ชำแหละตำนานนอกพงศาวดารหลัง พระเจ้าตาก “หนีตาย” หรือ “หนีหนี้” สู่เมืองนครฯ

ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2553 ได้กล่าวถึง “ต้นตำนาน” พระเจ้าตาก “ตัวจริง” ไม่ได้ถูกประหารแต่ไปสิ้นพระชนม์ที่เมืองนครศรีธรรมราชไปพอสมควรแล้ว แต่ยังทิ้งข้อสงสัยบางประการไว้ โดยไม่ได้ตรวจสอบ “เปรียบเทียบ” รายละเอียดบางอย่างที่ปรากฏในหนังสือทั้ง 3 เล่ม คือ “ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน” ของ หลวงวิจิตรวาทการ “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” ของ สุภา ศิริมานนท์ และ “ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?” ของ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์

ซึ่งข้อสงสัยต่างๆ ที่ว่านั้นล้วนแต่ “งอก” ออกมาจากพระราชพงศาวดารทั้งสิ้น สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตำนาน “นอกพงศาวดาร” เรื่องพระเจ้าตากนี้เข้มแข็งขึ้นมาได้ก็คงเป็นเพราะความไม่น่าเชื่อถือของพระราชพงศาวดารเอง ตลอดจน “ความเชื่อ” บางประการของคนท้องถิ่นที่มีความผูกพันกับพระเจ้าตาก และความคลุมเครือของเอกสารต่างๆ ที่กล่าวถึง “วันอวสาน” ของกรุงธนบุรี

ความไม่ชัดเจนหลายๆ เรื่องใน “วันอวสาน” กรุงธนบุรี เช่น วันสวรรคตของพระเจ้าตาก ที่กล่าวแตกต่างกันถึง 3 วาระ คือ 6 เมษายน ในพระราชพงศาวดาร, 7 เมษายน ในจดหมายเหตุของบาทหลวงฝรั่งเศส และ 10 เมษายน ในจดหมายเหตุโหร ในขณะที่ “วิธีประหาร” ก็กล่าวไว้ไม่เหมือนกัน คือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า “ประหารชีวิตตัดศีรษะ” ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บอกไว้ขาดๆ เกินๆ ว่านำไป “สำเร็จ” ที่ป้อมท้ายเมือง ทำให้มีการตีความกันว่าจะเป็นการตัดศีรษะหรือสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์กันแน่

ยิ่งไปกว่านั้น เอกสารที่พอจะเป็นที่พึ่งได้ในกรณีนี้ และเป็นเอกสารสำคัญที่บันทึกไว้โดยคนร่วมสมัยกับเหตุการณ์ กลับทิ้งปริศนาไว้ให้คนรุ่นหลังอย่างน่าเสียดาย เช่น จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ที่กล่าวถึงเหตุการณ์การจลาจลอย่างละเอียดชนิดนาทีต่อนาที แต่ก็ข้ามฉากประหารไปเฉยๆ เช่นเดียวกับโครงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ของ พระชำนิโวหาร บรรยายรายละเอียดไม่แพ้กรมหลวงนรินทรเทวี ก็ข้ามฉากนี้ไปอีกเช่นกัน

หรือแม้แต่เอกสารของตระกูลสุรนันท์ เรื่องราชสัมภารากรลิขิต ซึ่งอยู่ในพวกเดียวกับฝ่ายทำรัฐประหาร ก็ให้รายละเอียดการทำรัฐประหารไม่น้อยไปกว่าเล่มอื่นๆ แต่ก็ข้ามฉากสุดท้ายไปเฉยๆ เหมือนกัน คงเหลือเอกสารร่วมสมัยอีกชิ้นเดียวที่กล่าวถึง “ฉากสวรรคต” ไว้ค่อนข้างชัดเจน แต่ข้อความก็ไม่ตรงกับพระราชพงศาวดาร คือ ลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ ของ พระยาทัศดาจตุรงค์ กล่าวว่าพระเจ้าตากทรงถูกขุนนางจับพันธนาการโบยตี “ท้าวพระยาพระหลวงพราหมณ์ชี กุมเอานฤบดี ใส่สังขลิกโบยตี” [1] จนทนไม่ไหวพระหทัยวายสิ้นพระชนม์ “เกิดวิกลดลจิตประจุบัน ท้าวดับชีวัน ผ่านภพได้สิบห้าปี”

สมเด็จสมณเจ้า สิน พรหมปัญโญ วิสุทธิเทพ ภิกขุ พระบรมรูปจำลองพระเจ้าตากทั้วัดพระมหาธาตุ นครศรีธรรมราช

ความไม่ชัดเจนแบบนี้เอง ที่เปิดโอกาสให้มีการสร้างเรื่องซ้อนทับกับพระราชพงศาวดารขึ้นมา ซึ่งถือเป็น “ประวัติศาสตร์ความเชื่อ” ที่มีผู้คนตอบรับอย่างคาดไม่ถึง จนในที่สุดก็สร้างเรื่อง “คู่ขนาน” ไปกับพระราชพงศาวดาร และเข้มแข็งพอจะคัดง้างกับพระราชพงศาวดารได้อย่างสนุกสนาน อย่างไรก็ดีเรื่อง “คู่ขนาน” นี้ ไม่ได้ “เคลื่อนไหว” อย่างอิสระ ในทางตรงข้ามกลับต้องหลบๆ ซ่อนๆ “ซุบซิบ” กันเฉพาะคนในท้องถิ่นหรือคนคุ้นเคยกันเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ “โอรสลับพระเจ้าตาก” หรือแม้แต่คนท้องถิ่นที่เขาขุนพนม

จนกระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผ่านหลังกรณีสวรรคต 2489 สู่ทศวรรษ 2490 กระแส “นิยมเจ้า” ซึ่งอ่อนล้าไปในช่วงประชาธิปไตยแรกแย้ม เริ่ม “ตีกลับ” อย่างมีนัยยะสำคัญ เริ่มตั้งแต่กรณีต่อต้านภาพยนตร์ Anna and the King of Siam เวอร์ชั่น เร็กซ์ แฮร์ริสัน และไอรีน ดันน์ ซึ่งมาฉายครั้งแรกในเมืองไทยกลางปี 2490 ท่ามกลางกระแสต่อต้านอย่างหนักจากนักวิชาการ “สายเจ้า” ถึงความไม่เหมาะสมในเนื้อหาและการแสดง

ในทศวรรษ 2490 นี้เอง เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่อารมณ์โหยหา “สถาบัน” กลับมาอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยมีวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมเรื่องสี่แผ่นดิน ของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2494 เป็นตัวจุดประกาย ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน [รัชกาลที่ 9 – กองบก.ออนไลน์] เสด็จกลับมาประทับในเมืองไทยเป็นการถาวร และเป็นปีเดียวกับที่ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กำลังปั้นแบบจำลองพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตาก เพื่อนำไปประดิษฐานที่วงเวียนใหญ่

และปีเดียวกันนี้อีกเช่นกันที่หลวงวิจิตรวาทการ “ปล่อย” ตำนานพระเจ้าตาก “ตัวจริง” ไม่ได้ถูกประหาร ตีพิมพ์ในวิจิตรวรรณกรรม ในนิยายเรื่อง “ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน” ซึ่งมหาชนตื่นเต้นและตอบรับกับ “ข้อมูลใหม่” นี้อย่างยิ่ง และที่สำคัญหนังสือเล่มนี้ไม่ “ถูกเก็บ” เหมือน พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (เจ้าตากสิน) ของ เอี๊ยะเม๊ง อักษรมัต ตีพิมพ์ขึ้นในปี 2482 แล้วถูกตำรวจสันติบาลสั่งเก็บและทำลาย

