27 ค่ายพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา จากบันทึกของแม่ทัพพม่า คราวสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2

ค่ายพม่า กรุงศรีอยุธยา

หนึ่งในบันทึกที่บรรยายถึงการตั้ง “ค่ายพม่า” ล้อม “กรุงศรีอยุธยา” ที่น่าสนใจมากบันทึกหนึ่ง เป็นบันทึกของ Letwe Nawrahta เป็นแม่ทัพคนสำคัญของพม่า ได้บันทึกเหตุการณ์ที่เขาได้เข้าร่วมสงครามในครั้งนั้นเป็นบทร้อยกรอง 76 บท มีชื่อว่า Yodayar Naing Mawgun

ศ.ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร ได้เก็บเรียงเรียงข้อมูลเรื่อง Yodayar Naing Mawgun จากบทความ 2 เรื่องคือ “Yodayar Naing Mawgun” by Letwe Nawrahta : A Contemporary Myanmar Record, Long Lost, of How Ayuthaya Was Conquered และ The Myanmar Poetic Account of Ayuthaya Vanquished : Notes on Its Rediscovery and Significabce สรุปข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งค่ายล้อมกรุงศรีอยุธยา (เผยแพร่ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2557) ดังนี้

การตั้งค่ายล้อมกรุงศรีอยุธยามีทั้งหมด 27 ค่าย แม่ทัพใหญ่เนเมียวสีหบดีตั้งค่ายทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือห่างจากพระนคร 400 ตาร์ (tar) (1 ตาร์ เท่ากับ 3.5 เมตร) ค่ายนั้นมีปริมณฑล 350 ตาร์ และความสูง 7 คิวบิท Shwe Taung Sithu (ในภาพลําดับที่ 4 ) ทางทิศเหนือค่อนไปทางตะวันตก มีปริมณฑล 200 ตาร์ ส่วนสูง 7 คิวบิท ทางทิศตะวันออก Ponya Kyaw Htin (ในภาพลําดับที่ 5) Kyaw Gaung Kyaw Thu (ในภาพลําดับที่ 7) ตั้งค่ายใกล้ ๆ เพนียดคล้องช้าง มีปริมณฑล 300 ตาร์ ส่วนสูง 8 คิวบิท ฯลฯ

ค่ายรบของพม่า 27 ค่ายตั้งประจันกับค่ายรบฝ่ายไทย 50 ค่าย สถานการณ์ครั้งนี้สร้างความสะพรึงกลัว ให้แก่ชาวอยุธยายิ่งนัก แต่กระนั้นทางการของไทยก็ยังไม่ละลดความพยายาม มีการเสริมกําลังทหารจำนวน 2 หมื่นคนจากหัวเมืองใกล้เคียงคือ สวรรคโลก พิษณุโลก สุโขทัย และ Baner มาตั้งที่ตําบลกู่เต้า พม่าส่ง Thiri Yaza Thingyan มาล้อมทางตะวันออก และ Thiri Yanamaik Kyaw Htin ทางตะวันตก

กําลังสําคัญของทัพพม่าคือ กองทัพหน้าของทหารไทยที่แข็งแกร่งจํานวน 1,000 คน เขาเหล่านี้คือเชลยศึกไทยที่่พม่าจับตัวไว้ในครั้งก่อน และไว้ชีวิตพร้อมทั้งให้ดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาว่าจะซื่่อตรงต่อพม่า ไม่มีใครที่จะคาดเดาสถานการณ์เช่นนี้ได้เลย กองทัพไทยเข้าใจว่าเขาเหล่านี้คือทัพเสริมจากหัวเมืองใกล้เคียงที่ส่งมาช่วย ไม่มีใครคาดคิดว่าเขาเหล่านั้นคือศัตรูของคนไทยด้วยกันเอง ทัพไทยพ่ายแพ้อย่างยับเยินและทหารไทยถูกจับ

