นักวิชาการม.ออสเตรเลียชี้ กรุงศรีอยุธยามิได้ถูกพม่าเผาทั้งหมด พวกอื่นทำลายหลังกรุงแตก

สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 บ้านเมืองถึงคราววิบัติ “ล่มสลาย” บ้านแตกสาแหรกขาด ภาพนี้เป็นจิตรกรรมฝาผนังจัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

ข้อสังเกตเรื่องพม่าเผาทำลายกรุงศรีอยุธยาหลังจากตีกรุงศรีฯ เมื่อปี พ.ศ. 2310 เป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงในวงวิชาการมายาวนาน แม้แต่นักวิชาการต่างชาติอย่างออสเตรเลียก็เคยเขียนบทความตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ด้วย

บทความชื่อ “ใครทำลายกรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา)?” โดย ดร. บี.เจ. เตรวิล จากศูนย์ประวัติศาสตร์เอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Asian History Centre, Australian National University) เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 11 เดือนกันยายน 2528

Advertisement

เนื้อหาต่อไปนี้คือเนื้อหาที่คัดลอกมาจากบทความเดิม


 

…ผู้เขียนมีโอกาสดีมากที่ได้ไปทำงานที่กรุงปารีส และได้ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่อ่านจดหมายและเอกสารสำคัญต่างๆ ซึ่งมีจำนวนมากมายที่แผนกจดหมายเหตุของ Missions Etrangères de Paris

จดหมายจำนวนมากมายเหล่านี้ เขียนโดยบาทหลวงที่เข้ามาสอนศาสนา เขียนถึงศูนย์กลางเผยแผ่ศาสนาที่กรุงปารีส มีจดหมายหลายฉบับที่ให้ความรู้อันมีคุณค่ายิ่งต่อนักประวัติศาสตร์ ข้อสังเกตเล็กน้อยถึงเหตุการณ์ซึ่งอาจจะไม่มีความสำคัญสำหรับบาทหลวง แต่จะเป็นข้ออ้างซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์แก่เรา

ผู้เขียนเคยเขียนเรื่องลงใน “ศิลปวัฒนธรรม” และได้กล่าวถึงเอกสารต่างๆ ที่หอจดหมายเหตุของฝรั่งเศส ซึ่งอาจจะทำให้เราต้องหันมาพิจารณาแก้ไขบางสิ่งบางอย่างในประวัติศาสตร์ไทย ในเรื่องนั้นได้กล่าวถึงการป้องกันอยุธยาระหว่างพม่าล้อมกรุงศรีฯ และได้พิจารณาถึงปัญหาซับซ้อนว่า ทำไมกรมหลวงรักษรณเรศร์ถึงถูกประหารชีวิต ในปี 2391 สำหรับบทความสั้นๆ นี้ผู้เขียนอยากจะชี้ให้เห็นคุณค่าของจดหมายเหตุของฝรั่งเศส โดยการยกตัวอย่างอีกถึงเรื่องการทำลายกรุงศรีอยุธยา

นักประวัติศาสตร์ส่วนมากจะลงความเห็นเดียวกันว่า “เรื่องการเสียกรุงนั้นทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว” กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าทำลาย

หนังสือประวัติศาสตร์ทุกเล่มต่างก็เห็นพ้องเช่นนั้น พม่าทำลาย เผาและขนเอาทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลของไทยไปประเทศพม่าโดยไม่มีความเมตตากรุณาเลย รวมทั้งกวาดต้อนเอาคนไทยนับหมื่นไปเป็นเชลย เหลือแต่ซากเมืองหลวงที่ถูกทำลาย

หนังสือประวัติศาสตร์ที่คนส่วนมากยอมรับเล่มหนึ่งกล่าวว่า พม่าทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง “…สำหรับผู้ชนะซึ่งมีแต่ความโลภ ปราศจากบุญ บาป ทำลายแม้แต่วัดวาอาราม แม้แต่ศาสนาของตนเอง พระพุทธรูปที่ใหญ่และสวยงามที่สุดได้ถูกทำลาย ตัด(เลื่อย)เป็น ชิ้นๆ และเป็นจำนวนมากถูกเผาเอาทองซึ่งหุ้มองค์พระพุทธรูป มีแต่การแย่งชิงและขนเอาไปให้หมดแต่อย่างเดียว”[1]