การ “ปล่อย” นิยายเรื่องพระเจ้าตาก “ตัวจริง” ไม่ได้ถูกประหาร (โดยเจ้าพระยาจักรี) ของ หลวงวิจิตรวาทการ ได้ส่งผลทางอ้อมในการ “ฟอก” เรื่องราว “แสลงใจ” ของการ “ปราบดาภิเษก” ให้กลายเป็นเรื่องโป้ปดมดเท็จในพระราชพงศาวดาร โดยเปลี่ยนแปลงตอนจบของพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีเสียใหม่ ไม่ให้มีการประหารพระเจ้าตาก “ตัวจริง” เกิดขึ้นจริง และคำสั่งประหารนั้นก็เป็นมติในที่ประชุมของข้าราชการเป็นผู้ชำระและตัดสินใจกันเอง “ส่วนทางสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนั้น ได้ตั้งใจแน่วแน่อยู่แล้ว ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้” [2]

ดังนั้นเนื้อเรื่องตามพระราชพงศาวดารที่กล่าวว่า หลังจากเจ้าพระยาจักรียกทัพกลับมาถึงกรุงธนบุรีแล้ว เหล่ามุขมนตรีก็ปรึกษาหารือชำระโทษของพระเจ้าตาก ระหว่างที่เพชฌฆาตคุมตัวพระเจ้าตากไปสู่แดนประหารนั้น พระเจ้าตากจึงขอแก่เพชฌฆาตว่า “ตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายอยู่แล้ว ช่วยพาเราไปแวะเข้าไปหาท่านผู้สำเร็จราชการจะขอเจรจาด้วยสักสองสามคำ” [3] แต่เมื่อเจ้าพระยาจักรีมองเห็นเข้า “จึงโบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า” เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้อ่านพระราชพงศาวดารมักจะถามถึง “เยื่อใย” แต่ครั้งก่อนที่ร่วมกันรบฟื้นฟูราชอาณาจักรขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดความรู้สึกในมุม “ลบ” ต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น หลวงวิจิตรวาทการได้ “กล่าวแก้” เรื่องนี้ไว้ในนิยายว่า “ความมุ่งหมายในการที่โบกมือนั้น ก็เพียงแต่ว่าไม่ขอเกี่ยวข้อง จะขออยู่ในอุเบกขา จะชำระกันอย่างไร ก็สุดแต่ที่ประชุมเสนามาตย์ข้าราชการ” (น. 356)

สรุปก็คือคำสั่ง “ประหาร” พระเจ้าตากนั้น เป็นความรับผิดชอบของข้าราชการแต่ฝ่ายเดียว เห็นได้ชัดว่าตำนานพระเจ้าตาก “ตัวจริง” ไม่ได้ถูกประหารนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งเจตนาบริสุทธิ์ของคนท้องถิ่นที่ยังรักและเทิดทูน “วีรบุรุษ” ผู้กอบกู้บ้านเมือง และยัง “ปะปน” ไปด้วยเจตนาทางการเมืองในยุคสมัยหนึ่ง และไม่ว่าจะตำนานเรื่องนี้จะ “เกิด” ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผลที่ได้คือเกิดกระแส “ความเชื่อ” ต่อผู้คนในสังคมจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่ง “เคลื่อนไหว” ไปพร้อมๆ กับกระบวนการเปลี่ยน “ความเชื่อ” ให้เป็น “ความจริง” มากขึ้นทุกวัน

ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ที่ในพงศาวดารพระราชหัตถเลขาเล่ม 2 บอกว่าเป็นสถานที่ประหารพระเจ้าตาก

ที่มาที่ไปของเรื่องพระเจ้าตาก “ตัวจริง” ไม่ได้ถูกประหาร

นิยายเรื่อง “ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน” ของ หลวงวิจิตรวาทการ กล่าวถึงที่มาของเรื่องว่า “ท่านผู้มีเกียรติผู้หนึ่งซึ่งสืบเชื้อสายตรงจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นผู้ใหญ่มากพอที่จะไม่พูดอะไรเล่นๆ กับข้าพเจ้า ท่านยืนยันพร้อมด้วยหลักฐานคำบอกเล่า ที่ท่านได้ยินได้ฟังและจดจำสืบต่อกันมา” (คำนำ น. 8)

หลวงวิจิตรวาทการยังได้ “ออกตัว” ว่าหลักฐานที่ท่านได้มานี้ “ก็เป็นแต่เรื่องได้ยินได้ฟังและจดจำสืบต่อกันมา” และได้ถูกท่านผู้เล่าขอให้เขียนเรื่องนี้ขึ้นให้เป็น “นิยาย” เนื่องจากไม่สามารถเขียนเป็นความจริงในประวัติศาสตร์ได้ นอกจากนี้หลวงวิจิตรวาทการยังได้กล่าวถึงบุคคลที่คนเชื่อว่าตายแล้วยังไม่ได้ตายจริง ซึ่งมีแนวเรื่องคล้ายกับนิยายของท่าน

“ข้าพเจ้ารู้ว่าคนสำคัญเช่นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น มักจะมีเรื่องสิ้นชีพแล้วไม่สิ้น จนกระทั่งถึงเวลานี้ยังมีคนเชื่อว่า สุภาษ จันทรโภช ยังไม่ตายและไปอยู่ที่นั่นที่นี่ และเมื่อเร็วๆ นี้ยังมีข่าวแพร่สะพัดออกมาว่าฮิตเล่อร์ไม่ตาย” (คำนำ น. 9)

สุภาษ จันทรโภช (Subhash Chandra Bose) เป็นนักการเมืองรุ่นเดียวกับมหาตมา คานธี ที่ต่อสู้กับอังกฤษเพื่อเอกราชของอินเดีย แต่ สุภาษ จันทรโภช นั้นเป็นนักต่อสู้ที่ใช้วิถีทางตรงกันข้ามกับแนว “อหิงสา” ของคานธีอย่างสิ้นเชิง คือมีนโยบายต่อสู้ด้วยกำลังทหารกับอังกฤษ สุภาษ จันทรโภช ถูกระบุว่าเสียชีวิตไปในอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ไต้หวัน ระหว่างเดินทางไปโตเกียวเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2488 แต่ไม่มีใครพบร่างของ สุภาษ จันทรโภช ในที่เกิดเหตุหรือหลังจากนั้น

ต่อมาก็มีข่าวลือว่า สุภาษ จันทรโภช ไปปรากฏตัวในที่ต่างๆ อย่างเป็นปริศนา เรื่องของ สุภาษ จันทรโภช ที่ “ยังไม่ตายและไปอยู่ที่นั่นที่นี่” จะเป็นแรงบันดาลใจในนิยายของหลวงวิจิตรวาทการหรือไม่ท่านไม่ได้บอกไว้ แต่กรณีปริศนาของ สุภาษ จันทรโภช นั้น ตรงกันกับ “นิยาย” เรื่องพระเจ้าตากราวกับเป็นเรื่องเดียวกัน

หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่อ้างว่าช่วย “เติมต่อ” ข้อมูลที่หายไปใน “นิยาย” ของ หลวงวิจิตรวาทการ คือ “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” ของ สุภา ศิริมานนท์ หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนไม่ได้ชี้แจงที่มาที่ไปของเรื่องเหมือนหลวงวิจิตรวาทการ แต่ปรากฏอยู่ในบทสนทนาของตัวละคร “ผู้เล่าเรื่อง” ตอนหนึ่งว่า “ผมได้อ่านมากับตัวพร้อมๆ กับคนบางคน จากต้นฉบับใบข่อยเก่าแก่ ซึ่งเป็นสมบัติตกทอดลงมาถึงลูกหลานจากบรรพบุรุษอันระบุหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นคนหนึ่งในสี่คนนั้น” (น. 26)

“สี่คน” ในที่นี้คือตัวเอกใน “นิยาย” ของ สุภา ศิริมานนท์ ทำหน้าที่เป็นฝีพายแจวเรือพาพระเจ้าตากหลบหนีออกจากกรุงธนบุรี และ “คนหนึ่งในสี่นั้น” ก็คือเจ้าของบันทึกสมุดข่อยที่ สุภา ศิริมานนท์ ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการแต่งนิยายนั่นเอง ต่อมาเมื่อมีการตีพิมพ์ต้นฉบับนิยายเรื่องนี้ขึ้น พิทยา ว่องกุล ได้ “เฉลย” ปริศนาเจ้าของสมุดข่อย ไว้ในภาคผนวกเรื่อง “ความเป็นมาแห่งต้นฉบับ ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” ว่าเป็นเอกสารเก่าแก่ของตระกูล “สุนทรโรหิต” และตกทอดมาถึงหลวงสุภาเทพ บิดาของ จินดา ศิริมานนท์ ภรรยาของสุภา ศิริมานนท์

และ พิทยา ว่องกุล ยังได้บอกสถานภาพของเอกสารฉบับนี้ว่า “ปัจจุบันไม่ทราบว่ายังอยู่ในตระกูลนี้หรือไม่” ในขณะที่ จินดา ศิริมานนท์ ก็กล่าวว่า “ดิฉันไม่ทราบว่าจะมีใครเก็บรักษาไว้หรือเปล่า” เท่ากับว่า “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” นั้น อ้างอิงเอกสารที่ “สูญหาย” ของตระกูลสุนทรโรหิต ซึ่งหากเอกสารฉบับนี้ยังมีอยู่จริง ก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นเอกสารที่เสนอ “ความจริง” เท่านั้น ยังต้องผ่านการพิสูจน์ตรวจสอบเนื้อหาสาระโดยผู้รู้กันอีกหลายขั้นตอน

ส่วน “ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?” ของ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ มีสาระสำคัญเหมือนกับเรื่องอื่น คือ พระเจ้าตาก “ตัวจริง” ไม่ได้ถูกประหาร แต่อ้างเหตุผลที่ต่างไปจากหนังสือ 2 เล่มก่อนหน้านี้ คือ พระเจ้าตากและเจ้าพระยาจักรีร่วมกัน “เล่นละครตบตา” สร้างเรื่องการเป็นบ้าและถูกประหารเพื่อ “หนีหนี้” แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ ใช้แหล่งข้อมูลที่ไม่เหมือนใคร คือได้ข้อมูลมาด้วย “วิธีการพิเศษ” จากการเข้าฌานและญาณ เพื่อทูลถามพระเจ้าตากและสมเด็จพระนเรศวรโดยตรง [4]

ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่ใช้ “พล็อต” เดียวกับ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ แต่ละเล่มก็อ้างแหล่งข้อมูลจาก “คำบอกเล่า” โดยตรงของพระเจ้าตากทั้งสิ้น เช่น “เรื่องจริงอิงนิทาน (พิเศษ)” ของ พระมหาวีระ ถาวโร (ฤาษีลิงดำ) โดยอ้างที่มาของเรื่องว่าเป็นคำบอกเล่าของพระเจ้าตากว่า “ตามความเป็นจริงท่านเล่าให้ฟังอย่างนี้” [5]

พระมหาวีระ ถาวโร (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

เรื่องของฤาษีลิงดำ เป็นพล็อตเดียวกับ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ แต่ “เรื่องจริงอิงนิทาน (พิเศษ)” พิมพ์ช้ากว่า 8 ปี เรื่องนี้กล่าวถึงสาเหตุต้อง “แกล้งตาย” ว่าเป็นเรื่อง “เราต้องใช้หนี้เขา เงินก็ไม่มีจะใช้หนี้เขา” (น. 89) นอกจากนี้ยังอธิบายเรื่อง “แกล้งบ้า” ไว้ว่า “เรื่องการลงโทษพระสงฆ์ของพระเจ้าตาก เรื่องนี้ก็หลอกกัน เมื่อพระสงฆ์ทำผิดเรียกมาสอบสวน เวลาจะลงโทษ ก็เอานักโทษมาโกนหัวเอาผ้าเหลืองนุ่งแล้วก็เฆี่ยน เขาก็หาว่าท่านบ้าเฆี่ยนพระ แต่ความจริงพระไม่ได้ถูกเฆี่ยน พระองค์ทำให้คนอื่นเขาเห็นว่าบ้า นี่สติฟั่นเฟือน การจับให้ออกจากพระมหากษัตริย์ก็เป็นของธรรมดา” (น. 91)

อีกเล่มหนึ่งคือ “ความหลงในสงสาร” เป็น “นิยาย” ของ สุทัสสา อ่อนค้อม โดยอ้างที่มาของเรื่องว่าเป็นเรื่องเล่าของพระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ จิตธมฺโม) ซึ่งมีโอกาสพบกับพระภิกษุสมเด็จพระเจ้าตากสินในป่า “พระคุณท่านได้เล่าให้ข้าพเจ้าและนักศึกษาที่ข้าพเจ้าพาไปเข้ากรรมฐานที่วัดอัมพวันฟังเมื่อยี่สิบปีก่อน เมื่อพระคุณท่านเล่าจบได้กำชับข้าพเจ้าว่าอย่านำไปเล่าให้ใครฟัง ข้าพเจ้าก็รับปาก หากก็คิดในใจว่า ‘ไม่เล่าเจ้าค่ะแต่จะนำไปเขียน’ จึงรอเวลาที่จะเขียน” [6]

แม้ “ความหลงในสงสาร” จะอ้างที่มาของเรื่องว่ามาจาก “ปากคำโดยตรง” แต่ก็เป็น “นิยาย” อีกเรื่องหนึ่งที่มีพล็อตเหมือนกับ “ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?” ของ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ คือว่าด้วยเหตุแกล้งบ้าแกล้งตาย เพราะหนีหนี้ชาวจีนด้วยตัวเลขเท่ากันคือ 60,000 ตำลึง แต่ตอนจบกลับไปเหมือนกับ “นิยาย” ของ หลวงวิจิตรวาทการ “การผลัดแผ่นดินเป็นการล้างหนี้ที่ดีที่สุด ท่านอย่าคิดว่าเราตั้งใจจะโกงเขานะ เราไม่คิดจะโกง แต่ในเมื่อเขาคิดไม่ดีกับเรา เราจึงต้องใช้เล่ห์กลกับเขา” (น. 15)

นอกจากนี้ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่พิมพ์ขึ้นเป็นที่ระลึกในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะในหนังสืองานศพของกลุ่มตระกูลที่เกี่ยวพันกับพระเจ้าตากในช่วงสุดท้าย แต่ในที่นี้จะยกไว้ไม่กล่าวถึง จะนำมา “ฉายภาพ” ให้ดูเป็นตัวอย่างเฉพาะหนังสือบางเล่มที่พิมพ์ออกจำหน่ายจ่ายแจกแก่สาธารณะเท่านั้น

