ไอเดีย “เมืองหลวงใหม่” (ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ) ฝันที่เอื้อมไม่ถึงของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

รัฐบาลคณะราษฎรสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (หลวงพิบูลสงคราม) เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2481-88

ปัญหาเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ อย่างไรก็คงไม่จบลงที่ผู้ว่าฯ คนใหม่แน่ ความซับซ้อนของสังคม คือปมของปัญหาที่นับวันจะมัดแน่นจนไม่มีวันคลายออกได้ ด้วยความสามารถของมนุษย์คนใด มันอาจจะดีขึ้นบ้าง แต่ไม่เคยดีพอ เมื่อหัวใจของประเทศกำลังป่วยจนเกินจะเยียวยาได้แล้ว เราจะทำอย่างไรกันดี

เคยมีแนวคิดในการทำกรุงเทพฯ ให้หลวม ด้วยการย้ายหน่วยราชการออกไปนอกเมือง ไปรวมกันอยู่ที่แปดริ้ว คล้ายกับวอชิงตัน ดี.ซี. ให้เป็นเมืองราชการ แต่ในที่สุดแนวคิดนี้ก็ตกไป เมื่อการเมืองและผลประโยชน์จัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน

เราเคยย้ายเมืองหลวงด้วยเหตุผลทางสงคราม เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ได้เมืองหลวงใหม่ที่ฝั่งธนบุรี ต่อมาเราก็ย้ายเมืองหลวงอีก ข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาอยู่กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลของสงครามและการเมืองแล้วเราก็เกือบต้องย้ายเมืองหลวงอีกครั้ง ไปอยู่เพชรบูรณ์ ด้วยเหตุคล้ายกัน

การสร้างเมืองหลวงในอดีตนั้น ย่อมมีพิธีกรรมอันสลับซับซ้อนมากมาย ไม่ใช่ใครก็ทำได้ เมื่อครั้งจะตั้ง กรุงเทพฯ นั้น นอกจากจะดูฤกษ์ดูยามแล้ว รัชกาลที่ 1 ยังต้องมีการ “ข่มมาร” ทางฝั่งตะวันตก คือกรุงธนบุรีเสียก่อน แล้วจึงเสด็จเข้าสู่เขตพระราชฐาน

จนเมื่อ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นบุกไทย รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย ระหว่างนี้เองที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ นัยว่าเป็นการสร้างชาติ ตั้งแต่การแต่งกาย ภาษา นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงประเทศเกือบทุกด้าน ทั้งการเกษตร การอุตสาหกรรม ลงมาจนถึงการผลิตในครัวเรือน แม้แต่การเปลี่ยนชื่อประเทศ แทบจะเรียกได้ว่า นี่คือการ “สร้างชาติ” ขึ้นใหม่ตามอย่างที่จอมพล ป. ต้องการ

“ยุคจอมพล ป.” เกิดขึ้นจริง ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย ภารกิจในการสร้างชาติส่วนใหญ่ก็สำเร็จไปด้วยดี ตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทาง ประชาชน ภาษา ล้วนเป็นแบบแผนของจอมพล ป. ทั้งสิ้น แม้จะเป็นการไม่บังควร แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ภารกิจดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วแต่เป็นงานของพระมหากษัตริย์

เมื่อพระราชอำนาจจบสิ้นลงหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภาระหน้าที่ในการปรับปรุงบ้านเมืองให้เทียบทันชาติตะวันตก จึงตกอยู่กับคณะผู้ปกครองบ้านเมือง เหลือเพียงอย่างเดียวที่จอมพล ป. ยังไม่ได้ทำคือ การสร้างเมืองหลวงขึ้นมาใหม่

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

จนกระทั่งปี 2486 มีการเตรียมการสร้างฐานทัพไว้ที่เพชรบูรณ์ ด้วยเหตุผลว่า “สําหรับเตรียมรบกับญี่ปุ่น” เหตุผลที่เลือกเพชรบูรณ์ ก็เพราะได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นเขตป่าเขา หลังจากนั้นคำสั่งลงวันที่ 10 สิงหาคม 2486 ให้กรมโยธาเทศบาลไปวางผังเมืองที่เพชรบูรณ์ พร้อมกับการเคลื่อน ย้ายหน่วยทหาร และราษฎรไปเพชรบูรณ์ในเวลาต่อมา

นี่เป็นส่วนหนึ่งจากคำสั่งเกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงครั้งนี้ จากหนังสือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดย อ. พิบูลสงคราม