ข้อบกพร่องข้อแรกที่เกิดจากความนิยมกันทั่วๆ ไปอยู่ที่กาลเวลาและโอกาส อยุธยาเคยเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ในโลก ซึ่งมีป้อมปราการใหญ่โตมโหฬารเต็มไปด้วยปราสาทพระราชวัง วัดวาอารามต่างๆ อันสวยงาม เราทราบกันแล้วว่าพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้ในคืนวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 สิ่งที่คนส่วนมากยังไม่คำนึงถึงคือจากหลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศสกล่าวว่า กองทัพพม่าส่วนใหญ่ยกกลับประเทศพม่าในวันที่ 25 เมษายน เพียง 18 วันหลังจากตีกรุงศรีอยุธยาได้ ผู้ชนะย่อมปฏิบัติตนอย่างโหดร้ายแบบผู้ชนะทั่วไป มีการฆ่าฟันกันตายแน่ ได้เงินทองและนำเอาเชลยศึกอาจถึง 30,000 คนไปด้วย[2]

ถ้าเรายอมรับวันที่กล่าวมาแล้ว (25 เม.ย. พม่าเดินทางกลับ) ของบาทหลวงฝรั่งเศสแล้ว (ผู้เขียนเห็นว่าไม่มีเหตุผลที่จะคัดค้าน) เราอาจจะกล่าวด้วยความมั่นใจได้ว่าพม่ารีบร้อนที่จะยกทัพกลับ พม่าคงจะไม่มีเวลาพอที่จะทำลาย (ทุกสิ่งทุกอย่าง) ดังที่กล่าวถึงกัน

จริงอยู่ พม่าเหลือกองทัพเพียง 2-3 พันไว้แถวอยุธยาและที่ราชบุรี พม่าได้แต่งตั้งกองทหารดูแลรักษาทหารกองที่พม่าแต่งตั้งเพื่อรักษาเมือง อาจจะมีส่วนทำลายบ้าง แต่หน้าที่ของกองทัพดังกล่าวคือการช่วยเหลือการปกครองให้แก่พม่า ไม่ใช่ที่จะทำให้ราษฎรเดือดร้อนอีก กองทหารที่พม่าแต่งตั้งดังกล่าวอยู่ได้เพียง 6 เดือนเท่านั้นก่อนที่พระเจ้าตากจะยึดคืนมาได้ และกรุงศรีอยุธยาก็กลับคืนมาอยู่ใต้อำนาจของคนไทยอีกครั้งหนึ่ง

สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้อาจจะทำให้ท่านแปลกใจ (Shock) ถ้าท่านเชื่อถือแบบผิวเผินว่ากรุงศรีอยุธยาถูกทำลายอะไรบ้าง แล้วไม่มีความสงสัยในข้อที่ว่าพม่าไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำลายกรุงศรีอยุธยาดังกล่าว

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2565 “เพลงยาวชาวกรุงเก่า : คำบอกเล่า “ความหลัง” ครั้งเสียกรุง” และบทความน่าสนใจอื่นๆ การเดินทางของกองทัพพม่าสู่ค่ายวัดทุ่งประเชด-ปากกราน, ภาพอานุภาพในรัชกาลที่ ๕ จุดยืนของสยามยามวิกฤติ, ศัพท์มหาชาติคำหลวง ผลงานที่ถูกลืมของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย), ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ไม่ใช่นวัตกรรมอาหารสมัย จอมพล ป.

วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2312 ชาวต่างประเทศคนแรกที่ไปกรุงศรีอยุธยาหลังจากเสียกรุงและได้ส่งคำพรรณนาถึงความยากจนของราษฎรทั่วๆ ไป รวมทั้งเด็กที่ไม่มีที่อยู่อาศัยส่งไปให้ผู้อ่านที่ฝรั่งเศส เขาได้กล่าวต่อไปว่า

“คนไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนซึ่งไม่สามารถจะช่วยตนเองได้ หันไปทำลายวัดวาอารามต่างๆ เขาเหล่านั้นได้ทำลายพระพุทธรูป เผา ตัดเป็นชิ้นๆ สำหรับพระพุทธรูปที่ทำด้วยทองแดงก็เอาไฟสุมหลอมเสีย ประตูหน้าต่างและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่จะเผาได้ก็เผาเสีย พระพุทธรูปนั้นให้ความเอื้ออารี แม้ว่าจะถูกคนงานตัดออกเป็นชิ้นๆ (พระพุทธรูปซึ่งคนเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ แต่ตอนนี้ถูกผู้ที่เคยนับถือตัดออกเป็นชิ้นๆ) ที่วัดประดู่มีการค้นพบทองและเงินถึง 5 โอ่ง และที่วัดโพธิ์ราย (พุไร) Phu-Rhai ได้ทองจากหอใหญ่ของวัดได้ทอง 3 ลำเรือ ข้าพเจ้าอยู่ที่ประเทศสยามแล้ว เมื่อคนจีนค้นพบ ข้าพเจ้าสามารถกล่าวยืนยันได้ว่า แทบจะไม่มีเจดีย์องค์ไหนเลยในบริเวณเมืองหลวงและรอบๆ เมืองหลวงที่ไม่ถูกทำลาย คนจีนถือโอกาสทำลายเจดีย์อันสวยงามเหล่านี้ เพราะเขาจะไม่ต้องทำงานอื่น”[3]

