พระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของกรุงศรีฯ ในเอกสารฝ่ายพม่า

พม่า กรุงศรีอยุธยา เสียกรุงฯ
ภาพจิตรกรรมแสดงเหตุการณ์กองทัพพม่าโจมตีกรุงศรีอยุธยา สมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 จากอนุสรณ์สถานแห่งชาติ

เมื่อกล่าวถึง พระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของ กรุงศรีอยุธยา “ภาพจำ” ที่ได้จากพระราชพงศาวดาร, แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย, คำเล่าขาน ฯลฯ เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เป็นกษัตริย์ที่ไม่ใส่ใจกิจการบ้านเมือง, ลุ่มหลงแต่สนมนางใน, กดขี่ข่มเหงข้าราชการและประชาชน, โดยเฉพาะเมื่อเกิดสงครามกับพม่าไม่ทรงอนุญาตให้ยิงปืนใหญ่ ด้วยเกรงบรรดาพระสนมจะตกอกตกใจกัน ฯลฯ

แต่ในเอกสารหลักฐานฝ่ายพม่า กลับบันทึกถึงพระเจ้าเอกทัศแตกต่างออกไป เอกสารที่ว่าคือ “มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า” ตอนหนึ่งกล่าวถึง บทบาทของพระองค์ช่วงใกล้เสียกรุงศรีอยุธยาว่า

“ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา [พระเจ้าเอกทัศ] พระองค์ได้จัดให้ออกมารบครั้งใดก็มิได้ชนะ มีแต่พ่ายแพ้แตกหนีล้มตายไปทุกที ถึงกระนั้นก็ดีพระองค์ มิได้ทรงย่อท้อหย่อนพระหัดถ์เลย พระองค์ทรงรับสั่งให้ช่างก่อสร้างทำเรือรบแลเรือกำปั่นเปนอันมาก ครั้นช่างทำเรือเหล่านั้นเสร็จแล้ว พระองค์ทรงรับสั่งให้พลทหารทั้งปวงเอาปืนใหญ่น้อยบรรทุกเรือนั้นทุกๆ ลำแล้วทรงรับสั่งให้พลทหารถอยเอาเรือเหล่านั้นไปรักษาทางน้ำไว้โดยแน่นหนา

เมื่อพระองค์จัดทางน้ำเสร็จแล้วพระองค์ทรงรับสั่งให้พลทหารก่อสร้างทำป้อมอิฐสำหรับสู้รบให้ล้อมพระนคร 50 ป้อม แต่ป้อมที่ทำนั้นห่างจากคูเมืองไป 500 เส้น รับสั่งให้ทำทั้งกลางวันแลกลางคืน ครั้นทำเสร็จแล้วรับสั่งให้เอาเสบียงอาหารทั้งปวงเข้าไว้ในป้อมนั้น แล้วรับสั่งให้พลทหารเอาปืนใหญ่น้อยสาสตราอาวุธทั้งปวงขึ้นรักษาอยู่ที่ป้อมนั้นโดยกวดขัน

แล้วทรงรับสั่งให้ลงขวากช้างขวากม้าขวากคนแลหนามเสี้ยน แลขุดลวงดักไว้ให้ข้าศึกตกทุกหนทุกแห่ง ฝ่ายทางน้ำเล่าพระองค์ทรงรับสั่งให้ลงขวากหนามแลตอไม้ทั้งปวงไว้ มิให้ข้าศึกเข้ามาได้ ครั้นทรงจัดเสร็จแล้วก็ให้รักษาตั้งมั่นอยู่ 

ในขณะนั้นพระเจ้าช้างเผือกกรุงอังวะ มีท้องตราเร่งมาว่าให้แม่ทัพแลนายกองทั้งปวงจงตั้งใจรีบเร่งตีกรุงศรีอยุทธยาให้แตกโดยเร็วอย่าให้ช้า ครั้นแม่ทัพทั้งสองแลนายทัพนายกองทั้งปวงได้ทราบทรงพระกระแสรับสั่งดังนั้น จึงได้ประชุมปฤกษากัน ในเวลานั้นมหานรทาแม่ทัพพูดว่า

ด้วยเราได้เอาบุญบารมีพระเดชพระคุณเจ้าของเราทูลเกล้าฯ ยกพยุหโยธาทัพมาตี ‘กรุงศรีอยุธยา นั้น เราได้เข้าตีหัวเมืองใหญ่น้อยตามรายทางได้แก่เราทั้งสิ้นแล้ว บัดนี้เราได้ยกเข้ามาถึงชานเมืองกรุงศรีอยุทธยาแล้วเข้าล้อมไว้ ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็ได้ทรงจัดให้พลช้างพลม้าแลพลทหารทั้งปวงยกออกมาตีกองทัพเราหลายครั้งหลายหนก็มีแต่พ่ายแพ้แตกหนีล้มตายไปทุกครั้งทุกที เราจับเปนไว้ได้ก็มาก

 ถึงกระนั้นก็ดีพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา [พระเจ้าเอกทัศ] ก็มิได้ย่อท้อหย่อนพระหัดถ์เลย บัดนี้พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็ทรงสร้างป้อม 50 ป้อม ตั้งสู้รบอยู่นอกกำแพงเมืองโดยแน่นหนานั้น พวกท่านทั้งหลายจะทำอย่างไร

แต่เรานั้นคิดจะขุดอุโมงค์เช่นพระมโหสถเชื้อหน่อพุทธางกูร เมื่อครั้งทรงขุดอุโมงค์ไปรับพระราชบุตรีบุตราซึ่งทรงพระนามว่า ปัญจละจันทีแลบริวารนั้น โดยเหตุนี้เราก็จะสร้างเมืองใกล้เคียงกับกรุงศรีอยุทธยาขึ้นเมืองหนึ่ง เมื่อสร้างสำเร็จแล้ว เราก็จะขุดอุโมงค์เข้าไปในกรุงศรีอยุทธยา ถ้าทลุถึงในเมืองแล้ว เราก็จะจับพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาแลพระมเหสีพระราชโอรสทั้งปวงให้จงได้ เมื่อมหานรทาแม่ทัพพูดดังนั้น สีหะปะต๊ะแม่ทัพแลนายกองทั้งปวงก็เห็นชอบพร้อมกัน”

พม่าในเวลานั้นไม่ใช่มิตรประเทศ แต่คือศัตรูที่ทำศึกกันจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเขียนสรรเสริญเอาใจผู้นำไทยแต่อย่างใด หรือพระเจ้าเอกทัศจะทรงเป็น “แพะ” ในเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กำพล จำปาพันธ์. “พระยาตากสิน จากหลักฐานฮอลันดา (ไปจันทบุรีตามคำสั่งของราชสำนักอยุธยา?)” ใน, ศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2560.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษายน 2564