21 พฤษภาคม 2486 สร้างที่บัญชาการฐานทัพที่เพชรบูรณ์
10 สิงหาคม 2486 ให้กรมโยธาเทศบาลวางผังเมือง
8 กันยายน 2486 เตรียมการย้ายกระทรวง ทบวง กรม
10 ตุลาคม 2486 ตั้ง พล.ต.อุดมโยธา รัตนาวดี เป็นผู้อำนวยการสร้างเมืองหลวงใหม่
5 มีนาคม 2487 อพยพราษฎร 1,000 ครัว เข้ามาทำกินอย่างถาวร
5 พฤษภาคม 2487 หาที่สร้างวังหลวง

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งที่เป็นรายละเอียดอีกมาก จนกระทั่ง วันที่ 23 เมษายน 2487 จึงได้มีการยกและฝังหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์อย่างเป็นทางการขึ้น

การจัดการสร้างเมืองหลวงใหม่ค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นทุกที ด้วยคำเชิญชวนที่ว่า มีภูมิทัศน์เหมือน “โลซาน” หน่วยทหารถือเป็นหน่วยหลักในการสร้างเมืองครั้งนี้ เช่น กรมแผนที่ทหาร นักเรียนนายร้อย นักเรียนนายร้อยเทคนิค ซึ่งหน้าที่ส่วนใหญ่คือ การสำรวจ และสร้างทาง

การสร้างเมืองครั้งนี้ต้องพบกับความยากลำบาก และอุปสรรคต่าง ๆ เนื่องจากต้องพลิกผืนป่าทั้งป่าให้เป็นเมือง อุปสรรคอย่างแรกก็คือ การขาดแคลนยุทธปัจจัยในภาวะสงคราม ความแห้งแล้งกันดารของจังหวัดเพชรบูรณ์ กับไข้ป่า ทำให้กรรมกรและนักเรียนนายร้อยส่วนหนึ่งล้มตาย

แต่อุปสรรคสำคัญคือ พระราชกำหนดการจัดตั้งเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง ถูกคัดค้านจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างหนัก เนื่องจากเป็นการใช้งบประมาณจำนวนมาก และทำให้ราษฎรต้องล้มตาย

ในที่สุดไม่เพียงแต่จะสร้างเมืองหลวงขึ้นมาใหม่ไม่ได้ จอมพล ป. จำต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะแพ้โหวตในสภาถึง 2 ครั้ง คือพระราชกำหนดระเบียบการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2487 และพระราชกำหนดสร้างพระพุทธบุรีมณฑล ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2487

แม้การสร้างเมืองหลวงครั้งนี้จะถูกอ้างความจำเป็นในการสร้างฐานที่มันในทางสงคราม แต่นี่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ “ยุคจอมพล ป.” เสร็จสมบูรณ์อย่างแท้จริง คือมีทั้งพลเมืองในแบบของตัวเอง วัฒนธรรมใหม่ ตึกรามบ้านช่อง ในรูปลักษณ์เดียวกัน และมีเมืองหลวงที่สร้างขึ้นมาเอง

เมื่อพิจารณาประกอบกับการเตรียมการยกร่างสำคัญ ในการประกาศบรรดาศักดิ์ “สมเด็จเจ้าพญานนทบุรี” และการค้นคว้าเรื่องการสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์อยุธยา โดยหลวงวิจิตรวาทการ ยิ่งจะทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก้าวไปสู่จุดสูงสุดที่ไม่เคยมีสามัญชนคนไหนเคยไปถึง

ทีนี้ลองมองอีกมุม สมมุติว่า จอมพล ป. ทำสำเร็จ กรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร? ตึกแถวหน้าตาน่าเกลียด และเห็นแก่ตัวจะมีมากถึงเพียงนี้หรือไม่ เมืองยังเต็มไปด้วยแม่น้ำคูคลองที่ใสสะอาดหรือไม่ ศิลปกรรม วัดวาอาราม จะถูกย่ำยีถึงเพียงนี้หรือไม่ เกาะรัตนโกสินทร์จะยังคงงามสมกับเป็น “อดีต” เมืองหลวงหรือไม่

การย้ายเมืองหลวงคงไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดในการรักษาเมืองหลวงแห่งนี้ไว้ แต่การทำความ “รู้จัก” และเห็นว่านี่คือเมืองของ “เรา” ต่างหาก ที่เป็นคำตอบ

คลิกอ่านเพิ่มเติม : สำรวจพัฒนาการของ “กรุงเทพฯ” เมืองหลวงที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 สิงหาคม 2563