ผู้เขียนคนเดียวกันยังให้ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ในจดหมายฉบับอื่นๆ ซึ่งเขียนในวันเดียวกันคือ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2312 2 ปีหลังจากที่พม่าหมดอำนาจในการควบคุมกรุงศรีอยุธยา เขาได้กล่าวว่าในปี พ.ศ. 2311 และปี พ.ศ. 2312 คนจีนและคนไทยไม่มีงานอะไร นอกจากทำลายพระพุทธรูปและวัดวาอารามสิ่งก่อสร้าง เหมือนกับว่าเป็นความขยันของคนจีนที่จะให้ประเทศชาติกลับคืนมาสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด ถ้าปราศจากการขุดค้นหาทรัพย์สมบัติแล้ว คงจะไม่มีเงินและความมั่นคงของประเทศชาติ

“เขาเอาดีบุก ทองแดง ทองเหลือง หลอมทำอาวุธไม่เหลือเลย ประตู หน้าต่าง เสาไม้ ซึ่งทำด้วยไม้ในวัดวาอาราม ได้ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงที่จะหลอมเอาโลหะดังกล่าว”[4]

ถ้าเราเชื่อข้อความของบาทหลวงนี้ การทำลายกรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่เป็นผลของการกระทำดังกล่าวไม่ใช่โดยพม่า แต่โดยคนไทยและคนจีน[5] ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะไม่เห็นคล้อยด้วย อย่างไรก็ตาม บาทหลวงอาจจะมีความต้องการที่จะเปลี่ยนพุทธศาสนาของคนไทยเป็นคริสต์ศาสนา มันอาจจะเป็นไปได้ว่าการเขียนเรื่องรายงานไปยังศูนย์กลางศาสนา แม้ว่าเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้ผู้อ่านชาวยุโรปเชื่อถึงความล้มเหลวของผู้นับถือศาสนาตะวันออก

ท่านผู้อ่านที่มีความสงสัยดังกล่าว ควรได้รับการยกย่อง เพราะว่าฝรั่งเองก็มักมีความคิดเห็นบิดเบือนอยู่บ่อยๆ แต่ว่าในกรณีนี้มีพยานที่เห็นเหตุการณ์เช่นเดียวกัน

ในปี พ.ศ. 2321 9 ปีหลังจากพยานหลักฐานที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น Dr. J.G Koening ซึ่งเป็นนักสังเกตการณ์และนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่มีความสนใจที่จะสนับสนุนศาสนาของยุโรป เขาเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นในพระพุทธศาสนา จากบันทึกของเขากล่าวถึงกรุงเก่าที่ถูกทำลายว่า

“คนยังขุดค้นหาทรัพย์สมบัติ ซึ่งเชื่อกันว่ามีการซุกซ่อนในระหว่างสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใกล้ๆ วัดใหญ่ๆ และซากของพระราชวัง เมื่อคืนนี้ข้าพเจ้าสามารถเห็นรอยการขุดใหม่ๆ มีคนค้นพบบริเวณที่ซ่อนทรัพย์สมบัติและขุดได้ทรัพย์สมบัติที่ยังบรรจุอยู่ในที่ซ่อน”[6]

ในแง่ของ Dr. J.G Koening เป็นการแน่นอนว่าการทำลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในกรุงเก่าอาจจะเกิดขึ้นเพราะการขุดค้นหาทรัพย์สมบัติหลังจากพม่าถอนทัพกลับไปแล้ว อาจจะเป็นไปได้ที่มีคนที่จะฉวยโอกาสที่จะทำลายสถานศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีอะไรที่จะทำให้เขาเหล่านั้นเกรงกลัว เพราะอำนาจการปกครองหมดสิ้นไปแล้ว

จากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ ซึ่งเป็นพยานหลักฐานกล่าวว่าในปี 2309 เมื่อพม่าบุกล้อมกรุงศรีอยุธยา ทหารจีนที่ส่งจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อต่อสู้กับพม่าได้ไปที่มณฑปใหญ่ของพระพุทธบาทที่สระบุรีและทำลาย

อนึ่ง จีนค่ายคลองสวนพลู 400 เศษ ชวนกันขึ้นไปทำลายพระพุทธบาท เลิกเอาเงินดาดพื้น ทองหุ้มพระมณฑปน้อยลงสิ้น ครั้นพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบ จึงให้ว่าแก่นายด่าน ให้สืบเอาเงินทองของพระพุทธบาทส่งเข้ามา[7]

ทำไมจึงจะมีคนมากล่าวอย่างนี้ว่า ตำราประวัติศาสตร์ไทยอาจจะไม่สมบูรณ์ถูกต้อง ในการกล่าวถึงการเสียกรุงของกรุงศรีอยุธยา

