ขุดอุโมงค์เผากำแพง สู่จุดจบอยุธยา พินาศด้วยเพลิงกัลป์ ดั่งอาทิตย์ขึ้นพร้อมกัน 7 ดวง

จิตรกรรมฝาผนัง เผา อยุธยา เสียกรุงครั้งที่ 2 พระเจ้าเอกทัศ ราชวงศ์ บ้านพลูหลวง
สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ภาพจิตรกรรมฝาผนังจัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

จุดจบ “อยุธยา” พม่า ขุดอุโมงค์ เผากำแพง จนบ้านเมืองพินาศด้วยเพลิงกัลป์ ดั่งอาทิตย์ขึ้นพร้อมกัน 7 ดวง

ในบทความ “‘อยุธยาพิโรธใต้ เพลิงกัลป์’ : บันทึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์เมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2557 ศ.ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร (ผู้เขียน) ได้เก็บความและเรียบเรียงข้อมูลเหตุการณ์สงครามการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2307-10 มาจากบทความสองเรื่อง [1] ซึ่งเป็นข้อมูลจากบันทึกของ “Letwe Nawratha” แม่ทัพคนสำคัญของฝ่ายพม่า เขาบันทึกเหตุการณ์ที่ได้ประสบด้วยตนเอง เขียนเป็นบทร้อยกรอง 76 บท มีชื่อว่า “Yodayar Naing Mawgun”

สำหรับยุทธศาสตร์ ขุดอุโมงค์ เผากำแพง ของกองทัพพม่านี้ ศ.ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร สรุปความดังนี้

“การขุดอุโมงค์ใต้ดินกระทำเป็น 5 สาย เพื่อมุ่งไปสู่รากกำแพงเมือง การขุดนั้นกระทำในตอนกลางคืน เพื่อขนดินจำนวนมหาศาลออกจากอุโมงค์เพื่อไปทิ้งยังแม่น้ำ โดยปราศจากการรู้เห็นของฝ่ายไทยแต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็มีการลำเลียงเชื้อเพลิงคือหญ้าแห้ง ใบไม้และกิ่งไม้เข้าไปแทนที่ ในช่วงเวลานี้ Byamwnari พระอนุชาเขยของพระมหากษัตริย์ไทย ยกทัพอันประกอบด้วยพล 5,000 นาย เข้าโจมตีค่ายพม่าด้วยความกล้าหาญและความหวังอันเต็มเปี่ยมที่จะได้ชัยชนะ ฝ่ายไทยระดมยิงปืนมายังค่ายที่ตั้งใหม่ของพม่า แต่ทั้งหมดก็สูญเปล่า

วันอังคารที่ 8 เมษายน 2310 เวลา 15.00 นาฬิกา ณ ปลายอุโมงค์ น้ำมันถูกราดไปบนเชื้อเพลิงที่กองสุมอย่างมหาศาล ควันกระจายแผ่ไปทั้ง 5 จุด เปลวไฟลุกโชติช่วงขึ้นทันที ความร้อนแผ่ไปทั่ว และเมื่อเวลาผ่านไปชั่วครู่ กำแพงเมืองโค่นล้มพร้อมกับเสียงดังสนั่นไปทั่วทุกทิศ ราวกับเมื่อโลกสิ้นกัลป์ แสงไฟพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ประดุจชัยชนะของพระเจ้าช้างเผือกอันจะจดจำไปตราบสิ้นจักรวาล”

ภาพจิตรกรรมแสดงเหตุการณ์กองทัพพม่าโจมตีกรุงศรีอยุธยา สมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 จากอนุสรณ์สถานแห่งชาติ

เมื่อกำแพงเมืองพังลง ไพร่พลกองทัพพม่าก็รุกเข้ายึดกรุงศรีอยุธยา จากบันทึกของแม่ทัพพม่าผู้นี้ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์วันกรุงแตก ได้ฉายให้เห็นภาพวาระสุดท้ายของอาณาจักรพินาศด้วยเพลิงกัลป์ เปรียบดั่งอาทิตย์ขึ้นพร้อมกัน 7 ดวง ดังที่ ศ.ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร สรุปความดังนี้