สรุปว่าเรื่องพระเจ้าตาก “ตัวจริง” ไม่ได้ถูกประหาร สามารถแบ่งที่มาของข้อมูลได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มแรกได้เรื่องนี้มาจาก “บุคคลลึกลับ” ในตระกูลเชื้อสายพระเจ้าตาก และเอกสารเก่าที่ “สูญหาย” คือเรื่อง “ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน” ของ หลวงวิจิตรวาทการ และ “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” ของ สุภา ศิริมานนท์ ทั้ง 2 เรื่องนี้แต่เป็น “นิยาย” ที่มีพล็อตเรื่องเหมือนกันและแหล่งที่มาของข้อมูลคล้ายกัน

กลุ่มที่ 2 ได้เรื่องนี้มาด้วย “วิธีพิเศษ” ซึ่งส่วนใหญ่จะอ้างถึง “ปากคำ” จากพระเจ้าตากโดยตรง คือเรื่อง “ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?” ของ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ “เรื่องจริงอิงนิทาน (พิเศษ)” ของ พระมหาวีระ ถาวโร (ฤาษีลิงดำ) และ “ความหลงในสงสาร” ของ สุทัสสา อ่อนค้อม เป็นต้น ทั้ง 3 เรื่องนี้มีพล็อตเรื่องเหมือนกันและแหล่งที่มาของข้อมูล “พิเศษ” เหมือนกัน

จากที่มาของหนังสือดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะที่มาของเรื่องแต่ละเรื่องล้วนแต่ปิดกั้นการพิสูจน์ไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น บุคคลลึกลับ เอกสารที่สูญหาย หรือการใช้วิปัสสนาญาณ ในขณะที่บางเล่มยังใช้ความเป็น “นิยาย” มาเป็นเกราะป้องกันการตรวจสอบได้เป็นอย่างดี ส่วนเล่มที่ใช้การเข้าฌาน ก็จะ “ออกตัว” ว่าจะเชื่อหรือไม่ก็ตามแต่ใจผู้อ่าน

นอกจากนี้หนังสือทุกเล่มยังกล่าวไว้ด้วยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพระราชพงศาวดารนั้นเป็นเรื่อง “โกหก” การจะใช้พระราชพงศาวดารเป็นตัวตั้งในการตรวจสอบจึงไม่สามารถทำได้อีกเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้ “ของแท้” ทั้งหลายพิสูจน์กันเอง น่าจะเป็นทางที่ดีที่สุดในเวลานี้

พระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดเกาะแก้ว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ใครเป็นตัว “แสตนด์อิน” พระเจ้าตาก?

หลวงวิจิตรวาทการ กล่าวถึง “คนหน้าเหมือน” นามว่า หลวงอาสาศึก ชื่อเดิม “บุญคง” เป็นทหารเอกที่เคยรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระเจ้าตากมาทุกสมรภูมิในช่วงทำศึกฟื้นฟูราชอาณาจักรหลังกรุงศรีอยุธยาแตก แต่แน่นอนว่าหลวงอาสาศึกเป็นบุรุษลึกลับที่ไม่เคยปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ การตรวจสอบจึงทำไม่ได้อีกเช่นกัน

นอกจากรูปร่างหน้าตาจะเหมือนพระเจ้าตากแล้ว หลวงอาสาศึกยัง “เลียนแบบ” ท่าทางและน้ำเสียงการพูดจาของพระเจ้าตากจนเหมือนมากเช่นกัน เหมือนจนพระเจ้าตากไม่ไว้ใจ ดังเช่นในศึกค่ายโพธิ์สามต้น หลวงอาสาศึก ก็ปลอมตัวเป็นพระเจ้าตากครั้งแรกจนไม่ทรงไว้ใจอีก

“คนคนนี้ รูปร่างหน้าตาแกเหมือนฉันเหมือนกันเป็นพิมพ์เดียว แล้วแกก็พยายามทำท่าทางและการพูดจาให้เหมือนฉันด้วย ฉันไม่ค่อยชอบคนคนนี้นัก เพราะฉันระแวงว่ามิวันใดก็วันหนึ่ง แกจะต้องปลอมตัวเป็นฉัน” (น. 346)

ด้วยเหตุนี้หลังขึ้นครองราชย์แล้ว จึงส่งหลวงอาสาศึกออกไปไกลหูไกลตา “เสร็จงานตีค่ายโพธิ์สามต้นแล้วฉันขึ้นเสวยราชย์ ฉันก็ส่งหลวงอาสาศึกไปเป็นเจ้าเมืองชายแดนห่างไกลเมืองหนึ่ง จะเป็นเมืองอะไรฉันจำไม่ได้ จำได้เพียงแต่ว่า ฉันส่งเขาไปเสียให้ไกลตัวฉัน เพราะระแวงว่าถ้าขืนให้อยู่ใกล้กัน แกจะทำความมิดีอะไรเข้า” (น. 347)

ถือว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดพอสมควร ที่หลวงอาสาศึก “รอดตาย” จากการ “เลียนแบบ” พระเจ้าอยู่หัวต่อหน้าต่อตาได้ นอกจากจะเข้าข่ายโทษทางอาญาแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ “คนไทย” ถือสาและจะไม่ทำเช่นนั้นไม่ว่าต่อผู้หลักผู้ใหญ่โดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยเกรงนรกจะกินหัว นอกจากนี้วิธีการ “ควบคุม” บุคคลที่พระเจ้าอยู่หัวทรงหวาดระแวงนั้นมักจะเอามา “อยู่ใกล้” มากกว่าจะส่งไปชายแดนเหมือนเหตุการณ์นี้ ดูเหมือนว่าหลวงวิจิตรวาทการจะพยายามอย่างมากที่จะอธิบาย “ความเหมือน” ของหลวงอาสาศึกจนกระทั่งลืมกฎเกณฑ์ข้อนี้ไปหรืออย่างไร?

ส่วนแม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ ซึ่งใช้ “วิปัสสนาญาณ” ทูลถามพระเจ้าตากในเรื่องต่างๆ กล่าวถึงเรื่อง “ตัวปลอม” ว่าชื่อ “คุณมั่น” ซึ่งไม่ตรงกับหลวงวิจิตรวาทการ และ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ ก็ไม่น่าจะจำผิดเพราะ “เคยได้พบกับวิญญาณของคุณมั่น” และ “เรื่องคุณมั่นนี้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเล่าเอง” (น. 230)

“คุณมั่น” ของ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ ไม่ใช่ทหาร แต่อยู่ช่วยบิดาค้าขาย อยู่แต่ในโรงสีไม่ได้ออกไปไหนมาไหนมากนัก จึงไม่ค่อยมีคนรู้จักหรือพบเห็นบ่อยๆ เหมาะสมกับการรับบท “แสตนด์อิน” เป็นพระเจ้าตากอย่างยิ่ง นอกจากนี้คุณมั่นยังเป็นญาติห่างๆ ของพระเจ้าตาก และที่สำคัญที่สุดคือ “ความเหมือน” “คุณมั่นมีเสียงเรียกข้างสำเนียงจีนว่า “มั่ง” เป็นญาติของคุณเจียนซื่อและเจียนสิน เรียกให้ชัดก็ว่าเป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพระญาติห่างออกไปหน่อย อายุคราวเดียวกับท่าน รูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับท่าน” (น. 250)

