“เจ้าฟ้าจุ้ย” พระราชโอรสองค์ใหญ่พระเจ้าตาก “เกือบ” ได้เป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา ?

จิตรกรรม พระราชประวัติ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ วัดสมณโกฎฐาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบเนื้อหา เจ้าฟ้าจุ้ย พระราชโอรสองค์ใหญ่พระเจ้าตาก
ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมพระราชประวัติ “ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์” ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ วัดสมณโกฎฐาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

“เจ้าฟ้าจุ้ย” พระราชโอรสองค์ใหญ่พระเจ้าตาก “เกือบ” ได้เป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา ก่อนเหตุการณ์ผลัดแผ่นดิน ยึดอำนาจกรุงธนบุรี

เรื่องราวของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ หรือ “เจ้าฟ้าจุ้ย” พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดูจะเป็นส่วนหนึ่งอันเลือนลางในประวัติศาสตร์ไทย ย้อนแย้งกับพระราชประวัติของ “พ่อ” ที่ถูกเล่าซ้ำ ตีแผ่ วิเคราะห์เจาะลึกกันไปมากมาย “ลูกชายคนโต” อย่างเจ้าฟ้าจุ้ยกลับเป็นที่รับรู้น้อยมาก และคนจำนวนไม่น้อยแทบไม่รู้ถึงตัวตนหรือบทบาทของพระองค์

เจ้าฟ้าจุ้ย เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าตากที่ประสูติแต่ กรมหลวงบาทบริจา หรือ “เจ้าครอกหอกลาง” พระมเหสีซึ่งเป็นพระภรรยามาตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี เรียกว่าเป็นเจ้าฟ้าที่ “ประสูตินอกเศวตฉัตร” พระยศแรกเริ่มเมื่อเข้าสู่สมัยแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงเป็นเพียง พระองค์เจ้าจุ้ย เท่านั้น

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้ชาติ” วาดโดย สนั่น ศิลากรณ์ พิมพ์ครั้งแรกเป็นปกนิตยสารฟ้าเมืองไทย ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๘๗๕ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๘

บทบาทของเจ้าฟ้าพระองค์นี้ปรากฏอยู่ในหลักฐานพระราชพงศาวดาร – จดหมายเหตุต่าง ๆ อยู่บ้างอย่างประปรายตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสิน กระทั่ง พ.ศ. 2324 ปลายกรุงธนบุรี ก่อนการผลัดแผ่นดินไปสู่รัชกาลที่ 1 เจ้าฟ้าจุ้ยได้รับมอบหมายจากพระราชบิดาให้ร่วมทัพปราบจลาจลในแผ่นดินกัมพูชา โดยมีสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) เป็นแม่ทัพใหญ่

พระบรมราชโองการของพระเจ้าตากที่ติดตามกองทัพปราบกบฏในคราวนั้นคือ เมื่อแผ่นดินเขมรสงบราบคาบแล้ว “ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตั้งพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์อยู่ครองกรุงกัมพูชาสืบไป”

กล่าวคือ ให้ “เจ้าฟ้าจุ้ย” ปกครองแผ่นดินเขมรเป็น “พระเจ้ากรุงกัมพูชา” นั่นเอง

นโยบายดังกล่าวนอกจากจะเพื่อขยายพระราชอำนาจ กระชับอำนาจและความสัมพันธ์ระหว่างกรุงสยามกับกรุงกัมพูชาแล้ว ยังเป็นการปูทางอำนาจให้ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ หรือ “เจ้าฟ้าเหม็น” พระราชโอรสอีกพระองค์ (ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่) ที่พระเจ้าตากทรงวางให้เป็นองค์รัชทายาท “ตัวจริง” สืบราชบัลลังก์กรุงธนบุรี เพราะเป็น “หลานตา” ของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ขุนนางที่ทรงอิทธิพลในราชสำนัก

ในสงครามคราวนั้น กองทัพไทยยกไปตั้งอยู่ ณ เมืองเสียมราฐ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งดูแลทัพหลวงอยู่ที่นั่นให้เจ้าพระยาสุรสีห์ แม่ทัพหน้า ยกไปทางเมืองพระตะบอง ด้านตะวันตกของทะเลสาบเขมร แล้วให้พระยายมราชยกทัพไปตีเมืองอุดงมีชัย โดยมีทัพของเจ้าฟ้าจุ้ยยกพลไปหนุน

เมื่อฝ่ายเขมรรู้ว่ากองทัพไทยมาก็หนีลงไปตั้งฐานที่มั่นที่เมืองพนมเปญ แล้วขอความช่วยเหลือจากกองทัพญวณ เจ้าพระยาสุรสีห์จึงยกกองทัพตามไปที่พนมเปญ ส่วนเจ้าฟ้าจุ้ยทรงตั้งมั่นอยู่ที่อุดงมีชัย

ในระหว่างนั้นเอง ฝั่งกรุงธนบุรีได้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้น เมื่อความทราบมาถึงสมเด็จเจ้าพระมหากษัตริย์ศึกที่เสียมราฐ สงครามปราบกบฏในเขมรจึงแปรเปลี่ยนเป็นการยุติ “จลาจล” ในกรุงธนบุรี อันนำไปสู่การยึดอำนาจพระเจ้าตาก

พระราชพงศาวดารการจลาจลในกรุงธนบุรี ตอนสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับจากราชการทัพเมืองเขมร
พระราชพงศาวดารการจลาจลในกรุงธนบุรี ตอนสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับจากราชการทัพเมืองเขมร (นายขำ, พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา)

พระราชประสงค์ที่จะให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ หรือ “เจ้าฟ้าจุ้ย” ปกครองกัมพูชาจึงสิ้นสูญไปพร้อม ๆ กับพระชนม์ชีพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งถูกสำเร็จโทษในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325

แล้ว “เจ้าฟ้าจุ้ย” อยู่ตรงไหน ? มีพระชะตากรรมอย่างไรในบั้นปลายเกมการเมืองอันร้อนระอุนี้ ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ใน “สับประวัติศาสตร์ ZAB HISTORY : ‘เจ้าฟ้าจุ้ย’ พระราชโอรสพระเจ้าตาก ผู้ถูกลืมในหน้าประวัติศาสตร์”

อ่านเเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2568