“ภายในและภายนอกกำแพงเมืองอยุธยาปกคลุมด้วยหมอกควันและเปลวไฟ สลับกับเสียงดังสนั่นราวกับเสียงฟ้าร้องและฟ้าผ่า ปืนไฟจากนอกกำแพงถูกระดมยิงเข้ามาราวกับสายน้ำที่ไหลอย่างเชี่ยวกราก ทัพหน้าของพม่าซึ่งประกอบด้วยคน 5,000 คน ทะลุทะลวงเข้าไปในเมืองอย่างฮึกเหิม แต่ก็ได้รับการต้านทานอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวจาก Banya และ Banya Kuratit แม่ทัพไทยที่คุมทัพ 10,000 คน ถึงแม้เขาทั้งหลายจะตระหนักรู้ถึงชะตากรรมของเขา แต่เขาก็สู้จนถึงวาระสุดท้าย

พระเจ้าเอกทัศผู้ทรงประกาศอยู่เสมอว่าพระองค์ทรงอานุภาพประดุจท้าวสักกะ ทรงปลอมกายในสภาพ ที่ไม่มีใครจดจำได้ และทรงหลบหนีออกจากเมือง แต่แล้วก็ถูกกระสุนสิ้นพระชนม์ [2]

สภาพของกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้นเหมือนกับอยู่ในช่วงเวลาที่โลกพินาศด้วยเพลิงกัลป์ เพราะพระอาทิตย์ขึ้นพร้อมกันทั้ง 7 ดวง พระราชวัง ศาสนสถาน สิ่งก่อสร้าง บ้านเมืองทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ในกำแพงเมืองรุ่งโรจน์อยู่ด้วยกองเพลิงประลัยกัลป์ที่โชติช่วงอย่างไม่มีวันหมดสิ้น คูคลองรอบเมือง แน่นขนัดไปด้วยซากศพที่ถูกโยนทิ้ง น้ำในคูคลองเริ่มเปลี่ยนสีอย่างช้า ๆ เริ่มจากสีชมพู จนกลายเป็นสีแดงจัด พร้อมทั้งส่งกลิ่นคาวจัดคละคลุ้งไปทั่ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] คือ 1. “Yodayar Naing Mawgun” by Letwe Nawrahta : A Contemporary Myanmar Record, Long Lost, of How Ayuthaya Was Conquered ผู้แปลคือ Soe Thuzar Myint และ 2. การวิเคราะห์เหตุการณ์ใน “Yodayar Naing Mawgun” ในบทความ The Myanmar Poetic Account of Ayuthaya Vanquished : Notes on Its Rediscovery and Significance ผู้เขียนคือ Thae Kaung และ Yee Yee Khin โดยทั้งสองบทความตีพิมพ์ใน Journal of the Siam Society (JSS), volume 99, 2011, pp. 3-37

[2] ศ.ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร อธิบายว่า ข้อมูลส่วนนี้ต่างจากหลักฐานไทย หนังสือไทยรบพม่า กล่าวว่า “พอกองทัพกลับไปแล้วไม่กี่วัน พวกพม่าก็ไปพบพระเจ้าเอกทัศที่บ้านจิก เวลานั้นอดพระอาหารมากว่า 10 วัน พอรับเสด็จไปถึงค่ายโพธิ์สามต้นก็สวรรคต” ขณะที่หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวว่า “ขณะนั้นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาและพระมเหสีพระราชโอรสธิดา กับพระราชวงศานุวงศ์ก็หนีกระจัดกระจายกันไป พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จหนีไปซุ่มซ่อนอยู่ประมาณสิบเอ็ดสิบสองวันก็เสด็จสวรรคต”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564