ในขณะที่ “ความหลงในสงสาร” ของ สุทัสสา อ่อนค้อม ไม่กล่าวถึง “ชื่อ” ของ “ตัวปลอม” แต่บอกความสัมพันธ์ระหว่าง “ตัวปลอม” กับพระเจ้าตากแตกต่างออกไปอีกว่า “มีการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์จริง เพียงแต่คนที่ถูกสำเร็จโทษไม่ใช่เรา เป็นสหายอีกคนหนึ่งของเราที่เขามีความจงรักภักดีต่อเรา ถึงขนาดยอมสละชีวิตของตัวเองเพื่อรักษาชีวิตเราไว้ บังเอิญว่าเขารูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับเรามาก ทั้งที่มิได้เป็นญาติสืบสายโลหิตกัน” (น. 13)

“ความหลงในสงสาร” โดยสุทัสสา อ่อนค้อม หรือ รศ.ดร. สุจิตรา อ่อนค้อม

ยังมีเรื่องของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ที่ได้กล่าวถึง “ตัวปลอม” ไว้ โดยไม่ได้เอ่ยชื่อเพราะไม่ใช่บุคคลสำคัญแต่อย่างใด และยังมีสถานภาพไม่เหมือนกับเรื่องอื่นๆ เลย คือ “คนที่อยู่ในกระสอบไม่ใช่พระเจ้าตากสิน ครั้งแรกมีราชองครักษ์ของพระองค์มีความจงรักภักดีมาก อาสาตายแทนพระเจ้าตากสิน แต่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าไม่เอา ให้เอานักโทษประหารชีวิตมาใส่กระสอบทุบด้วยท่อนจันทน์ตายแทน” (น. 92)

ดังนั้นหากเราจำเป็นจะต้องกล่าวถึงหรือเชิดชูวีรบุรุษท่านนี้ เราจะเรียกท่านว่าอะไรดี ระหว่าง หลวงอาสาศึก (บุญคง) หรือคุณมั่น และจะกล่าวถึงประวัติท่านอย่างไรดีระหว่าง นายทหารผู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่พระเจ้าตาก หรือพระญาติลูกเจ้าของโรงสี หรือพระสหาย หรือนักโทษประหาร???

พระเจ้าตาก หนีตาย หรือ หนีหนี้?

เหตุการณ์ในตอนที่จะมีการประหารพระเจ้าตาก ตามความในพระราชพงศาวดารมีว่า พระเจ้าตากทรงถูกกักตัวไว้ในโบสถ์วัดแจ้งตลอดเวลาที่เกิดการจลาจลในกรุงธนบุรี จนกระทั่งกองทัพของเจ้าพระยาจักรีกลับจากเขมรมาถึงพระนคร จึงมีคำสั่งให้ขุนนางข้าราชการประชุมชำระโทษพระเจ้าตาก ก่อนจะนำไปประหารชีวิตที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์

แต่สำหรับตำนานเรื่องพระเจ้าตาก “ตัวจริง” ไม่ได้ถูกประหาร ได้กล่าวไว้ว่ามีบุคคลกลุ่มหนึ่งลักลอบพาพระองค์หนีรอดจากการประหาร ไปที่เมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน “นิยาย” ของ หลวงวิจิตรวาทการ กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไปตามข้อมูลในพระราชพงศาวดาร ผิดกันที่ตอนจบไม่เหมือนกัน เพราะพระเจ้าตากของหลวงวิจิตรวาทการไม่ได้ถูกประหารตามพระราชพงศาวดาร แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับแผนการพาพระเจ้าตาก “ลี้ภัย” ทางการเมือง โดยฝ่ายปฏิบัติการลับ

แผนการมีอยู่ว่า จะต้องลักลอบพาพระเจ้าตากลี้ภัยทางการเมืองให้ได้ โดยไม่ให้ทรงรู้แผนการก่อน เพราะด้วยศักดิ์ศรีนักรบ ต้องทรงปฏิเสธที่จะหนีตายเป็นแน่ ฝ่ายปฏิบัติการจึงปลอมตัวเป็นพระ แล้วออกอุบายว่าทรงถูกให้ย้ายวัดไปกักขังที่อื่น ระหว่างนั้นเองจึงมีการสับเปลี่ยนเอา “ตัวปลอม” หรือหลวงอาสาศึก (บุญคง) เข้าไปอยู่แทน กว่าพระเจ้าตากจะทรงรู้ถึงแผนการลี้ภัยครั้งนี้ก็เดินทางออกทะเลมาจนถึงเรือใหญ่ ที่จอดรอเชิญเสด็จไปเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว

ดังนั้นเหตุผลเดียวในการหลบหนีของพระเจ้าตาก ตาม “นิยาย” ของหลวงวิจิตรวาทการ คือ การลี้ภัยทางการเมืองนั่นเอง และเป็นการหนีตายโดยที่ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีไม่ร่วงรู้ถึงแผนการนี้ เป็นเหตุให้มีการประหารผิดตัวโดยไม่มีใครรู้ระแคะระคายแต่อย่างใด (รวมไปถึงคนจดพงศาวดาร)

ข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ ใน “นิยาย” ของ หลวงวิจิตรวาทการ ได้กล่าวไว้ว่า “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไม่ได้ทรงรับสั่งอะไรในระหว่างทางที่มาในเรือเล็ก” (น. 343) แต่ “นิยาย” ของ สุภา ศิริมานนท์ ตลอดทั้งเรื่องเป็นฉากการสนทนาในเรือระหว่างพระเจ้าตากกับฝีพาย 4 คน ซึ่ง สุภา ศิริมานนท์ อ้างว่าเป็น “Missing Link” หรือรอยต่อที่สูญหายไปใน “นิยาย” ของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่ง สุภา ศิริมานนท์ นำเอาส่วนที่อ้างว่าหายไปนั้น มาแต่งเป็นนิยายอีกเรื่องหนึ่ง โดยอาศัยบันทึกสมุดข่อยของ 1 ใน 4 ฝีพาย เป็นหลักฐานอ้างอิง

ดังนั้นโครงเรื่อง “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” จึงเหมือนกับ “นิยาย” ของหลวงวิจิตรวาทการทุกประการ รวมทั้งเหตุผลในการหนีเหมือนกันคือ การหนีตายลี้ภัยทางการเมือง แต่เหตุผลในการ “หนี” ของพระเจ้าตากในหนังสือของ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ และเล่มอื่นที่อ้างที่มาแบบ “พิเศษ” เหมือนกัน เป็นคนละเรื่องกับ “นิยาย” ของ หลวงวิจิตรวาทการ โดยหนังสือของ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ และ อาจารย์สุทัสสา อ่อนค้อม กล่าวไว้เหมือนกับ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ ว่าเป็นการ “หนีหนี้” ซึ่งไปกู้ไว้ที่เมืองจีนเป็นเงิน 60,000 ตำลึง

“ก็มีอยู่ทางเดียวคือ ต้องทำเป็นเสียพระสติหรือสวรรคตไป เรื่องหนี้สินพัวพันจะได้หมดปัญหาไป ความจริงเงินหกหมื่นตำลึงก็ไม่มากนัก หากจะมีเวลาให้หาใช้ก็คงได้” (น. 213)

