“ถนนหลานหลวง” มีที่มาจากไหน?

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ พระบิดา พระเจ้าหลานเธอ ใน รัชกาลที่ 5 ที่มา ถนนหลานหลวง
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระโอรสในเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี 6 พระองค์ เป็นที่มาของชื่อถนนหลานหลวง

ถนนหลานหลวง เป็นอีกหนึ่งถนนเก่าแก่ในกรุงเทพมหานคร ชื่อ “หลานหลวง” อาจพอเดาได้ว่า มีที่มาจาก “พระเจ้าหลานเธอ” แต่เป็นพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลใด?

ย้อนไปสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บริเวณถนนหลานหลวง ถือเป็นพื้นที่นอกเมืองใช้เป็นทุ่งเลี้ยงควายหลวง เรียกกันว่า สนามควาย หรือสนามกระบือ

เมื่อขุดคลองผดุงกรุงเกษมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาณาเขตของพระนครก็ได้ขยายออกมา บริเวณนี้จึงได้รับการยกขึ้นเป็นตำบลสนามกระบือ เมื่อมีถนนตัดผ่านก็เรียกว่า ถนนสนามควาย หรือถนนสนามกระบือ

เข้าสู่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณนี้เป็นที่ตั้งวังของ “พระเจ้าหลานเธอ” ถึง 6 วัง คือ วังกรมหมื่นอนุพงศ์จักรพรรดิ, วังกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์, วังหม่อมเจ้าดนัยวรนุช, วังหม่อมเจ้าดรุณวัยวัฒน์, วังหม่อมเจ้าปิยบุตร และ วังหม่อมเจ้าทศสิริวงศ์

พระเจ้าหลานเธอทั้ง 6 พระองค์ เป็นพระโอรสใน สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ซึ่งแต่เดิมประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิม

เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่จัดตั้งโรงเรียนนายเรือ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังของพระเจ้าหลานเธอทั้ง 6 พระองค์ขึ้นในบริเวณดังกล่าว โดยวังทั้ง 6 สร้างหันหน้าวังออกคนละด้าน ด้านละ 3 วัง หลังวังติดกันเป็นคู่ๆ ดังนี้

วังกรมหมื่นอนุพงศ์จักรพรรดิ คู่กับวังกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์, วังหม่อมเจ้าดนัยวรนุช คู่กับวังหม่อมเจ้าดรุณวัยวัฒน์ และวังหม่อมเจ้าปิยบุตร คู่กับวังหม่อมเจ้าทศสิริวงศ์

เป็นที่มาของชื่อ “ถนนหลานหลวง” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. บางกอก บอกเล่า (เรื่อง). นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.), 2554.

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน. 2551.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มีนาคม 2567