จาก “สยาม” มาเป็น “ไทย” แล้วทำไม “ไทย” จึงต้องมี “ย”

กลุ่ม ชาติพันธุ์ สองฝั่ง แม่น้ำโขง สยาม ไทย ลาว เขมร
กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ บริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง (ลายเส้นฝีมือชาวยุโรป พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1873)

“ไท” เป็นชื่อของกลุ่มชนที่ใช้ภาษาตระกูลไท รวมถึงกลุ่มชนบางส่วนในภาคอีสานของอินเดีย (อาหม) ที่ปัจจุบันมิได้พูดภาษาตระกูลไทแล้ว และชาวไทยในประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลไทเช่นกัน ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศ “สยาม” กลายมาเป็นประเทศ ไทย ด้วยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องการเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับ “เชื้อชาติ” ของคนในประเทศ

คำแถลงต่อสภาใน พ.ศ. 2482 ของจอมพล ป. หรือ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ตามยศถาบรรดาศักดิ์ในขณะนั้น ถึงเหตุที่ต้องเปลี่ยนชื่อประเทศมีอยู่ว่า

Advertisement

“…นามประเทศของเราที่ใช้เรียกกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ได้ด้วยความเคยชิน หรือได้จดจำเรียกกันต่อๆ มา และได้พยายามให้เจ้าหน้าที่ค้นในทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ปรากฏว่า ใครเป็นคนที่ได้ตั้งขึ้นคราวแรก และตั้งแต่ครั้งใดก็ไม่ทราบ เป็นแต่ว่าเราได้เรียกมาเรื่อยๆ เรียกว่าประเทศสยาม และคำว่า ประเทศสยามนั้น ก็มักจะใช้แต่ในวงราชการ และนอกจากนั้นก็ในวงของชาวต่างประเทศเป็นส่วนมาก ส่วนประชาชนคนไทยของเราโดยทั่วไป เฉพาะอย่างยิ่งตามชนบทด้วยแล้ว เราจะไม่ค่อยใช้คำว่า ประเทศสยาม เราใช้คำว่าไทย…”

“…การที่เราได้เปลี่ยนให้ขนานนามว่า ประเทศไทยนั้น ก็เพราะเหตุว่าได้พิจารณาดูเป็นส่วนมากแล้วนามประเทศนั้น เขามักเรียกกันตามเชื้อชาติของชาติที่อยู่ในประเทศนั้น เพราะฉะนั้นของเราก็เห็นว่าเป็นการขัดกันอยู่ เรามีเชื้อชาติเป็นชาติไทย แต่ชื่อประเทศของเราเป็นประเทศสยาม จึงมีนามเป็นสองอย่าง ดังนี้ ส่วนมากในนานาประเทศเขาไม่ใช้กัน…”

อีกเหตุผลสำคัญของจอมพล ป. ที่ “สยาม” จำต้องเปลี่ยนเป็น “ไทย” ก็เพราะเกรงว่า หากยังคงชื่อสยามไว้ ภายหลังอาจมีชนชาติอื่นอพยพเข้ามามากขึ้นแล้ว “ประเทศสยาม” อาจถูกชนชาตินั้นๆ อ้างเอาได้ว่า ประเทศนี้เป็นของตน

อย่างไรก็ดี คำแถลงของจอมพล ป. ไม่ได้บอกถึงเหตุผลว่าทำไมคำว่า “ไทย” ใน ชนชาติไทยที่ตนอ้างถึงจึงต้องมี “ย” ด้วย

โปสเตอร์วัฒนธรรมไทย สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม (ภาพจากหนังสือ อนุสรณ์ ครบรอบ ๑๐๐ ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐)

แต่เบาะแสอันเป็นสาเหตุนั้น ปรากฏอยู่ในบทความ “เนื่องด้วยประวัติศาสตร์ชาติไทย” โดย สมภพ ภิรมย์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรที่กล่าวว่า ก่อนจะมีตกลงใช้คำว่า “ไทย” เป็นชื่อประเทศแทนคำว่า “สยาม” นั้น ได้มีการถกเถียงกันในสภามาก่อน โดยผู้ที่สนับให้ใช้คำว่า “ไทย” มี “ย” เป็นผู้ชนะในการลงมติไปด้วยคะแนนเสียง 64 ต่อ 57 ด้วยเหตุผลว่า

“‘ไทย มี ย เปรียบเหมือนผู้หญิงที่ดัดคลื่นแต้มลิปสติค เขียนคิ้ว ส่วนไทย ไม่มี ย เปรียบเหมือนผู้หญิงที่งามโดยธรรมชาติ แต่ไม่ได้ตกแต่ง’ จาก น.ส.พ. สุภาพบุรุษ 30 กันยายน 2482 (จากหนังสือชุดประวัติศาสตร์ไทย “เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2” โดย แถมสุข นุ่มนนท์ หน้า 33)”

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ สมภพกล่าวว่าตน “รู้สึกงงและจะขับขันก็ทำไม่ได้ถนัดได้เพียงปลงอนิจจัง” ก่อนกล่าวว่า การจะใช้คำว่า “ไท หรือ ไทย” นั้น “ควรต้องอาศัยหลักภาษาศาสตร์ หลักอักษรศาสตร์ และหลักนิรุกติศาสตร์ เป็นข้อพิจารณาเป็นข้อตัดสินตกลงใจทางวิชาการ มิใช่การออกเสียงเอาชนะกันในสภาผู้แทนราษฎร”

ภายหลังการเปลี่ยนชื่อประเทศ ราชบัณฑิตยสถานจึงได้บัญญัติความหมายของคำว่า “ไท” และ “ไทย” ไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 โดยให้คำว่า “ไท” แปลว่า “ไทย” ได้หนึ่งความหมาย และ “ผู้เป็นใหญ่” ในอีกหนึ่งความหมาย ส่วนคำว่า “ไทย” แปลว่า ชื่อประเทศและชนชาติที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…; ความมีอิสระในตัว, ความไม่เป็นทาส;…”

ซึ่งการให้ความหมายของราชบัณฑิต ดูจะขัดกับความรู้สึกคนทั่วไปที่มักใช้คำว่า “ไท” แทนความหมายถึงการมีอิสรภาพ และการไม่เป็นทาสมากกว่า คำว่า “ไทย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2560