“จำลองนครธม-รื้อนครวัด” ความพยายามของสยาม ?!?

มณฑปกลางของปราสาทนครหลวง (ภาพจากหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง)

นครวัด-นครธม โบราณสถานของกัมพูชา ด้วยความงามในเชิงสถาปัตยกรรม, ความสามารถเชิงช่าง และประวัติที่ยิ่งใหญ่ ทำให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และไม่ใช่เพิ่งรู้จักในยุคปัจจุบัน แต่รู้จักกันแต่ครั้งอดีตตามที่ปรากฎในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ สำหรับไทย นอกจากรู้จัก และชื่นชอบแล้ว ยังมีความต้องการที่มากว่านั้นอีกขึ้น คือ การจำลองแบบ และการย้ายโบราณสถานดังกล่าวตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้ช่างถ่ายแบบปราสาท “นครธม” ในกัมพูชา มาสร้างเป็นที่ประทับ อยู่ริมแม่น้ำป่าสักระหว่างทางเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท แล้วให้ชื่อว่า “พระนครหลวง”

ปราสาทนครหลวงตั้งอยู่ริม แม่น้ำป่าสัก ด้านทิศเหนือของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ระยะทางตามถนนหลวงประมาณ 21 กิโลเมตร อยู่ในเขตพื้นที่ ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโบราณสถานที่สําคัญ ที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางจะไปหมู่บ้านอรัญญิก ที่มีชื่อเสียงในการตีเหล็กที่มีคุณภาพ ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน จนเป็นที่รู้จักกันอย่างดี คือ มีดอรัญญิก

มูลเหตุการสร้างปราสาทนครหลวง ปรากฏข้อความในพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เพิ่ม) ว่า ศักราช 993 ปีมะแม ศก (พ.ศ. 2174) ทรงพระกรุณาให้ช่างไปถ่ายแบบอย่างนครหลวง และปราสาทกรุงกัมพูชาประเทศ เข้ามาให้ช่างกระทําพระราชวัง เป็นที่ประทับร้อน ตําบลริมวัดเทพจันทร สําหรับจะเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท จึงเอานามเดิม ซึ่งถ่ายมา ให้ชื่อว่า “พระนครหลวง”

ปราสาทนครหลวงน่าจะเรียกเพี้ยนกันต่อมา จึงไม่มีคําว่า “พระ” นําหน้า “นครหลวง” สําหรับนคร หลวงที่กล่าวถึงในพงศาวดารฯ ก็คือ ปราสาทนครธมนั้นเอง

เหตุการณ์สําคัญในประวัติศาสตร์ของปราสาทนครหลวง ที่ปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับความกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวถึงการเตรียมการเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท มีดังนี้ ในเดือน 12 นั้น ทรงตรัสว่าพ้นเทศกาลราษฎรเกี่ยวข้าวแล้ว จะเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท จึงมีพระราชกําหนดสังสมุหนายกว่า เดือน 4 ขึ้น 2 ค่ำ จะไปนมัสการพระพุทธบาท ให้เตรียมการโดยชลมารคให้พร้อม สมุหนายกรับพระราชโองการ แล้วกําหนดกฎหมายสั่งทุกพนักงาน เจ้าพนักงานทั้งปวงให้ล่วงไปจัดการทุกกระทรวงพร้อมเสร็จ

ครั้นถึงผคุณมาสขึ้น 2 ค่ำ เพลารุ่งแล้ว 2 นาฬิกา 4 บาท สมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าทรงบาตรแล้วก็ทรงเครื่อง สรรพาภรณ์บวรด้วยแก้วกาญจนามัย สําหรับพิชัยราชายุทธทรงราชาวุธสรรพเสร็จ เสด็จลงสู่พระที่นั่งไกรสรมุขพิมานชัยจักรรัตน์พิพัฒน์ ด้วยเครื่องสูงไสวบวรธงไชยธงฉานอลง การด้วยเรือต้นทั้งหลายเดียรดาษ เรือเสนาพฤฒามาตย์ราชตระกูล พระหลวงต้นเชือกปลายเชือกทั้งปวงก็เข้าจับฉลากเป็นขนัดอัดแออรรณพ ครบทั้งเรือประเทียบทุกกรม

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เคลื่อนขบวนพยุหยาตรา ไปโดยแนวชลมารค กําหนดระยะแต่ขนานประจําท่าพระราชวังหลวง ถึงที่ประทับร้อนพระนครหลวงเป็นทาง 396 เส้น (ระยะทางตามลําน้ำป่าสักจนถึงปราสาทนครหลวง ประมาณ 11กิโลเมตร)

การที่พระเจ้าปราสาททองส่งช่างไปถอดแบบปราสาทนครหลวง หรือนครธม มาสร้างเป็นพระราชวัง เพื่อเป็นที่ประทับร้อนนั้น พระองค์คงจะเลื่อมใสต่อลัทธิเทวราชแบบขอม ซึ่งถือว่ากษัตริย์คือเทพเจ้าที่จุติมาในโลกมนุษย์ ซึ่งแสดงถึงอํานาจในการปกครอง โดยผสมผสานทางความเชื่อทางศาสนา ให้เกิดรูปแบบในการ ปกครองที่น่าเกรงขาม และเกิดความ เคารพยําเกรงอาญาสูงขึ้น อันเป็น ผลทําให้ระยะเวลาในการปกครองอำนาจของพระองค์ยาวนานถึง 26 ปี

ลักษณะสถาปัตยกรรมในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง นิยมทําตามแบบศิลปะเขมรหลายแห่ง เช่น วัดไชยวัฒนาราม พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ซึ่งสร้างในปี พ.ศ. 2175 โดยครั้งแรกพระองค์ได้ให้ชื่อปราสาท หลังนี้ว่า “คิริยโรธรมพาพิมาน บรรจง” ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “จักรวรรดิไพชยนต์” ตามที่โหรหลวงทํานายว่าจะต้องเปลี่ยนชื่อ

ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มีพระราชดำริให้รื้อปราสาทนครวัด แล้วย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่ง พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกเกี่ยวกับการรื้อปราสาทขอมในกัมพูชาว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้ไปรื้อปราสาทหิน นครวัดของกัมพูชาที่เมืองเสียมราฐ (เสียมเรียบ) เข้ามาไว้ในกรุงเทพฯ (และเพชรบุรี) และได้ให้ “พระสุพรรณพิศาล ขุนชาติวิชา ออกไปเที่ยวดูที่เมืองหลวง พระนครธมพระนครวัด กลับมากราบทูลว่า…มีแต่ปราสาทใหญ่ๆ ทั้งนั้น จะรื้อเอาเข้ามาเห็นจะไม่ได้”

ลานหินสู่ประตูทางเข้าปราสาทนครวัด ภาพวาดลายเส้นโดยกิโอด์ จากรูปสเก๊ตช์ของมูโอต์

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เลยรับสั่งให้ไปรื้อ ปราสาทตาพรหม ซึ่งมีขนาดย่อมกว่า ปราสาทหลังนี้ในปัจจุบัน จะเป็นที่นิยมชมชอบของบรรดานักท่องเที่ยวมาก เพราะเป็นปราสาทที่ฝรั่งเศสหาได้บูรณะไม่ ปล่อยให้อยู่ในสภาพเดิมๆ มีต้นไม้และรากไม้ (ต้นสปง) โอบล้อมปกคลุมอยู่เต็มไปหมด และก็ดูเหมือนจะเป็นฉากถ่ายภาพยนตร์เรื่อง Tomb Raider ที่มีนางเอกสาวสวยสุดเซ็กซี่คือ แองเจลีนา โจลี นำแสดง

เหตุการณ์รื้อปราสาทด้วยจำนวนไพร่พลถึง 2 พันคนนี้ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2403 (ค.ศ. 1860) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของกษัตริย์กัมพูชา คือ สมัยของพระเจ้านโรดม ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2402-47 (หรือ ค.ศ. 1859-1904) สมัยนั้นกัมพูชาเป็น  ประเทศราชของทั้งสยามและเวียดนาม ก่อนที่จะหนีไปยอมรับการเป็นรัฐในอารักขา (Protectorate) ของฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2410 (ค.ศ. 1867) ในสมัยดังกล่าวเมืองเสียมราฐ (หรือเสียมเรียบ) และเมืองพระตะบอง ยังขึ้นโดยตรงกับทางกรุงเทพฯ โดยมีขุนนางท้องถิ่นตระกูลอภัยวงศ์ ปกครองอยู่ และพระสุพรรณพิศาล ขุนนางเมืองนี้นั่นแหละ ที่ถูกรับสั่งให้ไปเป็นหัวหน้าควบคุมการรื้อปราสาทตาพรหม

เราไม่ทราบเหตุผลเบื้องหลังที่แน่ชัดว่า ทำไมรัชกาลที่ 4 ถึงโปรดจะให้รื้อปราสาทหินมหึมานั้นจากกัมพูชา

แต่ที่น่าสนใจก็คือ การรื้อถอนปราสาทหินครั้งนั้นล้มเหลว และพระราชพงศาวดารฯ กล่าวไว้อย่างน่าตกใจว่า มีเขมรประมาณ 300 คนออกมาแต่ป่า เข้ายิงฟันพวกรื้อปราสาท ฆ่าพระสุพรรณพิศาลตายคน 1 พระวังตายคน 1 บุตรพระสุพรรณพิศาลตายคน 1 ไล่แทงฟันพระมหาดไทย พระยกกระบัตรป่วยเจ็บหลายคน แต่ไพร่นั้นไม่ทำอันตรายแล้วหนีเข้าป่าไป

เป็นอันว่าในสมัยนั้น มีชาวกัมพูชาหรือเขมร ตั้งตัวเป็นเสมือน กองจรยุทธ์ และก็โกรธแค้นการลักลอบเข้าไปรื้อปราสาทของเขาถึงขนาด ยิงฟัน บรรดาขุนนางหัวหน้าที่ควบคุมไป ถึงกับล้มตายเป็นจำนวนมาก และก็เป็นเหตุทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ต้องทรงระงับโครงการรื้อปราสาทหินดังกล่าว เปลี่ยนเป็นให้จำลองปราสาทนครวัดเล็กๆ ดังที่ พระราชพงศาวดารฯได้กล่าวไว้ว่า ให้ช่างกระทำจำลองตามที่ถ่ายเข้ามานั้น ขึ้นไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามจนทุกวันนี้ ซึ่งก็คือที่วัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวัง นั่นเอง

ปราสาทนครวัดจำลอง

อ่านเพิ่มเติม: “เกร็ดประวัติศาสตร์-การรื้อปราสาทขอม-จำลองนครวัด” สมัยรัชกาลที่ 4


ข้อมูลจาก

เอนก สีหามาตย์. ปราสาทนครหลวง ริมแม่น้ำป่าสัก “นครธมแห่งที่ 2” สถาปัตยกรรมในสมัยพระเจ้าปราสาททองที่กำลังได้รับการฟื้นฟู, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2533

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. “เกร็ดประวัติศาสตร์-การรื้อปราสาทขอม” สมัยรัชกาลที่ 4, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2552


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562