ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
กลศึกของพม่าในคราวสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 ที่ทำให้ กรุงศรีอยุธยาแตก พม่าใช้ยุทธวิธี “สร้างคอกล้อมวัว” นั่นคือการสร้างเมืองเล็กๆ ล้อมเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา ประกอบกับการแก้ปัญหาเรื่องเสบียง และ “มวลน้ำ” ในฤดูน้ำหลาก เป็นการวางยุทธวิธีเพื่อเอาชนะศึกนี้ให้ได้
ในเอกสารเรื่อง “มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” จดไว้ว่า
“เพราะฉนั้นพวกเราจงแย่งชิงโคกระบือของพลเมืองอยุทธยาทั้งปวง เมื่อได้แล้วก็ไปทำนาตามนาพลเมืองแลนาหลวงอยุทธยาให้มีกำลังแก่เรา แลอย่าให้พลเมืองอยุทธยาทำไร่ทำนาได้มิดีกว่าหรือ แต่ช้างม้ารี้พลของเรานั้นก็เอาไปไว้ที่ดอนน้ำไม่ท่วมถึงแลที่หญ้างาม
แล้วก็จัดพลทหารให้เปนเวรมาล้อมผลัดเปลี่ยนกัน ถ้าน้ำฤกก็ถอยไปหาที่ตื้นชักปีกกาให้มาช่วยถึงกันกับหัวเมืองใหญ่น้อยแถวนั้น แล้วก็จัดให้กองลำเลียงส่งเสบียงอาหารอย่าให้ขาดได้
ถ้าประเทศอื่นจะมาช่วยกรุงศรีอยุทธยา เราก็จัดให้พลทหารเราออกตีให้แตกไป ถ้าเราทำดังนี้แล้วพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาแลพลทหารพลเมืองอยุทธยาก็จะไม่พ้นฝีมือเราเปนแน่
ถึงแม้ว่าเราจะต้องล้อม 10 ปี เราก็จะล้อมไว้กว่าจะได้กรุงศรีอยุทธยา”
จากพงศาวดารพม่า “เมือง” ที่พม่าสร้างขึ้นล้อมกรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองที่มีกำแพงหนาสูงมากถึง 27 เมือง แม้ว่าจำนวนนี้จะยังไม่ตรงกับเอกสารไทย แต่ก็มีจำนวนมากพอที่จะ “สร้างคอกล้อมวัว” ตามยุทธวิธีของกองทัพพม่า
เมืองแต่ละเมืองเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส เฉลี่ยกว้างด้านละ 40 เส้น (ประมาณ 1.6 กิโลเมตร) กำแพงสูงประมาณ 7 ศอก (ประมาณ 3.5 เมตร) พงศาวดารพม่าอ้างว่าได้สร้างเมืองขนาดใหญ่เล็กต่างกันรอบพระนครจำนวน 27 เมือง
ส่วนเอกสารไทยได้พูดถึงค่ายพม่าด้านทิศเหนือที่โพธิ์สามต้น ค่ายวัดภูเขาทอง วัดกระชาย วัดพลับพลาชัย วัดเต่า วัดสุเรนทร์ วัดแดง ด้านทิศใต้อยู่ที่บางไทร ขนอนวัดโปรดสัตว์ ด้านตะวันตกที่วัดการ้อง(วัดท่าการ้อง) วัดไชยวัฒนาราม คลองสวนพลู นอกจากนี้ยังมีที่เพนียด วัดพระเจดีย์แดง วัดสามพิหาร วัดมณฑป วัดกระโจม วัดนางชี วัดนางปลื้ม วัดศรีโพธิ์ เป็นต้น
ภายในค่ายพม่านั้น ก็ไม่อยู่กันเฉยๆ แม่ทัพพม่าสั่งให้ตีฆ้องร้องเพลงเล่นละครกันให้สนุกครึกครื้น นอกจากจะเป็นการปลุกขวัญกำลังใจให้แก่กันแล้ว ยังเป็นการกดดันชาวพระนครที่ติดเกาะอยู่ “แล้วสั่งให้พวกพลทหารรักษานั้นทำดุริยางค์ฆ้องกลอง แลให้เต้นรำร้องลครโดยร่าเริงทุกๆ กอง”
นอกจากกองทหารพม่าที่จัดกำลังเข้ามาอยู่ในเมืองต่างๆ รอบพระนครแล้ว เชื่อว่ายังมีกองทหารอีกส่วนหนึ่งที่ยึดหัวเมืองไว้คอยอยู่รักษาเมือง และมีหน้าที่หลักในการเกณฑ์ชาวบ้านหัวเมืองนั้นให้ทำนาปลูกข้าวเลี้ยงกองทหารทั้งหมด ซึ่งน่าจะได้แก่หัวเมืองด้านเหนือและตะวันออกตามเส้นทางการเดินทัพ เช่น กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ราชบุรี เพชรบุรี เป็นต้น ถูกใช้เป็นกำลังผลิตเสบียงเลี้ยงกองทัพที่ “ปักหลักพักค้าง” อยู่ในขณะนั้นซึ่งเท่ากับว่าเวลานั้นมีทหารพม่าอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด
อ่านเพิ่มเติม :
- 7 เมษายน : กรุงศรีอยุธยาแตก
- นักวิชาการม.ออสเตรเลียชี้ กรุงศรีอยุธยามิได้ถูกพม่าเผาทั้งหมด พวกอื่นทำลายหลังกรุงแตก
- บันทึกฝรั่งชี้ เสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 ไทย-จีนพากันล่ำซำ ได้โอกาสปล้นทองที่ซ่อนตามวัด
หมายเหตุ : คัดความส่วนหนึ่งมาจากหนังสือเรื่อง shutdown กรุงศรี เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง จัดพิมพ์โดยสนพ. มติชน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ตุลาคม 2561