ภาพวาด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน)โดย “ปิยะดา” (ประเวส สุขสมจิตร) จากศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2546

ความจริง “เวลา” ที่ว่านั้นอาจจะมีจริง แต่เหตุใดแม่สงฆนีและท่านอื่นๆ จึงเห็นว่าไม่พอที่จะหาเงินใช้หนี้นั้นไม่ทราบได้ ทั้งนี้เพราะตามเนื้อเรื่องของแม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องไปกู้เงินจากเมืองจีนมาเพื่อใช้จ่ายในการซ่อมแซมและซื้ออาวุธและเครื่องใช้ต่างๆ สำหรับรับศึกอะแซหวุ่นกี้ ซึ่งตามพระราชพงศาวดารระบุว่าเป็นปีจุลศักราช 1137 (พ.ศ. 2318) ส่วนช่วงเวลาที่กรุงธนบุรีเกิดจลาจล และพระเจ้าตากอาศัยจังหวะนี้ “แกล้งบ้าแกล้งตาย” เพื่อหนีหนี้นั้น คือปีจุลศักราช 1143 (พ.ศ. 2324) ห่างจากศึกอะแซหวุ่นกี้ถึง 6 ปี

เวลา 6 ปีนั้นเพียงพอหรือไม่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้คำตอบไว้ แต่ตลอดทั้งเล่มจะตั้งคำถามซ้ำๆ ว่า พระเจ้าตากซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าหรือร่ำรวยมาแต่เดิม จะเอาเงินที่ไหนมาดำเนินกิจการบ้านเมือง “พระเจ้าแผ่นดินเอาเงินที่ไหนมาซื้อข้าวเลี้ยงทหาร ซื้อดาบ ซื้อปืน ซื้อเสื้อผ้าให้ทหารสวมใส่ แม้เวลาเจ็บไข้เอาเงินที่ไหนซื้อยาให้ทหาร เราไม่เคยรู้เลยจริงๆ” (น. 105)

พระราชพงศาวดารก็ไม่เคยให้คำตอบแบบนี้ไว้เช่นกัน จึงทำให้ประเด็น “กู้เงินจีน” มีน้ำหนักน่าฟังและ “น่าเชื่อ” ยิ่งขึ้น แต่ก็ควรตั้งคำถามนี้ในกรณีอื่นด้วยเช่นกันว่า “เอาเงินที่ไหนมา” จัดซื้อเครื่องบรรณาการส่งไปจีน เมื่อคราวที่พระยามหานุภาพเป็นราชทูตไปเมืองจีนเมื่อปี 2324 ปีเดียวกับที่พระเจ้าตากต้อง “หนีหนี้” นั่นเอง

คราวนั้นทรงใช้เงินซื้อของบรรณาการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในราชพิธี ค่าใช้จ่ายสำหรับกองเรือสิบกว่าลำ และอื่นๆ อีกมากมาย รวมเป็นเงินประมาณ 195,500 ชั่ง [7] หรือคิดเป็นตำลึงจะได้ 3,910,000 ตำลึง คำถามก็คือ เหตุใดจึงไม่ใช้หนีจีนเพียงแค่ 60,000 ตำลึงหรือเพียง 3,000 ชั่ง ทั้งๆ ที่ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ กล่าวว่าการทวงหนีของจีนครั้งนั้น รุนแรงถึงขั้นเอาบ้านเอาเมือง จนทำให้พระเจ้าตากต้องตัดสินใจ “แกล้งบ้าแกล้งตาย” เพื่อหนีหนี้เพียง 60,000 ตำลึง แต่กลับมีเงินส่งทูตไปจีนเกือบ 4 ล้านตำลึง

สรุปว่าเหตุผลที่พระเจ้าตากต้องหนีออกจากกรุงธนบุรีนั้นมี 2 กระแส คือ หลวงวิจิตรวาทการและสุภา ศิริมานนท์ บอกว่าเป็นการ “หนีตาย” ส่วนการเข้าญาณนั้นว่าเป็นการ “หนีหนี้”

สุภา ศิริมานนท์ และแม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์

หนีไปที่ไหน?

“นิยาย” ของ หลวงวิจิตรวาทการ และ สุภา ศิริมานนท์ กล่าวไว้ตรงกันว่า พระเจ้าตากทรง “หนีตาย” ออกจากกรุงธนบุรี โดยมีผู้นำทางแจวเรือพาหนี 4 คน มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช แต่ “นิยาย” ของหลวงวิจิตรวาทการไม่ได้บอกว่าเป็นสถานที่ใดในเมืองนครศรีธรรมราช บอกแต่เพียงว่า “เจ้าพัฒน์ได้พยายามหาที่ซ่อนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” และอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเวลา 2 ปี จึงย้ายไปเมืองเพชรบุรี

“เมื่ออยู่นครศรีธรรมราชได้สักสองปี ก็ขอมาอยู่เพชรบุรี ซึ่งเจ้าพระยานครพัฒน์ไม่สามารถจะขัดข้องได้ ก็ต้องเชิญเสด็จมาเพชรบุรีอย่างซ่อนเร้น แล้วให้ประทับอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง มีคนเฝ้าอยู่สองคน” (น. 359)

ทางด้าน แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ กล่าวถึงจุดหมายปลายทางของพระเจ้าตากต่างออกไปคือ คุณประยงค์น้องสาวพระเจ้าตากเป็นผู้จัดเตรียมสถานที่ให้ (คุณประยงค์เป็นอีกคนหนึ่งที่แม่สงฆนีพูดคุยด้วยทางญาณและเป็นคนเล่าเรื่องการพาพระเจ้าตากไปที่เขาขุนพนม) “คุณประยงค์กับน้องชายไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ญาติมิตรทางโน้นก็พาไปดูที่ทาง ที่เขาขุนพนมซึ่งเป็นที่ลับตาคน คงจะพอพักได้สบาย คุณประยงค์ดูแล้วชอบใจ จึงรีบกลับมาธนบุรี จัดจ้างเรือเป็นพาหนะออกเดินทางในเวลากลางคืน มีผู้ติดตามเป็นทหารชั้นผู้น้อย 3 คน เป็นหญิง 2 คน คือคุณประยงค์คนหนึ่ง กับญาติอีกคนหนึ่ง” (น. 263)

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ให้ข้อมูลที่ต่างออกไปอีกเล็กน้อย คือ “กลางคืนวันหนึ่งก็ลงเรือจากปากท่อไปยังนครศรีธรรมราช บวชเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาแถวนั้นเขาเรียกว่า หลวงตาพรหมา ปัจจุบันเราพบซากกุฏิร้างอยู่เชิงเขา แถวนั้นเป็นป่าลึก สงัดมาก ท่านเจริญพระกรรมฐานอยู่ที่นั้นจนสิ้นชีวิต” (น. 92)

ส่วนเรื่องของ สุทัสสา อ่อนค้อม ดำเนินเรื่องตอนนี้เหมือนกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ คือ “ในเวลากลางคืนสหายของเราก็ส่งเราไปนครศรีธรรมราช โดยออกไปทางราชบุรี ไปพักอยู่ที่ปากท่อก่อน จากนั้นจึงไปนครศรีธรรมราช” (น. 56)

