ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
โรคระบาดใหญ่ของสยาม อหิวา, ไข้ทรพิษ, กาฬโรค ช่วง 42 ปี ป่วย 1.5 แสน ทั้งเจ้านาย, ชาวต่างชาติ, ขุนนาง
เมื่อปี พ.ศ. 2505 นายแพทย์ประเมิน จันทวิมล รองอธิบดีกรมอนามัยได้เขียนบทความชื่อ ประวัติการควบคุมโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทย ไว้ในหนังสืออนุสรณ์ “กระทรวงสาธารณสุข 20 ปี พ.ศ. 2485-2505″
โดยกล่าวถึงโรคระบาดสำคัญๆ คือโรคอหิวาตกโรค, ไข้ทรพิษ, กาฬโรค
โรคเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วระบาดได้รวดเร็ว ประชาชนป่วยและเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น ในช่วงเวลาประมาณ 42 ปี (พ.ศ. 2462-2504) มีผู้ป่วยจากโรคทั้งสามประมาณ 150,000 คน เสียชีวิตประมาณ 60,000 คน สรุปได้ดังนี้
อหิวาตกโรค
อหิวาตกโรคเป็นโรคที่มีมานานแล้ว เชื่อกันว่าแหล่งของอหิวาตกโรคอยู่ในมณฑล “เบงกอล” ประเทศอินเดีย ระบาดโดยพวกพ่อค้าจากอินเดียนําไปทั้งทางบกและทางเรือ บางครั้งก็เป็นพวกที่ไปแสวงบุญที่เมกกะ ที่ผ่านมามีการระบาดทั่วโลก 5 ครั้ง บางครั้งก็ไปถึงยุโรป อเมริกา และเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งมักจะมาโดยทางเรือจากปีนัง สิงคโปร์ และมณฑลทางภาคใต้ก่อน แล้วจึงเข้ามาถึงสมุทรปราการเป็นแห่งแรก แล้วลุกลามเข้ามาในกรุงเทพมหานครภายหลัง ประวัติการระบาดในประเทศไทยเท่าที่ค้นหาได้มีดังนี้
ก่อนปรากฏการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 1 (ก่อน พ.ศ. 2360-66) ปรากฏตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาของสมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพกล่าวไว้ว่า พระเจ้าอู่ทองขึ้นครองราชย์ได้ 6 ปี เกิดอหิวาตกโรคระบาดในพระนครปี พ.ศ. 1890 จึงย้ายเมืองหลวงจากเมืองอู่ทองมาตั้งราชธานีที่เมืองศรีอยุธยา หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 1893 ได้เกิดมือหิวาตกโรคขึ้นในกรุงศรีอยุธยา
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกเรื่องการระบาดของอหิวาตกโรคไว้ดังต่อไปนี้
ในรัชกาลที่ 2 อหิวาตกโรคได้ระบาดขึ้นเมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2363 ตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งแรก (พ.ศ. 2360-66) ซึ่งไปจากอินเดีย โรคได้เข้ากรุงเทพฯ มาทางขึ้นปีนังและหัวเมืองฝ่ายตะวันตก มาถึงจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดพระนคร โรคระบาดมากอยู่ราว 2 สัปดาห์ แต่คนตายกันจนเผาไม่ทัน ศพที่ป่าช้าตามวัดสระเกษ วัดบางลาภ วัดบพิตรพิมุข วัดปทุมคงคาและวัดอื่นๆ ก่ายกันเหมือนกองพื้น
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ตั้งพิธี “อาฏานาฏิยสูตร” ยิงปืนใหญ่รอบพระนครคืนหนึ่งยันรุ่งและทรงเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมธาตุ ทั้งพระราชาคณะออกแห่โปรยทราย ประน้ำมนต์ทางบกและทางเรือ และได้ทรงปล่อยปลา สัตว์ 4 เท้า 2 เท้า ปล่อยคนโทษ โรคได้ระบาดหนักก็เบาบางลง รวมมีคนตายในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียงประมาณ 30,000 คน มีพระบรมญาติพระองค์เจ้าหญิง 2 พระองค์สิ้นพระชนม์ นอกจากนี้ยังมีคนในคณะทูตญวนเสียชีวิตในการระบาดปี พ.ศ. 2363 ด้วย