ผู้เขียนขอยืนยันว่า บทความนี้มิใช่ที่จะทำให้ใครขายหน้าหรือสร้างข้อขัดแย้งขึ้น การทำลาย การแย่งชิง การค้นหาทรัพย์สมบัติ ย่อมเป็นส่วนของการทำสงคราม แล้วก็การที่คนจีนและคนไทยอาจจะทำลายสถานศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นมหาสมบัติซึ่งอาจจะไม่ด้อยหรือแย่ไปกว่าความโลภที่คนชาติอื่นเขาทำกัน ผู้เขียนถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องบอกถึงความเป็นจริงของประวัติศาสตร์ และความเป็นจริงจะไม่ทำอันตรายให้แก่ใครถ้าหากว่าข้อเสนอนั้นเต็มไปด้วยการรู้เห็นอย่างกระจ่างแจ้ง

ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะมีส่วนเล็กน้อยในความก้าวหน้าของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย นอกจากความสำคัญในการศึกษาข้อมูลขั้นแรก (Primary Sources) อย่างเช่นในกรณีจดหมายเหตุของฝรั่งเศสที่ใช้เป็นพื้นฐาน มีเหตุผล 2 ประการสำหรับบทความนี้

ถ้าข้อความของรายงานดังกล่าวเป็นจริง จึงไม่เป็นความยุติธรรมที่จะโทษพม่าว่าทำลายทุกสิ่งทุกอย่างของกรุงศรีอยุธยา (คำกล่าวหานี้ไม่ถูกต้อง) การทำลายวัดวาอารามหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ตลอดจนพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียง เป็นผลของการลักขโมยหลังจากพม่ายกทัพกลับไปแล้ว ในข้อนี้อาจจะนำเราไปข้อที่ว่า พม่าทำลายหนังสือจดหมายเหตุ ต่างๆ

บาทหลวงได้ตั้งข้อสังเกตว่า การกลับคืนมาของเศรษฐกิจของประเทศภายใต้การปกครองของพระเจ้าตากสิน อาจจะเป็นไปได้สำหรับการค้นหาทรัพย์สมบัติในกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนเชื่อว่ายังไม่มีการกล่าวถึงกันของนักเศรษฐศาสตร์ทางประวัติศาสตร์ พระเจ้าตากสินทรงคุ้มครองถึงบริเวณอยุธยาในปี 2311 ด้วยเหตุนี้อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องการทรัพย์สมบัติจากกรุงเก่ามาค้ำจุนกรุงธนบุรีและกองทัพของพระองค์ในการกระทำสงคราม

ความจริงที่ทำให้เราไม่สบายใจนี้ อาจจะช่วยให้เราหันไปตรวจสอบอดีตในแง่ใหม่ ดังได้กล่าวมาแล้วทั้ง 2 ประการ

คลิกอ่านเพิ่มเติม – สุจิตต์ วงษ์เทศ : พม่าอังวะไม่ได้เผาทำลายอยุธยาทั้งหมด อยุธยาเป็นซากด้วยฝีมือคนพื้นเมืองและไทยจีน


เชิงอรรถ :

[1] W.A.R. Wood, A History of Siam</strong>, Bangkok, reprint, n.d., p. 249.

[2] Letter of M. Morvan, dated 22 March 1771, as reprinted in, Volume 5, Paris, 1820, p. 498.

[3] Letter of M. Corre, dated 1 November 1769, pp. 480-481.

[4] Letter of M. Corre, Archives of the Missions-Etrangères, Vol. 886, p. 348. This letter was also reproduced in A. Launay, Histoire de la mission de Siam, 1662-1811, Documents historiques, Vol. 2, Paris, 1920, pp. 269-270.

[5] The Chinese appear prominent in these efforts. It is possible that they were less troubled by religious inhibitions to break open sacred monuments and destroy Buddha images than the Siamese.

[6] J.G. Koening, “Journal of a Voyage from India to Siam and Malacca in 1779”, Journal of the Straits Branch of the Royal Asiatic Society, January 1894, p. 143.

[7] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กับ พระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) Bangkok, 2507, p. See aslo คลังวิทยา? K. Rosenberg, “Das Bunnowat kham chan des Mönches Nak”, Oriens Extremus, Vol. 17, December 1970, p. 185. I thank Professor Rosenberg for drawing my attention to this information.

[8] If one were sufficiently bold, it would be worth investigation whether or not King Taksin assisted, stimulated, of regulated the search for treasures from the ruins of the old capital. See in this context my remark at footnote 5.

(I thank คุณปรีชา จันทนะมาพัก: for critical comments and assistance with translating my thoughts into Thai)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562