ความแตกต่างกันในตอนนี้คือ หลวงวิจิตรวาทการว่าเป็นการ “หนีตาย” ไปยังเมืองนครศรีธรรมราชแล้วย้ายไปเมืองเพชรบุรี แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ ว่าไม่ได้หนีตายแต่ “หนีหนี้” โดยทรง “รู้กัน” กับเจ้าพระยาจักรี และระบุสถานที่แน่นอนคือ “บน” เขาขุนพนม และมี สมภารจีนองค์หนึ่งก็จัดการบรรพชาอุปสมบทให้” และประทับอยู่ที่เขาขุนพนมเป็นเวลา 4 ปี ก่อนจะสิ้นพระชนม์โดยไม่ได้ย้ายไปไหน

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ บอกว่าเป็นการ “หนีหนี้” ไปประทับอยู่ “เชิงเขา” ที่เมืองนครศรีธรรมราชโดยไม่ได้ย้ายไปไหนเช่นกัน ส่วนเรื่องของ สุทัสสา อ่อนค้อม ว่าทรง “หนีหนี้” มาอยู่เมืองนครศรีธรรมราชได้ 2 ปี จึงย้ายไปอยู่เมืองเพชรบุรี คือตอนต้นเหมือน แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ แต่ตอนจบไปเหมือนกับ หลวงวิจิตรวาทการ

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังเก่า

ปริศนาการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตาก

การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตากเป็นปริศนาอยู่หลายเรื่อง นับตั้งแต่วันที่สิ้นพระชนม์ซึ่งยังหาข้อยุติไม่ได้แน่นอน พระราชพงศาวดารกล่าวว่าตรงกับวันที่ 6 เมษายน 2325 จดหมายของบาทหลวงฝรั่งเศสว่าเป็นวันที่ 7 เมษายน 2325 และจดหมายเหตุโหรว่าเป็นวันที่ 10 เมษายน 2325

ส่วนการสำเร็จโทษพระเจ้าตากนั้น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบอกว่า “ประหารชีวิตตัดศีรษะเสียถึงแก่พิราลัย” แต่พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บอกว่า “ขอให้ปริวัตรออกประหารเสีย ฝ่ายทแกล้ว ทหารทั้งปวงมีใจเจ็บแค้นเป็นอันมาก ก็นำเอาพระเจ้าแผ่นดินและพวกโจทก์ทั้งปวงนั้นไปสำเร็จ ณ ป้อมท้ายเมืองในทันใดนั้น” [8]

และจดหมายบาทหลวงฝรั่งเศส กล่าวว่า “พวกราษฎรมีความโกรธแค้นนัก จึงจับพระเจ้าตากฆ่าเสีย แต่พระเจ้าตากจะสวรรคตด้วยประการใดก็ตาม ก็เป็นอันแน่นอนว่า พระเจ้าตากได้ถูกปลงพระชนม์สวรรคต” [9]

แต่ “นิยาย” ของ หลวงวิจิตรวาทการ เดินเรื่องต่างออกไปทั้งเรื่องของเวลา สถานที่ และวิธีการ คือพระเจ้าตากสินทรงถูก “ฆาตกรรม” หลังอวสานกรุงธนบุรี 2 ปี ที่เมืองเพชรบุรี โดย “ไม่มีใครรู้” ว่าเป็นฝีมือของใคร

“วันอวสานของพระองค์ก็มาถึง เวลากลางวันแสกๆ ขณะที่ทรงเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ภายในถ้ำ ถูกตีที่พระเศียรเบื้องหลัง ล้มคว่ำ เป็นอวสานอันแท้จริงของพระองค์” (น. 359)

เรื่องของ สุทัสสา อ่อนค้อม ใช้พล็อตเดียวกับหลวงวิจิตรวาทการ คือ ทรงถูกฆาตกรรม หลังอวสานกรุงธนบุรี 2 ปี ที่เมืองเพชรบุรี แต่บอกความนัยถึงฆาตกรว่า เป็นฝ่ายที่คิดจะเอาความดีความชอบจากพระเจ้าแผ่นดิน โดยที่พระเถรเจ้า (พระเจ้าตาก) ทรงเล่าถึงตอนนั้นว่า “ขณะที่เราดูดดื่มอยู่ในวิมุติสุข ก็ถูกชายฉกรรจ์สองคนใช้ไม้คมแฝกฟาดที่ศีรษะ ครั้นเห็นเราไม่เป็นอะไรเพราะกำลังอยู่ในภาวะแห่งความหลุดพ้น เขาทั้งสองก็กระหน่ำไม้คมแฝกลงไปอีกอย่างนับไม่ถ้วน เสร็จแล้วก็พากันหนีไป” (น. 77)

ส่วนเรื่องของ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ กล่าวต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงว่า ทรงประชวรด้วยพิษไข้ จนถึงวาระสุดท้าย ก็ทรง “ถอดพระจิตทิ้งพระร่าง” หลังจากประทับอยู่ที่เขาขุนพนมนาน 4 ปี และเรื่องของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ก็กล่าวไว้สั้นๆ ว่า “ท่านเจริญพระกรรมฐานอยู่ที่นั้นจนสิ้นชีวิต”

จะเห็นได้ว่ากรณีการ “หนีตาย” ตาม “นิยาย” ของหลวงวิจิตรวาทการนั้น ย่อมแสดงว่าเรื่อง “ตัวปลอม” ยังเป็นความลับ พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่และกรมพระราชวังบวรฯ ก็ไม่ทรงรู้ถึงเรื่องนี้ ดังนั้นจึงพอเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกับเหตุการณ์ในพระราชพงศาวดาร ที่ให้มีการประหารลูกพระเจ้าตากหลังรัฐประหาร 2 พระองค์ คือ กรมขุนอินทรพิทักษ์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าน้อย กับหลานอีก 2 พระองค์ คือ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม และกรมขุนรามภูเบศร์ รวมไปถึงการประหารขุนนางข้าราชการอีกเกือบ 120 คน คนเหล่านี้ตายจริงไม่มี “ตัวปลอม”

แต่ในกรณีของ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ ที่บอกว่าการ “แกล้งบ้าแกล้งตาย” เป็นการ “เล่นละคร” ตบตาเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างพระเจ้าตากและเจ้าพระยาจักรี ดังนั้นการประหารพระราชโอรสและพระราชนัดดา ตลอดจนการถอดพระอิสริยยศของพระเจ้าลูกเธอและพระญาติของพระเจ้าตากนั้น เป็นการเล่น “นอกบท” ของเจ้าพระยาจักรีหรือไม่ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ ไม่ได้อธิบายไว้

สรุป

เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าตาก “ตัวจริง” ไม่ได้ถูกประหารตามพระราชพงศาวดาร อาจจะมีที่มาที่ไปอยู่นอกเหนือการพิสูจน์ที่จะชี้ชัดได้ว่าสำนวนใดคือ “ความจริง” เพราะผู้แต่งแต่ละคน ต่างก็อ้างหลักฐานข้อมูลที่ “หนักแน่น” และ “เหลือเชื่อ” กันทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็น บุรุษลึกลับเชื้อสายพระเจ้าตาก สมุดข่อยที่สูญหาย หรือการได้ติดต่อพูดคุยพระเจ้าตากโดยตรงของพระสงฆ์และนักบวช แต่ก็ทรงให้ “ปากคำ” ไปคนละทิศละทางไม่ตรงกัน ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจเลือก “เชื่อ” ไปทางใดทางหนึ่ง น่าจะได้พิจารณา “คำเตือน” ต่างๆ ที่มีอยู่ในแหล่งข้อมูลเหล่านั้นอย่างตั้งอกตั้งใจ

