สัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ไม่ได้มีแต่เรื่อง ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสเคยเป็นเพื่อนแท้ที่ไทยวางใจ

พระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 5
ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ในงานฉลองบรมราชาภิเษกสมโภชเมื่อ พ.ศ. 2416 (ค.ศ. 1873) ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐในฝรั่งเศสก็ทรงติดตามความเคลื่อนไหวจากที่นั่นอย่างใกล้ชิด คำว่า Re-Coronation แปลว่า พิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2

ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส เริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการส่งราชทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ (พ.ศ. 2229) ความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หากภาพจำของฝรั่งเศสในใจคนไทยมักเป็นเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งจบลงด้วยความบาดหมางกินใจและไม่ไว้วางใจกันอีกต่อไปของชาวสยามกับฝรั่งเศส

หากก่อนหน้านั้นในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส นั้น “ฝรั่งเศสคือเพื่อนแท้ที่ไทยวางใจและพึ่งพิงกว่าชาติอื่นใด”

ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ไกรฤกษ์ นานา ได้ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในบทความ “พระราชสาส์นส่วนพระองค์รัชกาลที่ 5 ถึงกงสุลฝรั่งเศสชี้นโยบายโปรฝรั่งเศสเมื่อต้นรัชกาล” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2559 เนื้อหาส่วนหนึ่งมีดังนี้ [จัดย่อหน้าและเน้นคำใหม่-กองบก.ออนไลน์]


ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ในงานฉลองบรมราชาภิเษกสมโภชเมื่อ พ.ศ. 2416 (ค.ศ. 1873) ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐในฝรั่งเศสก็ทรงติดตามความเคลื่อนไหวจากที่นั่นอย่างใกล้ชิด คำว่า Re-Coronation แปลว่า พิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2

อังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งบังเอิญเป็นภาคีกันในระยะนั้นได้โหมนโยบายรุกเอเชียด้วยการเสนอที่จะปฏิรูประบบเศรษฐกิจอันล้าสมัยแบบเดิมไปสู่เสรีทางการค้า การปฏิรูปไม่สำเร็จเท่าเทียมกันในหมู่ชาวเอเชีย เช่น อังกฤษ-ฝรั่งเศส ต้องเผชิญหน้ากับจีนในสงครามฝิ่นถึง 2 ครั้ง แต่กลับสำเร็จในบางประเทศที่ตามทันความคิดของตะวันตก เช่น สยาม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ต่อไปจะเรียกว่ารัชกาลที่ 4) ทรงตระหนักถึงความต้องการของการกำหนดนโยบายของเจ้าอาณานิคม จึงได้ทรงหันมาใช้นโยบายโอนอ่อนผ่อนตามเท่าที่จำเป็น (เรียกนโยบายลู่ตามลม – ผู้เขียน) ในขณะเดียวกันก็ทรงดำเนินพระราชกุศโลบายให้อังกฤษและฝรั่งเศสคานอำนาจกันเองกับการแผ่อิทธิพล ซึ่งในทางอ้อมมีผลให้อังกฤษ-ฝรั่งเศสใช้นโยบายที่ผ่อนปรนและมีไมตรีจิตต่อสยามมากกว่าชาวเอเชียอื่นๆ…

อำนาจของอังกฤษและฝรั่งเศสข่มรัศมีและขจัดบารมีของจีนลงโดยสิ้นเชิง ดุลยภาพของอิทธิพลจีนในอดีตจึงเสียไปและสยามก็เป็นประเทศแรกที่ตีตัวออกห่างจากจีน หันไปจิ้มก้อง (เจริญสัมพันธไมตรีและถวายราชบรรณาการ) ให้อังกฤษกับฝรั่งเศสแทนจีนอย่างมั่นใจ

ข่าวการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่าง เซอร์จอห์น เบาริ่ง (Sir John Bowring) ราชทูตอังกฤษกับราชสำนักไทยเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2398 ล่วงรู้ไปถึงรัฐบาลฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจึงเกิดความกังวลใจเกรงว่าอังกฤษจะได้รับผลประโยชน์จากไทยเป็นอันมาก ฝรั่งเศสรู้สึกว่าเป็นการน้อยหน้าอังกฤษ ที่สำคัญคือ นอกจากอังกฤษจะได้รับผลประโยชน์แล้ว อังกฤษอาจจะใช้ภาคเหนือของไทยเป็นบันไดก้าวจากพม่าตรงไปยังยูนนาน ดังนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสจึงรีบเร่งตั้ง ชาร์ลส์ เดอ มงตีญี่ (Charles de Montigny) เป็นราชทูตเข้ามาเจรจากับไทย เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2398 ต่อมาได้มีการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างฝรั่งเศสกับสยามเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2399

