลาหนองคาย โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนช่วงน้ำน้อยในฤดูแล้ง
อ่านเพิ่มเติม :
- “หนองคาย” เมืองริมฝั่งโขง เป็นมาอย่างไร?
- ตำนาน “เจ้าแม่สองนาง” เมืองหนองคาย ธิดากษัตริย์ลาวสู่เทพแม่น้ำโขง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กุลวดี สมัครไทย. (ออนไลน์). พระธาตุกลางน้ำที่หนองคาย. เข้าถึงเมื่อ 27 กันยายน 2567, จาก https://www.finearts.go.th/storage/contents/2021/11/detail_file/5cVJMfnnLoKVpk9KDusB2qZ3fEF40LDwLpgdR6CR.pdf
เทศบาลเมืองหนองคาย. (ออนไลน์). พระธาตุหล้าหนอง (พระธาตุกลางน้ำ). เข้าถึงเมื่อ 27 กันยายน 2567, จาก https://nongkhaimunicipality.go.th/travel/detail/22/data.html
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ออนไลน์). พระธาตุหนองคาย หรือพระธาตุกลางน้ำ. เข้าถึงเมื่อ 27 กันยายน 2567, จาก https://thai.tourismthailand.org/Attraction/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2567