ในรัชกาลที่ 3 โรคได้เกิดระบาดขึ้นมากในปี พ.ศ. 2392 ซึ่งตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2389-2405) โรคระบาดจากอินเดียไปทั่วยุโรป อเมริกา ระบาดเข้าประเทศไทยโดยผ่านเข้ามาทางปัตตานี สงขลา ประมาณ 3 สัปดาห์ ก็ระบาดโดยทางเรือเข้าสมุทรปราการและกรุงเทพฯ ระบาดหนักอยู่ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เมื่อได้สํารวจศพที่วัดสระเกษ, วัดบพิตรพิมุข และวัดสังเวช รวม 28 วัน มีศพ 5,457 หรือประมาณวันละ 194 ศพ มีผู้ตายด้วยอหิวาตกโรคครั้งนี้ประมาณ 10% ของพลเมือง เสนาบดีคนสำคัญสมัยนั้น ได้แก่ เจ้าพระยาบดินทร์เดชาก็ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอหิวาตกโรคในคราวนี้ด้วย
ในรัชกาลที่ 4 ได้เกิดการระบาดขึ้นปี พ.ศ. 2403 ตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 3 คราวนี้โรคเกิดขึ้นที่เมืองตากแล้วจึงลุกลามถึงกรุงเทพฯ การระบาดครั้งนี้ไม่รุนแรงนัก
ในรัชกาลที่ 5 โรคระบาดใหญ่ในปีระกา พ.ศ. 2416 ซึ่งตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 4 (พ.ศ. 2406-18) การระบาดทั่วโลกคราวนี้เกิดจากชาวมุสลิม ซึ่งกลับจากแสวงบุญที่เมืองเมกกะได้นําโรคมาระบาดไปทั่วแอฟริกา ยุโรป และอเมริกา สําหรับเอเชียระบาดเข้าประเทศจีน มลายู และประเทศไทย
ในปีมะเส็ง พ.ศ. 2424 ซึ่งตรงกับการระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2424-2439) คาดว่าโรคระบาดมาจากเมกกะเช่นเดียวกัน แต่ในปี พ.ศ. 2426 โรเบิร์ต ค็อก ได้พบเชื้อโรคที่ทําให้เกิดอหิวาตกโรค จึงทําให้มีความรู้ในการป้องกันดีขึ้น โรคในยุโรปและอเมริกาจึงเบาบางลง แต่เนื่องจากอหิวาตกโรคยังคงมีประปรายอยู่ในเอเชีย ได้แก่ พม่า, มลายู, จีน, ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์ และไทย
เมื่ออหิวาตกโรคระบาดในปีมะเส็ง พ.ศ. 2424 พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์กับข้าราชอื่นรวม 48 คน จัดตั้งโรงรักษาผู้ป่วยในกรุงเทพฯ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเหรียญเงินเทพดาถือพวงมาลัยเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ตั้งโรงรักษาคนเจ็บ
ภายหลังที่ระบาดใหญ่เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2424 แล้ว โรคยังคงมีระบาดประปรายตลอดมา และได้เกิดระบาดใหญ่ขึ้นอีก 2 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2435 และปี พ.ศ. 2443 การระบาดทั้งสองครั้งนี้ไม่มีบันทึกไว้ในที่ใด นอกจากในหนังสือ “McFarland of Siam” แต่งโดย Bertha Blount McFarland (พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2501) มีบันทึก
“พ.ศ. 2443 เป็นปีอหิวาต์ นับว่าเป็นการระบาดร้ายแรงที่สุดคราวหนึ่ง มีคนตายหลายหมื่นคน พี่ชายพระอาจวิทยาคม ชื่อ วิลเลียม แม็คฟาร์แลนด์ ก็ป่วยเป็นอหิวาตกโรคถึงแก่กรรมในกรุงเทพฯ…”
หลังจากนั้นอาจมีการระบาดอยู่บ้างแต่ไม่มีการบันทึก พบหลักฐานมีการระบาดอีกครั้งหลังปี พ.ศ. 2460 ที่มีการระบาดใหญ่ในประเทศอีก 5 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 (ปี พ.ศ. 2461-63) การระบาดเริ่มจากพม่ามาที่จังหวัดตากสู่จังหวัดใกล้เคียงจนถึงจังหวัดเชียงใหม่ แล้วลงมาทางใต้ถึงจังหวัดปัตตานี ทางอีสานถึงอุบลราชธานี มีผู้ป่วย 15,413, ตาย 13,518 คน อัตราตายร้อยละ 71.68
