เกิดโรคระบาดในประวัติศาสตร์ เกิดกระบวนการหา “แพะรับบาป” ตามมา

ภาพเขียน "The Plague at Ashdod" (โรคระบาดในเมืองแอชดอด) โดย Nicolas Poussin โยงโรคระบาดในพระคัมภีร์เก่า ให้สัมพันธ์กับ กาฬโรค มีหนูตัวเล็กๆ บนฐานเทวสถาน

ทุกครั้งที่เกิดโรคระบาด นอกจากเกิดผู้ป่วยจำนวนมากจากการระบาดของโรคแล้ว สิ่งที่ตามเสมอก็คือการ “กล่าวโทษ” ต้นตอการระบาด หรือ “แพะรับบาป” นั่นเอง ซึ่งลักษณะเช่นนี้มีมาช้านานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ดังเช่น กรณีการระบาดของกาฬโรคในศตวรรษที่ 14 ที่กล่าวโทษกันไปมา

ศตวรรษที่ 14 เมื่อเกิดกาฬโรคระบาดในยุโรป หลายครั้งชาวยิวจะถูกกล่าวหาว่า เป็นคนแพร่เชื้อและทําให้ระบบน้ำเป็นพิษ นั่นเป็นสาเหตุให้ระหว่างปี 1348-1351 ชุมชนชาวยิวมากกว่า 200 แห่งในเยอรมนีถูกกวาดล้าง ที่เอร์ฟูร์ตมีหลักฐานการลุกฮือต่อต้านชาวยิวในช่วงที่โรคแพร่ระบาดจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกยิวถูกกล่าวโทษสําหรับโรคระบาด ในขณะนั้นก็เพราะพวกเขามักไม่ติดโรค เมื่อการระบาดพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดในฤดูใบไม้ผลิราวช่วงเทศกาลปาสกาซึ่งเมล็ดธัญพืชจะถูกขนย้ายออกจากบ้านของชาวยิว แต่กระนั้นโรคระบาดนี้ก็ไม่อาจโทษชาวยิวแต่เพียงฝ่ายเดียวได้

สุลต่านแห่งไคโรมีรับสั่งว่าโรคนี้เป็นการพิพากษาจากพระเจ้าสําหรับบาปการผิดประเวณี ดังนั้นจึงต้องกล่าวโทษสตรี พระองค์ทรงห้ามผู้หญิงไม่ให้ออกไปนอกบ้าน

ในอังกฤษบิชอปแห่งวินเชสเตอร์กล่าวโทษว่า เป็นเพราะกิเลสตัณหาของผู้ชาย และจัดตั้งการเดินขบวนเท้าเปล่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ แต่ผลที่ตามมากลับเป็นว่าเขตการปกครองของบิชอปท่านนี้ การแพร่ระบาดหนักกว่าที่อื่น เพราะการเดินขบวนยิ่งทำให้โรคแพร่ระบาดออกไปมากขึ้น ผู้ทรมานร่างกายยิ่งลงแส้หนักขึ้นเพื่อถ่ายเทความพิโรธของพระเจ้า แต่วิธีการของพวกเขามีแต่จะทําให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากาฬโรคมายังยุโรปได้อย่างไร ไม่แน่ว่าอาจเป็นพวกมองโกลนําเข้ามา หรือทหารชาวอินเดีย หรือชาวอียิปต์ที่นําหนูดํามาด้วย โรคของมนุษย์ส่วนใหญ่มาจากสัตว์ บางครั้งก็มีเหตุผลที่จะลดจํานวนสัตว์เหล่านั้นลงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดมากไปกว่านี้ แต่บ่อยครั้งที่สัตว์เหล่านี้ถูกลงโทษโดยไม่จําเป็นเลย การฆ่าพวกมันทําให้เกิดความพึงพอใจในแง่การลงมือปฏิบัติ แต่ความเป็นจริงการแพร่ระบาดส่วนใหญ่ซับซ้อนมากเสียจนแทบไม่มีโอกาสที่จะเกิดจากปัจจัยเดียว

การแพร่ระบาดครั้งแรกของโรคที่ต่อมาเรียกว่า “กาฬโรค” ก็คือโรคระบาดแห่งจัสตีเนียนซึ่งระบาดในอาณาจักรโรมันเมื่อศตวรรษที่ 6 และหวนกลับมาอีกครั้งในหลายทศวรรษต่อมา ยอดผู้เสียชีวิตโดยประมาณอยู่ที่ราว 25 ล้านคน โรคนี้ตั้งชื่อตามองค์จักรพรรดิที่ครองราชย์ในช่วงที่เกิดโรคระบาด ซึ่งพระองค์เองก็ติดโรคแต่รอดชีวิตมาได้

ก่อนหน้าการระบาดของกาฬโรค โรมถูกโจมตีจากโรคระบาดแอนโทนีน ชาวโรมันนับล้านๆ คนเสียชีวิตระหว่างปี 165-180 ช่วงที่ระบาดหนักที่สุดมีคนเสียชีวิต 5,000 คน/วัน ต้นเหตุการระบาดมาจากทหารชนะสงครามได้นำเชื้อโรคมาแพร่กระจายโดยไม่รู้ตัว และการขยายเส้นทางการค้าโลกในสมัยโรมัน คืออีกช่องทางการแพร่ระบาด แอนโทเนียสเป็นจักรพรรดิ 1 ใน 2 พระองค์ที่สิ้นพระชนม์ด้วยโรคนี้ พระนามของพระองค์จึงเป็นที่มาของชื่อโรคระบาด

นั่นแสดงให้เห็นว่า “การตั้งชื่อโรคระบาด” คือ รูปแบบการสร้างแพะรับบาปที่ชัดเจนที่สุด

ไข้หวัดใหญ่สเปนก็เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในเรื่องนี้ กระทั่งนําไปสู่การเชื่อมโยงทางเชื้อชาติที่ลบไม่ออกและกลายเป็นกระบวนการสร้างปีศาจรูปแบบหนึ่ง การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918 ควรเป็นที่รู้จักกันใน ชื่อไข้หวัดใหญ่แคนซัส เพราะกรณีแรกๆ ที่ระบุได้สืบพบจากดินแดนแคนซัส

แม้คนอื่นๆ จะคาดเดาว่ามันเริ่มจากออสเตรียหรือในตะวันออกไกล อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดไม่ได้เริ่มต้นขึ้นที่สเปน แต่มันข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมากับกองเรือของทหาร แล้วจึงมีการรายงานในสเปนซึ่งไม่ได้คัดกรองการรายงานโรคเนื่องจากไม่ได้ร่วมทําสงครามด้วย

กระบวนการตั้งชื่อโรคตามสถานที่เป็นความประสงค์ร้ายอย่างจงใจมากกว่าที่คิด ตัวอย่างเช่น “โรคซิฟิลิส” ในอิตาลีเรียกว่า “โรคฝรั่งเศส” และในฝรั่งเศสมันมีชื่อว่า “โรคอิตาลี”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

Charlie Campbell-เขียน, อลิสา สัตสมบัติ-แปล, “แพะรับบาปทางการแพทย์” ใน, ปรักปรำศาสตร์, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2528


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2564