ทำไมโรคระบาดในสังคมมนุษย์ยุคเกษตรกรรมถึงร้ายแรงกว่ายุคล่าสัตว์?

มนุษย์ยุคหิน ล่าสัตว์
การล่าสัตว์ของมนุษย์ยุคหินรวมถึงแมมมอธ (ภาพจาก The world: historical and actual)

โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่รบกวนมนุษย์มาตั้งแต่อดีตนับพันนับหมื่นปีแล้ว แต่เมื่อมนุษย์วิวัฒนาการก้าวหน้าไปมากเท่าใด โรค หรือ โรคระบาด เหล่านี้ก็วิวัฒนาการตามไปเท่านั้น และยังมีโรคใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาโดยตลอดช่วงอารยธรรมของมนุษย์ ซึ่งช่วงเวลาหนึ่งที่มนุษย์วิวัฒนาการจากสังคมล่าสัตว์เร่ร่อนมาสู่สังคมเกษตรกรรมนี้เป็นช่วงที่ทำให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับโรคได้ชัดเจน

โรคมีอยู่ 3 ประเภท คือ 1. โรคที่มาจากพันธุกรรม 2. โรคพยาธิ และ 3. โรคติดเชื้อ แต่โรคที่น่าสนใจคือโรคติดเชื้อ ซึ่งเป็นโรคที่มนุษย์คุ้นเคยเป็นอย่างดี สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา เป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ โดยการสูดอากาศ กินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคดังกล่าวเข้าไปในร่างกาย

โรคติดเชื้อมีหลายชนิด เช่น วัณโรค (เกิดจากแบคทีเรีย) ไข้หวัดใหญ่ (เกิดจากเชื้อไวรัส) และโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ (เกิดจากเชื้อรา) โรคพวกนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ปอด

สิ่งที่น่าสนใจคือ โรคมีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากมนุษย์วิวัฒนาการจากสังคมล่าสัตว์เร่ร่อนมาสู่สังคมเกษตรกรรม ซึ่งส่งผลต่อการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น

หลายคนคงไม่เคยคาดคิดว่า การหันมาเพาะปลูกของมนุษย์จะทำให้มีโรคและทำให้สุขภาพแย่กว่ามนุษย์ที่เก็บของป่าล่าสัตว์

ทั้งนี้เพราะชุมชนนักล่าสัตว์ เป็นชุมชนขนาดเล็กมีสมาชิกไม่มาก ประมาณ 20-50 คน มีโอกาสพบมนุษย์กลุ่มอื่นน้อย จึงมีโรคน้อยกว่าโดยเฉพาะโรคติดเชื้อ และแม้ว่ามนุษย์กลุ่มนี้จะติดเชื้อโรคแต่ก็จะตายไปหมดก่อนที่จะมีโอกาสแพร่เชื้อให้มนุษย์กลุ่มอื่น ทว่าพวกนักล่าสัตว์ที่รอดชีวิตมาได้จะมี “โรคมรดก” ติดตัวมา นั่นคือเห็บเหาตามร่างกาย

ส่วนชุมชนเกษตรกรรม เริ่มเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน มนุษย์เลิกเร่ร่อนและผลิตอาหารเอง โอกาสเกิดโรคไปยังกลุ่มคนจึงเพิ่มขึ้น มีโอกาสเจอโรคมากขึ้น

ทั้งนี้ เพราะการถางป่าให้โล่งเตียนเพื่อทำพื้นที่เกษตรกรรมแล้วดึงน้ำเข้ามาในพื้นที่เหล่านั้น ทำให้น้ำนิ่ง กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงที่เป็นพาหะนำโรค นอกจากนั้น การถางป่ายังเพิ่มปริมาณฝุ่นละอองในอากาศทำให้คนเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราเพิ่มขึ้น เช่น โรคทางเดินหายใจ

ตามมาด้วยโรคที่มาจากการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัณโรคจากวัว เกิดจากการดื่มนมวัวที่มีเชื้อแบคทีเรีย M.bovis หรือสูดอากาศที่มีเชื้อเข้าไป ต่อมาเชื้อได้พัฒนาเป็นวัณโรคจากคน โดยติดต่อกับคนสู่คนและติดเชื้อที่ปอด (บางคนเรียกว่าโรคปอด)

ยิ่งวันเวลาผ่านไป ประชากรมนุษย์มากขึ้นจนพัฒนาเป็นชุมชนใหญ่ โรคและปริมาณเชื้อโรคจึงเพิ่มขึ้นตาม บางโรคเกิดจากคนกับสัตว์ใกล้ชิดกัน จนโรคของสัตว์พัฒนาเป็นโรคของคน และกลายเป็นโรคติดต่อของคน

สรุปแล้วยิ่งมนุษย์พัฒนาเป็นสังคมมากขึ้นเท่าไร โรค หรือ โรคระบาด ก็พัฒนาตามเราไปมากเท่านั้น บางโรคก็หายไป บางโรคก็พัฒนาขึ้นมาใหม่แล้วร้ายแรงขึ้นกว่าเดิม นั่นก็เพราะว่า โรคเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของมนุษย์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธนิก เลิศชาญฤทธ์. สุขอนามัยและโรคภัยไข้เจ็บยุคเก่าก่อน. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 27 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2549.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มกราคม 2563