ครั้งที่ 2 (ปี พ.ศ. 2468-72) โรคระบาดในท้องที่ป้อมปราบและปทุมวัน แล้วระบาดไปทั่วจังหวัดพระนคร ธนบุรี ระบาดอยู่นาน 5 ปี ในพื้นที่ 52 จังหวัด เหตุที่ระบาดครั้งนี้สันนิษฐานว่ามาจากเมืองซัวเถา และไฮเค้า ประเทศจีน เพราะที่ด่านกักโรคพบเรือลำหนึ่งมีผู้ป่วยเป็นอหิวาตกโรค มีผู้ป่วย 21,591 คน ตาย 14,902 คน อัตราตายร้อยละ 69.02
ครั้งที่ 3 (ปี พ.ศ. 2478-80) พ่อค้าที่กลับจากจังหวัดมะละแหม่ง ประเทศพม่า นำโรคมาแพร่ที่อำเภอวังกะ จังหวัดกาญจนบุรี ก่อนระบาดไปตามจังหวัดที่อยู่ในริมแม่น้ำแม่กลอง ท่าจีน เช่น ราชบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร และเพชรบุรี แล้วแพร่เข้ามาในพระนคร ฯลฯ ครั้งนี้ระบาดอยู่ 3 ปี กินพื้นที่ 40 จังหวัด มีผู้ป่วย 15,557 คน ตาย 10,005 คน อัตราตายร้อยละ 64.31
ครั้งที่ 4 (พ.ศ. 2486-90) ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลก เชลยศึกพม่าแพร่เชื้อให้กับคนงานไทยที่ไปทำทางรถที่จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นโรคก็แพร่ไปตามจังหวัดราชบุรี, เพชรบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร โดยทางน้ำ และอีกทางหนึ่งจากแรงงานไทยที่นำกลับไประบาดที่จังหวัดบ้านเกิด โรคระบาดอยู่ 5 ปี ในท้องที่ 50 จังหวัด มีผู้ป่วย 19,169 คน ตาย 13,036 คน อัตราตายร้อยละ 68.01
ครั้งที่ 5 (ปี พ.ศ. 2501-02) หลังจากหายไป 8 ปี โรคก็ระบาดที่เขตราษร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี ก่อนจะแพร่มายังพระนคร และภูมิภาคอื่นอย่างรวดเร็ว ครั้งนี้โรคระบาดอยู่ 1 ปี 6 เดือน กินพื้นที่ 38 จังหวัด มีผู้ป่วย 19,359 คน ตาย 2,372 คน อัตราตายร้อยละ 12.25
ภายหลังเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกัน อหิวาตกโคจึงไม่มีการระบาดรุนแรงอีก
ไข้ทรพิษ
ก่อนที่นายแพทย์เอดเวิร์ด เจนเนอร์ แพทย์ชาวอังกฤษ จะได้ค้นพบวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษและมีการปลูกฝี (ปี พ.ศ. 2339) ไข้ทรพิษเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ได้ทําลายชีวิตมนุษย์โลกนี้เสียปีละมากๆ และไม่เลือกว่าจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือกรรมกร มีผู้ประมาณว่าระหว่างนั้นประมาณร้อยละ 5 ของประชากรในโลกเท่านั้นที่ไม่ป่วยเป็นไข้ทรพิษ
สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยไข้ทรพิษมาแล้วแต่อดีต บุคคลสำคัญที่ป่วยเป็นไข้ทรพิษหลายท่าน เช่น สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงประชวรด้วยไข้ทรพิษจนสวรรคต, สมเด็จพระนเรศวรเองก็เคยทรงประชวรด้วยไข้ทรพิษ โดยเมื่อครั้งที่สมเด็จสมเด็จพระมหาธรรมราชา พร้อมด้วยพระนเรศวร ยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงษาวดีตีลานช้าง เมื่อ ปี พ.ศ. 2117 พระนเรศวรประชวรด้วยไข้ทรพิษ พระเจ้าหงษาวดีจึงอนุญาตให้พระองค์ยกทัพกลับ, เจ้าพระยามหิธร เมื่ออายุ 10 ปีก็ป่วยเป็นไข้ทรพิษ ถูกทิ้งให้นอนบนใบตองอยู่ตนเดียว นอกจากมารดาไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ [1],พระยาพหลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของไทยเมื่ออายุ 2 ปี [2] ฯลฯ