ทัพไทยซึ่งประกอบด้วยชนหลายชาติที่จ้างมา คือ ชาวอินเดีย, Panthay (คือพวกชาวจีนมุสลิม) ชาวจีน ชาวมาเลย์ พ่ายแพ้ทัพพม่านับครั้งไม่ถ้วน ทั้งนี้ทำให้ชาวอยุธยาตื่นตระหนกเพราะถูกพม่าปิดล้อมเพื่อให้อดตาย พระเจ้ากรุงสยามมีพระราชสาส์นส่งถึงฝ่ายพม่าโดยมีพระกลาโหมเป็นทูต ในพระราชสาส์นมีความว่ากรุงสยามกับพม่ามีไมตรีกันมาช้านานสืบเนื่องมาตั้งแต่พระปัยกา พระอัยกาของไทย กรุงศรีอยุธยาได้ส่งเครื่องราชบรรณาการคือช้าง ม้า ให้แก่พม่าเป็นนิตย์ แต่เหตุที่ความสัมพันธ์ระหว่างสอง ชาตินี้ต้องหยุดชะงักไป ก็เพราะความไม่ซื่อสัตย์ของมอญ

ฝ่ายพม่าโดยมีรองแม่ทัพเป็นผู้ตอบยืนยันว่า กรุงศรีอยุธยาจะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้พม่าเหมือนเช่นเดิม อันประกอบด้วย พระราชวงศ์ พระราชโอรส พระราชธิดา ช้าง ม้า และปืนใหญ่ ในขณะนี้ฝ่ายพม่าพร้อมที่จะทำศึกในทุกเมื่อด้วยกําลังไพร่พลที่มหาศาล มีทหารไทยที่เข้มแข็ง (ที่หันมาเข้ากับพม่า) 1,000 นาย และทหารพม่าจํานวนมหาศาล

ในช่วงเวลาที่กําลังเจรจากันอยู่นี้ (1 เดือน) พม่าตั้งค่ายประชิดกรุง 3 ค่ายขนานกันเพื่อเตรียมขุดอุโมงค์ ไปยังรากกําแพงเมือง

โดยการตั้ง “ค่ายพม่า” ตามที่ปรากฏใน Yodayar Naing Mawgun ทั้ง 27 ค่าย มีดังนี้

1. Naymyo Thiha Pati 2. Maha Nawrahta 3. Satu Gamani 4. Shwe Taung Sithu 5. Ponya Kyaw Htin 6. Chaung U Bo 7. Kyaw Gaung Kyaw Thu 8. Giri Naya 9. Tuyin Yaza Thingyan 10. Tuyin Yan Kyaw

11. Thiri Thara Kyawswa 12. Thiri Yaza Thingyan 13. Shwe Taung Kyaw Swa 14. Taza Bala Kyaw 15. Thidi Kyaw Thu 16. Mingyi Zayathu 17. Nanda Udain Kyaw Htin 18. Bala Nanda Kyaw Htin 19. Letwe Kyaw Swe 20. Yan Ngu Thiri Kyaw Htin

21. Nandamaik Sithu 22. Shwe Taung Letwei Nawratha 23. Letyar Bla 24. Thiri Yanamaik Kyaw Htin 25. Thidi Kyaw Htin 26. Thiha Dhammarat 27. Bala Pyan Chi

ค่ายพม่า กรุงศรีอยุธยา

ขณะที่พงศาวดารไทยระบุว่า ค่ายพม่า มีจำนวน 18 ค่าย เช่น เพนียด วัดกุฎีแดง วัดสามพิหาร วัดนางปลื้ม วัดหน้าพระเมรุ วัดมณฑป วัดภูเขาทอง วัดเกาะแก้ว วัดนางชี วัดกระโจม ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “อยุธยาพิโรธใต้ เพลิงกัลป์ : บันทึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์เมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2” เขียนโดย นิยะดา เหล่าสุนทร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2563