เมื่อ เซอร์จอห์น เบาริ่ง เข้ามาทำสนธิสัญญาเบาริ่ง ใน พ.ศ. 2398 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกิดความคิดที่จะติดต่อกับพระราชินีอังกฤษ (Queen Victoria) โดยตรง เพื่อจะได้ไม่ต้องผ่านคนกลาง คือ ราชทูตอังกฤษ ทรงตระหนักว่าการเจรจาความเมืองใดๆ ควรจะกระทำกับรัฐบาลอังกฤษโดยตรง เพราะพระราชินีอังกฤษเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลและมีอำนาจเหนือราชทูต จึงได้มีพระราชหัตถเลขาฉบับแรกไปถึงสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในลอนดอน

ต่อมาใน พ.ศ. 2399 (ค.ศ. 1856) เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาทำสนธิสัญญากับสยามบ้าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงมองข้ามความสำคัญของฝรั่งเศสในฐานะที่เป็นประเทศมหาอำนาจในระดับเดียวกัน ประจวบกับการที่พระสหายชาวฝรั่งเศสของพระองค์คือบาทหลวงปาเลอกัว (Monseigneur Pallegoix) ก็ได้ทูลแนะนำว่าพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ทรงอานุภาพและมีบารมีเช่นเดียวกับพระราชินีอังกฤษ สมควรที่พระองค์จะให้ความสำคัญในลักษณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นจริงตามนั้น จึงได้ทรงพยายามผูกมิตรกับพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ไว้ให้แน่นแฟ้น เพื่อถ่วงดุลอำนาจของอังกฤษในภายภาคหน้า…

การแข่งขันของฝรั่งเศสกับอังกฤษในเอเชียมีเดิมพันสูงเพราะฝรั่งเศสจะแพ้ไม่ได้ นอกจากจะต้องไม่แพ้แล้วยังต้องไม่น้อยหน้าอีกด้วย เนื่องจากอังกฤษเป็นต่ออยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการได้ครอบครองอินเดีย ออสตราเลเซีย และหมู่เกาะส่วนใหญ่ในมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ การเข้ามาของฝรั่งเศสจึงต้องเร่งรัดชนิดทุ่มหมดหน้าตักโดยต้องใช้ไม้นวมและไม้แข็งควบคู่กันไป

ไม้แข็งก็คือนโยบายรุกคืบในคาบสมุทรอินโดจีนอย่างไม่ไว้หน้าใคร แต่ไม้นวมก็จำต้องทำควบคู่กันโดยใช้มิตรภาพเป็นใบเบิกทาง ฝรั่งเศสหันไปร่วมมือกับอังกฤษในสงครามฝิ่นกับจีนแล้วเริ่มแสวงหาพันธมิตรกับเจ้าถิ่นเดิมอย่างสยามเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อแผนการในอนาคต

พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ทรงแสดงพระองค์อย่างออกนอกหน้าที่จะยกย่องสยามเหนือประชาคมเอเชียทั้งหมดด้วยการให้ท้ายสยามว่าเป็นชาติมหาอำนาจตัวแทนจากเอเชียที่น่าจับตามองและน่าคบค้ามากกว่าจีนและญี่ปุ่น โดยการอุปโลกน์ให้ภาพสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้นำเพียงคนเดียวจากเอเชียที่มีบารมีทัดเทียมผู้นำชาติมหาอำนาจยุโรปอื่นๆ

นอกจากนี้การแสดงออกในวาระต่างๆ ในช่วงรัชสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ยังบ่งชี้การให้ท้ายและเอาใจผู้นำสยามมากกว่าผู้นำเอเชียทั้งมวล ซึ่งไม่ทรงเคยกระทำมาก่อนเลยกับประเทศด้อยพัฒนานอกทวีปยุโรป ที่พอจะประมวลได้มี

1. พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ทรงส่งพระราชสาส์นสนับสนุนรัชกาลที่ 4 ให้ทรงแต่งตั้งสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นองค์รัชทายาท พระราชสาส์นของนโปเลียนมีความสำคัญและถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในความคิดดังกล่าวในที่ประชุมเสนาบดีที่กรุงเทพฯ เกื้อหนุนให้นโยบายการเมืองของสยามมีเสถียรภาพในระยะต่อมาเสมือนการป้องกันไม่ให้เกิดการแย่งชิงการสืบทอดราชวงศ์โดยกลุ่มขุนนางผู้ทรงอิทธิพลในสมัยนั้น

2. พระเจ้านโปเลียนที่ 3 พระราชทานกระบี่ประจำพระองค์แด่องค์รัชทายาท (เจ้าฟ้ามหาจุฬาลงกรณ์) เข้ามาจากฝรั่งเศสเป็นการเฉพาะ เป็นการแสดงความให้เกียรติและส่งเสริมพระบารมีต่อรัชทายยาทองค์ใหม่ในสายตาเหล่าขุนนางผู้มากด้วยอิทธิพลในราชสำนักเวลานั้น