ในรัชกาลที่ 3 ก็ปรากฏว่ามีไข้ทรพิษระบาดมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงดำริให้หาแนวทางป้องกันควบคุมการระบาดแต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ จนนายแพทย์บรัดเลย์ แพทย์มิชชันนารี ที่เข้ามาไทย (ปี พ.ศ. 2378) ได้ร่วมมือกับหมอหลวงท่าการเอาหนองจากผู้ป่วยปลูกเป็นผลสําเร็จ และในปี พ.ศ. 2383 นายแพทย์บรัดเลย์ได้สั่งพันธุ์หนองฝีจากเมืองบอสตัน เป็นการเริ่มปลูกฝีครั้งแรกในประเทศไทย
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดําริว่า สมควรจะคิดจักทําพันธุ์หนองผีขึ้นใช้เอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าส่งนายแพทย์แฮนซ์ อะดัมสัน และนายแพทย์อัทย์ หะริตะเวช ออกไปศึกษาวิชาการทําพันธุ์หนองฝีที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปี พ.ศ. 2447 และกลับมาดําเนินการ ตั้งสถานที่ทําพันธุ์หนองฝีขึ้นที่ในบริเวณร้านขายยาของนายแพทย์แฮนซ อะดัมสัน ที่สี่กั๊กพระยาศรี ในปี พ.ศ. 2448 ต่อมาย้ายไปตั้ง ณ ที่ตําบลห้วยจรเข้ จังหวัดนครปฐม และได้ย้ายกลับมารวมอยู่ในปัสุตระสภา ถนนบํารุงเมือง จังหวัดพระนคร เมื่อปี พ.ศ. 2456 เมื่อได้ตั้งสถานเสาวภาขึ้นในสภากาชาดไทย (ปี พ.ศ. 2465) ก็ได้ย้ายไปทํา ณ ที่นั้นเป็นต้นมา
แม้จะมีการปลูกฝีแล้วแต่ไข้ทรพิษยังไม่หมดไปจากประเทศไทย
ทั้งนี้เพราะการปลูกฝียังไม่ทั่วถึง และการติดโรคตามชายแดนระหว่างประเทศมีอยู่เสมอ จึงระบาดมาประเทศไทย กับผู้ใหญ่ไม่ใคร่นิยมการปลูกฝี แต่ก็ไม่ใคร่รุนแรง นอกจากปี พ.ศ. 2488 (ป่วย 36,394 ตาย 8,606) และปี พ.ศ. 2489 (ป่วย 26,443 ตาย 7,015) ผู้ป่วยและผู้ที่เสียชีวิตใน 2 ปีนี้ มีจำนวนมากสถิติการเจ็บป่วยด้วยไข้ทรพิษ 25 ปีก่อนรวมกัน (ปี พ.ศ. 2463-87 ป่วย 7,641 ตาย 2,681)
เหตุที่ปี พ.ศ. 2488-89 โรคระบาดมาก เพราะเป็นตอนกลางของสงครามมหาเอเซียบูรพา ญี่ปุ่นได้นำเชลยพม่ามาใช้ทําทางรถไฟที่อําเภอสังขละ จังหวัดกาญจนบุรี แล้วเริ่มป่วยเป็นไข้ทรพิษ กรรมกรไทยที่ไปรับจ้างทำงานในบริเวณใกล้เคียงก็ติดโรคมา เมื่อกลับบ้านก็พาโรคไปกระจายทั่วทั้งประเทศ การปลูกฝี และการรักษาพยาบาลก็ไม่สะดวกนักด้วยมีข้อจำกัดจากสงคราม
กาฬโรค
ในอดีตนั้นยังไม่รู้ว่ากาฬโรคเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เชื่อกันว่าถ้ามีผู้ป่วยที่มีอาการไข้และต่อมบวมแล้วจะตายเร็ว หรือถ้าบ้านใดที่มีหนูตกลงมาจากหลังคาบ้านตาย ก็ให้คนพึงระวังและหนีออกจากบ้าน ตามประวัติศาสตร์ กาฬโรคระบาดใหญ่ 3 ครั้ง คือ
โดยใน 2 ครั้งแรก (ครั้งที่ 1 ในศตวรรษที่ 6 และครั้งที่ 2 ในศตวรรษที่ 14) ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย ส่วนการระบาดในครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2437 นั้นเกิดที่มณฑลยูนานตอนใต้ของประเทศจีน ระบาดไปอินเดีย, อียิปต์, แอฟริกา, รัสเซีย, ยุโรป, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, อเมริกา และมาถึงประเทศไทย ระบาดอยู่นาน 20 ปี จึงสงบลง
