“สะพานชุดเฉลิม” ในกรุงเทพฯ ที่นำหน้าว่า “เฉลิม” ลงท้ายด้วยตัวเลข มีที่มาจากไหน?

สะพานเฉลิมพันธุ์ ๕๓ สะพานชุดเฉลิม รัชกาลที่ 5 ทรง ให้ สร้าง
สะพานเฉลิมพันธุ์ ๕๓ หนึ่งในสะพานชุดเฉลิม (ภาพ : Chainwit via Wikimedia Commons)

หากสังเกตชื่อสะพานในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะสะพานข้ามคลอง จะพบ “สะพานชุดเฉลิม” คือ สะพานที่มีชื่อขึ้นต้นว่า “เฉลิม” และลงท้ายด้วยตัวเลข เช่น สะพานเฉลิมหล้า ๕๖ ที่หลายคนคุ้นกันในชื่อ “สะพานหัวช้าง” ข้ามคลองแสนแสบที่ถนนพญาไท ย่านราชเทวี หรือ สะพานเฉลิมพันธุ์ ๕๓ ที่ปัจจุบันอยู่ใต้สะพานตากสิน บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสตากสิน เป็นต้น

ที่มาของสะพานชุดนี้มาจากไหน?

สะพานชุดเฉลิม คือ สะพานที่มีคำว่า “เฉลิม” นำหน้า และลงท้ายด้วยตัวเลขบอกพระชนมายุในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานชุดเฉลิมขึ้น เนื่องในงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวโรกาส “วันเฉลิมพระชนมพรรษา” เป็นประจำทุกปี

ตัวเลขที่ลงท้ายชื่อสะพาน เริ่มตั้งแต่ทรงเจริญพระชนมายุได้ 42 พรรษา กระทั่งสวรรคตเมื่อทรงมีพระชนมายุ 58 พรรษา ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้สะพานเป็นสาธารณประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป และยังเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้านการคมนาคม

สะพานชุดเฉลิม มีด้วยกัน 17 สะพาน ได้แก่

สะพานเฉลิมศรี ๔๒ สะพานข้ามคลองบางขุนพรหม ที่ถนนสามเสน
สะพานเฉลิมศักดิ์ ๔๓ สะพานข้ามคลองอรชร คลองข้างถนนอังรีดูนังต์
สะพานเฉลิมเกียรติ ๔๔ สะพานข้ามคลองหัวลำโพง
สะพานเฉลิมยศ ๔๕ สะพานข้ามคลองวัดพระพิเรนทร์
สะพานเฉลิมเวียง ๔๖ สะพานข้ามคลองตรอกเต๊า
สะพานเฉลิมวัง ๔๗ สะพานข้ามคลองวัดราชบพิธ
สะพานเฉลิมกรุง ๔๘ สะพานข้ามคลองวัดจักรวรรดิ ที่ถนนเจริญกรุง
สะพานเฉลิมเมือง ๔๙ สะพานข้ามคลองสาทร
สะพานเฉลิมภพ ๕๐ สะพานข้ามคลองหัวลำโพง ที่ถนนสุรวงศ์
สะพานเฉลิมพงษ์ ๕๑ สะพานข้ามคลองหลังวัดราชบพิธ ที่ถนนเฟื่องนคร
สะพานเฉลิมเผ่า ๕๒ สะพานข้ามคลองอรชร ข้างวัดปทุมวนาราม
สะพานเฉลิมพันธุ์ ๕๓ สะพานข้ามคลองวัดสามจีน หรือวัดไตรมิตร
สะพานเฉลิมภาคย์ ๕๔ สะพานข้ามคลองสีลม ที่ถนนเจริญกรุง
สะพานเฉลิมโลก ๕๕ สะพานข้ามคลองบางกะปิ หรือคลองแสนแสบ ที่ถนนราชดำริเชื่อมถนนประแจจีน
สะพานเฉลิมหล้า ๕๖ สะพานข้ามคลองบางกะปิ หรือคลองแสนแสบ ที่ถนนพญาไท
สะพานเฉลิมเดช ๕๗ สะพานข้ามคลองหัวลำโพง ปลายถนนสี่พระยา
สะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘ สะพานข้ามคลองคูเมือง ที่ถนนพระอาทิตย์

เมื่อเวลาผ่านไป สะพานชุดเฉลิม ทั้ง 17 สะพาน ส่วนใหญ่ถูกรื้อถอนเมื่อมีการถมคลองเพื่อขยายถนน บางสะพานยังคงอยู่ แต่ลักษณะหรือรูปแบบของสะพานเปลี่ยนไป เช่น สะพานเฉลิมเผ่า ๕๒ สะพานเฉลิมโลก ๕๕ สะพานเฉลิมหล้า ๕๖ ที่ทุกวันนี้เรียกกันว่า “สะพานหัวช้าง” รวมถึงสะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นถนนลอดใต้เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าไปเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน. 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2567