พระบรมรูปพระเจ้าตาก ที่เขาขุนพนม

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา นิธิ เอียวศรีวงศ์ เตือนไว้ว่าเป็น “ฉบับที่เชื่อถือได้ยากที่สุด” [10]

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มีการชำระแก้ไขในรัชกาลที่ 1 โดยเฉพาะเนื้อหาในตอนปลายกรุงธนบุรี

“ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน” ของ หลวงวิจิตรวาทการ กล่าวไว้ในคำชี้แจงเรื่องนี้ด้วยตัวเองว่า “เป็นการยากที่ข้าพเจ้าจะบอกว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง เขียนจริงหรือเขียนเล่น” (คำนำ น. 10)

“ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” ของ สุภา ศิริมานนท์ มีบทสนทนาของตัวละครตอนหนึ่งว่า “พี่ขุนและพี่หลวงจะคิดว่ามันเป็นเรื่องบ้าๆ ไม่น่าเชื่อยิ่งไปกว่าเรื่องละเมอฝันของหลวงวิจิตรวาทการเสียอีกซ้ำนั้น ก็เป็นเรื่องของพี่ขุนพี่หลวงเอง” (น. 26)

“ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?” ของ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์ “ครั้นพอมาเรียนทางสมถะวิปัสสนา ได้เห็นและได้ทราบความจริงว่า ‘อ๋อ, มันไม่ใช่อย่างนั้น’ แต่ความจริง ‘มันเป็นอย่างนี้’ จึงได้เขียน ‘อย่างนี้’ มาให้คุณพิจารณาดูเท่านั้น ไม่ได้ขอร้องให้เชื่อดอกคุณเจ้าขา” (น. 11)

“เรื่องจริงอิงนิทาน (พิเศษ)” ของ พระมหาวีระ ถาวโร (ฤาษีลิงดำ) ได้ชี้แจงในคำอนุโมทนาว่า “ที่ใช้ชื่อว่า เรื่องจริง ก็เพราะตอนท้ายของเรื่องที่เล่าให้ฟังแต่ละตอนเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ตอนนี้เป็นเรื่องจริง ตอนที่ว่า อิงนิทาน ก็เพราะว่าท้องเรื่องที่ยกขึ้นเป็นตัวบุคคล ตอนนี้เป็นนิทานทั้งหมด” (คำอนุโมทนา)

“ความหลงในสงสาร” ของ สุทัสสา อ่อนค้อม “ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าเป็นอย่างนั้นจริง แล้วก็เขียนในรูปของนิยาย คงไม่มีใครมาประท้วง หรือหากมีก็คงต้องบอกว่าอย่ามาเอานิยายอะไรกับข้าพเจ้าเลย” (คำนำ)

ปิดท้ายด้วยความเห็นของ ขุนอาเทศคดี (กลอน มัลลิกะมาส) นักปราชญ์ท้องถิ่นทางด้านภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชาวนครศรีธรรมราช ที่คนนครศรีธรรมราชให้ความเคารพนับถือ กล่าวถึงเรื่องพระเจ้าตากและเขาขุนพนมว่า

“บางคนที่ได้อ่านเรื่องเจ้านครเชิญเสด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหนีมาเมืองนคร จากหนังสือที่หลวงวิจิตรวาทการแต่ง แล้วก็เลยทึกทักเอาว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีคงได้มาประทับอยู่ในถ้ำนี้เอง เพราะในถ้ำนี้มีถ้ำเล็กๆ เป็นทางหนีทีไล่ออกไปภายนอกได้ด้วย แต่สำหรับผู้เขียนไม่เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น แต่เชื่อว่าเมื่อเจ้านราสุริยวงศ์ครองเมืองนครอยู่ คงได้พาสนมกำนัลและเจ้าหญิงเกษณีไปเที่ยวป่าแล้วไปพักอาศัยที่ถ้ำขุนพนมนี้ เจ้าหน้าที่จึงได้ตบแต่งประดับประดาพื้นถ้ำและผนังถ้ำ ให้สะอาดสะอ้านสวยงามขึ้นสมกับเป็นที่ประทับของเจ้านาย” [11]

ในที่สุดเราก็ไม่มีทางทราบว่าตำนานเรื่องพระเจ้าตาก “ตัวจริง” ไม่ได้ถูกประหาร เป็นเพียง “ความเชื่อ” หรือ “เรื่องจริง” และแม้ว่าเราจะเปิดใจกว้าง “รับพิจารณา” ก็ยังมีปัญหาว่าจะเชื่อใคร เพราะหนังสือเหล่านี้ล้วนมีรายละเอียด “ข้อเท็จจริง” ที่ต่างกัน

ดังนั้นถ้าบังเอิญว่าในตำนานเหล่านี้จะมี “ของแท้” สักเล่มหนึ่ง ก็หมายความว่าส่วนที่เหลือก็เป็น “ของปลอม” ที่เหลวไหล ไม่ต่างอะไรไปจากที่ผู้เขียนอ้างว่าพระราชพงศาวดาร “โกหก”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พระยาทัศดาจตุรงค์. ลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์. (กรุงเทพฯ : พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ นางสาวอรวรรณ เลขะกุล, กรมศิลปากร, 2513), น. 19.

[2] หลวงวิจิตรวาทการ. รวมเรื่องสั้นใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน. (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2544), น. 356.

[3] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516), น. 451.

[4] แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์. ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ลูกกำพร้า, 2516), น. 5.

[5] พระมหาวีระ ถาวโร (ฤาษีลิงดำ). เรื่องจริงอิงนิทาน (พิเศษ). (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2524), น. 92.

[6] สุทัสสา อ่อนค้อม. ความหลงในสงสาร. (กรุงเทพฯ : หอรัตนชัยการพิมพ์, 2550), น. (คำนำ).

[7] ณัฏฐภัทร จันทวิช. ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนปลายและกรุงธนบุรีจากจดหมายเหตุจีน, ใน นิตยสารศิลปากร, ปีที่ 25 เล่ม 3 (กรกฎาคม 2523), น. 60. อนึ่งตัวเลข 195,500 ชั่ง นั้นดูออกจะเกินจริงไปสักหน่อย ไม่ทราบว่าเป็นตัวเลขที่ถูกต้องหรือพิมพ์ผิด อย่างไรก็ดีเมื่อดูเฉพาะมูลค่าสิ่งของ “นอก” บรรณาการ ซึ่งมีตัวเลขชัดเจนตรงกันหลายฉบับมีมูลค่าประมาณ 6,300 ชั่ง เมื่อรวมกับเครื่องบรรณาการที่บรรทุกไปกับเรือ 10 กว่าลำ ก็น่าจะมีมูลค่าไม่น้อยทีเดียว

[8] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), (กรุงเทพฯ : พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพันเอก พระยาสิริจุลเสวก (พัว จุลเสวก), โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2480), น. 93.

[9] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 39 จดหมายเหตุคณะบาทหลวงฝรั่งเศส, (พระนคร : ก้าวหน้า, 2508), น. 505.

[10] นิธิ เอียวศรีวงศ์. กรุงแตก พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย. (กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2538), น. 114.

[11] ขุนอาเทศคดี. อาเทศคดี. (กรุงเทพฯ : พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนอาเทศคดี, กรุงสยามการพิมพ์, 2527), น. 60


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ชำแหละ ตำนานพระเจ้าตากสิ้นพระชนม์ที่เมืองนครฯ” เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม 2563