และจากการค้นคว้าของนายแพทย์แยร์แซง ได้พบเชื้อการฬโรคในต่อมของผู้ป่วยที่เสียชีวิตที่กาฬโรคที่ฮ่องกง (30 กรกฎาคมปี พ.ศ. 2437) และนายแพทย์กีตาซาโต้ ได้พบเชื้อจากโลหิตผู้ป่วย (7 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2437) ความรู้เรื่องกาฬโรคจึงได้เริ่มขึ้นพร้อมกับการป้องกัน
การระบาดของกาฬโรคในประเทศไทย เพิ่งมีรายงานเป็นครั้งแรก โดยนาย แพทย์ เอช. แคมเบล ไฮเอต เจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล ในขณะนั้นว่า กาฬโรครายแรกเกดิขึ้นในบริเวณที่อยู่ของพ่อค้าชาวอินเดีย ทางฝั่งธนบุรี เมื่อวันที่ 20 ธันวาคาม ปี พ.ศ. 2447 สันนิษฐานว่าการระบาดคราวนี้เกิดขึ้นโดยมีหนูที่มีเชื้อกาฬโรคติดมากับสินค้าที่มาจากประเทศอินเดีย ต่อจากนั้นโรคก็เริ่มมีเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ แล้วระบาดไปตามจังหวัดต่างๆ ที่มีการค้าขายติดต่อกับกรุงเทพฯ ทั้งทางบกทางเรือและทางรถไฟ
โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางตลาดใหญ่ๆ มีการค้าขายมาก และจังหวัดใดที่เป็นที่สุดของทางรถไฟอยู่นานๆ ก็ทําให้โรคเกิดเป็นประจํา เช่น จังหวัดนครปฐม, ราชบุรี, นครสวรรค์, นครราชสีมา, พิษณุโลก และจันทบุรี เป็นต้น
สถิติจํานวนผู้ป่วยตายก่อนปี พ.ศ. 2456 ไม่มีสถิติแน่นอน เป็นแต่ปรากฏในรายงานของนายแพทย์ แคมเบล ไฮเอ็ต ว่าภายหลังที่โรคได้ระบาดในกรุงเทพฯ แล้ว 2 ปี โรคก็ได้ไปเกิดขึ้นที่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และในปี พ.ศ. 2451 ที่นครปฐม มีคนตาย 300 คน
ตามสถิติตั้งแต่ พ.ศ. 2456-2495 รวม 90 ปี กาฬโรคไม่มีเกิดอยู่เพียง 3 ปี คือปี พ.ศ. 2478, 2479 และ 2490 และปรากฎว่าการระบาดในตอนแรกในปี พ.ศ. 2456-77 โรคมักจะเกิดขึ้นในตลาดใหญ่ๆ หรือในเขตเทศบาล และมีอัตราตายสูงกว่าการระบาดคราวหลัง แต่ปี พ.ศ. 2481-95 โรคมักจะเกิดตามหมู่บ้านท้องนาอาการอ่อนมากทําให้มีอัตราตายต่ำลง
กาฬโรคที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเป็นชนิดต่อมบวมชนิดเดียว มีหนูและหมัดหนูเป็นพาหนะสำคัญ ในการป้องกันจึงต้องกำจัดหนูโดยใช้กับดัก, วางยาเบื่อ และจัดการสุขาภิฐาลให้ดี ซึ่งในปี พ.ศ. 2495 รัฐบาลอเมริกัน โดยองค์การบริหารการร่วมมือกับต่างประเทศได้ให้ความช่วยเหลือร่วมมือในการควบคุมโรคนี้ โดยจัดส่งผู้ชำนาญมาเป็นที่ปรึกษาและค้นคว้าในการควบคุมป้องกันจนถึงปี พ.ศ. 2495 จนถึงปัจจุบันนี้กาฬโรคจึงไม่ปรากฎขึ้นอีกเลย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ประเมิน จินทวิมล.”ประวัติการควบคุมโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทย”, อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบ 20 ปี พ.ศ. 2485-2505
[1] เรื่องเจ้าพระยามหิธร. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยามหินธร(ลออ ไกรฤกษ์) ณ วัดเพทศิรินทราวาส วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499
[2] ส. พลายน้อย. พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์, สำนักพิมพ์มติชน 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ ธันวาคม 2561