3. เครื่องราชบรรณาการชุดแรกจากพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ถูกพระราชทานเข้ามาพร้อมกับนายมงตีญี่ ราชทูตพิเศษของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2399 (ค.ศ. 1856) ของพระราชทานในครั้งนั้นมีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 และมเหสี พระแสงปืน เครื่องม้าเทียมลาก ระย้าแขวน ฉากแผนที่เมืองปารีส ถ้ำมอง (กล้อง) หีบแก้วครอบมีตุ๊กตานกไขลาน แก้วทับกระดาษ และหีบเทียน

เครื่องราชบรรณาการ โดยการจำลองเครื่องราชูปโภคในรัชกาลที่ 4 พระราชทานให้พระเจ้านโปเลียนที่ 3

ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วเครื่องราชบรรณาการจากพระเจ้านโปเลียนที่ 3 (พ.ศ. 2399) ถูกส่งเข้ามาก่อนเครื่องราชบรรณาการจากรัชกาลที่ 4 ที่มีพระมหามงกุฎอันโด่งดัง (พ.ศ. 2404) เสียอีก โดยที่นโปเลียนไม่เคยพระราชทานให้ผู้นำเอเชียคนใดมาก่อนหน้านี้

4. พ.ศ. 2404 (ค.ศ. 1861) เมื่อคณะราชทูตไทยชุดพระยาศรีพิพัฒน์เป็นราชทูตเดินทางไปเข้าเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการแด่พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ถึงฝรั่งเศสนั้น พระองค์มีพระราชประสงค์ให้วาดภาพการต้อนรับคณะทูตขึ้นอย่างวิจิตรบรรจงเพื่อเป็นที่ระลึก จิตรกรหลวงนามว่าเจโรม ได้ถูกคัดเลือกให้วาดภาพนั้นขึ้น ภาพขนาดใหญ่เท่าคนจริงเก็บรักษาไว้ที่ฝรั่งเศส ส่วนภาพสำเนาขนาดย่อมถูกส่งมาพระราชทานเป็นของขวัญถึงกรุงเทพฯ

ภาพการเข้าเฝ้าครั้งนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพสัญลักษณ์อันโดดเด่นของรัชกาลพระเจ้านโปเลียนที่ 3 อย่างแท้จริง

5. พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863) พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยยศประดับเพชร 2 ชุด เข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงกรุงเทพฯ ก่อนหน้าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดในทวีปเอเชีย นับเป็นการถวายพระเกียรติอย่างสูงที่สุดเท่าที่ทรงเคยกระทำต่อพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเคารพนับถืออย่างยิ่ง

6. พ.ศ. 2406 ฝรั่งเศสตอบแทนที่รัชกาลที่ 4 ทรงจัดส่งสัตว์ป่าหายากหลายชนิดไปปารีสเพื่อการศึกษาด้วยการจัดส่งสิงโตสตัฟฟ์เข้ามาถวายเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

7. พ.ศ. 2409 ฝรั่งเศสและสยามมีการทำหนังสือสัญญาเรื่องเมืองเขมรและเรื่องสุราตามมาตรฐานสากลเฉกเช่นชาติเอกราชที่ฝรั่งเศสให้ความเคารพนับถือในฐานะชาติที่เจริญแล้ว

ซุ้มประตูศาลาไทยในงานมหกรรมโลกที่ปารีส ค.ศ. 1867 เมื่อสยามถูกเชิญไปออกร้านในฝรั่งเศส

8. พ.ศ. 2410 พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ได้พระราชทานของทรงยินดีเป็นพระแสงกระบี่องค์หนึ่งเข้ามาถวายรัชกาลที่ 4 เป็นกรณีพิเศษ

9. พ.ศ. 2410 พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ได้ทูลเชิญประเทศสยามให้จัดส่งผู้แทนไปออกร้านในงานมหกรรมโลกที่กรุงปารีส (Exposition Universelle de Paris 1867) ในฐานะชาติที่เป็นเอกราชและเป็นที่ยอมรับโดยประชาคมโลก ซึ่งในสมัยนั้นมีเพียงสยามและญี่ปุ่นเท่านั้นที่ถูกเชื้อเชิญไปร่วมงานอย่างเป็นทางการ

10. ใน พ.ศ. 2410 อีกเช่นกันที่ราชทูตพิเศษของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 นำรูปปั้นครึ่งองค์ของจักรพรรดิฝรั่งเศสและพระมเหสีเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายประดับพระเกียรติยศในฐานะพระสหายที่สนิทสนมคุ้นเคยกัน

การแสดงออกของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 มีน้ำหนักเพียงพอที่จะประเมินว่าทรงมีความจริงใจในการสร้างความประทับใจต่อรัชกาลที่ 4 ไม่ว่าพฤติกรรมนั้นจะแน่นอนเพียงใด แต่พระราโชบายของนโปเลียนที่เสมอต้นเสมอปลายและทำอย่างประณีตพิถีพิถันก็โดดเด่นเกินกว่าการคบค้าสมาคมกับสยามแบบผิวเผินในภาพรวม…”

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2564